Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สามความคิดของศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย


ด้วยสามความคิดนี้ล่ะมังที่สร้างความรักที่เข้มแข็งและยั่งยืนระหว่างมวลมิตรของอาจารย์คนึง และพวกเราจะมีความสุขในชีวิตเสมอ เพราะเราคนใดคนหนึ่งจะไม่ถูกทอดทิ่งในวิบากกรรมใดที่เราต้องประสบ เราจะให้ความดีและความเมตตาต่อกันและกัน โลกของมวลมิตรของอาจารย์คนึงจึงเป็นโลกของความรู้ ความดี และความมีเมตตา

         

  อ.นพร ซึ่งรับผิดชอบการทำบอร์ดนิทรรศการและแผ่นพับในงานแสดงมุทิตาจิตต่อท่าน ศ.คนึง ฦๅไชย ขอสัมภาษณ์ อ.แหววว่า ถ้าจะกล่าวท่านอาจารย์คนึงแล้ว ท่านอาจารย์แหววคิดถึงอะไร ?

           คำตอบของอาจารย์แหวว ก็คือ

            ท่านอาจารย์คนึง ก็คือ แนวคิด ๓ เรื่องที่ท่านสอนให้ลูกศิษย์ของท่านปฏิบัติและปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นในหลายสิบปีที่ทำงานกับท่าน ท่านไม่เคยสั่งไม่เคยบังคับ แต่เมื่อเห็นท่านทำ และสิ่งที่ทำนั้นก่อเกิดสิ่งที่ดีและถูกต้อง เราก็จะปฏิบัติตามเองโดยธรรมชาติ

          ความคิดในประการแรก ก็คือ ท่านเชื่อในทฤษฎีความรู้กฎหมายพื้นฐานและพัฒนาการใหม่ของวิชา ท่านมักชักชวนลูกศิษย์ให้ทบทวนองค์ความรู้เก่าที่เป็นพื้นฐานของวิชา แต่ต้องไม่ละเลยที่จะสนใจพัฒนาการใหม่ที่เกิดขึ้นในวิชา ท่านจะชวนลูกศิษย์มาศึกษาทบทวนอยู่สม่ำเสมอ ในยุคที่ผ่านมา เราจะเห็นวงศึกษารอบตัวท่านอาจารย์คนึงอยู่หลายวง กล่าวคือ (๑) วงศึกษากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (๒) วงศึกษากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (๓) วงศึกษากฎหมายสิทธิมนุษยชน (๔) วงศึกษากฎหมายอาญา และ (๕) วงศึกษากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และ (๖) วงศึกษากฎหมายวิธีพิจารณาความระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  เมื่อเราพบท่านอาจารย์คนึง เราจึงพบแวดวงทางวิชาการที่แวดล้อมตัวอาจารย์คนึง ทุกวงก็จะรู้จักกัน ในทุกวันที่ ๑๓ มกราคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน ก็จะเป็นวันที่ทุกคนมาเจอท่านอาจารย์ที่บ้านของท่าน โดยไม่ต้องนัดหมาย และทุกคนก็จะโทรหาคุณแม่บูรณ์ (ภริยาท่าน) เพื่อเสนอที่จะเอาอาหารคาวหวานมาเลี้ยงซึ่งกันและกัน การทักทอความรักในตัวอาจารย์คนึงและในวิชากฎหมายที่ท่านสอนจึงเกิดขึ้นบนความศรัทธาที่คนจำนวนไม่น้อยมีร่วมกัน และองค์ความรู้ที่แวดล้อมท่านอาจารย์คนึงนั้นจึงมีความเข้มแข็งและมีพลวัตรในกาลเวลา

         ความคิดในประการที่สอง ก็คือ ท่านเชื่อในการรับใช้ประชาชน และท่านเชื่อในเรื่องจริง ดังนั้น ท่านจึงชักชวนให้มวลมิตรและลูกศิษย์พยายามสอนกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจ และหากมีกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อความยุติธรรมทางสังคม ท่านก็จะไม่ลังรอที่จะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมาย ท่านอาจารย์คนึงตระหนักดีว่า หลักกฎหมายขัดกันในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ประชาชนทั่วไปจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่เรื่องดังกล่าวก็จะกระทบชีวิตของประชาชนได้มาก หากสังคมไทยมีความเป็นระหว่างประเทศมากขึ้น และหากสังคมไทยจะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอาเซียน ซึ่งจะมีความเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัวของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๔ ประการ กล่าวคือ สินค้า บริการ ทุน และคน ท่านตระหนักว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจนี้ก็จะยิ่งสร้างสุขและทุกข์ให้แก่มนุษย์ในสังคมอาเซียนได้อย่างแน่นอน ในหลายปีที่ผ่านมา ท่านจึงชักชวนมวลมิตรทางวิชาการมาร่วมคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจริงแก่เอกชนในประชาคมระหว่างประเทศ ผลของความพยายามที่จะสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับประชาชนในทุกระดับ ก็คือ การรวมตัวกันที่จะหนังสือกฎหมายขัดกันที่ท่านเขียนในราว พ.ศ.๒๕๐๘ ให้มีเรื่องราวที่อ่านเข้าใจง่ายและทันสมัยตลอดเวลา หนังสือนี้ได้รับการพัฒนาและพิมพ์ออกเผยแพร่แม้ในปัจจุบัน หัวหน้าบรรณาธิการสำหรับหนังสือกฎหมายขัดกัน ก็คือ อาจารย์วิทยา ฟองวาสนาส่ง และเพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนต่อการมาถึงแล้วของประชาคมอาเซียน ท่านจึงชักชวนเรามาศึกษาเรื่องของอาเซียน และผลของมีการทบทวนองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ก็น่าจะนำไปสู่การทบทวนหนังสือกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศที่ท่านเขียนในราว พ.ศ.๒๕๓๕ ให้มีความทันสมัยและเป็นจุดเริ่มต้นของทำงานหนังสือร่วมกันของมวลมิตรทางวิชาการที่ทำงานด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ หัวหน้าบรรณาธิการสำหรับหนังสือกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ ก็คือ อาจารย์ ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา

              ความคิดในประการที่สาม ก็คือ ท่านเชื่อในความดีและความเมตตา ท่านมักแสดงให้เราเห็นว่า ท่านเชื่อในความดีและความถูกต้อง ท่านไม่สนใจกระแสสังคมเท่าใดนั้น เมื่อท่านเชื่อว่า เรื่องใดถูกต้อง ท่านก็จะยืนยันอย่างเงียบๆ เช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ท่านจะมีเมตตาต่อทุกคน แม้ลูกศิษย์บางคนจะไม่ขยันหรือไม่เก่ง จึงทำงานไม่ได้ดีนัก ท่านก็จะให้กำลังใจและพยายามช่วยให้พวกเขาทำงานให้ดีขึ้น คำว่า “สอบตก” แทบไม่มีสำหรับลูกศิษย์ของอาจารยคนึง ยิ่งลูกศิษย์มีปัญหา ท่านสอนว่า เราที่เป็นครู ก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อพยุงพวกเขาให้ผ่านพ้นวิกฤตแห่งชีวิตให้ได้

             ด้วยสามความคิดนี้ล่ะมังที่สร้างความรักที่เข้มแข็งและยั่งยืนระหว่างมวลมิตรของอาจารย์คนึง และพวกเราจะมีความสุขในชีวิตเสมอ เพราะเราคนใดคนหนึ่งจะไม่ถูกทอดทิ่งในวิบากกรรมใดที่เราต้องประสบ เราจะให้ความดีและความเมตตาต่อกันและกัน โลกของมวลมิตรของอาจารย์คนึงจึงเป็นโลกของความรู้ ความดี และความมีเมตตา

-------------------------------------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #ศ.คนึง ฦๅไชย
หมายเลขบันทึก: 515151เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2013 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท