ความพร้อมสู่อาเซียน


สังคมไทยเป็นสังคมฐานความเชื่อ ไม่ใช่สังคมฐานความรู้

             ถ้าเราฟังแต่คนไทยด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่หรือผู้มีวาสนาบารมีมากๆ) พูดถึงความเป็นไทย (Thainess) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมไทยที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแล้ว เรามักรู้สึกภาคภูมิใจ(ในความเป็นไทย)คล้อยตามผู้พูดมากหรือน้อยแล้วแต่หลายๆปัจจัย และคงจะมีบ้างที่เราอาจจะเห็นว่าการที่คนไทยเราบางคนดูถูกคนชาติอื่นนั้นเป็นเรื่องชอบธรรมหรือเป็นเรื่องธรรมดา หรือดีไม่ดีเราก็เป็นอย่างนั้นด้วยก็ได้

             เมื่อต้นปีก่อน ผมได้อ่านพบข้อวิพากษ์คนไทยที่ชาติอื่นๆในอาเซียนเขาสามัคคีกันรวบรวมมาเผยแพร่ 
ผมไม่สามารถนำมาถ่ายทอดได้หมด เพราะยังหาต้นฉบับไม่เจอ  แต่จำได้แม่นยำว่าสองข้อต้นๆ คือเรื่องเราใช้ภาษาอังกฤษได้แย่มากกับเรื่องที่เราชอบดูถูกชาติอื่น

             เรื่องภาษาอังกฤษนั้น ผมได้ยินคนไทยแก้ตัวบ่อยๆว่า “เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง” (ราวกับว่าการเป็นเมืองขึ้นฝรั่งคือปัจจัยหลักที่ทำให้เก่งภาษาอังกฤษอย่างนั้นแหละ) และเรื่องนี้ได้พัฒนาไปเป็นทัศนคติที่ติดแน่นทนนานเหมือนสีทนได้ สำหรับบางรายไปแล้วด้วยว่า การไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่ใช่ปมด้อยของคนไทย

             เมื่อไม่ถือเป็นปมด้อย มันก็สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งของวัฒนธรรม (คำนี้เห็นใครต่อใครใช้พร้อมด้วยความรู้สึกบวกแทบทั้งสิ้น  บางทีเกือบๆจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ก็มีเหมือนกัน)  และหลังจากนั้นก็พัฒนาไปเป็นความภาคภูมิใจได้ไม่ยาก 

             เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา  เพื่อนร่วมวิชาชีพรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่าได้ทราบจากรายการโทรทัศน์ว่าคะแนนเฉลี่ยในการสอบภาษาอังกฤษของชาติในอาเซียนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนั้น คะแนนของคนไทยได้เลื่อนจากอันดับที่ ๘ ไปเป็นอันดับที่ ๑๐ เรียบร้อยแล้ว  ซึ่งแปลได้เช่นกันว่าชาติที่เราเคยดูถูกทุกชาติขึ้นหน้าเราไปหมดแล้ว  ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษมีให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองไม่เว้นแม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ที่จัดให้คนไทยธรรมดาๆ ล้วนๆ ดู

             ต่อมาในเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านไป มีข้อมูลคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติของนักเรียนชั้น ป. ๔ กับ ม. ๒ จาก ๕๒ ประเทศ  เด็กไทยทั้งสองระดับได้คะแนนอยู่ครึ่งล่างทั้งสองวิชา โดยมีคำคุณศัพท์บอกคุณภาพของกลุ่มเพียงคำเดียวง่ายๆว่า POOR

             ล่าสุดต้นเดือนมกราคมปีนี้เอง ได้พบการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาของชาติในอาเซียน ๘ ชาติ
(ไม่มีข้อมูลของพม่ากับลาว)  ของปี ๒๕๕๔-๕๕ จัดทำโดย World Economic Forum คุณภาพการศึกษาระดับพื้นฐานของไทยอยู่อันดับที่ ๖ โดยมีฟิลิปปินส์และกัมพูชาอยู่อันดับ ๗ และ ๘ ส่วนสามอันดับบนสุด ได้แก่ สิงคโปร์  มาเลเซีย และ บรูไน  อันดับ ๔ และ ๕ เป็น อินโดนีเซีย กับเวียตนาม   สำหรับระดับอุดมศึกษานั้น สามอันดับบนสุดยังคงเป็นสามชาติเดิมที่ลำดับเดิม แต่ลำดับ ๔ เป็นฟิลิปปินส์  ลำดับ ๕ ๖  และ ๗ เป็น อินโดนีเซีย  กัมพูชา และ เวียตนาม แสดงให้เห็นว่า ระดับอุดมศึกษาของเราแย่มากทั้งๆที่ตัวป้อนที่มาจากระดับพื้นฐานไม่ได้แย่มากเลย 
น่าเสียดายที่(ผม) ไม่ทราบว่าระดับอุดมศึกษานั้นเขารวมถึง ป.โท และ ป.เอกด้วยหรือไม่

             ผลการสอบเหล่านี้ อันบนสุดอาจจะเป็นผลสะท้อนของความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่ไม่มีปมด้อยตกทอดหรือตกค้างมาถึงคนรุ่นหลังก็ได้  ส่วนผลสองตัวล่าสุดนี้น่าจะสัมพันธ์กับฝีมือในการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้แก่ชาติซึ่งจะต้องยิ่งใหญ่ในอาเซียนต่อไปอีกหลังจากได้ประโคมบทไหว้ครูอย่างเอิกเกริกมานานนับปีแล้ว

             ผมเคยได้ยินประโยคสั้นๆประโยคหนึ่งว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความเชื่อ ไม่ใช่สังคมฐานความรู้ ผมคิดว่าประโยคนี้ อาจใช้อธิบายเรื่องข้างบนนี้ได้




หมายเลขบันทึก: 515613เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2013 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การเมืองเป็นพื้นฐานของสังคม

การเมืองไทยเต็มไปด้วยคอรัปชั่น ความพร้อมคงหาได้น้อยหน่อยครับ

ขอมูลดีดีแบบนี้นำมาบอกเล่ากันบ่อยๆนะครับ...

                         ขอบคุณมาก

ขอบคุณทุกท่านสำหรับความเห็นและดอกไม้ครับ และขออภัยที่มาตอบช้ามากเนื่องจากมีงานเอกสารและการเดินทางแทรกเข้ามาช่วงใหญ่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท