พลังสื่อเยาวชน 3 ดี.... สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี


สื่่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี


ปัจจุบันสื่อมีหลากรูปแบบ

ได้พัฒนาเนื้อหาที่มีความหลากหลาย ทั้งมีช่องทางการเผยแพร่ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ทางทีวีและในเว็บไซต์เอง สื่อจึงส่งผลต่อเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา เช่น ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปัญหาการล่อลวง ปัญหาค้ามนุษย์ ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น


ดังนั้นเพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากสื่อร้าย

จึงต้องเปิดพื้นที่สื่อดีๆ ให้กับสังคมได้มีการเรียนรู้และมีทางเลือก รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตด้วยการเพิ่มทักษะความคิด การวิเคราะห์ และการใช้วิจารณญาณในการรับเลือกสื่อได้อย่างเหมาะสม จากปัญหาดังกล่าว เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้เห็นความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์สื่อ


โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน

ที่จะต้องเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศและให้มีความ เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจัดให้มีโครงการ Media@young พลังสื่อเยาวชน ระหว่าง วันที่ 25-28 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ สถานีไทยพีบีเอส ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่เรียกว่า 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เพื่อรวมพลังเยาวชนผู้ผลิตและผู้รับสื่อ เปิดพื้นที่ความรู้ด้านการสร้างสรรค์สื่อและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศในการพัฒนาสื่อไทยให้ก้าวหน้าภายใต้กรอบแนวคิด เรื่อง "สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง"


ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กล่าว เปิดงานตอนหนึ่งว่า งาน "Media@Young พลังสื่อเยาวชน" ภายใต้แนวคิด "3ดี" คือ สื่อดี พื้นที่ดีและภูมิดี เกิดขึ้นได้ด้วยพลังของเด็กและเยาวชน ที่ต้องการสร้างสรรค์ สื่อที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ สสส. ที่สนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการแสดงออกด้านความคิดและความสามารถในทางสร้าง สรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม และในปี 2558 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ การพัฒนาประชาคมอาเซียน ดังนั้น เด็กเยาวชน และครอบครัว จึงต้องมีการปรับตัว เรียนรู้ และทำความเข้าใจในความคิด วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างเห็นคุณค่า และเคารพซึ่งกันและกัน


"งาน "Media@Young พลังสื่อเยาวชน"

ถือเป็นเวทีให้ เยาวชนได้เปลี่ยนโลกผ่านความคิดและจินตนาการที่หลากหลายผ่านสื่อที่ผลิตเอง ในรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นการพัฒนาบทบาทจาก "ผู้รับสื่อ" มาเป็น "การมีส่วนร่วม" ในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็น ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ความคิดและจินตนาการเหล่านี้ได้เติบโตเบ่งบานในสังคมไทย จนนำไปสู่การเจริญงอกงามสู่เวทีประชาคมอาเซียน" ทพ.กฤษดา กล่าว


ด้าน น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)

เปิดเผยว่าการจัดเวทีพลังสื่อเยาวชนครั้งนี้ยังถือเป็นเวทีคู่ขนานกับ Asia Media Summit 2012 ในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการบรรจุวาระของเด็กและเยาวชนไว้ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีตัวแทนเด็กและเยาวชน จากเวที Media@Young ไปร่วมนำเสนอเสียงเด็กในการประชุม AMS ครั้งนี้ด้วย


สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการแสดงผลงานสื่อ และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย

โดยจัดเต็มพื้นที่ 3ชั้นของศูนย์การเรียนรู้ ไทยพีบีเอส พบกิจกรรมดีๆ ในชุมชน 3 ดี เรียนรู้ให้ครบ พบขุมทรัพย์ 3 ดี สนุกกับตลาดนัดสื่อดี ชมเทศกาลหนังสั้นไทย-อาเซียน สื่อและกิจกรรมสะท้อนความหลากหลายชาติพันธุ์, ศาสนา, เพศวิถี ฯลฯ เปิดโลก Tomorrow life กับกิจกรรมห้องไอซีที การแข่งขันเกม เพิ่มพูนทักษะกับสถานีเยาวชน เวิร์กช็อป จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ ใช้แท็บเล็ต แอพพลิเคชั่นตัดต่อภาพยนตร์ ฯลฯ และหลากหลายกิจกรรม และการแสดงบนเวทีสื่อสร้างสรรค์เวทีเปลี่ยนโลก


ขณะที่เด็กและเยาวชนในงานสะท้อนปัญหาสื่อไทยว่า

พื้นที่สื่อดีสำหรับเด็กเยาวชนมีน้อย สื่อส่วนใหญ่เน้นความบันเทิงมากกว่าสาระ การนำเสนอข่าวและข้อมูลไม่เป็นกลางและไม่รอบด้านมีการนำเสนอที่มีอคติ เช่น ชาวเขา ชนเผ่ากลุ่มน้อย ถูกนำเสนอให้ดูตลก การเสนอภาพความรุนแรงใน  3 จังหวัดภาคใต้ โดยไม่เสนอแง่มุมที่ดี ทำให้สังคมขาดความเข้าใจและเข้าใจผิด


สื่อที่ดีต้องนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่ายและเข้าถึง

เช่น รูปแบบการ์ตูน เป็นสื่อที่ส่งเสริมความหลากหลาย เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่งที่ถูกผู้ใหญ่กำหนดไว้ 


ที่สำคัญสื่อไม่ควรมีภาพ ฉาก คำพูดที่รุนแรง ยั่วยุเรื่องเพศ



ขอบคุณ พลังเยาวชน 3 ดีจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์หมายเหตุประชาขน

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี


หมายเลขบันทึก: 515164เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท