เที่ยวสวนผักในบ้าน ที่บ้านแม่โจ้ เชียงใหม่


ปแบบการปลูกผักของแต่ละบ้านจะต่างกัน บางบ้านก็ทำเป็นแปลงไว้ในบ้าน บางบ้านปลูกเป็นกระถาง บางบ้านก็ไปปลูกตรงแปลงสวนแปลงนาของตัวเอง ด้วยความคิดเห็นตรงกันว่า “ถ้าทำกันเยอะๆ ก็จะลดสารพิษได้เยอะ”

เที่ยวสวนผักในบ้าน ที่บ้านแม่โจ้ เชียงใหม่


อากาศเย็นเริ่มครอบคลุมภาคเหนือของเราแล้ว ฉบับนี้หลินปิงจะพาไปเที่ยวที่บ้านแม่โจ้ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เผื่อใครอยากไปสัมผัสอากาศหนาว อยากแวะไปนอนบ้านดินหรือโฮมเสตย์ กินผักปลอดสาร ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อยบ้านแม่โจ้นี้มิใช่มหาวิทยาลัยแม่โจ้นะจ๊ะ ที่ตั้งของบ้านอยู่บนเส้นทางไปเที่ยววนอุทยานน้ำตกบัวตอง น้ำพุเจ็ดสี

ที่บ้านแม่โจ้นี้ จะรู้จักกันมากชื่อโฮมสเตย์บ้านดินแม่โจ้ แล้วก็บ้านดินของพี่โจน จันได เจ้าพ่อเกษตรอินทรีย์อีกคนหนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งศูนย์เรียนรู้อยู่ที่นั่น แต่จุดเริ่มต้นของการปลูกผักปลอดสารของบ้านแม่โจ้ มาจากกลุ่มเพื่อนบ้าน 10 หลัง ได้ชักชวนกันหาทางลดรายจ่ายครัวเรือน ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง ที่ได้ของแถมเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น ได้รับการยืนยันจากหมออนามัยที่มาตรวจสารพิษเปรียบเทียบก่อนและหลังทำโครงการที่ผู้ร่วมโครงการยืนยันว่า จาก แดง (อันนี้หลินปิงเข้าใจเองว่าคือเปอร์เซ็นต์สารพิษในเม็ดเลือด) เปลี่ยนเป็นจางลง หรือหายไปเลย


พี่แคน หรือ นายเลิศรบ คาจ้อยแกนนำ โครงการชุมชนน่าอยู่ พออยู่ พอเพียง เล่าให้ฟังว่า รูปแบบการปลูกผักของแต่ละบ้านจะต่างกัน บางบ้านก็ทำเป็นแปลงไว้ในบ้าน บางบ้านปลูกเป็นกระถาง บางบ้านก็ไปปลูกตรงแปลงสวนแปลงนาของตัวเอง ด้วยความคิดเห็นตรงกันว่า “ถ้าทำกันเยอะๆ ก็จะลดสารพิษได้เยอะ” จาก 10 บ้าน ได้วางแผนขยายเป็น 20 หลังซึ่งต่อไปหลังจากขยายเครือข่ายแล้วก็จะทำศูนย์เรียนรู้ และสร้างตูบ (กระท่อม) ไว้ขายผักที่หน้าบ้าน

“ผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะปลูกไว้บริโภคกันเองแบ่งกันกินในหมู่บ้าน ชนิดของผักก็หลากหลาย ทั้งผักพื้นบ้าน และผักอายุสั้น ผักอายุยาว ตัวอย่างเช่น ผักชีฝรั่ง, ใบแค, กระเพรา, มะนาว, ฟัก, เพกา, ถั่วพู, ถั่วฝักยาว, ถั่วแปบ, ขิง, ข่า, ตะไคร้, พริก, สะคร่าน(จะค้าน), ดีปรี, เล็บครุฑ, มะรุม, สะเดา, ผักกูด, มะกรูด, ไพร(ปูเลย), เห็ดลม ส่วนที่ยอดนิยม 5 อันดับแรกมีทุกบ้านก็คือ ผักหวาน, เชียงดา, ผักกาด, ชะอม (ผักหละ) และมะเขือ”



พี่สมพร คำวิไล เล่าเพิ่มเติมว่าหลังจากปลูกผักกินเองลดรายจ่ายไปได้เยอะ จากเดิมไปจ่ายของถึง 100 บาท ก็ลดเหลือ 30-40 บาท แถมยังได้กินผักที่ปลอดสารพิษ ไม่ต้องกลัวอันตรายจากยาฆ่าแมลง บางบ้านมีผักเหลือก็เอาไปขายที่ตลาดผักปลอดสาร หน้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย

“แค่ใช้เวลาว่างจากการทำนาทำสวนที่เป็นอาชีพหลักมาดูแลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่ยุ่งยากที่สุดคือเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ที่ต้องทำจากน้ำชีวภาพ ปุ๋ยหมักเศษไม้/ใบไม้ และไส้เดือนฝอย แต่พอทำเป็นเข้ารูปเข้ารอยแล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ที่สำคัญปุ๋ยจากไส้เดือนปลูกกะหล่ำได้หัวใหญ่มากๆ  แถมยังมีคนมารับซื้อไส้เดือนได้ราคาดีถึงโลละ 300 บาท ส่วนสารไล่แมลงก็ทำน้ำหมักสะเดา และน้ำหมักดาวเรือง (คำปู้จู้)”


จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้คือเราจะได้ดูความแตกต่างของสวนผักแต่ละบ้าน ที่ต่างก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามความถนัด ซึ่งโครงการก็มีกิจกรรมประกวดผัก และครัวเรือนต้นแบบ สร้างความน่าชมที่แตกต่างกัน


งานนี้นอกจากได้เที่ยวแปลงผัก เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แล้ว หลินปิงยังได้คำศัพท์ภาษาเมือง (เหนือ) ที่เป็นชื่อผักไปเป็นความรู้ใหม่ จนปวดหัวชนิดว่าบางคำล่ามกิตติมศักดิ์สาวเชียงใหม่แต๊ๆ ที่หอบหิ้วไปด้วยก็แปลจนมึนไปตามๆ กัน ก่อนจบแถมคำสุดท้ายให้อีกหน่อย มาจากปุ๋ยไส้เดือนพระเอกงานนี้ของเรา ที่ภาษาเมือง คือ "ขี้ตาแร่" เป็นไส้เดือนกำจัดขยะ หรือไส้เดือนดิน นั่นเองนะเจ้า


ใครสนใจจะไปนอนโฮมเสตย์ แถมกินผักปลอดสารพิษ ราคาเพียงคนละ 150 บาทต่อคืน แถมอาหาร 2 มื้อ ติดต่อพี่แคน เลิศรบ คาจ้อย ที่เบอร์โทร 089-5540743 งานนี้หลินปิงรับประกันความหอมหวานของผักที่เก็บมาให้กินกันสดๆ นะเจ้าคะ




หมายเลขบันทึก: 514429เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้อยู่ใกล้ชิด กับธรรมชาติ  ความสุข+สดชื่น  ดีจังเลยนะคะ 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการแนะนำสวนออร์แกนิกส์ในเชียงใหม่ ต้องลองไปสักครั้ง

สวัสดีปีใหม่นะคะ


ขอบคุณที่นำสาระมาลงให้ศึกษานะคะ มีกลุ่มผักปลอดสารพิษ อยากให้เพิ่มคำสำคัญ อาหารปลอดภัย/ อาหารเพื่อสุขภาพ /GFGAP  อ่านบันทึกที่ขึ้นไว้ด้านบนของเว็ปนี้นะคะ  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท