koy_zf
นางสาว ปิยกาญจน์ koy_zf อินแหยม

"มาลาลา" ด.ญ.ที่โลกต้องจำ


"มาลาลา ยูซาฟไซ" คือเด็กหญิงคนหนึ่งเช่นเด็กหญิงอื่น ๆ ในปากีสถาน แต่สิ่ง "พิเศษ" ในตัวเธอที่โลกต้องจำ คือหัวใจของความเป็น "นักสู้" ที่ยืนกรานในความถูกต้อง ยืนหยัดในสิทธิของเธอในฐานะมนุษย์



ความเป็นนักสู้ของเธอในวัย 15 ปี ทำให้นิตยสารไทมส์ยกย่องเป็นบุคคลแห่งปี 2555 อันดับ 2 รองจากบารัก โอบามา ขณะเดียวกันเธอตกเป็นเป้าหมายหัวของกลุ่มตาลิบัน

โลกจดจำเหตุการณ์ในวันที่ 9 ต.ค. ปีที่ผ่านมาได้ชัดเจน เมื่อกลุ่มตาลิบันบุกขึ้นรถบัสโรงเรียนของเธอ ถามหาเด็กนักเรียนคนใดในรถคือมาลาลา พวกเขามองหาเธอและแล้วมาลาลาก็ถูกยิงที่ศีรษะ

มาลาลาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาและสตรี ต่อต้านกลุ่มตาลิบันที่พยายามเข้าควบคุมเมืองมินโกรา เขตสวัต ที่เธออาศัยอยู่ โดยมี "ไซอุดดิน ยูซาฟไซ" พ่อของเธอคอยสนับสนุน

"สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือการศึกษา" คือคำพูดของมาลาลา "และฉันก็ไม่เกรงกลัวใครทั้งนั้น"

ต้นปี 2552 ขณะอายุได้ 11 ขวบ มาลาลาเป็นบล็อกเกอร์ให้แก่บีบีซี เธอถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ถูกจำกัดภายใต้ระบอบตาลิบัน และมุมมองที่เธอต้องการสนับสนุนการศึกษา

นิวยอร์กไทมส์ถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเธอ ขณะที่กองทัพปากีสถานเข้าแทรกแซงในภูมิภาค

เมื่อโลกเริ่มรับรู้การมีอยู่ของมาลาลามากขึ้น เธอจึงเป็นที่หมายหัวของกลุ่มตาลิบัน หลังเหตุการณ์ที่เด็กหญิงนักสู้ถูกยิง วันที่ 15 ตุลาคม เธอถูกส่งตัวไปยังอังกฤษ เพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลควีน เอลิซาเบธ

ในระหว่างนั้น ของขวัญ การ์ด และเงินบริจาคหลั่งไหลมายังครอบครัวของเธอ กระแสข่าวอาการของมาลาลาโด่งดังไปทั่วโลก

จากนั้นสหประชาชาติได้ประกาศแต่งตั้งไซอุดดิน ยูซาฟไซ พ่อของเธอ เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านการศึกษาของสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถาน ก็ประกาศก่อตั้งกองทุนภายใต้ชื่อของมาลาลา เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์

ไม่พียงเท่านั้น นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้รับตำแหน่งทูตพิเศษด้านการศึกษาโลกของสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 10 พ.ย.ของทุกปีเป็น "วันมาลาลา" เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

ความต้องการปิดปากเธอของกลุ่มตาลิบันให้ผลในทางตรงข้าม กระแสเรียกร้องและสนับสนุนสิทธิด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงในปากีสถานและทั่วโลกดังกระหึ่มขึ้น

มีกระแสการเรียกร้องให้เสนอชื่อของ ด.ญ.มาลาลา เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ระหว่างที่มาลาลารักษาตัวที่อังกฤษ เธอได้รับข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเพื่อนของเธอ "เด็กหญิงอเยชา เมอร์" ลูกสาวของ "ฮามิด เมอร์" นักข่าวดังที่ขณะนี้เป็นที่หมายหัวของกลุ่มตาลิบัน

"ฮามิด เมอร์" โดนวางระเบิดใต้ท้องรถ แต่ระเบิดถูกตรวจพบก่อน เขาไม่ได้รับอันตราย "อเยชา เมอร์" ตกอยู่ในความเครียดและไม่ได้ไปโรงเรียนหลังจากนั้น

มาลาลาบนเตียงคนไข้ต่อโทรศัพท์หา "เด็กหญิงอเยชา เมอร์" และให้กำลังใจกับปลายสายว่า "ฉันเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เธอต้องเข้มแข็ง เธอจะยอมแพ้ไม่ได้"

มาลาลาเพิ่งหลุดรอดจากความตายเธอผ่านพ้นวิกฤตชีวิตมาแล้ว และหัวใจของความเป็น "นักสู้" ของเธอยังคงเต้นจังหวะเดิม

ขณะนี้มาลาลาออกจากโรงพยาบาลสิ่งที่เธอต้องการที่สุดในขณะนี้คือกลับประเทศของเธอ เพื่อเดินหน้าต่อสู้ในสิ่งที่เธอเรียกร้องมาโดยตลอด


"มาลาลา" คือเด็กหญิงที่อเยชา เมอร์ จะไม่มีวันลืม และเธอคือ "เด็กหญิงที่โลกต้องจำ"


คำสำคัญ (Tags): #มาลาลา
หมายเลขบันทึก: 517111เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นรูปสาวของเด็กสาวในนิตยสารมากมาย...คุ้นเคยในแววตา...แต่ไม่รู้ว่าใคร...ขอบคุณที่ได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของเธอ...ความกล้าที่มีในจิตวิญญาณและหัวใจของเธอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท