เพียร์สันมีวิธีการจัดลำดับอย่างไร


การศึกษาเพื่ออนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มาจากการศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว


ทีมการศึกษาของไทยรัฐ (2555) สรุปได้ยอดเยี่ยมถึงการศึกษาไทยที่กำลังตกต่ำ  ในช่วงที่ผ่านมาเพียงปีเศษ ๆ
เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 3 คน ตั้งแต่นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล  นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช
และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา  ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการหลายคนแทบจำชื่อไม่ได้  การศึกษาไทยไม่ได้ถอยหลัง
แต่การศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่  มีการอ้างข้อมูลลำดับการศึกษาของประเทศไทยจากการจัดลำดับของบริษัทเพียร์สัน 
ซึ่งทีมการศึกษาของเดลินิวส์ก็อ้างข้อมูลการจัดลำดับของเพียร์สัน  ที่ให้อันดับที่ 1 ประเทศฟินแลนด์
ที่ 2 เกาหลีใต้ ที่ 3 ฮ่องกง ที่ 4 ญี่ปุ่น ที่ 5 สิงคโปร์ ที่ 6 อังกฤษ ที่ 7 เนเธอร์แลนด์ ที่ 8 นิวซีแลนด์ ที่ 9 สวิตเซอร์แลนด์ ที่ 10 แคนาดา ...... ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37  (เพชร เหมือนพันธุ์, 2555)
การศึกษาไทยสะท้อนจากผลการจัดอันดับของบริษัทด้านการศึกษาและธุรกิจอย่างเพียร์สัน

คำถามก็คือ เพียร์สันมีวิธีการจัดลำดับอย่างไรและเทคนิควิธีการคืออะไร 

เพียร์สัน (Pearson, 2012)  เป็นบริษัทที่ผลิตหนังสือตำราและสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ  แต่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก  งานนี้เขาทำร่วมกับ The Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยด้านเศรษฐกิจและธุรกิจระดับโลกวิธีการวิจัยใช้เทคนิคการเทียบสมรรถนะ (Benchmarking)  เป็นรายงานขนาดหน้า 52 หน้า  ขั้นตอนการวิจัยก็จะวัตถุประสงค์หลักสองอย่างคือ การตรวจสอบข้อมูลการศึกษาระหว่างประเทศและการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศ  ลำดับขั้นการวิจัยก็คือ
1. รวบรวมข้อมูลการศึกษาระดับนานาชาติให้ได้ครอบคลุมและสมบูรณ์ที่สุดจัดทำเป็นธนาคารข้อมูลเส้นโค้งการเรียนรู้
2. เลือกประเทศที่มีข้อมูลครบถ้วนและสมบูรณ์ทุกด้านได้ 40 ประเทศ
3. เลือกตัวชี้วัดที่จะใช้ในการเปรียบเทียบจากข้อมูลที่รวบรวมมามีมากกว่า 60 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
ปัจจัยนำเข้าด้านการศึกษา  อาทิเช่น อัตราส่วนครู-นักเรียน การใช้งบประมาณ ฯลฯ , ส่วนที่สองคือ
ผลผลิตทางการศึกษา อาทิเช่น คะแนนการวัดผลระดับนานาชาติ, ระดับความสามารถพื้นฐาน ฯลฯ
และส่วนสุดท้ายคือตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในนังคม
อัตราอาชญากรรม, ค่า GDP กับการลงทุนการศึกษา, การว่างงาน ฯลฯ
4. การเปรียบเทียบกับค่าดัชนีด้านทักษะการคิดและความสำเร็จทางการศึกษาของโลก
(Global Index of Cognitive Skills and Edcucational Attainment) มาเป็นตัวเทียบ  ทักษะการคิด
ก็ใช้ดัชนีการอ่าน, คะแนนคณิตศาสตร์ และคะแนนวิทยาศาสตร์
5. คำนวณคะแนนทั้งหมดและถ่วงน้ำหนักแต่ละปัจจัยและองค์ประกอบ  โดยการกำหนดว่าจะให้
คะแนนแต่ละด้านแต่ละปัจจัยเท่าใด
6. หาความสัมพันธ์ของคะแนนแต่ละด้าน  แล้วแบ่งผลคะแนนออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ค่า Z-Score สูงกว่า 1 กลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่าง 0.51 ถึง 0.99  กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่าง -0.50  ถึง  0.50  กลุ่มที่ 4 อยู่ระหว่าง  -0.51 ถึง -1.00
กลุ่มที่ 5 ต่ำกว่า -1.00

จากนั้นนำคะแนนมาจัดลำดับทั้ง 40 ประเทศ เรียงตามผลคะแนน ปรากฎว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 37 มีค่าคะแนน -1.46

คราวนี้ก็รู้แล้วว่า Pearson เขาจัดลำดับการศึกษาประเทศไทยอย่างไร 
สิ่งที่เพียร์สันเสนอแนะเอาไว้ในบทสรุปผู้บริหาร  เป็นบทเรียน 5 ประการสำหรับ
ผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาก็คือ
1. ไม่มียาวิเศษ  ไม่มียาใด ๆ จะแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ ไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง
2. โปรดเคารพครู  ครูที่ดีเท่านั้นที่จะนำการศึกษาให้มีคุณภาพสูงได้
3. วัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนได้  นำวัฒนธรรมเชิงบวกมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
4. ผู้ปกครองเป็นทั้งศัตรูและผู้กอบกู้การศึกษา  ระบบการศึกษาต้องนำผู้ปกครองมาเข้าร่วม
5. การศึกษาเพื่ออนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน  สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มาจากการศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจการจัดลำดับของเพียร์สัน และเป็นกำลังใจให้การศึกษาไทยต่อไป
....................................................................
รายการอ้างอิง

ทีมการศึกษาไทยรัฐ (2555) โอกาสเด็กไทยที่สูญเปล่า. ไทยรัฐ. วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2555.
http://www.thairath.co.th/content/edu/316928
การศึกษาเดลินิวส์ (2556). ย้อนมองการศึกษาไทยบนความหวังที่ก้าวไม่ออก. เดลินิวส์. วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556.
http://www.dailynews.co.th/education/175462
เพชร เหมือนพันธุ์. (2555) การศึกษาไทยตกต่ำแล้วตกต่ำอีก โดยบริษัทเพียร์สัน. หน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2555
Pearson. (2012) The Learning Curve : Lessons in Country, Performance in Education. London : Pearson.http://thelearningcurve.pearson.com/the-report

หมายเลขบันทึก: 514713เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2013 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2013 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เคยสงสัยค่ะ

ตามมาอ่านอีกครับ

ผมสบายดี ดีใจได้อ่านเรื่องของอาจารย์ชอบคำแนะนำเหล่านี้ครับ

ผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาก็คือ
1. ไม่มียาวิเศษ  ไม่มียาใด ๆ จะแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ ไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง
2. โปรดเคารพครู  ครูที่ดีเท่านั้นที่จะนำการศึกษาให้มีคุณภาพสูงได้
3. วัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนได้  นำวัฒนธรรมเชิงบวกมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
4. ผู้ปกครองเป็นทั้งศัตรูและผู้กอบกู้การศึกษา  ระบบการศึกษาต้องนำผู้ปกครองมาเข้าร่วม
5. การศึกษาเพื่ออนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน  สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มาจากการศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

โดยเฉพาะข้อ 2

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท