มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พญานาค


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

พญานาคกับพระพุทธศาสนา

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

พญานาคกับพระพุทธศาสนา

เรื่องของพญานาคนั้นพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักฐานไว้อย่างไรหรือไม่ พญานาคหมายถึงงูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา  และบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล  เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์  จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  พญานาคนั้นเรามักจะพบเห็นเป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่างๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนาภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมายและนครวัดมหาปราสาท ถ้าเราจะสังเกต ก็คงจะเป็นที่ศาสนาพุทธทำไมมีเรื่องราวพญานาคมาเกี่ยวข้องมาก  พญานาค ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตกถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย  ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่พญานาค มังกร  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ  ชาวฮินดูถือว่าพญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น  อนันตนาคราช  ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาคเป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว  หมายถึงน้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตรไร่นา ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ  7 ตัว  น้ำจะน้อย  ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัวน้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้

พญานาคที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

  พญานาคมีปรากฎหลายแห่งทั้งในพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทและอรรถกถาดังต่อไปนี้ในวินัยปิฎก มหาวรรค (4/5/7) กล่าวถึงมุจจลินทนาคราช  ความว่าครั้นล่วง 7 วันพระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธเข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณควงไม้มุจจลินท์ตลอด 7 วัน  ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้วฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด 7 วัน  มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตนได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วยขนด 7 รอบได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า ความหนาวความร้อนอย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วง 7 วันมุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่งปราศจากฝนแล้วจึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงรูปของตนเป็นเพศมาณพได้ยืนประคองอัญชลีถวายมนัสการพระผู้มีพระภาคทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค
  ในอรรถกถาพระวินัย  สมันตปาสาทิกา  มหาวิภังควรรณนา หน้า 202  ในการอรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า “ปุริสทมฺมสารถิ”  พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นที่ทรงพระนามว่า  ปุริสทมฺมสารถิเพราะอรรถวิเคราะห์ว่ายังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป  มีอธิบายไว้ว่าย่อมฝึก  คือแนะนำ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี  มนุษย์ผู้ชายก็ดี  อมนุษย์ผู้ชายก็ดี  ผู้ที่ยังมิได้ฝึก  ควรเพื่อจะฝึกได้  ชื่อว่าปุริสทัมมา  ในคำว่าปุริสทมฺมสารถินั้นแม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีอาทิอย่างนี้  คือ  อปลาลนาคราช  จุโฬทรนาคราช  มโหทรนาคราช  อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช  อาลวาฬนาคราช  ช้างชื่อธนบาลก์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้วคือทรงทำให้สิ้นพยศแล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย 
  อรรถกถาปาสราสิสูตร  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค หน้าที่ 456ได้กล่าวถึงพญานาคไว้ว่าเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้ววางถาดทองไว้ริมฝั่งลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว  ทรงปั้นข้าวมธุปายาสจำนวน 49 ก้อน  เสวยข้าวมธุปายาสแล้วทรงเสี่ยงทายว่า  ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้  ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำดังนี้แล้วทรงเหวี่ยงถาดไป  ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง  เข้าไปสู่ภพของท้าวกาฬนาคราช  วางทับถาดของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค หน้าที่ 115 

กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่าพระโพธิสัตว์ครั้นเสวยข้าวข้าวปายาสนั้นแล้ว  จับถาดทองทรงอธิษฐานว่า  ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ไซร้  ถาดของเราใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป  ถ้าจักไม่ได้เป็นจงลอยไปตามกระแสน้ำ  ครั้นทรงอธิษฐานแล้วได้ลอยถาดไป  ถาดนั้นลอยตัดกระแสน้ำไปถึงกลางแม่น้ำ ณที่ตรงกลางแม่น้ำนั่นแลได้ลอยทวนกระแสน้ำไปสิ้นสถานที่ประมาณ  80  ศอก  เปรียบเหมือนม้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยฝีเท้าอันเร็วไวฉะนั้นแล้วจมลงที่น้ำวนแห่งหนึ่งจมลงไปถึงภพของกาลนาคราชกระทบถาดเครื่องบริโภคของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์  มีเสียงดังกริ๊ก ๆแล้วได้วางรองอยู่ใต้ถาดเหล่านั้น  กาลนาคราชครั้นได้สดับเสียงนั้นแล้ว  กล่าวว่า  เมื่อวานนี้พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดแล้วองค์หนึ่ง  วันนี้บังเกิดอีกองค์หนึ่ง  จึงได้ยืนกล่าวสดุดีด้วยบทหลายร้อยบท ได้ยินว่า  เวลาที่มหาปฐพีงอกขึ้นเต็มท้องฟ้าประมาณหนึ่งโยชน์สามคาวุต ได้เป็นเสมือนวันนี้  หรือวันพรุ่งนี้แก่กาลนาคราชนั้น  อายุของกาลนาคราชยืนยาวมากเพราะหากถือตามนี้หนึ่งพุทธันดรเท่ากับ 1 วันของพญานาค
  พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน หน้าที่ 119บรรยายไว้ว่า เวลาเย็นทรงรับหญ้าที่นายโสตถิยะถวาย  มีพระคุณอันพระยากาฬนาคราชชมเชยแล้ว  เสด็จสู่ควงไม้โพธิปฏิญญาว่า"เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ตลอดเวลาที่จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายด้วยการไม่เข้าไปถือมั่น"    อรรถกถารัฏฐปาลสูตรมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม 2 ภาค หน้าที่ 48  ได้กล่าวถึงพญานาคเคยถวายทานแด่พระพุทธเจ้าว่าครั้งนั้นกุฏุมพีทั้งสองนั้นทำการบำรุงดาบสเหล่านั้นจนตลอดชีวิตเมื่อเหล่าดาบสบริโภค แล้วอนุโมทนา  รูปหนึ่งกล่าว  พรรณนาคุณของภพท้าวสักกะ  รูปหนึ่งพรรณนาคุณภพของนาคราช  เจ้าแผ่นดิน
 บรรดากุฏุมพีทั้งสอง  คนหนึ่งปรารถนาภพท้าวสักกะ  ก็บังเกิดเป็นท้าวสักกะ  คนหนึ่งปรารถนาภพนาคก็เป็นนาคราชชื่อปาลิตะ  ท้าวสักกะเห็นนาคนั้นมายังที่บำรุงของตน  จึงถามว่า  ท่านยังยินดียิ่งในกำเนิดนาคอยู่หรือ  ปาลิตะนาคราชนั้นตอบว่า  เราไม่ยินดีดอกท้าวสักกะบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านจงถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระสิ  แล้วทำความปรารถนาจะอยู่ในที่นี้  เราทั้งสองจะอยู่เป็นสุขนาคราชนิมนต์พระศาสดามาถวายมหาทาน 7 วันแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งมี  ภิกษุ 100,000 รูป  เป็นบริวาร  เห็นสามเณรโอรสของพระปทุมุตตรทศพลชื่ออุปเรวตะ  วันที่  7  ถวายผ้าทิพย์แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจึงปรารถนาตำแหน่งของสามเณร 
  อรรถกถาปุณโณวาทสูตร  มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค หน้าที่449พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปแม่น้ำชื่อ นิมมทาได้เสด็จไปถึงฝั่งของแม่น้ำนั้น  นิมมทานาคราชถวายการต้อนรับ  พระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาคได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว  พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว  ก็เสด็จออกจากภพนาค  นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงบทเจดีย์  รอยพระบาทไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา  รอยพระบาทนั้นเมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด  เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด  กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่  เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์  ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่ามหาชนถูกเธอทำให้จมลงในทางอบายเธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ  แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย  แล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน  แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น  ก็ทูลชื่อสิ่งที่จะต้องบำรุงพระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ  ฉะนั้นต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวัน(เราอาจจะเคยได้ยินชื่อแม่น้ำว่าแม่น้ำนัมมทานทีแต่ในอรรถกถาปปัญจสูทนี ฉบับภาษาบาลี หน้า 882 เขียนเป็น "นิมมทานที"อาจจะฟังแปลกหูไปบ้างผู้เรียบเรียงจึงใช้ตามที่ปรากฎในอรรถกถาฉบับบาลีและฉบับแปลขอผู้รู้ใคร่ครวญพิจารณาว่า "นิมมทานที กับ "นัมมทานที"มีที่มาอย่างไร)

ในรัตนสูตร  ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค หน้าที่ 225 กล่าวถึงการต้อนรับของพญานาคว่าครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน 2 ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วนณ  มณฑปนั้นที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้นแม้ภิกษุ  500  รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร  พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าลงน้ำประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละจนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา  แล้วก็เสด็จกลับเทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพได้พากันทำการบูชานาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น  ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา  ก็พากันทำการบูชาด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง  ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี
  ในอรรถกถาชาดก  เอกนิบาต  ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค หน้าที่ 58กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเคยเป็นพญานาคว่า ในกาลนั้นพระมหาสัตว์ได้เป็นนาคราชนามว่าอตุละมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก  พระยานาคนั้นได้ยินว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว  มีหมู่ญาติห้อมล้อมแล้ว  ออกจากนาคพิภพ  ให้กระทำการบรรเลงถวายด้วยทิพยดนตรี  แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารแสนโกฎิถวายผ้าคู่เฉพาะองค์แล้วตั้งอยู่ในสรณะ  พระศาสดาแม้นั้นก็ทรงพยากรณ์เขาว่าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  ชื่อเมขลา  พระราชาทรงพระนามว่า  สุทัตตะ  เป็นพระราชบิดาพระราชมารดาทรงพระนามว่าสิริมา  พระอัครสาวกสององค์คือสรณะและภาวิตัตตะ พระอุปราชนามว่าอุเทนะ  พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า  โสณาและอุปโสณา  และต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้  พระสรีระสูงได้  90 ศอก ประมาณพระชนมายุได้ 90,000 ปี ด้วยประการฉะนี้

พระพุทธเจ้าเคยกำเนิดเป็นพญานาค


  พระพุทธเจ้าทรงแสดงอดีตนิทานว่าพระองค์เคยเกิดเป็นพญานาคดังที่ปรากฏในอรรถกถาจัมเปยยชาดกขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 7  หน้า 185  พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  ทรงปรารภอุโบสถกรรม ความว่า  ดูก่อนอุบาสกบาสิกาทั้งหลาย  การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี  โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย  ละนาคสมบัติแล้ว  อยู่รักษาอุโบสถกรรมเหมือนกัน  อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นทูลอาราธนา  จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้
  ในอดีตกาลพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอังครัฐ  ราชธานี  ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกันมีแม่น้ำชื่อจัมปานทีได้มีนาคพิภพอยู่ใต้แม่น้ำจัมปานทีนั้น  พระยานาคราชชื่อว่าจัมเปยยะครองราชสมบัติในนาคพิภพนั้น (โดยปกติ  พระราชาแห่งแคว้นทั้งสอง  เป็นศัตรูกระทำยุทธชิงชัยแก่กันและกันเนือง ๆ ผลัดกันแพ้  ผลัดกันชนะ)  บางครั้งพระเจ้ามคธราช  ยึดแคว้นอังคะได้  บางครั้งพระเจ้าอังคราชยึดแคว้นมคธได้.

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้ามคธราช  กระทำยุทธนาการกับพระเจ้าอังคราชทรงปราชัยต่อยุทธสงคราม  เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไป  ถึงฝั่งจัมปานทีพวกทหารพระเจ้าอังคราช  ติดตามไปทันเข้า  จึงทรงพระดำริว่าเราโดดน้ำตายเสียดีกว่าตายในเงื้อมมือของข้าศึกดังนี้แล้ว  จึงโจนลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้งม้าพระที่นั่ง  ครั้งนั้นจัมเปยยนาคราชเนรมิตมณฑปแก้วไว้ภายในห้วงน้ำแวดล้อมด้วยบริวารเป็นอันมากดื่มมหาปานะอยู่  ม้าพระที่นั่งกับพระเจ้ามคธราช  จมน้ำดิ่งลงไป เฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราช  พระยานาคราชเห็นพระราชาทรงเครื่องประดับตกแต่งก็บังเกิดความสิเนหา  จึงลุกจากอาสนะทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลยแล้วอัญเชิญให้พระราชาประทับนั่งบนบัลลังก์ของตน  ทูลถามถึงเหตุที่ดำน้ำลงมาพระเจ้ามคธราชตรัสเล่าความตามเป็นจริงลำดับนั้นจัมเปยยนาคราชปลอบโยนพระเจ้ามคธราชให้เบาพระทัยว่า  ข้าแต่พระมหาราชเจ้า  พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย  ข้าพระพุทธเจ้าจักช่วยจัดการให้พระองค์เป็นเจ้าของทั้งสองรัฐ  ดังนี้แล้วเสวยยศอันยิ่งใหญ่อยู่ 7 วัน ในวันที่ 8 จึงออกจากนาคพิภพพร้อมด้วยพระเจ้ามคธราช  พระเจ้ามคธราชทรงจับพระเจ้าอังคราชได้ด้วยอานุภาพของพระยานาคราชแล้วตรัสสั่งให้สำเร็จโทษเสีย  เสวยราชสมบัติในสองรัฐสีมามณฑล  นับแต่นั้นมาความวิสาสะคุ้นเคยระหว่างพระเจ้ามคธราช  กับพระยานาคราชก็ได้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น  พระเจ้ามคธราชให้สร้างรัตนมณฑปขึ้นที่ฝั่งจัมปานที  แล้วเสด็จออกกระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราชด้วยมหาบริจาคทุก ๆ ปี  แม้พระยานาคราชก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรมพร้อมด้วยมหาบริวาร  มหาชนพากันมาเฝ้าดูสมบัติของพระยานาคราช

ในกาลนั้นพระบรมโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเข็ญใจไปที่ฝั่งน้ำพร้อมด้วยราชบริษัท  เห็นสมบัติของพระยานาคราชนั้นแล้ว  ก็เกิดโลภเจตนาปรารถนาจะได้สมบัตินั้นจึงทำบุญให้ทานรักษาศีล  พอจัมเปยยนาคราชทำกาลกิริยาไปได้ 7 วัน ก็จุติไปบังเกิดเหนือสิริไสยาสน์  ณ  ห้องอันมีสิริในปราสาทที่อยู่ของจัมเปยยนาคราชนั้น  สรีระร่างกายของพระบรมโพธิสัตว์ได้ปรากฏใหญ่โต มีวรรณะขาวราวกะพวงดอกมะลิสด  พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น ก็เกิดวิปฏิสาร  คิดไปว่า  อิสริยยศในฉกามาวจรสวรรค์เป็นเสมือนข้าวเปลือกที่เขาโกยกองเก็บไว้ในฉาง ได้มีแก่เราด้วยผลแห่งกุศลที่เราทำไว้ เราสิกลับมาถือปฏิสนธิในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้  ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่ดังนี้แล้วเกิดความคิดที่จะตาย  ลำดับนั้นนางนาคมาณวิกา  ชื่อว่าสุมนา เห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้วดำริว่า  ชะรอยจักเป็นสัตว์ผู้มีอานุภาพมากมาเกิดแน่ดังนี้แล้วจึงให้สัญญาแก่นางนาคมาณวิกาทั้งหลาย  นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นทั้งหมดต่างถือนานาดุริยสังคีต  มากระทำการบำเรอขับกล่อมพระมหาสัตว์  นาคพิภพที่สถิตของพระมหาสัตว์นั้นได้ปรากฏเสมือนพิภพแห่งท้าวสักกเทวราช  มรณจิต (คือจิตที่คิดอยากตาย)  ของพระมหาสัตว์ก็ดับหายไป  พระมหาสัตว์เจ้าละเสียซึ่งสรีระของงู  ทรงประดับเครื่องสรรพาลังการประทับเหนือพระแท่นบรรทม  นับจำเดิมแต่นั้นมาพระอิสริยยศก็ปรากฏแก่พระมหาสัตว์เจ้ามากมาย
Queen of Nagas หรือนางพญานาค หรือบางพยาบาภชื่อเรียกในภาษาลาว
รูปนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2516 เมื่อทหารอเมริกันที่ตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศลาวจับปลาชนิดหนึ่งได้ในแม่น้ำโขงชาวลาวเรียกกันว่า "บางพยาบาภ"หรือนางพญานาค Queen of Nagas นั่นเองปลาตัวนี้วัดความยาวได้ประมาณ 7.80 เมตร

เมื่อนาคอยากเป็นมนุษย์จึงรักษาอุโบสถศีล

 
  เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น  ในเวลาต่อมาก็เกิดวิปฏิสาร  คิดว่าประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา  เราจักอยู่รักษาอุโบสถกรรม  พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์  จักได้แทงตลอดสัจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้ นับจำเดิมแต่นั้นก็ทรงรักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว  พวกนางมาณวิกาตกแต่งกายงดงามพากันไปยังสำนักของพระมหาสัตว์นั้น  ศีลของพระมหาสัตว์ก็วิบัติทำลายอยู่เนือง ๆ

จำเดิมแต่นั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงออกจากปราสาท ไปสู่พระอุทยาน  นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน  อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป  ลำดับนั้น  พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่าควรที่เราจะออกจากนาคพิภพนี้ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ  นับแต่นั้นมาเมื่อถึงวันอุโบสถ  พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลกทรงประกาศสละร่างกาย  ในทานว่า “ใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้นจงถือเอาเถิด  ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางูก็จงกระทำเถิด”  แล้วคู้ขดขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้มรรคาแถบปัจจันตชนบทแห่งหนึ่ง  ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมาในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้วพากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป  ชาวปัจจันตชนบทไปพบแล้วคิดว่าคงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ  จึงจัดทำมณฑปขึ้นเบื้องบน ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณแล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้นจำเดิมแต่นั้นมา  มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า  ทำการบูชาปรารถนาบุตรบ้าง  ปรารถนาธิดาบ้าง  แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงรักษาอุโบสถกรรมถึงวันจาตุททสีและปัณณรสี  ดิถี 14 ค่ำ 15 ค่ำก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก  ต่อในวันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ  เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้เวลาล่วงไปเนิ่นนาน  อยู่มาวันหนึ่งนางสุมนาอัครมเหสีทูลถามพระมหาสัตว์ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลกเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น  ความจริงมนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากว่าภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์  เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วยนิมิตอย่างไร  ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้นแก่พวกหม่อมฉันด้วยเถิด  พระมหาสัตว์จึงนำนางสุมนาเทวีไปยังขอบสระมงคลโบกขรณีแล้วตรัสว่า  ดูก่อนพระนางผู้เจริญ  ถ้าหากใคร ๆ จักประหารทำให้เราลำบากไซร้  น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว  ถ้าพญาครุฑจับเอาไปน้ำจักเดือดพลุ่งขึ้นมา  ถ้าหมองูจับเอาไปน้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต  พระโพธิสัตว์ตรัสบอกนิมิต 3 ประการ  แก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว  ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถเสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก  นอนเหนือจอมปลวก  ยังจอมปลวกให้งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกายแม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้นก็ปรากฏขาวสะอาดผุดผาดดังพวงเงินท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง

อนึ่งในชาดกนี้สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถในภูริทัตตชาดก  มีขนาดเท่าลำขา  ในสังขปาลชาดก  มีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง

ในกาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งไปเมืองตักกศิลาเรียนอาลัมภายนมนต์  ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์  เดินทางกลับบ้านของตนโดยผ่านมรรคานั้นเห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า  เราจักจับงูนี้บังคับให้เล่นกีฬาในคามนิคมราชธานีทั้งหลายยังทรัพย์ให้เกิดขึ้นจึงหยิบทิพโอสถ  ร่ายทิพมนต์  ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้าจำเดิมแต่พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์แล้วเกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไปในพระกรรณทั้งสอง  เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช  พระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่านี่อย่างไรกันหนอจึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายในขนดแลไป  ได้เห็นหมองูแล้วดำริว่าพิษของเรามากมาย  ถ้าเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป  สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า  แต่เมื่อทำเช่นนั้นศีลของเราก็จักด่างพร้อย  เราจักไม่แลดูหมองูนั้น  ท้าวเธอจึงหลับพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเศียรไว้ภายในขนดพราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถแล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย  ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์ด้วยอานุภาพแห่งโอสถและมนต์  เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้ว ๆ ปรากฏเป็นเสมือนพองบวมขึ้น  ครั้งนั้นพราหมณ์หมองู  จึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลากลงมาให้นอนเหยียดยาวบีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ จับศีรษะให้มั่นแล้วบีบเค้น  พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก  ทีนั้นพราหมณ์หมองูจึงพ่นน้ำลายเข้าไปในปากของพระมหาสัตว์แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์  ทำลายพระทนต์จนหลุดถอน  ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต  พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกขเวทนาเห็นปานนี้  เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลายทรงหลับพระเนตรนิ่งมิได้ทำการเหลียวมองดู 
  พราหมณ์หมองูคิดว่าเราจักทํานาคราชให้ทุพพลภาพ  จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไปคล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป  แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า ขยี้กระดูกให้ขยายเช่นอย่างกลายเส้นด้ายให้กระจาย  จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า  สกลสรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต  พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้นมหาทุกขเวทนาไว้  ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่าพระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้วจึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง  ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้นแล้วนำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน  พราหมณ์หมองูปรารถนาจะให้แสดงท่วงทีอย่างใด ๆ ในประเภทสีมีสีเขียวเป็นต้น  และสัณฐานทรวดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น  หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น  พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำท่วงทีนั้น ๆ ทุกอย่าง  ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่าง  พันอย่าง  มหาชนดูแล้วชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก  เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์ตั้งพัน  และเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน  แต่ชั้นแรกพราหมณ์หมองูคิดไว้ว่า  เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป  แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นแล้วคิดเสียว่า  ในปัจจันตคามแห่งเดียวเรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้  ในสำนักพระราชาและมหาอำมาตย์  คงจักได้ทรัพย์มากมาย  จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่งกับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง  บรรทุกของลงในเกวียนแล้วนั่งบนยานน้อยพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากบังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้านและนิคมเป็นต้นโดยลำดับไป  แล้วคิดว่าเราจักให้นาคราชเล่นถวายในสำนักของพระเจ้าอุคคเสนแล้วก็จักปล่อยดังนี้  แล้วก็เดินทางต่อไป  พราหมณ์หมองูฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร

นาคราชรำพึงว่าพราหมณ์หมองูนี้ฆ่ากบอยู่บ่อย ๆ เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ  เราจักไม่บริโภคกบนั้น  แล้วไม่ยอมบริโภค  เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น  ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหาสัตว์  พระมหาสัตว์คิดว่าถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้  เราคงจักตายภายในกระโปรงเป็นมั่นคง  จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น  พราหมณ์หมองูไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว  ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู  ที่ใกล้ประตูเมืองได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก  แม้พระราชาก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่าเจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง  เขาทูลสนองพระราชโองการว่าได้พะย่ะค่ะ  ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์  ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้
  พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า  พรุ่งนี้นาคราชจักฟ้อนรำที่หน้าชานชาลาหลวง  มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด  แล้วในวันรุ่งขึ้น  ตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวงและตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า พราหมณ์หมองู นำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว  ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตรนั่งคอยอยู่  ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาทแวดล้อมด้วยหมู่มหาชนประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์  พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์ออกมาแล้วให้ฟ้อนรำถวาย  มหาชนพากันดีใจไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ  พากันปรบมือ  โบกธงโบกผ้า  แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน  ฝนรัตนะเจ็ดประการก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์  เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้นครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์  ตลอดเวลาเหล่านี้พระมหาสัตว์สู้ทนมิได้บริโภคอาหารเลย

คำสำคัญ (Tags): #พญานาค
หมายเลขบันทึก: 512397เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

นาคเทวีตามหาพระสวามี

ฝ่ายนางสุมนาเทวีระลึกถึงว่าสามีที่รักของเราเสด็จไปนานนักหนาจนป่านนี้ยังไม่เสด็จมาที่นี่เลย  ครบหนึ่งเดือนพอดี  จักมีเหตุเภทภัยอะไรหนอดังนี้แล้วจึงไปตรวจดูสระโบกขรณี  เห็นมีน้ำสีแดงดังโลหิตก็ทราบว่าชะรอยสามีของตนจักถูกหมองูจับเอาไป  จึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวกเห็นร่องรอยที่พระมหาสัตว์ถูกหมองูจับ  และทำให้ลำบาก  แล้วทรงกันแสงร่ำไห้คร่ำครวญ  ดำเนินไปยังปัจจันตคามสอบถามดูสดับข่าวความเป็นไปนั้นแล้วติดตามไปจนถึงเมืองพาราณสี  ยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศในท่ามกลางบริษัท  ณ  ประตูพระราชวัง

พระมหาสัตว์กำลังฟ้อนรำถวายพระราชาเหลือบแลดูอากาศเห็นนางสุมนาเทวีแล้วละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในกระโปรงเสีย  ในเวลาที่พระมหาสัตว์เลื้อยเข้าไปสู่กระโปรงแล้ว  พระราชาทรงพระดำริว่า  นี่เหตุอะไรกันเล่าหนอ  จึงทอดพระเนตรแลดูทางโน้นทางนี้เห็นนางสุมนาเทวียืนอยู่บนอากาศจึงตรัสว่า “ท่านเป็นใคร  งามผ่องใสดุจสายฟ้า  และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง  เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์หรือเป็นหญิงมนุษย์”

นางสุมนาทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชาหม่อมฉันหาใช่เทพธิดาหรือคนธรรพ์หรือหญิงมนุษย์ไม่  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญาอาศัยเหตุอย่างหนึ่ง  จึงได้มาในพระนครนี้
  “ดูก่อนนางนาคกัญญาท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน  มีอินทรีย์อันเศร้าหมองดวงเนตรของท่านไหลนองไปด้วยหยาดน้ำตา  อะไรของท่านหายหรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้มาในเมืองนี้  เชิญท่านบอกมาเถิด”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน  มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่าอุรคชาติผู้มีเดชอันสูงในมนุษยโลก เขาเรียกสัตว์นั้นว่านาค  บุรุษคนนี้จับนาคนั้นมา  เพื่อต้องการเลี้ยงชีพ  นาคนั้นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน  ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิดเพค่ะ
  พระราชาสงสัยจึงตรัสถามว่า  “ดูก่อนนางนาคกัญญานาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า  ไฉนจึงมาถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า  เราจะใคร่รู้ถึงการที่นาคราชถูกกระทำจนถูกจับมาได้ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด”

นางสุมนาทูลตอบว่า “นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า  พึงทำแม้นครให้เป็นภัสมธุลีไปได้  แต่เพราะนาคราชนั้น  เคารพนบนอบธรรม จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ” พระราชาตรัสถามต่อไปอีกว่า “ไฉนนาคราชจึงยอมให้บุรุษนี้จับมาได้เล่า” 

นางสุมนาเทวีเมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบจึงกล่าวคาถาความว่า “ข้าแต่องค์ราชันย์  นาคราชนี้มีปกติรักษาจาตุททสีอุโบสถและปัณณรสีอุโบสถ  นอนอยู่ใกล้ทางสี่แพร่ง  บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาด้วยต้องการหาเลี้ยงชีพ  นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉันขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังเถิด”ครั้นนางนาคกัญญาสุมนาเทวีทูลอย่างนี้แล้ว  เมื่อจะทูลอ้อนวอนพระราชาซ้ำอีก  ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า  “สนมนารีถึงหมื่นหกพันนาง ล้วนสวมใส่กุณฑล  แก้วมณี  บันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์  แม้สนมนารีเหล่านั้น  ก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นโดยธรรม  ปราศจากกรรมอันสาหัส  ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน  ทองร้อยแท่ง  และโคร้อยตัว  ขอนาคราชผู้แสวงบุญ  จงเหยียดกายได้ตรงเที่ยวไป  จงพ้นจากที่คุมขังเถิด”

พระราชาได้สดับคาถาของนางนาคกัญญาจึงให้ปล่อยปล่อยนาคราชไปนาคราชออกมาแล้วเลื้อยเข้าไประหว่างกองดอกไม้  ละอัตภาพนั้นเสียแล้วกลายเพศเป็นมาณพน้อยตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงามคล้ายกับชำแรกดินออกมายืนอยู่ฉะนั้น  นางสุมนาเทวีลอยลงมาจากอากาศ  ยืนเคียงข้างพระภัสดาของตนนาคราชได้ยืนประคองอัญชลีนอบน้อมพระราชาอยู่

พญานาคเชิญพระเจ้ากาสิกราชชมเมือง


  จัมเปยยนาคราชเมื่อหลุดพ้นจากที่คุมขังแล้วจึงกราบทูลพระราชาว่าข้าแต่พระเจ้ากาสิกราช  ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง  ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลี แด่พระองค์ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ของข้าพระพุทธเจ้าเถิดพระเจ้าข้า

พระราชาตรัสตอบว่า  ดูก่อนนาคราช  แท้จริงคนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับอมนุษย์ว่าพึงคุ้นเคยกันได้ยาก  ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น  เราก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน
    พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน  เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อถือ  ได้ตรัสพระคาถาว่า  “ข้าแต่พระราชา แม้ถึงว่าลมจะพึงพัดภูเขาไปได้ก็ดี  พระจันทร์และพระอาทิตย์จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี  แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี  ถึงกระนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย  ข้าแต่พระราชา  ท้องฟ้าจะทำลายไป  ทะเลจะเหือดแห้งไป  มหาปฐพีมีนามว่าภูตธราและพสุนธราจะพึงม้วนได้เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งรากข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย”

เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว  พระราชาก็มิได้ทรงเชื่อ  จึงตรัสพระคาถาอีกว่า“เธอเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง  มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย  เธอหลุดพ้นจากที่คุมขังไปได้  ก็เพราะเหตุที่เราช่วยเหลือ  เธอควรจะรู้บุญคุณที่เราทำไว้แก่เธอ

พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบานเพื่อให้พระราชาทรงเชื่อต่อไป จึงกล่าวคาถา  ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรงเกือบจะถึงความตาย  จักไม่รู้จักอุปการคุณที่พระองค์ทรงกระทำแล้วเช่นนั้น  ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงหมกไหม้อยู่ในนรกอันแสนร้ายกาจ  อย่าได้รับความสำราญกายสักหน่อยหนึ่งเลย

พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงชมเชยจึงตรัสพระคาถาว่า “คำปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง  เธออย่าได้มีความโกรธ  อย่าผูกโกรธไว้  ขอสุบรรณทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล  เหมือนผู้เว้นไฟในฤดูร้อนฉะนั้นแม้พระมหาสัตว์เจ้าเมื่อจะชมเชยพระราชาจึงกล่าวคาถาอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน  พระองค์ทรงเอ็นดูนาคสกุล  เหมือนมารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียวผู้เป็นสุดที่รักฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้ากับ นาคสกุลจะขอกระทำเวยยาวฏิกกรรม  อย่างโอฬารแด่พระองค์

พระราชาเสด็จนาคพิภพ

พระราชาได้เสด็จไปยังภพพญานาคด้วยขบวนเสด็จใหญ่  พนักงานเภรี  ตะโพน บัณเฑาะว์  และแตรสังข์ ของพระเจ้าอุคคเสนราช  มาพร้อมหน้ากัน  พระราชาทรงแวดล้อมด้วยสนมนารีเสด็จไปในท่ามกลางหมู่สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก

ในกาลเมื่อพระเจ้าพาราณสี  เสด็จออกจากพระนครไปพระมหาสัตว์เจ้าทรงบันดาลนาคพิภพให้ปรากฏมีกำแพงแก้ว  7 ประการ  และประตูป้อมคู  หอรบแล้วนิรมิตบรรดาที่จะเสด็จไปยังนาคพิภพ  ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับงดงาม ด้วยอานุภาพของตน  พระราชาพร้อมด้วยราชบริพารเสด็จเข้าไปยังนาคพิภพโดยมรรคานั้น  ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคและปราสาทราชวัง  น่ารื่นเริง  บันเทิงพระทัย 
  พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น  จึงตรัสว่าพระเจ้ากรุงกาสีวัฒนราช  ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคอันงามวิจิตรลาดแล้วด้วยทรายทอง ทั้งสุวรรณปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์  พระองค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์  ของจัมเปยยนาคราชมีรัศมี  อภาสดังแสงอาทิตย์แรกอุทัยรุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ

พระเจ้ากาสิกราชทรงทอดพระเนตรจนทั่วนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราชอันดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด  หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์อบอวลล้วนวิเศษ

เมื่อพระเจ้ากาสิกราชเสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของท้าวจัมเปยยนาคราช  เหล่าทิพยดนตรี  ก็ประโคมขับบรรเลงทั้งนางนาคกัญญาทั้งหลายก็ฟ้อนรำ ขับร้อง

พระเจ้ากาสิกราชเสด็จขึ้นนิเวศน์ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัย  ประทับนั่ง ณพระสุวรรณแท่นทองอันมีพนักไล้ทาด้วยแก่นจันทน์ทิพย์

มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพ

พระราชาได้เห็นบ้านเมืองอันสวยงามของพญานาคจึงสอบถามและได้คำตอบจากจัมเปยยนาคราชว่าข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน  ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมเพราะเหตุแห่งบุตรทรัพย์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่  แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้าปรารถนากำเนิดมนุษย์ ฉะนั้น จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม
  เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาเมื่อจะทรงทำการชมเชย  จึงตรัสพระคาถาว่า “ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง ประดับตกแต่งแล้วปลงเกศาและมัสสุแล้ว ประพรมด้วยจุรณจันทน์แดง  ฉายแสงไปทั่วทิศ  ดังคนธรรพราชฉะนั้นท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์ดูก่อนท่านนาคราช  เราขอถามเนื้อความนี้กะท่าน  มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุไร
  ลำดับนั้น พระยานาคราช  เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบจึงกราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน  เว้นมนุษยโลกเสียแล้วความบริสุทธิ์หรือความสำรวมย่อมไม่มีเลย  ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมด้วยตั้งใจว่าเราได้กำเนิดมนุษย์แล้วจักทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้”

พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสพระคาถาความว่า ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต  ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก  ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว  ดูก่อนพระยานาคราชเราได้เห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายของท่านและตัวท่านแล้ว  จักทำบุญให้มาก

พญานาคราชกราบทูลพระราชาว่าชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต  ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมากชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว  ข้าแต่พระมหาราชาพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญา  และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว  ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด

ครั้นพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว  พระเจ้าอุคคเสนะ  ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลกจึงตรัสอำลาว่าดูก่อนท่านนาคราชเรามาอยู่ก็เป็นเวลานาน  จำจักต้องลากลับไปยังมนุษยโลก
  พระมหาสัตว์เจ้าจึงทูลท้าวเธอว่าขอเดชะพระมหาราชเจ้าถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดเลือกถือเอาทรัพย์สมบัติไปตามพระประสงค์เถิด  เมื่อจะทรงแสดงทรัพย์สมบัติ  จึงกราบทูลว่ากองเงินและกองทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มากมาย สูงประมาณเท่าต้นตาล  พระองค์จงตรัสสั่งให้พวกราชบุรุษนี้ไปจากนาคพิภพนี้แล้วจงตรัสสั่งให้สร้างพระราชวังด้วยทองคำ  ให้สร้างกำแพงด้วยเงินเถิด นี้กองแก้วมุกดาอันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์ห้าพันเล่มเกวียน  พระองค์จงตรัสสั่งให้ราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้แล้วให้ลาดลง ณภูมิภาคภายในพระราชฐานภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักสะอาดปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี  ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติครอบครองพระนครพาราณสี  อันมั่งคั่งสมบูรณ์  สง่างามล้ำเลิศ  ดุจทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า
  พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้วก็ทรงรับไว้  พระมหาสัตว์จึงให้พนักงานเภรี  เที่ยวตีกลองประกาศว่า  ราชบุรุษทั้งปวงจงพากันขนเอาทรัพย์สมบัติ  มีเงินทองเป็นต้นไปตามปรารถนาเถิดแล้วเอาเกวียนหลายร้อยเล่มบรรทุกทรัพย์สมบัติส่งถวายพระราชาพระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพ  กลับไปสู่พระนครพาราณสี  ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก  เล่ากันว่านับแต่นั้นมา  พื้นชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น
  พระบรมศาสดา  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า “โปราณกบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติแล้ว  อยู่รักษาอุโบสถศีลด้วยอาการอย่างนี้”จากนั้นทรงประชุมชาดกว่า“หมองูในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้  นางนาคกัญญาสุมนาเทวีได้มาเป็นราหุลมารดา  พระเจ้าอุคคเสนราชได้มาเป็นพระสารีบุตร  ส่วนจัมเปยยนาคราชได้มาเป็นเราผู้ตถาคตฉะนี้แล”
  พระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1 - หน้าที่ 76  นอกจากจัมเปยยนาคราชแล้ว  ยังมีการบำเพ็ญบารมีของพญานาคอีกหลายเรื่องคือในการบำเพ็ญศีลบารมีเมื่อครั้งเป็นสีลวนาคราช  ในกาลที่เป็นภูริทัตตนาคราช  ในกาลที่เป็นฉัททันตนาคราช

ในคัมภีร์รุ่นหลังก็กล่าวถึงพญานาคมากมายเช่นในตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือพญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรมพอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็นแคว้นโยนกนาคราช ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณนาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่นการสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเชื่อการสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำแต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้นแม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึงความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์คนไทยเรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรมและหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆหลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถานตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้งที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลองและนาคทันต์คันทวยรูปพญานาค

พญานาคกับพระพุทธศาสนาจึงมีความเกี่ยวพันกันตลอด  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเคยเกิดเป็นพยานาคเพื่อบำเพ็ญบารมีในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษาคงมิใช่แต่พยานาคเท่านั้นที่ถวายสักการะบุชาพระพุทธเจ้าเหล่าเทพยดาอื่นๆก็ทำการบูชาด้วยโลกนี้มนุษย์จึงมิได้อยู่เพียงลำพังยังมีหมู่สัตว์อื่นๆอีกมากแต่เรามองไม่เห็นเพราะยังไม่มีญาณแก่กล้าหากเชื่อตามพระไตรปิฎกพญานาคมีอยู่จริงและมีปรากฎหลายแห่งแต่พญานาคจะมาทำบั้งไฟถวายพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษาจริงหรือไม่ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่เหมือนเดิมมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งบอกไว้น่าคิดว่า“จงเชื่อในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่เชื่อ”ถ้าหากความเชื่อนั้นไม่เป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่นอย่างไรก็ตามในวันออกพรรษาปีนี้ยังคงมีดวงไฟสีเขียวเรืองพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงให้เห็นเหมือนทุกปี  หน้าที่ของวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำการพิสูจน์หาความจริงกันต่อไปแต่ศาสนาเมื่อปลูกฝังความเชื่อและปฏิบัติตามหลักศีลธรรมคือการบูชาบุคคลที่ควรบูชาถือว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่งดังนั้นการที่ชาวบ้านเชื่อว่าพญานาคจะจุดบั้งไฟถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้าย่อมไม่ใช่ความเชื่อที่ไร้เหตุผลเสียทีเดียวเพราะพญานาคมีปรากฏในหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนาและมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายแห่งแม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อยังบำเพ็ญบารมีก็ยังเคยถือกำเนิดเป็นพญานาคด้วย

บรรณานุกรม

อรรถกถาพระวินัย  สมันตปาสาทิกา  มหาวิภังควรรณนา

อรรถกถาปาสราสิสูตร  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค

อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน

อรรถกถารัฏฐปาลสูตรมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม 2 ภาค

อรรถกถาปุณโณวาทสูตร  มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค

อรรถกถาปปัญจสูทนี ฉบับภาษาบาลี

รัตนสูตร  ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค

อรรถกถาชาดก  เอกนิบาต  ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค

อรรถกถาจัมเปยยชาดกขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 7

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท