ถึงเวลาการปฏิวัติของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ


ถึงเวลาการปฏิวัติของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

โดย รองศาสตราจารย์
ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อดีตข้าราชการ รศ. เปลี่ยนสถานะมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย


หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน ปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีนโยบายหลายอย่างในการแก้ปัญหาหนึ่งในนั้นคือการลดอัตตรากำลังข้าราชการลง เพื่อลดรายจ่ายภาครัฐในระยะยาว และนั่นเป็นจุดกำเนิดชนกลุ่มหนึ่งในสังคมและวงการอุดมศึกษาขึ้นมา เรียกว่า “พนักงานมหาวิทยาลัย”

 

ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบัน คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน สาย ข. และ สาย ค. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย ทดแทนอัตราข้าราชการโดยเงินเดือนที่รัฐจะจัดสรรให้กับแต่ละมหาวิทยาลัย จะเป็นในรูปแบบของเงินหมวดอุดหนุนก้อนเดียวจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนแก่พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีข้อแตกต่างจากระบบราชการเดิม ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือจ่ายบัญชีเงินเดือนข้าราชการเอง


ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีบุคลากรที่เป็น พนักงานมหาวิทยาลัย จ้างโดยเงินงบประมาณแผ่นดิน ประมาณ 65,000 คนแบ่งเป็นสายวิชาการประมาณ 40,000 คน และสายสนับสนุนประมาณ 25,000 หรือคิดเป็นร้อยละ 40
จากบุคลากรในระบบอุดมศึกษาทั้งหมดประมาณ 165,000 คนในขณะที่จำนวนข้าราชการเหลือประมาณ 20 เปอร์เซนต์ และในปีงบประมาณ 2557 เปอร์เซนต์ของจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยจะพุ่งขึ้นใกล้เคียง 50 เปอร์เซนต์ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด  ทั้งนี้ยังไม่รวม พนักงานมหาวิทยาลัย ที่จ้างโดยเงินรายได้ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากรวม พนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งสองกลุ่มแหล่งเงินจ้างแล้ว ถือว่า พนักงานมหาวิทยาลัย คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษาไทย


ทั้งนี้ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น สะสมมาเป็นเวลากว่า 13 ปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยแต่ละมหาวิทยาลัยมีความอิสระในการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับ ผู้บริหารขาดความเข้าใจในระบบใหม่ จึงเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในองค์กร โดยหลายมหาวิทยาลัย ได้หักเงินที่พึงต้องจ่ายเป็นเงินเดือนเต็มให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ 0.2-0.7 จากงบประมาณที่ได้รับ โดยมีข้ออ้างต่างๆนานาว่าจะนำไปจัดสวัสดิการหรือพัฒนาระบบพนักงานมหาวิทยาลัยในองค์กร แต่แท้จริงแล้ว เป็นการนำเงินงบประมาณเหล่านั้นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นการจ่ายค่าสาธารณูประโภค การสร้างตึกสร้างอาคาร หรือแม้แต่การนำเงินไปใช้จ่ายในการดูงานต่างประเทศ  ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเท่ากับระบบข้าราชการเดิม แต่หาลืมไปว่า พนักงานมหาวิทยาลัยเหล่านั้น แม้เงินเดือนดูเหมือนมากกว่าระบบข้าราชการเดิม แต่เขาเหล่านั้น ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆจากระบบข้าราชการเก่าเลย ทั้งในเรื่องสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้ตนเอง หรือให้ครอบครัว และไม่ครอบคลุมถึงบิดามารดา 

ศักดิ์ศรีของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลในแวดวงมันสมองของชาติ ส่วนใหญ่จบปริญญาเอก เป็นนักเรียนทุน ไม่สามารถหนีไปทำงานด้านอื่นได้ เพราะติดสัญญาชดใช้ทุน ต้องทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
เมื่อเทียบกับระบบราชการเดิม ศักดิ์ศรีหลายอย่างได้หายไปพร้อมกับระบบเดิมที่เขาควรจะได้รับ นอกจากสวัสดิการเดิมที่ไม่มีแล้ว สถานะตัวตนในสังคมก็ไม่มี เช่น ในการยื่นกู้เพื่อเข้าหาแหล่งเงินในการสร้างบ้าน หรือ ลงทุน
ธนาคารจะไม่ค่อยอนุมัติ เพราะสถานภาพไม่มั่นคง ไม่ใช่ข้าราชการ ซ้ำยังต้องถูกหักเงินเดือนโดยไม่เป็นธรรมจากการบริหารที่ขาดความเข้าใจ และมีการใช้สัญญาจ้างที่สั้น 1-3, 1-5 ปี ไม่มีระยะยาวถึงอายุ 60 ปี ทำให้อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ขาดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยหากพูดหรือวิจารณ์หรือเรียกร้องมาก ก็อาจไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฏหมายแรงงาน
สังคมจึงได้เห็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมอาชีพในสถาบันอุดมศึกษาจึงเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต  และเป็นการยุ่งยากที่จะแก้ไขหรือฟ้องร้องขอความเป็นธรรม กลับคืน  ด้วยใช้เวลานาน และไม่คุ้มค่าต่อการเสี่ยงของอาจารย์เหล่านั้น


ในเรื่องของตำแหน่งทางวิชาการ ระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ นั้น ในอดีตหลายมหาวิทยาลัย ไม่ให้เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย หรือในปัจจุบันให้ก็เพียงครึ่งเดียวของระบบราชการเดิม ในขณะที่ข้าราชการที่ยังหลงเหลือในระบบ ได้รับสองเท่า ซึ่งการเรียกร้องความเป็นธรรมของพนักงานมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ ได้ดำเนินการในหลายมหาวิทยาลัย และเป็นที่น่าตกใจว่า ในมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่บางแห่ง ให้คำตอบว่า พนักงานมหาวิทยาลัย มีเงินเดือนเยอะแล้ว หรือหากอยากได้ ให้ไปขอรัฐบาลเอาเอง มหาวิทยาลัยไม่สามารถเอาเงินรายได้มาจ่ายให้พวกคุณได้ กลับกลายเป็นว่า พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเพื่อนอาจารย์ร่วมอาชีพ ตกอยู่ในฐานะกลุ่มคนที่สร้างความลำบากใจต่อผู้บริหารในการพิจารณาเงินรายได้มาสนับสนุนให้อาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น แม้บางครั้งการใช้เงินรายได้เหล่านั้นอาจดูฟุ่มเฟือยไม่เข้าท่า เช่น
ไปดูงานต่างประเทศ ปีละ 40-50 ล้านบาท หรือจัดกิจกรรมสันทนาการ ปีละหลายสิบล้านบาท


การที่ผู้บริหารขาดความเข้าใจในระบบใหม่อาจถือเป็นข้ออ้างได้  แม้อัตตราของข้าราชการลดลงเรื่อยๆ และมีอัตตราของพนักงานมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทดแทน ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ยังเป็นข้าราชการเก่า บางแห่งมีการแบ่งแยกชัดเจน
มีคำสบประมาทดูถูกเพื่อนร่วมอาชีพ ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่น
“รู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว มาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทำไม” “ที่อื่นดีกว่าก็เชิญลาออกไปอยู่” “คุณอย่าลืมว่าคุณคือพนักงานมหาวิทยาลัย” “พวกคุณมันเงินเดือนเยอะแล้ว จะเอาอะไรอีก” “พวกคุณ ได้คืบ จะเอาศอก” เป็นต้น  แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตุว่า บางมหาวิทยาลัย
มีอธิการบดีที่มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ในหน่วยงานของตนเอง เพื่อนอาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัย กลับได้รับเงินเดือนไม่เต็ม
1.5-1.7 เท่า แต่เงินเดือนอธิการบดีประมาณ เดือนละ 300,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า อธิการกลุ่มนั้นเป็นข้าราชการเก่า ที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งบริหาร
และสามารถออกระเบียบกำหนดอัตตราเงินเดือนผู้บริหารได้ แต่แนวคิดยังคงเดิม


ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ปฏิบัติต่อ พนักงานมหาวิทยาลัย ได้ทยอยเปิดเผยเรื่อยๆ และนี่คือหนึ่งในอีกหลายความเหลื่อมล้ำ ที่พนักงานมหาวิทยาลัยถูกกระทำ แม้ในมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวนมากมีสัดส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 80% แต่ผู้บริหารส่วนมาก ก็ยังเป็นข้าราชการ  และ เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ครม. ให้โบนัสบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเงินรางวัลให้กับบุคลากรที่สร้างสรรค์ผลงานให้สถาบันตนเองโดยให้เป็นเงินพิเศษโบนัสพนักงานมหาวิทยาลัยกว่า 80% ในสถาบันนั้นๆ เป็นกลุ่มผู้สร้างผลงานให้กับหน่วยงาน แต่ โบนัสเหล่านี้ กลับห้ามแจกจ่ายให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย....ส่วนผู้บริหารหน่วยงานรับหลักหลายแสน โดยไม่แจกจ่ายเพื่อนร่วมองค์กรเลย....เมื่อถามไปกลับได้รับคำตอบว่า ....ให้เงียบไว้.....และให้พวกพนักงานฯไปถามรัฐบาลเอาเอง


การรวมตัวของพนักงานมหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในสังคมออนไลน์ เริ่มจากการบ่นและวิพากษ์วิจารณ์ตัดพ้อและหาหนทางเรียกร้องความเป็นธรรม จนจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลายร้อย เป็นพัน และหลักหมื่นในที่สุด จึงเกิดข้อเรียกร้องและการต่อสู่ต่างๆมากมายออกมาปรากฏในสังคม และล่าสุดได้เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ในทันที


ประเด็นที่สามารถทำได้เลย คือ แก้ไขมติ ครม.ปี 2542 ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด ให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น และเยียวยาใน 3 ระยะ คือ ต้น กลาง และยาว โดยในระยะต้นให้พิจารณาออกมติ ครม.ใหม่ โดยให้สำนักงบประมาณที่สนับสนุนงบประมาณให้ทุกมหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือนเต็มจริงๆ รวมถึงค่าตอบแทนทางวิชาการสองเท่าเหมือนระบบราชการเดิม ส่วนสัญญาจ้างที่เป็นธรรมนั้น เมื่อผ่านการประเมินงานครั้งแรกแล้ว ให้กำหนดจ้างให้ถึงอายุ 60 ปี ทุกมหาวิทยาลัย และระบบสวัสดิการเกื้อกูลควรไม่น้อยกว่าระบบราชการเดิม ส่วนนโยบายรัฐบาลที่มีการเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการนั้น ให้รวมถึงพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย เพราะทุกครั้งที่มีการกำหนดนโยบายประชานิยม พนักงานมหาวิทยาลัยคือกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม


ส่วน ในระยะกลางคือระเบียบเกณฑ์กลาง จาก ก.พ.อ.ที่จะกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัย และระยะยาวคือ พ.ร.บ.พนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีตัวตนในสังคม.


การเรียกร้องยังคงดำเนินต่อไป พี่น้องพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ บางส่วนที่หมดพันธะผูกพันก็ได้ลาออกจากอาชีพนี้ ไปทำงานในระบบเอกชน หรือไปสอบรับราชการในกรมกองต่างๆ ซึ่งมันสวนทางกับหลักการกำเนิดของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ต้องการจ้างด้วยเงินเดือนที่สูง เพื่อดึงคนเก่งเข้ามาเป็นมันสมองของชาติในรั้วมหาวิทยาลัย


จึงถึงเวลาแล้วที่พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะพร้อมใจปฏิวัติระบบ และพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องการผู้ร่วมก่อการ ทั้งจากภาครัฐ หรือ ภาคประชาชน  ทั้งนี้เมื่อระบบมันยุติธรรม เสมอภาคทั่วประเทศตามที่มันควรเป็นแล้ว ระบบอุดมศึกษาไทย จะเดินหน้าแบบก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยที่มีกำลังสำคัญของพนักงานมหาวิทยาลัยพร้อมจะแข่งขันในทุกเวทีโลก เพื่อยกระดับอุดมศึกษาไทย พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่มีศักยภาพสูง ถูกฝึกถูกประเมินในระบบที่เข้มข้น จะนำพาอุดมศึกษาไทยไปไกล ไม่แพ้ชาติใดในโลก ฟันธง.......

 

หมายเลขบันทึก: 514404เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ระบบมหาวิทยาลัยเรายังช้ากว่าปกติครับ

มหาวิทยาลัยมหิดล สวัสดิการรักษาพยาบาล คือประกันสังคม ถึงมหาวิทยาลัยจะอ้างว่ามีช่วยด้านพยาบาลปีละ 50,000 บาท แต่ยังไงคุณต้องไปใช้สิทธิประกันสังคมก่อน ต้องใช้ในโรงพยาบาลในเครือมหิดล และต้องเป็นประกันสังคมรพ.นั้น ด้วย ถึงจะเป็นรพ.ในเครือแต่ถ้าไม่มีประกันสังคมก็ต้องจ่ายเอง รพ.ออกบิลมาว่าเบิกไม่ได้ ก็เอามาเบิกในส่วน 50,000 ของมหาวิทยาลัยไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท