ข้าววัชพืชเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนา


ประเทศไทยจะรักษาความเป็นหนึ่งในเรื่องคุณภาพข้าว ปริมาณการส่งออก และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ได้ต่อไปหรือไม่ในยุคAEC


             ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าว และยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งในอาเซี่ยนด้วยกันเช่นเวียดนาม กัมพูชา และในอนาคตอาจจะเป็นเมียนม่าร์ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกข้าวในอาเซี่ยนปรับลดลงก็เป็นได้


              ในด้านการผลิตข้าวสิ่งสำคัญชาวนาต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวและการลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ให้ต่ำลง แต่ในทางปฏิบัติก็คงไม่ง่ายเช่นกันที่จะรณรงค์ให้ชาวนาได้คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตข้าวที่ผลิตได้ ต้องมีคุณภาพดี ไม่มีเมล็ดวัชพืชปนหรือที่เรียกกันว่าสิ่งเจือปนนั่นเองครับ


               ขณะเดียวกันการที่จะพยายามรณรงค์ให้ชาวนา ได้ให้ความสำคัญกับการที่จะลดต้นต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ให้ต่ำลง ก็ไม่ง่ายเช่นกัน แต่ก็มีเกษตรกรชาวนาส่วนหนึ่งที่ได้รับการพัฒนามาจากการเรียนรู้ร่วมกันแบบกลุ่ม หากจะพูดง่ายๆก็คือการรวมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ด้านการผลิตข้าว ซึ่งกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆในเขตจังหวัดกำแพงเพชรก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชอย่างต่อเนื่อง


                      

                

                       

                                                 แปลงข้าวที่เกิดปัญหาข้าววัชพืชเกิดขึ้น

                จากการที่ผู้เขียนได้ลงไปสัมผัสเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในบางฤดูการก็พบปัญหาแปลงพันธุ์ข้าวและแปลงปลูกข้าวเพื่อการจำหน่ายที่เกษตรกรได้ปลูกข้าวไปแล้วเกิดข้าววัชพืช กำลังแพร่ระบาด ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับการผลิตข้าวในบางพื้นที่เขตจังหวัดกำแพงเพชรมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน หากไม่เร่งรัดแก้ไขในฤดูการทำนาต่อๆไปอาจจะเกิดปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในการทำนาครั้งต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


                 ข้าววัชพืชที่พบเกษตรกรหรือชาวนาทั่วไปมักจะเรียกกันจนติดปากว่า ข้าวดีดข้าวเด้ง ซึ่งเป็นข้าววัชพืชที่มีลักษณะร่วงง่ายและร่วงเร็ว เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่จะมีหางสั้นหรือไม่มีหาง ข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีสีเหลืองฟาง สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงและขาว


                 สาเหตุของการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช ส่วนใหญ่เมล็ดของข้าววัชพืชจะปะปนไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน และบางรายทำนาอย่างต่อเนื่องขาดความเอาใจใส่พิถีพิถันทำให้เกิดการสะสมของข้าววัชพืชอยู่ในแปลงนาในปริมาณที่มากขึ้นจนยากต่อการกำจัด



                  อีกประการหนึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมักจะติดไปกับอุปกรณ์ในการทำนา โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว เมล็ดข้าวที่ตกอยู่ตามซอกภายในรถเกี่ยวนวดข้าวที่ไม่ได้ทำความสะอาดก่อน หากใช้รถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปทำงานในแปลงนาที่มีการระบาดของข้าววัชพืช ก็มีโอกาสที่เมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย และร่วงหล่นในแปลงนาได้เช่นกัน


                         

                                     การไถเตรียมดินในแปลงนาของเกษตรกร


                ณ.ปัจจุบันยังต้องให้ความสำคัญในการที่จะต้องเร่งรณรงค์ให้กษตรกรชาวนาได้ให้ความสำคัญในการป้องกันกำจัดข้าววัชพืชอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการผลิตข้าวขึ้นได้ในอนาคต สำหรับวิธีการที่พบในทางปฏิบัติที่เกษตรกรชาวนาสามารถลดปัญหาข้าววัชพืชลงได้เช่น การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ปราศจากการปะปนของเมล็ดข้าววัชพืช และอีกวิธีหนึ่งก็คือ การกำจัดข้าววัชพืชที่สะสมอยู่ในดินโดยการเตรียมดินไถพรวน หรือคราดทำเทือก ควรเว้นระยะเวลา ๑- ๓ สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในดิน(แปลงนา)ได้มีโอกาสงอกขึ้นมาแล้วก็ทำการไถกลบทำลาย โดยในช่วงเวลานั้นต้องจัดการให้แปลงนามีความชื้น แต่ไม่มีน้ำขัง ซึ่งเหมาะต่อการงอกของข้าววัชพืช สำหรับการเว้นช่วงให้ข้าววัชพืชงอกหลังเก็บเกี่ยว ๑ สัปดาห์ ไถทิ้ง ๑ ครั้ง แล้วเว้นช่วงอีก ๓ สัปดาห์ ล่อให้งอกอีกครั้ง แล้วไถกลบ จะสามารถลดความหนาแน่นของข้าววัชพืชจาก ๓o% เหลือเพียง ๑-๒ % เท่านั้น


                    

                          พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเกษตรกรในแปลงนา


                 สำหรับข้อแนะนำในการที่ทีมงานได้ไปพบปะเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการลงไปปฏิบัติงานกับปราชญ์ชาวบ้านสาขาทำนาที่กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ เกษตรกรชาวนาโดยทั่วไปควรจะทำการถอนข้าววัชพืชที่ขึ้นมาในแปลงนาในระยะที่เหมาะสม คือระยะที่ออกดอกซึ่งทำให้เราสามรถแยกความแตกต่างระหว่างต้นข้าววัชพืชกับต้นข้าวที่ปลูกได้อย่างชัดเจน ก่อนที่เมล็ดข้าววัชพืชจะร่วงหล่นในแปลงนา และไม่ควรจะตัดเฉพาะรวงเพราะว่าจะทำให้ต้นข้าววัชพืชแตกหน่อใหม่ขึ้นมาได้อีกครั้ง


                  

                               การทำนาโยน                                           ผลผลิตข้าวในแปลงที่ไม่มีข้าววัชพืช

                     นอกจากนี้ในทางปฏิบัติจะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเกษตรกรชาวนา ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากการปลูกแบบหว่านน้ำตม มาเป็นการปักดำด้วยมือ ปักดำด้วยเครื่องจักร และวิธีการปลูกข้าวแบบโยนต้นกล้าที่เรียกว่าวิธีการทำนาแบบนาโยน นั่นเองครับ หลังจากปลูกข้าวแล้วเกษตรกรก็ควรจะปล่อยน้ำขังในแปลงนาทันทีแต่ก็ต้องรักษาระดับน้ำลึกประมาณ๕-๑o เซนติเมตร จะเป็นการป้องกันการงอกของข้าววัชพืชได้  วิธีการปักดำนี้ ปัจจุบันค่อนข้างจะเป็นการนิยมปลูกข้าวของเกษตรกรในเขตจังหวัดกำแพงเพชรที่จะกำลังขยายในวงกว้างมากขึ้นแล้ว


                   อย่างน้อยๆสิ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวคุณภาพที่เริ่มต้นจากต้นน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกร แต่ก็ยังเป็นคำถามอยู่เช่นกันว่าประเทศไทยจะรักษาความเป็นหนึ่งในเรื่องคุณภาพข้าว ปริมาณการส่งออก และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ได้ต่อไปหรือไม่ในยุคAEC นั่นเองครับ


เขียวมรกต

๗ ม.ค. ๕๖







หมายเลขบันทึก: 515353เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2013 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2013 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  • ขอบคุณท่านธ.วัชชัย
  • ที่แวะมาให้กำลังใจ
  • ขอให้ท่านมีความสุขตลอดปีใหม่นะครับ

  • ขอบคุณอาจารย์อ้อย
  • ที่แวะมาให้กำลังใจเสมอมา
  • ขอให้มีความสุขตลอดปีใหม่นะครับ

ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่สาระดีๆเช่นนี้..อยากให้เกษตรกรได้ทราบเพื่อนำไปปรับปรุงผลผลิตต่อไปค่ะ..

  • ขอบคุณครับ พี่ใหญ่
  • ที่แวะมาทักทายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
  • เห็นด้วยครับ มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้นำในชุมชนต่อไปครับ

 แบบนาหว่าน ผมจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ข้าวดีดขึ้น (ผมผึ้งทำนาเป็นครั้งแรก)
และไม่ให้มีแมลงมากลาน ขอบคุณคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท