พระธาตุมุจลินทร์ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร


พระธาตุมุจลินทร์ ร่องรอยของวัดเก่าในอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

                                               



  • วัดมุจลินทาราม เดิมชื่อ วัดหนองจิก เพราะแต่เดิมในบริเวณวัดเคยมีหนองน้ำและต้นจิกใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนอง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดมุจลินทาราม” ให้สอดคล้องกับภาษาบาลี(มุจลินท์ หมายถึง ต้นจิก, อาราม หมายถึง วัด) หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ ๒๓ กล่าวว่า วัดมุจลินทารามตั้งขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๔๐ แต่เดิมวัดตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งตะไคร ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๙๖ ได้มีการย้ายวัดไปที่ตำบล ช่องไม้แก้ว ห่างจากที่ตั้งเดิม ๗๐๐ เมตร ส่วนที่ตั้งเดิมคงเหลือเพียงพระเจดีย์องค์เดียว และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดมุจลินทาราม

  • พระเจดีย์หรือพระธาตุมุจลินทร์ เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตตุรัส ขนาด ๒.๒๐X๒.๒๐ เมตร ชั้นล่างเป็นฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบหก มีท้องไม้ลักษณะคล้ายเรือนธาตุ โดยทำเป็นประตูหลอกทั้ง ๔ ด้าน มีปูนปั้นทำเป็นรูปยักษ์เฝ้าประตูด้านละ ๒ ตน ซุ้มหน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูป  ราหูอมจันทร์อยู่บนฐานที่ทำเลียนแบบกับเรือนธาตุรองรับบัวปากระฆังรูปสี่เหลี่ยม องค์ระฆังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก คอระฆังหรือบัวคอเสื้อเป็นปูนปั้นรูปบัวซ้อนกลีบ ๓ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นลูกแก้วรองรับบัวกลุ่มเถาซึ่งหักเหลือบัวกลุ่มเพียงชั้นเดียว  พระธาตุมุจลินทร์มีลักษณะเป็นศิลปกรรมท้องถิ่น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอายุประมาณ ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านในแถบนี้ยังนิยมเรียกพระธาตุมุจลินทร์ว่า “พ่อท่านในกุฎิ” เนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นที่เก็บอัฐิของพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด(พ่อท่านในภาษาถิ่นใต้ หมายถึง พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์)
  • จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ สามารถสรุปได้ว่ามีการสร้างและต่อเติมพระธาตุมุจลินทร์อย่างน้อย ๔ สมัย คือ สมัยที่หนึ่งสมัยของการสร้างเจดีย์ กำหนดอายุราวสมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยที่สองการต่อเดิมเจดีย์ ซึ่งน่าจะห่างจากสมัยแรกไม่นานมากนัก สมัยที่สามการซ่อมแซมเจดีย์ น่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๖-๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำปูนซีเมนต์มาใช้กันอย่างแพร่หลาย และสมัยที่สี่ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ กลุ่มอนุรักษ์  พระธาตุมุจลินทร์ร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะพระธาตุมุจลินทร์ดังที่ปรากฎในปัจจุบัน 
  • พระธาตุมุจลินทร์ ตำบลทุ่งตะไคร อำเภอทุ่งตะโก ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๐๘๓ ง วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑


ลายปูนปั้นที่องค์พระธาตุมุจลินทร์    


ขอบคุณข้อมูลจาก        

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช


หมายเลขบันทึก: 517449เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2013 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท