ปกิณกะเรื่องควาย - ควายในประวัติศาสตร์และโบราณคดี


จากหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน” (๒๕๓๓) รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนไว้ว่า การปลูกข้าวก็เป็นสิ่งทิ่วัฒนาการขึ้นได้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเหมือนกับปัญหาข้อต่อไปนี้ก็คือว่า อะไรเป็นสาเหตุให้มีการปลูกข้าวและปลูกด้วยวิธีใด?

ผู้ที่พยายามให้คำตอบได้ดีในเรื่องนี้ก็คือ Charles Higham และอำพัน กิจงาม ซึ่งทำการวิเคราะห์กระดูกสัตว์และซากพืชที่มนุษย์นำมาอุปโภคบริโภคตามชั้นดินต่างๆในแหล่งโบราณคดีที่ทำการขุดค้น โดยเฉพาะที่บ้านเชียง (อำพัน กิจงาม และคณะฯ ๒๕๒๓) ได้เสนอการค้นคว้ามนุษย์ที่บ้านเชียงทำการเพาะปลูกข้าวในที่ลุ่มหรือบริเวณป่าที่ถูกถากถาง หรือการเพาะปลูกข้าวแบบเลื่อนลอย (Survidden rice cultivation) มีการล่าสัตว์ เช่น วัวป่า หมูป่า กวางและเก้ง เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว หมาและไก่ และยังมีการดักสัตว์และจับสัตว์น้ำอีกด้วย หลังจาก ๓,๖๐๐ปีมาแล้วเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ที่บ้านเชียงรู้จัดการใช้เครื่องมือเหล็กและเลี้ยงควายขึ้นมาอีกหนึ่งชนิด แต่ก็มีการล่าสัตว์อยู่เช่นเดิม การดักสัตว์และจับสัตว์น้ำได้ลดปริมาณลงอย่างมาก การปลูกข้าวได้เปลี่ยนมาเป็นระบบทดน้ำ  และมีควายเป็นเครื่องทุ่นแรงในการไถนา (Inundation system)…”
  

  “… ในภาพสลักอิฐบนผนังเจดีย์พระธาตุพนม ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะเสนอว่ามีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษปีที่ ๑๔ - ๑๕ นั้นมีภาพควายที่กำลังถูกล่าแสดงให้เห็นอยู่ควายอาจจะถูกนำมาเลี้ยงและใช้ในงานอื่นที่ไม่ใช่การไถนาก็ได้….”

จากเรื่อง วัว-ควายมาจากไหน? ในประวัติศาสตร์ โดยจารึก วิไลแก้ว ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๖ เดือนเมษายน ๒๕๔๔ เขียนไว้ว่า “… หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นเครื่องยืนยันว่ามีการเลี้ยงวัวควายมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ก็คือ การพบภาพเขียนสีตามถ้ำและหน้าผาต่างๆ เช่น ที่ถ้ำวัว อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นรูปวัว ๖ ตัว ที่ถ้ำผาฆ้อง ๒ บ้านห้วยส้มใต้ ตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย  เขียนสีแดงเป็นรูปวัว ที่ถ้ำเขาปลาร้า อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี พบภาพวัวควายและคนลักษณะการเดินไถนาโดยใช้วัวควายช่วย

ที่ผาหมอนน้อย บริเวณผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีภาพเขียนสีรูปต้นข้าว ตรงกลางเป็นรูปสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นวัวหรือควาย ที่ช่วยในการไถเพื่อเกษตรกรรม อยู่ระหว่าง ๓,๐๐๐ - ,๐๐๐ ปีมาแล้วในเรื่องเดียวกันได้สรุปให้เห็นว่ากลุ่มภาพเขียนสีรูปวัวและควายในเขตภาคกลางของประเทศไทย ดูจะมีความชัดเจนในรูปแบบ และการแสดงออกในท่วงท่ามากกว่ากลุ่มภาพเขียนสีรูปวัวควายที่พบในแหล่งอื่นๆ แม้ว่าจะพบกลุ่มภาพเขียนสีในภาคกลางเพียงไม่กี่แห่ง เช่น ที่อุทัยธานี สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์  ขณะที่พบในภาคอีสานถึง ๑๔๐ แห่ง ภาคใต้ ๑๔ แห่ง และภาคเหนือ ๕ แห่ง

จากเรื่องเดียวกันยังได้เขียนไว้ว่า  “… ศิลาจารึกวัดบางสนุก (.แพร่) หลักที่ ๑๐๗  (.. ๑๘๘๒) … เจ้าเมืองตรอกสลอบ ชวนลูกขุนมูลนายไพร่ไทย พิมพ์รูปพระด้วยเหียกดินเป็นพุทธบูชาปลูกศาลาด้วยแลจึงแต่งหากระยาทาน คนครอกหนึ่งให้ดู พระ ช้างตัวหนึ่ง ม้าตัวหนึ่ง ควายตัวหนึ่ง

“… ในสมัยสุโขทัยมีการค้าขายอย่างอิสระเสรี โดยที่เจ้าเมืองไม่เก็บภาษี ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ความว่า  ..เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขายในศิลาจารึกกฏหมายลักษณะโจร หลักที่ ๓๘ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) ..มาตราหนึ่ง โสด  ในบ้านของคนกล่าวนี้แล และมีโจรลักวัวมอ ปอฟั่น..มาตราหนึ่งโสด ผิผู้ใดจักมีการกระทำ และจะฆ่าวัวฆ่าควาย ไม่ให้เอาวัวควายนั้นอันจักฆ่ามัน ชี้ให้กันเห็นทั้งหลาย

“…ศิลาจารึกวัดพระยืน หลักที่ ๖๒ (.. ๑๙๑๓) …วันนั้นตนท่านพญาธรรมราชบริพาร (กือนา) ด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูกเจ้าลูกขุนมนตรีทั้งหลาย ให้ถือกระทงข้าวตอกดอกไม้ ไต้เทียน ตีพาทย์ดัง พิณ ฆ้อง กลอง ปี่สรไนพิสเนญชัย” (ปี่ที่ทำจากเขาวัว เขาควาย)

“… ศิลาจารึกวัดช้างล้อม หลักที่ ๑๐๖ (.. ๑๙๒๗) …พระยาศรีเทพาหูราช  ….ให้ไปสู่มหาราช เห็นพระศรีรัตนธาตุกระทำปาฎิหาริย์..ไว้เรือนหนึ่ง แต่งหุงจังหัง พระเจ้าพาย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอัน กลองสามอัน แตร สังข์ เขาควายแต่งไว้ให้ถวายแก่พระเจ้า

ในสมัยสุโขทัย นอกจากจะใช้วัว ควายช่วยในการเกษตรกรรมและเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของเพื่อไปขายยังเมืองต่างๆ แล้วยังเป็นสินค้าในตลาดวัว-ควาย และยังใช้เป็นเครื่องดนตรีดังปรากฏในศิลาจารึกหลายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในพิธีแรกนาขวัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร ในวันเริ่มแรกของฤดูทำนาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่ารุกรานกรุงศรีอยุธยา จนต้องมีการศึกสงครามหลายครั้งยืดเยื้อ อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๐๘ - ๒๓๐๙ และเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ บ้านบางระจัน ถือว่าเป็นทางเดินทัพผ่านของพม่า  ด้วยความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันประกอบความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ชาวบ้านบางระจันจึงรวมตัวอาสาต้านทัพพม่าไม่ให้บุกทะลวงสู่เมืองหลวงได้ จึงเกิดการปะทะกันหลายครั้ง นับตั้งแต่เดือนสาม ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ จนถึงแรม ๒ ค่ำ เดือนแปด ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙

ในการศึกที่คนไทยทุกคนภาคภูมิใจและเรียกติดปากว่าศึกบางระจันนั้น นอกจากประวัติศาสตร์จะได้บันทึกวีรกรรมอันห้าวหาญของบรรพบุรุษไทยหลายท่าน อาทิ พระธรรมโชติ นายทองเหม็น นายจันทร์ หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง นายทอง แสงใหญ่ และท่านผู้กล้าหาญอื่นๆที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงคู่ทุกข์คู่ยากของชาวบ้านบางระจันและของคนไทยทั้งประเทศ ได้แก่ ควายไทยจำนวนหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ว่า ได้ร่วมทำศึกอันห้าวหาญครั้งนั้นด้วย รวมทั้งได้ถูกสร้างรูปจำลองขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ร่วมกับวีรชนแห่งบ้านบางระจันด้วย ควายที่ร่วมการสงครามดังกล่าวถ้าจะเรียกว่าเป็นควายศึกแห่งบางระจันหรือวีรกระบือ ก็คงจะเรียกได้

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

 

 


หมายเลขบันทึก: 51545เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2006 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท