ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๑๐. ความใฝ่ฝัน


เพราะผมเชื่อว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้กันในปัจจุบัน ก่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ (Learning Outcome) ได้เพียงผิวเผินเท่านั้น.....................................


          ผมใช้เวลา ๓ วันเต็ม  (๒๘ - ๓๐ พ.ย. ๕๕) อยู่กับการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง Academic Transformation (1, 2) ที่จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ  โดยใช้สมาธิอยู่กับการประชุมนี้อย่างเต็มที่  โดยนอกจากตั้งใจฟังและทำความเข้าใจหลักการและวิธีการเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยสิ้นเชิง ตามแนวทางของ NCAT แล้ว  ผมยังสังเกตด้วยว่า ผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมมีเป้าหมายอะไร จึงมาเข้าประชุมนี้  โดยที่ค่าลงทะเบียนแพง  เพราะค่าวิทยากร ๒ คนจากสหรัฐอเมริกา ก็กว่า ๑.๒ ล้านบาท  และ สคช. จัดงานนี้แบบยอมขาดทุน

          ในฐานะกรรมการของ สคช. ผมบอกตัวเองว่า  สคช. ยอมขาดทุน เพื่อกำไรของประเทศไทย 

          ผมอยากให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์เต็มๆ จากการประชุมปฏิบัติการนี้

          ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ ต่อเมื่อมีการนำเอาหลักการและแนวทางของ AT มาปรับใช้อย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทย

           ผู้มาร่วมประชุมบอกว่า แนวทางตามที่เราได้เรียนรู้ใน ๓ วันนี้ มีการทำอยู่บ้างแล้วในมหาวิทยาลัยต่างๆ  สคช. จึงรับอาสาไปรวบรวมข้อมูล และเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เอามาต่อยอด  โดย ศ. ดร. สิทธิชัย ขุนทองแก้ว คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญให้ไปประชุมเครือข่าย ThaiUniversityAcademic Transformation ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต  ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ 

          เสียดาย ที่ตอนท้ายของการประชุม ไม่ได้มีการทำ AAR ให้ได้พลังของความใฝ่ฝันของผู้เข้าร่วมประชุม  ผมจึงกลับมา AAR กับตัวเองที่บ้าน 

          เป้าหมายของผมในการเข้าร่วมประชุม ๓ วันนี้ คือต้องการหาทางขับเคลื่อนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยไทย (และวงการศึกษาไทยทั้งหมด) เข้าสู่มิติใหม่ หรือภพภูมิใหม่  ต้องการหาวิธีการ และหาแนวร่วม

          เพราะผมเชื่อว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้กันในปัจจุบัน ก่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ (Learning Outcome) ได้เพียงผิวเผินเท่านั้น  เรียนรู้ได้ไม่ลึก ไม่เชื่อมโยง  การศึกษาไทยในรูปแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน จะนำพาคนไทยไปสู่ความเป็นคนผิวเผินทั้งชาติ  ผมจึงใฝ่ฝันว่า เราต้องรีบช่วยกันแก้ไข  ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้

          สิ่งที่ผมได้มากสมความตั้งใจ (จากการประชุม) คือได้วิธีปฏิบัติ  ได้รู้เคล็ดลับเงื่อนไขของความสำเร็จ  และรู้จุดอ่อนที่วงการปฏิรูปการเรียนรู้มักหลงทาง (เช่น ใช้ IT เพื่อช่วยการสอนของอาจารย์ ไม่ใช่เพื่อการเรียนรู้แบบลงมือทำของ นศ., ดำเนินการเพื่อความพึงพอใจของ นศ.  ไม่ใช่เพื่อ learning outcome, ไม่มีการวัดผลการปฏิรูปเปรียบเทียบกับการจัดการเรียนรู้แบบเดิม, จัดการปฏิรูปเพียงบางส่วนของวิชา ไม่ใช่ทั้งรายวิชา, ทำแล้วอาจารย์เหนื่อยขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะไม่มีการจัดกำลังผู้ facilitate การเรียนรู้ของ นศ. ใหม่, เป็นต้น)

          สิ่งที่ผมได้น้อย คือไม่เห็นการจัดการระดับมหาวิทยาลัย (ของไทย) เพื่อจัดทีมมาเรียนรู้แล้วเอาไปลงมือทำ  วางแผนอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน

          แต่ผมก็ดีใจ ที่ได้เห็นคณบดี ๒ ท่านที่มาร่วมประชุมแบบอยู่ตลอด ๓ วัน  และร่วมตั้งคำถามและออกความเห็นอย่างเอาจริงเอาจัง  คือ ศ. ดร. ทพ. สิทธิชัย ขุนทองแก้ว คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มธ., และ รศ. ดร. หมุดตอเล็บ หนิมุสา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มวล.  โดย ศ. สิทธิชัย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายครั้งต่อไป  และ ดร. หมุดฯ ตั้งคำถามมากมาย ที่แสดงว่าท่านได้ใช้ความพยายามมาหลายปี ที่จะช่วยการเรียนของ นศ. ที่เรียนอ่อน  ที่เดี๋ยวนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

          ข้อแนะนำต่อผู้จัดการประชุมผมได้กล่าวไปแล้ว  คือหากต้องการให้การประชุมมีผลต่อเนื่องสู่การลงมือทำร่วมกัน  ควรทำ AAR ในหมู่ผู้เข้าร่วมประชุม  จะได้พลังของความใฝ่ฝันร่วมกัน และได้เห็นแนวทางการลงมือทำร่วมกัน

          ความใฝ่ฝัน ที่ผมจะทำต่อไป คือทำตัวเป็น “พลังคนแก่” หรือกองเชียร์  ชี้ให้เห็นคุณค่าของการปฏิรูปการเรียนรู้  ว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และความวัฒนาถาวรของสังคมไทย   พูดง่ายๆ ว่าผมจะทำหน้าที่สื่อสารคุณค่าของกิจกรรมนี้ 

          วันพรุ่งนี้ จะลงบันทึกสาระจากการประชุมใน บล็อก “สภามหาวิทยาลัย” อีกบันทึกหนึ่ง


วิจารณ์ พานิช

๑ ธ.ค. ๕๕

บนรถตู้ เดินทางไป จ. กาญจนบุรี


หมายเลขบันทึก: 512501เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้าใจว่าบางมหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งให้ผู้บริหารและคณาจารย์รู้เรื่องการประชุมนี้ หรืออาจจะแจ้งเฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมของสถาบันคลังสมอง จึงน่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้

 สวัสดีึ่คะ

- ..."พลังคนแก่"....เป็น พลัง ที่มีคุณค่า มีคุณภาพ นำมาฐานแห่ง "ขุมปัญญา"  อย่างยั่งยืน....

ขอบพระคุณ "พลังคนแก่"   ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท