มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

ปรัชญาว่าด้วยพระนิพพาน


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

ปรัชญาว่าด้วยนิพพาน

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ปรัชญาว่าด้วยนิพพาน

  ในปรัชญาของคริสต์และของอิสลามกล่าวว่า  การเข้าถึงความเป็นเอกภาพกับพระเจ้า หรือการเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์  คือจุดมุ่งหมายหรืออุดมคติสูงสุดของทุกคน ปรัชญาอินดูประกาศว่าบุรุษาถะ  คือประโยชน์ที่บุคคลจะแสวงหา  ๔  ประเภทคือ กามะ  อัตถะ ธรรมะ  และโมกษะ  โดยถือว่า  ๓  ประเภทแรกเป็นเครื่องมือหรือมรรควิธี  นำไปสู่จุดหมายสูงสุดคือ  ความเป็นอิสระจากความทุกข์ซึ่งเรียกว่า  โมกษะ  หรือไกรวัล  สำหรับพุทธปรัชญาได้ชี้ถึงประโยชน์  ๓  ประการ  ทีบุคคลควรแสดงหาคือ 

  ๑.  ประโยชน์ทั่วไปในชีวิตนี้

  ๒. ประโยชน์เพื่อชาติหน้า

  ๓.  ประโยชน์สูงสุด

  ประโยชน์ทั่วไปในชีวิตนี้(ทิฏฐธัมมิกัตถะ) หมายถึงความสำเร็จในด้านการศึกษาการทำงานประกอบอาชีพตลอดจนการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทางสังคมสงเคราะห์ทั่วไปซึ่งต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรติดต่อ  การรู้จักถนอมรักษาสิ่งที่หามาได้  การใช้ชีวิตให้สมดุลย์กับภาวะและฐานของตน  รวมทั้งการรู้จักเลือกคบเพื่อนร่วมงานที่ดี  ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของมนุษย์เอง  มิใช่ความสำเร็จจะได้มาจากการอ้อนวอน  หรือขอพรจากพระเป็นเจ้า

  ประโยชน์เพื่อชีวิตหน้า  (สัมปรายิกัตถะ)  ข้อนี้เพราะพุทธปรัชญาเชื่อชีวิตหลังจากตาย  เพราะฉะนั้น  ผู้ที่หวังอนาคตที่ดีไม่ว่าในชีวิตนี้หรือชีวิตใหม่หลังจากตายแล้วควรจะต้องปฏิบัติพัฒนาตนเองด้วยคุณธรรมต่างๆอาทิความเชื่อมั่นในตนเอง (สัทธา)  ความถึงพร้อมด้วยศีล  ความมีน้ำใจเสียสละ  และความมีสัญญา

  การแสวงหาประโยชน์ทั้ง๒ชั้นนี้ถือว่าเป็นการแสวงหาแบบทั่วไป  แต่การแสวงหาประโยชน์ประการที่๓  เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐกว่า  เรียกว่าอริยปริเยสนา

  ประโยชน์สูงสุด (ปรมัตถะ)  เป็นจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ชั้นสุดท้าย  หรืออุดมคติสูงสุด  ของพุทธปรัชญา  ผู้แสวงหาประโยชน์ระดับนี้ชื่อว่าแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ  แม้การได้รับประโยชน์เพียงชั้นต้นก็ถือว่าดีกว่า  ประเสริฐกว่าการได้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิในทวีปทั้ง๔  กว่าการปกครองโลกเป็นใหญ่ในจักรวาลทั้งสิ้น  และกว่าการเข้าสู่  แผ่นดินสวรรค์  ประโยชน์สูงสุดในที่นี้คือนิพพานนั่นเอง

คำจำกัดความและความหมาย

  นิพพาน  เป็นภาษาบาลี  นิรวาน  เป็นสันสกฤต  แยกได้เป็น ๒  คำคือ นิ -  วานะ หรือ นิร – วานะ  แปลว่า  ความดับตัณหา  ความดับเหตุที่ทำให้ความทุกข์เกิด  (ทุกขสมุทัยนิโรธ)  ซึ่งความหมายมีนิรามิสสุข  ข้อนี้สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของพุทธปรัชญาที่ยืนยันว่าสอน ๒ เรื่อง คือ เรื่องความทุกข์  และความดับทุกข์นั้นเท่านั้น  สำหรับความหมายของนิพพานนัยอื่นๆ พอประมวลสรุปมาประกอบการศึกษาได้ดังนี้

  ๑.  นิพพาน  คือภาวะที่จิตปราศจากความโลภ  ความโกรธ  และความหลงโดยสิ้นเชิง

  ๒.  นิพพาน  คือภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ    หรือปฏิจจสมุปบาทถึงที่สุดแล้ว 

  ๓.  นิพพาน  คือภาวะที่ประณีตอย่างยิ่ง  สงบอย่างยิ่ง  เป็นที่สละคือของอุปธิ ( กิเลส)

๔.  นิพพาน  คือความจริงแท้สูงสุดที่บัญญัติและตรรกเข้าไม่ถึง  เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกิเลส  กรรม  และวิบาก  หรือสังสารวัฏฏ์

นอกจากนี้  ในคัมภีร์พุทธปรัชญาดังเดิมคือ อิติวุตตกะ ได้กล่าวถึงนิพพาน  ๒ ประเภท  คือ

นิพพานธาตุนี้  มี ๒  อย่าง  คือ

  ๑.  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานยังมีอุปาทิ  คือขันธ์  ๕  เหลืออยู่หมายถึงพระอรหันต์  มีอาสวะสิ้นแล้ว  มีกรณีกิจอันทำเสร็จแล้ว  มีภาระอันปลงแล้ว  มีประโยชน์อย่างดีเป็นผู้ตามบรรลุแล้ว  มีเรื่องประกอบไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว  รู้ชอบแล้วจึงหลุดพ้น  อินทรีย์ ๕ ยังตั้งอยู่  เพราะอินทรีย์มีอยู่  ย่อมเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจบ้าง  ไม่น่าชอบใจบ้าง  เสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง  ความสิ้นแห่งราคะ  ความสิ้นแห่งโทสะ ความสิ้นแห่งโมหะของพระอรหันต์  ไม่เกิดในสันดานอีกนั้น  ชื่อว่า  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

  ๒.  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิ  คือขันธ์๕เหลืออยู่หมายถึงความดับขันธ์ของพระอรหันต์  ผู้สิ้นอาสวะแล้ว  จบกิจในศาสนาแล้ว  ปลงภาระเสียแล้ว  ภพสิ้นแล้ว  รู้ชอบแล้วหลุดพ้นแล้ว  การเสวยอารมณ์ของเธอไม่เพลิดเพลินและในโลกนี้  ไม่เกิดอีก  เป็นธาตุนิพพาน  ชื่อว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

  พระนิพพานนี้มีสภาวะอันเดียว  คือความดับทุกข์ก็จริง  แต่ต่างประเภทด้วยการเข้าไปรู้  เข้าไปเห็น  เข้าไปบรรลุด้วยอาการดังต่อไปนี้  คือ

  ๑.  อนิมิตนิพพาน  นิพพานดับรูปนาม  ไม่มีนิมิตเครื่องหมายอาศัยเจริญวิปัสสนา  ยกรูปนามขึ้นสู่อนิจจลักษณะจนเห็นรูปนามเกิดดับเป็นอนิจจานุปัสสนา  เห็นไม่เที่ยงเสมอ  ผ่านญาณ๑๖  ถึงพระนิพพานพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์  เรียกว่า  อนิมิตตนิพพาน  ถ้าเข้าผลสมาบัติ  ก็เพ่งอนิจจานุปัสสนา  เห็นไม่เที่ยงเสมอผ่านญาณ๑๖  ถึงพระนิพพาน  พ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์  เรียกว่า  อนิมิตตนิพพาน  คือความดับรูปนามไม่มีนิมิตเครื่องหมาย  เรียกว่าตั้งอยู่ในอนิมิตตนุปัสสนาเห็นความดับไม่มีนิมิตเป็นที่ตั้งจนชำนาญ

  ๒.  อับปณินิพพาน  นิพพานดับรูปนาม  หาราคะ  โทสะ  โมหะไม่ได้  เพราะได้ปฏิบัติวิปัสสนา  ยกรูปนามขึ้นสู่ทุกขลักษณะ  จนเห็นรูปนามเกิดดับ  ทนอยู่ไม่ได้  เป็นทุกขานุปัสสนา  เห็นเป็นทุกข์ทนได้ยากเสมอๆผ่านญาณ๑๖  ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์  พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์  เรียกว่า  อัปปณิหิตนิพพาน  ถ้าจะเข้าผลสมาบัติ  ก็เพ่งทุกขานุปัสสนา  และเข้าด้วย  อัปปณิหิตนิพาน  ความดับรูปนาม  หาราคะ  โทสะโมหะไม่ได้เป็นที่ตั้งเสมอๆจนชำนาญ 

  ๓.  สุญญตนิพพาน  นิพพานดับรูปนามว่างจากราคะ  โทสะ  โมหะ  เพราะได้ปฏิบัติวิปัสสนา  ยกรูปนามขึ้นสู่อนัตตลักษณะ  จนเห็นรูปนามเกิดดับบังคับบัญชาไม่ได้  เป็นอนัตตานุปัสสนา  เห็นอนัตตาเสมอๆผ่านญาณ๑๖  ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์  พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์  เรียกว่าสุญญตนิพานความดับรูปนามว่างจากราคะโทสะ  โมหะ  เรียกว่าสุญญตานุปัสสนาเป็นความดับว่างจากราคะ  โทสะโมหะฝึกไปเสมอจนชำนาญ

  ลักษณะนิพพาน    คือ  สงบ

  รสของนิพพาน      คือ  ไม่เคลื่อน

  เครื่องปรากฏของนิพพาน  คือไม่มีนิมิต

  พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

  ความสุข  นอกจากพระนิพพานไม่มี

  นิพพาน  มิได้มีความหมายเป็นบ้านเมืองหรือโลกของพระเป็นเจ้าที่เต็มไปด้วยความสุขชนิดที่ใฝ่ฝันกันและเป็นอยู่อย่างนิรันดร

  นิพพาน  มิใช่มีความหมายเป็นการหลุดรอดของตัวตน  จากโลกนี้ไปสู่โลกเช่นนั้น  หรือภาวะแก่งความมีตัวตนเช่นนั้น

  แต่ว่า  “ นิพพาน”  มีความหมายเป็นความดับสนิทแก่งความเร่าร้อนเผาลน  ความเสียบแทงยอกตำ  และความผูกพันร้อยรัดอันมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์  โดยตัดต้นเหตุแห่งความเป็นอย่างนั้นเสียได้สิ้นเชิง  ความเป็นอย่างนี้มีอยู่อย่างเป็นอนันตกาลคือมีอยู่ในที่ทุกแห่งและทุกเวลาพร้อมที่จะปรากฏแก่จิตซึ่งปราศจากกิเลสอยู่เสมอเราจึงกล่าวว่านิพพานมีสภาพเป็นนิรันดร  มีอยู่ในที่ทุกแห่งทุกเวลาอย่างไม่ขาดระยะ  ใกล้ชิดติดอยู่กับตัวเราในวัฏสงสารนี่เอง  หากแต่เข้าไม่ถึงหรือมองไม่เห็นเพราะจิตมีกิเลสซึ่งเป็น  “ เปลือก”  ชนิดหนึ่งห่อหุ้มอยู่

มองย้อนดูอีกทางหนึ่ง

  จะเห็นว่ากิเลสและความทุกข์ไม่อาจมีอยู่ในสภาพแก่งความเป็นเช่นนั้น  ฉะนั้นจึงกล่าวว่า  นิพพานไม่เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกิเลสและความทุกข์  แต่เป็นแดนที่ดับสนิท  ของกิเลสและความทุกข์

มองดูกันอีกทางหนึ่ง

  เมื่อจิตประกอบด้วยปัญญา  มองเห็นสภาพแห่ง ความเป็นเช่นนั้นของนิพพาน  หน่วงเอานิพพานนั้นเป็นอารมณ์  โดยมีความสลดสังเวชในความหลงของตนในกาลก่อนแล้ว  กิเลสก็เริ่มเหือดแห้งไป  ความทุกข์ก็เหือดแห้งไปตาม  ฉะนั้น  จึงกล่าว่า นิพพานเป็นธรรมเครื่องดับแห่งกิเลสและความทุกข์ทั้งหลาย

แต่เมื่อสรุปแล้ว

  นิพพานนั้นก็คือสภาพอันเป็นความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนเผาลน  ความเสียดแทงยอกตำ และความผูกพ้นร้อยรัด  ของมนุษย์ในทางจิตดังกล่าวแล้วกิริยาที่ความเร่าร้อนเป็นต้น  เหล่านั้นดับลง  นั้นคือ กิริยาที่จิตลุถึงความสิ้นกิเลสหรือลุนิพพาน  เรียกว่า การนิพพาน  การนิพพานของมนุษย์เราโดยที่แท้ก็คือความที่จิตของคนเราเข้าถึงสภาพแห่งความไม่มีความเร่าร้อนเผาลน  ความเสียบแทงยอกตำ  และความผูกพันร้อยรัดอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงโดยประการทั้งปวงนั่นเอง

  ภาวะแห่งนิพพาน  และการนิพพาน  ปรากฏขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก  เพราะการเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้เข้าถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนเป็นต้นนั้น  เป็นบุคคลแรกในโลก  การเกิดของพระองค์ก็คือการประสูติการตรัสรู้และการปรินิพพาน  รวมกันทั้ง    อย่างนั่นเอง  ฉะนั้นการประสูติ  การตรัสรู้  และการปรินิพพานจึงเป็นของอันเดียวกัน  รวมเข้าด้วยกันแล้วก็เป็นชัยชนะของโลก  ในการที่มีผู้เอาชนะความเร่าร้อนความเสียบแทงและความผูกพันของโลกได้  และด้วยเหตุนี้เอง  ท่านจึงกำหนดไวว่าเหตุการณ์ทั้งสามอย่างนี้  มีขึ้นในวันเดียวกัน  คือวันเพ็ญวิสาขบูชา

 

  นิพพาน  แปลว่า  ดับเย็นสนิทของสิ่งที่ร้อน

  อะไรเป็นของร้อน?  ชีวิต เป็นของร้อน คือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์  วิญญาณ  ผัสสะ  และเวทนาทั้งหมด  ที่อาศัย  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวชีวิต  เป็นของร้อน  ร้อนเพราะอะไร?  เพราะไฟ  คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ  ความเย็นสนิทของสิ่งเหล่านี้เพราะไม่ถูกไฟคือ นิพพาน ฉะนั้นนิพพานก็คือความเป็นของเย็นสนิท  ของชีวิตซึ่งเคยเป็นของร้อนมาก่อนนั่นเอง  นี้เป็นนิพพานส่วนของบุคคลคนหนึ่งๆ ซึ่งเขาได้ทำให้ปรากฏขึ้น  จากนิพพานใหญ่หรือนิพพานรวม  ซึ่งเป็นนิรันดรหรือตั้งอยู่ตลอดอนันตกาล
  ไม่มีใครต้องบอกกล่าว เราก็ทราบได้ว่าโลกเราในสมัยนี้เป็นโลกที่ร้อนยิ่งกว่าแต่ก่อน  ทั้งนี้เป็นเพราะไฟคือ ราคะ  โทสะ  โมหะ ในโลกได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  โดยเหตุที่คนในโลกยิ่งมีความเฉลียวฉลาดในทางสุมไฟเหล่านี้มาก  ยิ่งขึ้น  คนในโลกยิ่งไม่ทราบและไม่ถือว่า  การดับไฟ ราคะ  โทสะ  โมหะ เป็นจุดหมายของชีวิต  และกลับเป็นผู้แสวงหาความเพลิดเพลินในการสุมไฟเหล่านี้ขึ้นในโลกให้มากยิ่งขึ้นโดยไม่มีความมุ่งหมายที่จะดับมันเลย แม้แต่น้อยโลกกลายเป็นของร้อนไปทุกปรมาณู  เพราะคนในโลกลูบคลำด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยราคะ  โทสะ  โมหะ ยิ่งกว่าเดิม  ความเย็นของนิพพานไม่ปรากฏแก่โลกเลย  จนกว่าเมื่อใดชาวโลกจะมีความเข้าใจอันถูกต้องที่เรียกว่า “ สัมมาทิฏฐิ”  และช่วยกันดับไฟให้ดับสนิทไป

  เราได้แต่สาวละวนอยู่กับการทรมานเผาผลาญตัวเอง  ไม่เคยรู้สึกในนิพพานแม้แต่การฝันถึงโลกยังไม่ได้รับประโยชน์จากนิพพาน  ซึ่งมีอยู่ในที่ทุกแห่งทุกเวลาเพราะความหลับไหลของชาวโลกเอง.

ดูอีกเหลี่ยมหนึ่ง  นิพพาน  แปลว่า ปราศจากเสียบแทงยอกตำ

  อะไรเป็นของเสียบแทงยอกตำ?  โลกหรือชีวิต  ที่กล่าวแล้วอีกนั่นเองเป็นของเสียบแทงยอกตำ  ในเมื่อบุคคลเข้าไปจับฉวยเอาด้วยความเขลาเข้าใจผิด หรือที่  เรียกว่า  “ มิจฉาทิฏฐิ”  เคยมีบุคคลหลายกลุ่ม  ยึดถือโลกในลักษณะที่อยากเป็นเจ้าโลก   และได้รับความพินาศเป็นเครื่องตอบแทนไปแล้วทุกกลุ่ม  ตนเองก็พินาศเพื่อนร่วมโลกตั้งค่อนโลก  ก็ได้รับความกระทบกระเทือน บางกลุ่มยึดถือโลกในลักษณะที่มันควรจะเป็นไปตามความชอบใจของตัว  ผลที่ได้รับก็คือ การแบ่งโลกเป็นซีกๆส่วนๆ แล้วทำการล้างผลาญกันอย่างสุดกำลังสติปัญญา  อันมีมากพอที่จะเผาผลาญโลก  ให้กลายเป็นควันสูญสิ้นไปได้ในพริบตาเดียว  แม้ในส่วนตัวบุคคลคนหนึ่งๆ ก็มีการยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์  เป็นอนัตตามาให้เป็นของเที่ยง  เป็นสุข  และเป็นอัตตา  ผลที่ได้รับก็คือความเพลิดเพลินในการร้องไห้  หัวเราะสลับกันไปในการทรมานเผาผลาญตนเองอยู่ด้วยวิธีต่างๆ อย่างไม่เคยรู้สึกสมเพชตัวเอง สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเครื่องบำเรอตนเองนั้น  ที่แท้ก็คือสิ่งที่เขาเองกลับเป็นเครื่องบำเรอมันอยู่  ทุกอิริยาบถทั้งหลับและตื่น  ความเสียบแทงยอกตำมีเต็มอัดอยู่ในทุกๆชีวิต จนกว่าเมื่อใดชาวโลกจะมีความเข้าใจอันถูกต้องตามแบบที่พระองค์ได้ทรงค้นพบและถอนลูกศรเหล่านั้นออกเสียได้โดยสิ้นเชิง

  บัดนี้  โลกเราสาละวนอยู่แต่กับการเสียบลูกศรแห่งความอยากแลความยึดถือนานาประการเข้าใจตน  ไม่เคยรู้สึกว่าภาวะแห่งการปราศจากการเสียบลูกศรนั้นเป็นอย่างไร  เพราะพอเกิดมา  ก็มีลูกศรปักอกติดมาเสร็จด้วยกันทุกคน  โลกยังไม่ได้รับประโยชน์จากนิพพานซึ่งมีอยู่ในที่ทุกแห่งและทุกเวลา  เพราะความไม่สนใจในความหมายแห่คำว่าวิสาขบูชา 

  โลกเราในสมัยที่ชักใยพันตัวเองเข้าไปสู่ความยุ่งยากสลับซับซ้อนทางการเมือง  การเศรษฐกิจการสงครามและอื่นๆในอันดับสูงสุดย่อมเป็นตัวอย่างอันแสดงถึงลักษณะ  และผลแห่งความถูกผูกพันร้อยรัดได้เป็นอย่างดี  แต่ความจริงย่อมแสดงอยู่ในตัวเองแล้วว่า  เพราะผงเข้าตาจนต้องหลับอยู่เรื่องไปไม่มองเห็นสิ่งรัดรังอยู่รอบตัวและรัดรึงอยู่รอบตัว  และรัดรึงหนักขึ้น  โลกจึงมีแต่ชักใยพันตัวเองหนักยิ่งขึ้นความดิ้นรนมีความหมายแต่เพียงให้ได้เปรียบผู้อื่นในบรรดาพวกที่ติดอยู่ในสายใยนี้ด้วยกันให้มากที่สุดเท่านั้น  ไม่เคยคิดที่จะเปลื้องตนออกไปจากกลุ่มสายใยอันยุ่งเหยิงนี้เลย  จึงไม่มีความสนใจ  และไม่ยอมสนใจในความหมายอันประเสริฐสุดของคำว่าวิสาขบูชากล่าวคือนิพพาน  ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ตั้งอยู่เหลือคิ้วของบุคคลผู้ไม่เคยส่องกระจกเสียเลยนั่นเอง

  โลกเราสาละวนอยู่แต่ในการชักใยพันตัวเอง  ไม่มีความรู้สึกว่ากำลังทะเลาะวิวาทกันอยู่ในอวนใหญ่  แห่งพญามาร  โลกไม่หวังประโยชน์จากการออกไปนอกวงล้อมของอวน  เพราะไม่เคยสำนึกว่า  ตนตกอยู่ในวงล้อมของอวนแห่งความพินาศแต่อย่างใด

พระนิพพานคืออะไรเล่า?

  พระนิพพาน  คือ สภาพชนิดหนึ่ง  ซึ่งเป็นตัวความบริสุทธิ์  ความว่าง  ความเบา  ความสุข  อันแท้จริงความชุ่มชื่น  เยือกเย็น ฯลฯ อย่างสุดยอด  เป็นสภาพซึ่งแม้จะพูดว่ามีอยู่ว่ามีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงก็ยังน้อยไป  พูดว่าอยู่คู่กับทั้งปวงก็ยังน้อยไป เพราะเป็นสภาพที่เป็นอยู่เช่นนั้นโดยตัวเองจนตลอดอนัตตกาล เราจึงกล่าวได้แต่เพียงว่า  พระนิพพาน  คือ อมตธรรม –สิ่งไม่มีการตาย

  จิตของเรานี้พบกันเข้ากับอมตธรรมนี้จริง  แต่จิตนั่นหาใช่อมตธรรมไม่  พระนิพพานจึงคือสิ่งที่มีอยู่สำหรับให้เราหรือจิตพบ  มันจะได้รับความเยือกเย็นเป็นสุขถึงยอดสุดเพราะเหตุนั้นได้  และทุกคนควรพยายามทำเพื่อจะได้เสียก่อนแต่จะตายลงไปถ้าจะปล่อยให้จิตท่องเที่ยวไปด้วยอาการอันซ้ำซาก  เช่นกับที่เคยเที่ยวมาแล้วไม่รู้กี่แสนชาติในวัฏสงสารอันยืดยาวนี้  การซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการเกิดแล้วตายๆและในระหว่างเกิดตายก็เต็มไปด้วยความกดทับ  นั่นมันจะดีอะไรเพราะมันเป็นไปเองตามประสาความมืดบอด  เช่นเดียวกับความล้มลุกคลุกคลานของคนตาบอด  ซึ่งปราศจากไม้เท้าและผู้จูงการลืมตาและพบกับแสงสว่างคือพระนิพพานนั้น  มันเป็นยอดที่สุดของความสุข  เป็นความหยุดจบลงของความอยากความปรารถนา  เป็นความหมดสิ้นของความสงสัยในสิ่งที่อยากจะรู้  เป็นยอดสุดของความรู้ของทุกๆโลกทุกๆสมัยและทุกๆชีวิต  เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นได้บ้างแล้วว่าพระนิพพาน  คือจุดปลายทางของชีวิตทุกชีวิต  ถ้าใครจะถามข้าพเจ้าก็ตอบดังนี้  เคยตอบมาแล้วก็ดังนี้  และจะตอบต่อไปอีกก็ดังนี้

พระนิพพานเป็นสิ่งที่คู่กันมากับคน

  ถ้าจะให้เข้าใจความหมายอันแท้จริงของพระนิพพานได้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น  ก็ควรย้อนไประลึกเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งกล่าวคือเรื่องความเป็นมาแห่งแนวความคิดนึกในทางปรัชญาของโลกทั่วไปให้สิ้นเชิง  คือจำเดิมตั้งแต่มนุษย์เริ่มเป็นมนุษย์ขึ้นมา  ว่าความคิดในทาปรัชญาของมนุษย์ได้ก่อรูปขึ้นในจิตใจของมนุษย์และขยายตัวสูงขึ้นมาเป็นลำดับๆอย่างไร  นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักคิดในการแสวงสุขภาพจิตใจโดยไม่อาศัยวัตถุ  และในที่สุดก็ได้พบสูงขึ้นมาโดยลำดับๆ

  ต่างศาสนาต่างก็บัญญัติสิ่งสุดยอดที่จนค้นพบนั้นว่าเป็นความหลุดพ้น  หรือรอดพ้นชั้นสุดยอดด้วยกันทั้งนั้น  ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเราได้พิจารณาดูจุดมุ่งหมายสุดท้ายของๆศาสนาในปัจจุบันนี้ดู  ก็จะพบว่าสิ่งสุดยอดทุกศาสนานั้นเรียกกันว่าความรอดพ้น (Salvation)  เหมือนกันหมด  แม้จะมีชื่อเรียกโดยพยัญชนะเป็นอย่างอื่นบ้างในบางครั้ง  แต่สำหรับความหมายแล้ว  ย่อมเล็งถึงความรอดพ้นจากปวงทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

  ในพุทธศาสนา  มีความรอดพ้นเรียกโดยชื่อว่าวิมุตติ  คือความพ้นวิเศษ  และนิพพานคือความที่สามารถดับสนิทไปได้ไม่มีส่อนเหลือ  หรือนิสสรณะ  กล่าวคือการก้าวออกไปเสียได้

  ในส่วนของศาสนาอื่น  ครั้นค้นเข้าก็จะพบความรอดพ้นที่มุ่งหมายไปในทำนองเดียวกันแม้จะได้แสดงเหตุผลหรือแนวทางปฏิบัติแห่งความรอดพ้นเป็นจุดที่มุ่งหมายอยู่นั่นเองกล่าวคือความรอดพ้นจากทุกข์  หรือสิ่งอันตนไม่ปรารถนา  หยาบหรือละเอียดเพียงไหนก็ย่อมแล้วแต่ปัญญาของตนจะมองเห็น  ถ้าจะพิจารณาดูโดยกว้างๆในมติของฝ่ายฮินดูหรือที่เรียกว่าพรอันเป็นศาสนาที่คู่เคียงกันมากับพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  คือมติของพวกเวทานตะแล้ว  ก็จะพบว่าได้แสดงแนวแห่งความรอดพ้นไว้โดยนัยที่ไม่แตกต่างจากพุทธศาสนา  ไปเท่าใดนักแม้เขาจะได้บัญญัติสิ่งนั้นว่า “อาตมัน” ก็ยังแสดงลักษณะซึ่งคล้ายคลึงกับพระนิพพานเป็นอันมาก  จะผิดกันก็เป็นส่วนน้อยในการที่ฝ่ายนั้นได้แยกถือความรอดพ้นนั้นขึ้นเป็นตัวเป็นตน  ในเมื่อฝ่ายพระพุทธศาสนาได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง  แม้จะมองต่อๆไปอีกจนกระทั่งถึงมติของศาสนาอิสลามในชั้นปรัชญา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกซูฟิสต์ (Sufist)  เราก็จะพบคำที่พ้องกับมติเวทานตะเป็นบทสั้นๆว่า “ อันนาลฮัคฮัคตุอี”  ซึ่งมีใจความว่า  “ เราก็เป็นพรหม  แม้พวกท่านทั้งหลายก็เป็นพรหม”  ข้อนี้มีคำอธิบายเป็นอย่างเดียวกับมติของเวทานตะกล่าวคือความรอดพ้นของอาตมันนั่นเอง  เป็นเราเป็นท่าน  คนหนึ่งๆ  ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าแล้วก็ได้แก่สภาพซึ่งเป็นความรอดพ้นจากอำนาจของธรรมชาติฝ่ายที่มีความเกิดแก่  เจ็บ  ตาย  หรือที่เรียกกันในฝ่ายพุทธศาสนาว่าวิสังขาร  แม้จะมองลงไปให้ต่ำกว่านั้น  เช่น  ในมติของนิกายปรัชญาเล็กๆน้อยๆทุกๆนิกาย  ทุกๆแขนงกระทั่งปรัชญาที่เกี่ยวกับการเมือง  ก็ยังจะพบอยู่นั่นเองว่า  ปรัชญาทุกแขนงมีอุดมคติที่มุ่งหมายไปยังความรอดพ้นจากสิ่งที่จนไม่ปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

  ที่ครั้นจะมองย้อนกลับขึ้นมาในทางสูงอีกครั้งหนึ่ง  ก็จะพบความค่อยๆสูงขึ้นมาของความคิดค้นของมนุษย์ปรากฏอยู่ที่อุดมคติของนิกายปรัชญาต่างๆที่สูงต่ำกว่ากันอยู่เป็นลดเป็นหลั่นและค่อยๆสูงขึ้นมาโดยลำดับๆเหมือนเนินเขาที่สูงซับซ้อนกันขึ้นจนกระทั่งถึงยอดเขาในชั้นต้นๆเราจะพบความรอดพ้นชั้นง่ายๆน่าเอ็นดูเป็นความรอดพ้นในด้านโลกียะมากกว่าโลกุตตระ  จนใกล้กับโลกุตตระมากยิ่งขึ้นๆกระทั่งมติเรื่องอาตมันของเวทานตะและในที่สุดก็คือความรอดพ้นของพุทธศาสนาเรา  อันเราเรียกกันว่า “ พระนิพพาน”

  ถ้าเราพิจารณาดูถึงตัวควาามรอดพ้นนั้นโดยละเอียดก็ย่อมจะเห็นได้โดยประจักษ์ว่าความรอดพ้นนั้นเป็นสิ่งที่แนบชิดกันอยู่กับความต้องการของสัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน  สัตว์เดรัจฉานก็ต้องการความรอดพ้นจากสิ่งที่มันไม่ชอบ  เช่นเดียวกับมนุษย์ต้องการจนเราอาจจะเชื่อได้ว่า  การต้องการความรอดพ้นนี้นับเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์  เป็นมูลฐานแห่งสัญชาตญาณอื่นๆที่เป็นไปเพื่อการเอาชีวิตรอด  หรือการคงมีตัวอยู่ของสัตว์  ความรอดพ้นจึงอยู่ใกล้ชิดกับความต้องการแห่งชีวิตจิตใจของสัตว์ด้วยเหตุนี้ครั้นสัตว์นั้นๆในโลกนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในทางความคิดและปัญญา  จนกระทั่งมีมนุษย์และพุทธบริษัทขึ้นในโลกซึ่งหมายความว่าระดับความคิดของสัตว์ในชั้นนี้อยู่ในชั้นสูง  ความรอดพ้นที่สัตว์ในชั้นนี้รู้จักปรารถนาจึงพลอยสูงขึ้นไปด้วยตามลำดับ  ซึ่งจะต้องมีระดับหรือลักษณะทุกๆประการ  ได้สัดส่วนพอดีพอเหมาะกับความสูงแห่งความคิดของมนุษย์หรือสัตว์นั้นด้วย  ด้วยเหตุนี้เองพระนิพพานจึงเป็นเหมือนสิ่งซึ่งคอยดักขวางทางอยู่ในเบื้องหน้าของสัตว์ทั้งหลาย  เพราะว่าวันหนึ่งข้างหน้า  สัตว์นั้นๆจะมีใจสูงจนถึงรู้จักปรารถนาความรอดพ้นชั้นสูงสุดนั้นได้  ด้วยเหตุว่าชีวิตนี้เป็นบทเรียนอยู่ในตัวทั้งกลางวันและกลางคืน

  ข้อนี้หมายความสั้นๆว่าเมื่อได้ปล่อยให้ความคิดทยอไปในกระแสของเหตุผลด้วยอำนาจแห่งการรักตัวของตัวแล้วอย่างไรเสียความคิดของคนที่คิดเป็นจะต้องแล่นตรงไปยังพระนิพพานอยู่เอง  เพราะความสูงของจิตใจมีทางไปแต่ทางเดียวนี้เท่านั้น  ทางอื่นจะปิดตันสำหรับจิตใจที่ตั้งอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล  ในที่สูงจึงเดินไปในทางเหล่านั้นไม่ได้  อาศัยเหตุอันเป็นกฎธรรมชาติอันนี้เองพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสข้อที่ว่าพรหมจรรย์  ในศาสนาของพระองค์มีความลุ่มลาดเอียงเทไปสู่พระนิพพานไว้อย่างมีความหมายเช่นเดียวกับกฏธรรมชาติทางจิตวิทยาที่กล่าวมาแล้ว  ความที่พระนิพพานเป็นสิ่งที่คอยดักขวางทางสัตว์ทั้งหลายอยู่ข้างหน้าเช่นนี้  นับว่าเป็นลักษณะที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของพระนิพพานเองและยังนับได้ว่าเป็นโชคลาภอันสูงสุดของสัตว์ทั้งหลายเพราะฉะนั้นการที่จะจับเอาปัญหาอันเกี่ยวกับพระนิพพานขึ้นมาวินิจฉัยกันในที่นี้  จึงเป็นสิ่งที่นับว่าเหมาะสมไม่ผิดกาลเทศะ  หรือถ้าจะให้กล่าวตามความสมัครใจของอาตมา  ก็อยากจะกล่าวยืนยันว่าการศึกษาเรื่องพระนิพพาน  ควรจัดไว้ในฐานะเป็นสังคมวิทยา (Social  Science) แขนงหนึ่ง  เช่นเดียวกับสังคมวิทยาแขนงอื่นๆเช่นจิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์เป็นต้นการพูดการคิด  การพิจารณาและการปรึกษากันถึงปัญหาอันเกี่ยวกับนิพพาน  ควรจะเป็นสิ่งที่ถูกนำมากระทำกันเป็นประจำวันเช่นเดียวกับที่เราพากันกระทำต่อสังคมวิทยาแขนงอื่นๆเช่นวิชาการเมือง  การเศรษฐกิจเป็นต้นด้วย  เพราะเหตุว่า  ตลอดเวลาที่จิตมนุษย์เศร้าโศกได้มนุษย์ควรรู้จักหยูกยาที่อาจจะแก้ความโศกนั้นๆได้บ้างตามที่ควร  เช่นเดียวกับที่เมื่อท้องของมนุษย์ยังรู้จักหิวมนุษย์ก็ต้องรู้จักประกอบอาชีพฉันใดก็ฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นอุดมบุรุษ  จึงสามารถที่จะขุดค้นและเปิดเผยอุดมธรรม (Summum Bonum)และอุดมธรรมอัตนั้นก็คือความรอดพ้นอันสูงสุดที่เราเรียกกันว่าพระนิพพานในที่นี้นั่นเอง  ในฐานะที่เป็นอุดมธรรม  พระนิพพานจึงมีเรื่องชนิดที่ละเอียดสุขุมฉะนั้นการที่จะกล่าวถึงเรื่องพระนิพพานทุกแง่ทุกมุมในเวลาที่มีอยู่จำกัดสำหรับวันนี้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่จะกระทำได้  ด้วยเหตุนั้น  จึงใคร่จะกล่าวเฉพาะแต่เพียงที่จะสรุปหัว  เรียกว่า

ความน่าอัศจรรย์บางประการของพระนิพพานเท่านั้น

  การทรงแสดงเปิดเผยเรื่องพระนิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  มีหลักมีแนวครบถ้วนบริบูรณ์ทุกๆประการ  มีความงามทั้งในเบื้องต้น  ทั้งในท่ามกลางและในขั้นสุด  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า  มีความงามน่าจับใจทั้งในส่วนทฤษฎี  ทั้งในส่วนปฏิบัติและในส่วนผลสุดท้ายอันจะพึงได้จากการปฏิบัติ  ในเรื่องนี้ในส่วนการปฏิบัติจะสามารถทำให้ทราบถึงความงามหรือความน่าอัศจรรย์ของพระนิพพานได้ดีกว่าส่วนอื่นๆแต่ถึงกระนั้น  เราก็จำต้องพิจารณาพร้อมๆกันไปทั้งในส่วนทฤษฎี  และส่วนผลบางประการเท่าที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ตามสมควรซึ่งจะทำให้เรามองเห็นความน่าอัศจรรย์ของพระนิพพาน  ทั้งการปฏิบัติพร้อมกันไปในตัวคราวเดียวกัน

  สิ่งแรกที่น่านึกน่าคิดที่สุด  ก็คือคำที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ทั่วๆไปว่าพระนิพพานเป็นอัพยากฤต  เมื่อจะกล่าวโดยโวหารเป็นภาษาไทยล้วนๆ  เพราะเหตุว่าคำว่า  อัพยากฤต  เป็นภาษาบาลีที่ฟังยากก็กล่าวได้ว่า  พระนิพพานเป็นสิ่งที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไร  ความข้อนี้เข้าใจยากอาจทำให้ผู้ไม่เคยศึกษามาโดยเฉพาะเกิดความฉงนถึงกับงงไปก็ได้  เพื่อจะให้เข้าใจความข้อนี้ได้โดยไม่ลำบากมากนัก  เราควรจะได้ศึกษาพิจารณามาจากฝ่ายที่ตรงกันข้าม  กล่าวคือฝ่ายที่เราอาจกล่าวๆด้วยภาษาชาวโ

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญานิพพาน
หมายเลขบันทึก: 512393เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

สิ่งแรกที่น่านึกน่าคิดที่สุด  ก็คือคำที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ทั่วๆไปว่าพระนิพพานเป็นอัพยากฤต  เมื่อจะกล่าวโดยโวหารเป็นภาษาไทยล้วนๆ  เพราะเหตุว่าคำว่า  อัพยากฤต  เป็นภาษาบาลีที่ฟังยากก็กล่าวได้ว่า  พระนิพพานเป็นสิ่งที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไร  ความข้อนี้เข้าใจยากอาจทำให้ผู้ไม่เคยศึกษามาโดยเฉพาะเกิดความฉงนถึงกับงงไปก็ได้  เพื่อจะให้เข้าใจความข้อนี้ได้โดยไม่ลำบากมากนัก  เราควรจะได้ศึกษาพิจารณามาจากฝ่ายที่ตรงกันข้าม  กล่าวคือฝ่ายที่เราอาจกล่าวๆด้วยภาษาชาวโลกของเราว่ามันเป็นอะไร  หรืออย่างไรนั่นเอง

  ในฝ่ายโลก  หรือฝ่ายที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอะไรนั้นมีหลักอยู่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเราอาจกล่าวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้เสมอ  เช่นเรามีชื่อเรียกสิ่งนั้นๆแล้วยังอาจกล่าวได้ว่านั้นเป็นสิ่งที่ดี  นี้เป็นสิ่งที่ชั่ว  เป็นฝ่ายทุกข์ฝ่ายสุข  เป็นฝ่ายบุญฝ่ายบาป  เป็นต้นไม่ว่าสิ่งใดๆเราอาจแยกประเภทกล่าวเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออย่างใดอย่างหนึ่งได้เสมอ  ตัวอย่างที่พอใจแบ่งแยกกันมากที่สุด  ก็คือหลักแห่งการแยกสิ่งที่พอใจแบ่งแยกกันมากที่สุด  ก็คือหลักแห่งการแยกสิ่งทั้งหลายเป็นสองฝ่าย  คือฝ่ายดี  และฝ่ายชั่วเราอาจกล่าวสิ่งต่างๆในโลกนี้ว่าเป็นฝ่ายหนึ่งได้เสมอ  สิ่งที่ดีมีหลักว่าเป็นสิ่งที่บัณฑิตหรือผู้ความคิดพากันสรรเสริญ  ใครประพฤติปฏิบัติเข้าแล้ว  นำมาซึ่งผลคือ  ความสุข  สิ่งชั่วตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง  ผู้รู้ไม่สรรเสริญ  ทำแล้วนำมาซึ่งทุกข์  และบัญญัติสิ่งที่สัตว์ไม่ปรารถนาว่าเป็นความทุกข์  แม้จะมีสิ่งบางสิ่งที่วินิจฉัยยากกว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือชั่ว  หรือถึงกับในที่บางแห่งท่านจัดเป็นสิ่งที่ยังไม่ถึงขีดดีขีดชั่ว  ไม่จัดเป็นสิ่งชั่วอีกประการหนึ่งก็ตาม  ถ้าเราจะสังเกตข้อนี้ให้ดีก็จะพบได้ว่าเรายังอาจที่จะจัดสิ่งนั้นๆในโลกนี้ว่าดีหรือชั่วได้อยู่นั่นเอง  โดยอาศัยหลักแห่งพระอภิธรรมที่มีอยู่ว่า  สิ่งใดมีมูลอันเดียวกับสิ่งที่ไม่ดี  สิ่งนั้นก็จัดไว้เป็นฝ่ายที่ไม่ดีแม้ว่าสิ่งนั้นๆในขณะนี้โลกยังไม่ได้ให้ความหมายอันชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือชั่วก็ตาม

  ถ้าจะกล่าวตามหลักของฝ่ายธรรมะก็อาจใช้หลักที่เด็ดขาดที่สุดอันหนึ่งมาตัดสิน  คือว่าสังขารเหล่าใด  ใส่ความทุกข์  ให้แก่สัตว์  มีราคะโทสะ  โมหะเป็นมูล  สังขารพวกนั้นโลกบัญญัติว่าไม่ดี  สังขารเหล่าใด  ไม่ใส่ทุกข์  ให้แก่สัตว์มีราคะโทสะ  โมหะ  เป็นมูล  สังขารเหล่านั้นโลกบัญญัติว่า  ดี  หรือกล่าวอย่างสั้นๆที่สุดอีกอย่างหนึ่ง  ก็อาจกล่าวได้ว่า  สิ่งใดเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อวิชชาสิ่งนั้นไม่ดี  ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งมีชีวิตจิตใจหรือไร้ชีวิตจิตใจก็ตาม  สิ่งใดเป็นผลสืบเนื่องมาแต่วิชชาสิ่งนั้นดี  เท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้พอจะให้เกิดความเข้าใจได้ว่า  สิ่งต่างๆ  ในโลกนี้ที่เป็นวิสัยโลกหรอที่มนุษย์รู้จักดีนั้นอาจที่จะแบ่งได้เป็นสองประเภท  คือสิ่งที่ดีและไม่ดี  หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจสงเคราะห์ได้ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยยึดหลักที่ว่ามันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่เหตุอะไร  ยกเสียแต่พระนิพพานเท่านั้นที่เป็นสิ่งไม่มีเหตุ  เป็นสิ่งเหนือที่โลกไม่อาจกล่าวแยกเป็นฝ่ายไหน  จึงต้องกล่าวว่าเป็นอัพยากฤต  คือกล่าวไม่ได้ว่าอะไร.

  ข้อนี้  พระนิพพานเป็นสิ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอะไรนี้  ควรจะพินิจพิจารณากันโดยละเอียดคือว่า  อาจมีคนแย้งขึ้นว่าเมื่อมีเสียงหรือศัพท์เรียกพระนิพพาน  ว่านิพพานอยู่ดังนี้แล้ว  ก็ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นพระนิพพานนะซิ  จะมัวไปคิดว่ากล่าวอะไรไม่ได้ไปทำไม่ - - 

  สภาพอันหนึ่ง  ซึ่งเป็นอยู่ได้เอง  ซึ่งเราสมมติเรียกกันโดยชื่อต่างๆ และชื่อที่เรียกกันมากที่สุดก็คือชื่อว่านิพพาน  นั้นได้รับนามชื่อนั้นๆ มาจากการที่ตัวสภาพนั้นเป็นของยากที่จะกล่าวลงไปได้ว่าอะไรนั้นเอง  คำว่า  นิพพาน(ซึ่งแปลว่า  ดับสนิท) ก็ดี  คำว่า  สัพพสังขาร สมถะ  (ซึ่งแปลว่า เป็นที่ระงับของสังขารทั้งปวง)  ก็ดี คำว่า สัพพปธิปฏินิสสัคคะ  (เป็นที่สลัดเสียซึ่งอุปธิทั้งปวง)  ก็ดี คำว่า  วิมุตติ (หลุดพ้น)  ก็ดี คำว่า อนาลยะ  (ไม่เป็นอาลัยคือที่หมดอาลัย )  ก็ดี คำว่าวิราคะ (ย้อมไม่ติด ก็ดี  คำว่า นิโรธ  (ดับไม่เหลือ) ก็ดี  ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากเหล่านี้ล้วนถูกสมมติให้เป็นชื่อของสภาพอันนั้นตามแต่ว่าการสมมติคำนั้นๆ จะสมมติ  เพราะมองดูโดยแง่ไหน คือแง่กิริยาอาการ  หรือแง่ลักษณะแล่คุณสมบัติเป็นต้น  ซึ่งล้วนแต่สมมติให้  เพราะจนปัญญาไม่รู้จะเรียกนามตรงๆ ลงไปว่าอะไรทั้งนั้น แม้ว่าคำเหล่านี้จะเป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ซึ่งทุกคำล้วนแต่หมายถึงสิ่งที่เราเรียกกันทั่วไปว่า  นิพพานก็ตาม  ก็ยังเป็นคำที่พระองค์ทรงสมมติขึ้น  เพื่อใช้ในการพูดจากับชาวโลก  เพื่อให้ชาวโลกที่เป็นสาวกพอที่จะเข้าใจพระนิพพานได้บ้างในเบื้องต้น  มิฉะนั้นสภาพที่ตามความจริงเราไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอะไรที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นจะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ผู้อ่านเสียเลย ครั้นสาวกนั้นๆ เกิดความเชื่อในเบื้องต้นแล้วปฏิบัติตามยิ่งรู้สภาพอันนั้นมากยิ่งขึ้น  ก็ยิ่งปฏิบัติสูงขึ้นแรงขึ้นเป็นลำดับ  จนรู้จักพระนิพพานได้เองว่าเป็นอะไร  และแล้วก็จนปัญญาอย่างเดียวกันอีก  ในการที่จะกล่าวกับชาวโลกว่าพระนิพพานนั้นเป็นอะไรแน่  นอกจากนามที่สมมติเหล่านั้น

  ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้  ควรจะสรุปความได้แล้วว่าเมื่อกล่าวโดยสิ้นเชิง  สิ่งทั้งหลายทั้งที่มนุษย์รู้จักมีเพียงสองประเภทเท่านั้นคือ ประเภทที่เป็นโลก และที่พ้นไปจากโลก

  สิ่งที่เป็น โลภ  หรือ วิสัยโลก  นั้น  สรุปได้ด้วยคำเพียงสองคำ  คือ ดี  และชั่ว  สิ่งที่ดีและชั่วรวมกันนั่นแหละเรียกว่าโลก  ว่าโลกียะ  หรือฝักฝ่ายของโลกเพราะว่าความดีและความชั่วมีแต่ในโลกนี้  หรือหาพบแต่ในโลกนี้เท่านั้น  เมื่อพ้นไปจากโลกนี้  ซึ่งเรียกว่าโลกุตตระ  หรือเรียกอย่างศัพท์สากลปรัชญาว่า  อัลตรา  มันเดน ( Ultra  mundand) แล้ว  จะไม่มีความดี ความชั่วเหลืออีกเลยเป็นอันขาด  เพราะว่าในที่นั้นไม่มีฐานที่ตั้ง  ไม่มีสิ่งรองรับสำหรับความดีความชั่ว คือไม่มีความยึดถือในความดี  ความชั่ว  โดยความเป็นสิ่งที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา  มันจึงเป็นที่ละลายของสังขารทุกๆ ประการ  ความดีความชั่วนี้เป็นสังขารคือเป็นสิ่งที่มีอะไรปรุงแต่งขึ้นชั่วคราว  สิ่งที่ปรุงแต่งนั้นก็ล้วนแต่เป็นสังขารด้วยกัน  ปรุงทะยอยกันขึ้นมาเป็นลำดับ  รึงรัดทรงตัวกันอยู่ได้  ชั่วเวลาที่มีความอยากความต้องการ

  ในโลกุตตรภูมิ  ไม่มีความต้องการเพราะได้มองเห็นความเหลวแหลกหลอกลวงของความดีความชั่วนั้นเสียแล้ว  สังขารเหล่านี้จึงต้องแตกสลายเมื่อขึ้นไปถึงเขตนั้น  ความยุ่งยากจึงไม่มี มีแต่ความสงบ

  ส่วนในโลกนี้  ชอบใจสิ่งใดก็ถือกันว่าดีว่าสุขหรือยกขึ้นชั้นประเสริฐ  ไม่ชอบใจสิ่งใดก็ประณามว่าเป็นทุกข์ ไม่มีค่า  ไม่มีราคา  ทั้งๆ ที่ความดีและความชั่วล้วนแต่เป็นของมายา  อ่อนแอ ไร้ตัวตน ด้วยกันทั้งสองอย่างดังกล่าวมาแล้วข้างต้น  เมื่อเป็นดังนี้  ย่อมจะเห็นได้ว่าความคิดหรือความรุ้กระทั่งความต้องการของผู้มีจิตใจจมอยู่ในโลกียภูมินั้น  ได้ถูกจำกัดเขตไว้ในกรงบวงอันแคบที่สุดเพียงไร เมื่อรู้เห็นสิ่งต่างๆ แต่ในวงแคบ  ก็ถูกโมหะหรืออวิชชาทำให้ใจผิดเอาได้มากๆ  หรือทั้งหมดเลยที่เดียว  ซึ่งถ้าหากว่าปัญญาของเขาไม่ถูกกักขังอยู่ในวงอันจำกัดเช่นนั้นแล้ว  ก็คงจะรู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่ว ผิดหรือชอบ  สุขหรือทุกข์ได้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นกล่าวคือรู้จักโลกนี้ได้ทั้งหมดโดยความเป็นของอย่างเดียวกัน  แล้วข้ามไปรู้จักที่ตรงกันข้ามกับโลกนี้ คือโลกุตระได้ด้วย  ไม่มัวงมหาสิ่งตรงกันข้ามอยู่แต่ในโลกด้านเดียวซึ่งจะหาไม่พบ  และหลงผิดจนสร้างกรงแห่งความดีความชั่วกักขังตัวเอง

  สำหรับสิ่งที่เป็นโลกุตตระนั้น  แตกต่างตรงกันข้ามจากโลกโดยประการทั้งปวง  หรือเป็นฝ่ายที่ภาษาของโลกโดยประการทั้งปวง  หรือเป็นฝ่ายที่ภาษาของโลกไม่มีสำหรับเรียกว่าอะไรนั่นเอง  ทำไมจึงกล่าว่าไม่มี ข้อนี้เพราะเหตุว่าภาษาที่โลกบัญญัติขึ้นใช้นั้นบัญญัติใช้กับสิ่งต่างๆ  ตามที่โลกรู้จัก  คือเข้าใจความหมายของสิ่งนั้นดี  เมื่อโลกไม่รู้จักสิ่งที่พ้นไปจากโลก  ก็ย่อมไม่รู้ความหมายอันแท้จริงของโลกุตตระนั้น  จึงไม่ได้บัญญัติชื่อนี้ขึ้น  หรือถึงกับไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยซ้ำไป  นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง  ที่โลกไม่รู้จักโลกุตตระหรือนิพพาน  แต่ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนตรงตัวยิ่งขึ้นอีกก็คือว่าพระนิพพานเป็นความพ้นไปจากทุกๆสิ่ง  เป็นข้อที่ความรู้สึกของจิตใจหมดปัญญา  หมดความสามารถที่จะเรียกว่าเป็นอะไรได้  เพราะถ้าจะเรียกว่าสุขหรือยอดสุขตามความหมายโลกก็ผิดอย่างยิ่งและเป็นการนึกเดาเอามากกว่า  ถึงแม้จะมีคำกล่าวที่ได้ยินกันอยู่ทั่วไปว่า  พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  โดยอาศัยพระพุทธภาษิตที่ว่า  “ นิพพานํ ปรมํ สุขํ” อันดูเหมือนจะเป็นการยินยันอยู่โดยประจักษ์ชัดก็ตาม  นั่นก็ควรจะทราบได้โดยไม่มีข้อแย้งข้อเถียงอีกว่า  ได้ยืมเอาภาษาของโลกมาใช้โดยเหตุที่ว่า  ในฝ่ายโลกุตตระไม่มีภาษาที่มนุษย์บัญญัติขึ้นใช้เกี่ยวกับการนี้  แม้แต่ผู้ที่กำลังซึมซาบในพระนิพพานอยู่ปรากฏว่าบรรยายสิ่งที่ตนกำลังซึมซาบนั้นเป็นคำพูดออกมาไม่ได้  พระโยคีผู้ค้นคว้าสิ่งที่สูงไปจากโลกนั้น  ได้พบและมีความรู้สึกในสิ่งๆหนึ่ง อันนอกเหนือวิสัยที่โลกจะเคยรู้จักและเรียกได้ว่าชื่ออะไรแน่ด้วยเหตุนี้โยคีผู้นั้นก็เลยจนหรือจำนนต่อภาษาที่จะใช้เรียกสิ่งนั้นว่าอะไร  จึงเป็นเหตุให้ต้องยืมภาษาของโลกคำที่มีอยู่ก่อนๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาใช้อย่างขอไปที่ จึงเกิดมีการยืมคำว่า “ นิพพาน” ซึ่งที่แท้เป็นนามศัพท์ของการดับที่ดับสงบเย็นลงไป  เช่น เทียนดับ  ไฟดับ เป็นต้น มาเป็นชื่อของสภาพอันหนึ่งซึ่งพระโยคีนั่นเพิ่งค้นพบ อันเราหมายถึงสิ่งนั้นหรือสภาพนั้นด้วยคำว่า“พระนิพพาน”กันนั้นเอง  ทั้งนี้พอให้เป็นเค้าเงื่อนให้โลกหรือผู้ฟังสืบสาวความหมายไปได้  เพราะโลกรู้จักความร้อนหรือความทุกข์อยู่บ้างแล้ว.

แท้จริงนั้น  ไม่มีอัตตา  ที่ยกมาถกเถียงว่านิพพานเป็นอัตตาหรือไม่ ?

  สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง  ที่ทำให้หลายคนถกเถียงหรือคิดหาทางให้นิพพานเป็นอัตตา / ตัวตน  ก็เพราะไม่เข้าใจความหมายของ คำว่า “ อัตตา” โดยหลงคิดไปว่า  ถ้านิพพานเป็นอนัตตา/ ไม่เป็นอัตตา นิพพานก็จะเป็นความสูญ ไม่มีอะไร

  ความคิดเห็นว่านิพพานเป็นความขาดสูญ  หรือความไม่มีนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงอย่างหนึ่ง เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ  (ความเห็นว่าขาดสูญ/ เห็นว่าอัตตาหายสิ้นไป) เป็นความเห็นสุดโต่ง ตรงข้ามกับสัสสตทิฏฐิ  (ความเห็นว่าเที่ยง/ เห็นว่ามีอัตตาที่ยั่งยืนตลอดไป)

เพื่อรวบรัด ขอทำความเข้าใจว่า

  ๑.  สิ่งที่มี  หรือสภาวะที่มีอยู่จริง  ท่านเรียกว่า “ ธรรม” หรือ เรียกให้จำเพราะลงไปอีกว่า”สภาวธรรม” ซึ่งแยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ

  ๑. ธรรม หรือสภาวธรรม  ที่มีอยู่อย่างมีเงื่อนไข ขึ้นต่อเหตุปัจจัย  เรียกว่า สังขตธรรม หรือสังขาร เช่น รูป เวทนา เป็นต้น (ขันธ์๕ )

  ๒. ธรรม หรือสภาวธรรม  ที่มีอยู่ โดยไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัย เรียกว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร ได้แก่นิพพาน

๒.  สำหรับมนุษย์ปุถุชน  จะมีความยึดถือขึ้นมาต่อธรรมหรือสภาวธรรมนั้น  ว่าเป็น อัตตา/ ตัวตน  (แยกกับตัวอื่น  คนอื่นเป็นต้น)  และ “ อัตตนิยะ/สิ่งที่เนื่องด้วยตน” (เช่น ทรัพย์สินของตน)

  อัตตา / ตัวตน  จึงเป็นเพียงภาพที่มนุษย์สร้างขึ้นในจิตใจซ้อนบังสภาวธรรมอีกชั้นหนึ่ง แล้วมนุษย์ก็ยึดติดในภาพคืออัตตา/ ตัวตน แต่อัตตา / ตัวตนนั้นมีอยู่เพียงในความยึดถือหรือทิฏฐิของคนเท่านั้นไม่มีอยู่จริง

  ความยึดถือในภาพตัวตน/ อัตตานั้น  เรียกว่า อัตตทิฏฐิ เมื่อมนุษย์มีอัตตทิฏฐิ เมื่อมนุษย์มีอัตตทิฏฐิ  ยึดติดอยู่กับภาพอัตตา / ตัวตนแล้ว ภาพอัตตา/ ตัวตนนั้นก็จะกั้นบังเขาไม่ให้เห็นสภาวธรรม หรือเห็นบิดเบือนผิดเพี้ยนไป  ทำให้คับแคบ อึดอัด  ผูกมัด  ไม่โปร่งโล่งเป็นอิสระเป็นที่มาของทุกข์ ทั้งทุกข์ในใจคน  และทุกข์เนื่องจากการเบียดเบียนกันในสังคม

  เมื่อมีอัตตทิฏฐิ ยึดติดอยู่กับภาพอัตตา/ ตัวตน  ก็เป็นธรรมดาที่จะมองเห็นสภาวธรรม เรียกว่า ไม่เห็นธรรม  ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม/ สังขาร  /ขันธ์  ๕  หรืออสังขตธรรม /วิสังขาร/ นิพาน ตามเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น

  แต่มนุษย์ปุถุชนรู้จักเพียงแค่สังขตธรรม / สังขาร / ขันธ์ ๕ ยังไม่รู้จักนิพพาน  สิ่งที่เขาจะยึดถือเป็นอัตตา  / ตัวตนไว้  ก็คือสังขตธรรม / สังขาร/ ขันธ์ ๕ เท่านั้น

  เมื่อเขามองเห็นสังขาร/ ขันธ์ ๕  นั้นตามเป็นจริง อัตตทิฏฐิ/  ความยึดตัวตน ก็หมดไป พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อัตตทิฏฐิ  /ความยึดถืออัตตาถูกละหมดไป จึงมองเห็นธรรมตามที่มันเป็น

  เมื่อมองเห็นธรรมตามเป็นจริง  นอกจากมองเห็นสภาวธรรมที่เป็นสังขตะ/สังขาร /ขันธ์ ๕ ถูกต้องแล้ว ก็มองเห็นสภาวธรรมที่เรียกว่า นิพพาน ที่เป็นอสังขตะ/ วิสังขาร ด้วย

  ละตัตตทิฏฐิ / ความยึดถืออัตตาได้ จึงมองเห็นนิพพาน หรือว่าจะมองเห็นนิพพานก็เมื่อละความยึดถืออัตตา/ ตัวตนแล้ว หรือว่าเมื่อลุนิพพาน ก็ไม่เหลืออัตตทิฏฐิ  พูดเป็นสำนวนว่า ผู้บรรลุนิพพาน ไม่เห็นอัตตา  ก็จึงเห็นแต่ธรรม  หรือเพราะมองเห็นธรรม ก็ไม่( ว่ามี) อัตตา

  เมื่อภาพอัตตา  (ที่เคยสร้างขึ้นมายึดไว้เอง) ซึ่งบังธรรมไว้หายไป จึงมองเห็นธรรม ก็ไม่มีเรื่องอัตตา – ตัวตน ที่จะต้องมาพูดถึงกันอีก

  เพราะฉะนั้น ว่ากันโดยแท้โดยจริง จึงไม่มีเรื่องอัตตาที่จะมาพูดถึงกันอีก ใจขั้นทีว่านิพพานเป็นอัตตาหรือไม่  (เพราะอัตตทิฏฐิ/ การยึดถืออัตตา มีอยู่กับปุถุชน  ที่ยังวุ่นวายอยู่กับสังขาร –ขันธ์ ๕ พอละอัตตทิฏฐิในสังขารได้ เรื่องอัตตา/ ตัวตนหมด หรือเลิกไปแล้วก็แล้วสภาวธรรมแห่งนิพพาน

  เมื่อยังยึดอัตตา (มีอัตตทิฏฐิ ) ก็ไม่เห็นนิพพาน พอเห็นคำว่า  “ อัตตา / ตัวตน “ และคำอื่นๆ ในชุดนี้ทั้งหมด

สรุปความในทัศนะคติของหลวงพ่อพุทธทาส

  สัมมาทิฏฐิชั้นต้นทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องในการแสวงหาประโยชน์ในโลกนี้จนกระทั่งรู้ว่าสิ่งที่ควรสนใจนั้นยังมีอยู่อีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากเรื่องของโลกได้แก่เรื่องของธรรมทำให้คนยกเท้าก้าวเข้าไปในวัด  หรือในขอบวงของศาสนา

  สัมมาทิฎฐิชั้นกลาง  ทำให้รู้เรื่องประโยชน์ที่สูงขึ้นไปกว่าประโยชน์ในโลกนี้ กล่าวคือประโยชน์ในโลกนี้  กล่าวคือประโยชน์ตามทางธรรมะหรือประโยชน์เกี่ยวกับโลกอื่นที่สูงขึ้นไป ทำให้คนกล้าเสียสละประโยชน์ในโลกนี้  เพื่อเอาประโยชน์ในโลกที่ดีกว่า  ทำให้คนรู้จักเสียสละความสุขทางเนื้อหนังเพื่อถือเอาความสุขทางใจ.

  สัมมาทิฏฐิชั้นสูงสุด  ทำให้รู้เรื่องซึ่งอยู่เหนือโลกหรือพ้นจากโลก  หรือเหนือประโยชน์ทั้งหลาย ไม่ต้องการประโยชน์ใดจึงพ้นจากอำนาจบีบบังคับของสิ่งทั้งปวงเป็นความสงบอันสูงสุดที่เรียกว่านิพพาน

  ความทุกข์ทุกชนิด ระงับไปได้ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิถึงกับถือเป็นหลังตายตัวลงไปว่า “สัมมาทิฏฐิ  สมาทานา  สพฺพํ  ทุกฺขํ  อุปจฺจคุ  ดังกล่าวแล้ว. ความระส่ำระสายของโลกในปัจจุบันนี้  อาจระงับไปด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิแม้ที่เป็นชั้นต้นเท่านั้น  ไม่ต้องเลิกบูชาความสุขทางเนื้อหนัง  หันมาบูชาความสุขทางใจกันบ้าง  อย่าเป็นโลกจัดโดยส่วนเดียวหมุนมาเป็นธรรมกันเสียบ้างแล้ว  สันติภาพอันถาวรก็จะครอบงำโลกโดยไม่ต้องสงสัยเลย  แต่อย่างไรก็ตาม สัมมาทิฏฐิชั้นสูงขึ้นไปเป็นรากฐานทำนองเดียงกันกับที่มิจฉาทิฏฐิชั้นหยาบๆ ย่อมมีมิจฉาทิฏฐิขั้นละเอียดคืออวิชชาเป็นรากฐานฉันนั้น  เพราะฉะนั้น  เราจึงจำต้องศึกษาเรื่องสัมมาทิฏฐิขึ้นไปถึงชั้นสูงด้วยเป็นธรรมดา

  ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องสนใจนั้นอยู่ที่การทำจริง.  ในบาลีนั้นใช้คำว่า  สัมมาทิฏฐิสมาทานา  ซึ่งแปลว่า เพราะสมาทานสัมมาทิฎฐิ  คำว่า  สมาทานนี้แปลว่า  “ ถือเอาอย่างทั่วถึงและเป็นอย่างดี”  ข้อที่น่าวิตกก็คือ  เราไม่ถือเอาสัมมาทิฎฐิกันอย่างทั่วถึงและอย่างดีนั่นเอง.  พอมีอะไรมายั่วหน่อยเดียว  ก็เอาสัมมาทิฏฐิไปเหวี่ยงซุกไว้ที่ไหนเสียแล้ว  วิ่งออกรับสิ่งที่มายั่วอย่างกะว่าเป็นนิพพานเสียเอง  ดังนี้จะเรียกว่าสมาทานสัมมาทิฏฐิได้อย่างไร. สัมมาทิฏฐิก็อยู่แต่สัมมาทิฏฐิ  คนก็อย่าแต่คนความสุขก็อยู่ความสงบสุข  ไม่มีวันที่จะพบกันได้เลย 

ในที่สุดนี้  ขอชักชวนให้ช่วยกันเพาะหว่านสัมมาทิฏฐิทเพื่อทำให้โลกให้สงบจากความระส่ำระสายอย่างในสภาพปัจจุบันนี้  ซึ่งหมายเพียงสัมมาทิฏฐิในชั้นต่ำที่สุดเท่านั้น  หวังว่าผู้ได้รับการชักชวนคงจะได้ท้อใจว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นเกินไปแต่ประการใด. ผู้ต้องประสงค์ความสงบอันสูงสุดคือพระนิพพานต่างหาก  จึงจะได้รับคำชักชวนในเรื่องอันเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิในชั้นสูง   เมื่อสัมมาทิฏฐิสำหรับโลกๆ เป็นสัมมาทิฏฐิในชั้นต้นๆ เช่นนี้แล้ว  มิจฉาทิฏฐิชั้นที่หยาบหรือชั้นต้นที่สุดนั่นเอง โดยเฉพาะก็คือการหลงบูชาความสุขทางเนื้อหนังยิ่งกว่าความสุขทางจิต. หรือบูชาวัตถุจนไม่เหลียวแลหัวใจหรือดวงใจเสียเลยนั่นเอง  จึงไม่มีการย่างเท้าก้าวเข้ามาในขอบวงของวัดหรือศาสนาเลย /

ตอบในทัศนะของพระธรรมปิฏก

  พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  นิพพานเป็นอัตตาหรือไม่

หรือว่า  หลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาทถือว่า นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา / ไม่เป็นอัตตา

  หรือพระไตรปิฏก  (ตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ) ว่า  นิพพานเป็นอัตตา  หรืออนัตตา  / ไม่เป็นอัตตา

  สำหรับคำถามอย่างนี้  เรามีมาตรฐานไว้แล้ว  ชาวพุทธแม้จะไม่มีความรู้อะไรมาก  ก็ตอบตรงไปตรงมาอย่างพอดีกับความจริงได้อย่างมั่นใจว่า

  (เท่าที่มีหลักฐานบอกไว้)  พระพุทธเจ้าสอนว่านิพพานเป็นอนัตตา/ ไม่เป็นอัตตา (หรือจะบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่านิพพานเป็นอัตตา ก็ได้)

  หรือว่า พระไตรปิฏก  (และคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น) สอนว่านิพพานเป็นอนัตตา / ไม่เป็นอัตตา

  เมื่อจับหลักได้อย่างนี้แล้ว  แม้แต่ถ้าถูกถามกว้างๆ ว่านิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา  ชาวพุทธก็ตอบได้ ทั้งอย่างถูกต้องและอย่างใจกว้าง

  บางท่านตอบว่า  “ นิพพานเป็นเรื่องสูงมาก  ฉันยังไม่รู้  ฉันยังไม่บรรลุ ฉันตอบไม่ได้” อย่างนี้ก็ไปสุดโต่งข้างหนึ่ง

  บางท่านว่า “ พระไตรปิฏกบอกว่า นิพพานเป็นอัตตา”  ก็กลายเป็นกล่าวตู่  บิดเบือน หรือปลอมปนพระธรรมวินัยไปเลย

  การที่ชาวพุทธจะตอบคำถาม  โดยเฉพาะในเรื่องลึกซึ้ง ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นกับตาเหมือนยกวัตถุมาตั้งให้ดู  และถึงจะอวดว่าบรรลุ  เขาก็ไม่อาจรู้ว่าเราบรรลุจริงหรือไม่  อย่างเรื่องิพพานนี้พึงตอบโดยวิธีจำแนกแยกแยะอย่างน้อยเป็น ๒  ขั้น คือ

  ขั้นที่ ๑  แสดงหลักการหรือหลักฐานที่เป็นมาตรฐานกลางอย่างที่กล่าวข้างต้น  เช่นบอกว่า พระพุทธศาสนาเถรวาท ถือว่านิพพานเป็นอนัตตา/ ไม่เป็นอัตตา ฯลฯ

  ขั้นที่ ๒  แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า  สำหรับข้าพเจ้าคิดเห็นว่าอย่างนี้ๆ หรือว่าข้าพเจ้ายังไม่รู้ยังไม่ได้บรรลุ  จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็น ฯลฯ

  วิธีตอบแบบนี้ มีประโยชน์และเหตุผลหลายอย่าง  เช่น

  เราได้รักษาหลักการไว้  แต่ก็ไม่ได้ผูกขาดปิดความคิดเห็นของใคร  เมื่อเราตอบอย่างนี้แล้ว  ใครจะแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันอย่างไร ก็แสดงไป

  ถึงตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็นการถกเถียงทางปรัชญา  ซึ่งเราจะร่วมวงถกเถียงด้วยก็ได้  หรืออาจบอกเขาว่า เราไม่ถนัดในการถกเถียง หรือจิตของเราไม่โน้มไปในทางปรัชญา  จึงขอลาไป แต่เราก็ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว

  เมื่อได้รักษาหลักการและหลักฐานไว้ชัดแล้ว  ถึงใครจะถกเถียงกันไปอย่างไร  หลักการนั้นก็จะไม่หายไป แต่ยังคงอยู่ให้คนอื่นๆ ได้ศึกษาพิจารณากันอีก โดยเฉพาะคนรุ่นหลังๆ ภายหน้าในบางยุคบางสมัยเขาอาจมีสติปัญญาดีกว่าคนรุ่นเรา  เขาอาจจะเข้าถึงและอธิบายได้ชัดเจนกว่า

  แต่ถ้าเอาเพียงความคิดเห็นของเรา  ไม่รักษาหลักฐานไว้ก็จะกลายเป็นว่า คนรุ่นเรามาใช้เสีรภาพของตนไปผูกขาดจำกัดเสรีภาพและปิดกั้นโอกาสของคนรุ่นหลังที่จะได้ศึกษาความจริง

  เป็นการเคารพพระศาสดา  ไม่ลบหลู่พระไตรปิฏกและคัมภีร์ทั้งหลายที่ท่านถือกันมาเป็นมาตรฐาน แต่ก็ไม่ใช่ติดคัมภีร์และไม่ได้เอาพระไตรปิฏกเป็นต้นมาผูกขาดปิดกั้นความคิดเห็นของใคร  แม้ว่าใครจะไม่เห็นด้วย  ก็ว่าไป  แต่แยกกันให้ชัดว่าหลักฐานว่าอย่างไร  และใครเห็นว่าอย่างไร  อันไหนเป็นหลักการที่วางไว้อันไหนเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

  ว่าที่จริง คัมภีร์ทั้งหลายนั้น  ก็เหมือนครูอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้วท่านไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาพูดแสดงความเห็น  การที่เราสำรวจมติของท่านบันทึกไว้  ก็เหมือนกับไปเชิญท่านมาพูดให้เราฟังด้วยเป็นทั้งการรู้จักใช้ประโยชน์จากความรู้ของทาน  และเป็นการให้โอกาสแก่ท่านที่จะมาร่วมพูดหรือถกเถียงกับเรา

  แม้ว่าผู้ตอบจะยังไม่รู้หรือยังไม่บรรลุธรรมนั้น ก็ตอบได้ถูกต้องและสามารถทำประโยชน์แต่ผู้อื่น  เท่ากับทำหน้าที่สื่อธรรมให้แก่เขาให้เขานำไปศึกษาพิจารณา  เหมือนอย่างพระภิกษุสามเณรทั่วไปถึงจะยังไม่บรรลุนิพพาน ก็ตอบอย่างนี้ได้  ช่วยประชาชนได้แม้แต่ในเรื่องที่ตนเองยังไม่รู้แจ้ง  (แต่ต้องบอกไปตรงๆ ตามหลักฐาน) ทั้งไม่เป็นการอวดอ้างตนเองว่าบรรลุ  และไม่เป็นการตั้งตัวเป็นผู้วินิสัยนิพพาน

  ฝ่ายผู้ฟังเขาก็ไม่ได้ฟังเราในฐานะเป็นศาสดา  แต่ฟังในฐานะที่เราช่วยนำคำสอนของพระศาสดามาสื่อหรือถ่ายทอดให้เขาช่วยเขาในการศึกษาปฏิบัต หรือแม้แต่ร่วมก้าวไปด้วยกันกับเขาในการศึกษาปฏิบัตินั้น

  เป็นการแสดงข้อมูลความรู้ที่ชัดเจน  เป็นลำดับ  ไม่สับสนอย่างที่เรียกว่า  “ ไม่ปนกันมั่ว” อีกทั้งซื่อสัตว์  ตรงไปตรงมา พอดีๆ ไม่ผูกขาดหรือปิดกั้นจำกัดใคร เช่น แยกได้ว่า  อันไหนตรงไหนเป็นหลักการหรือหลักฐาน  อันไหนเป็นการตีความ  อันไหนเป็นความคิดเห็น หรือเป็นประสบการณ์ส่วนตัว  อันไหนเป็นของพระพุทธศาสนาเถรวาท  อันไหนเป็นของนิกายอื่นนิกายใด หรือเป็นลัทธิภายนอกที่ไหน ฯลฯ

  เรื่องหลักการของพระพุทธศาสนาถือว่านิพพานเป็นอนัตตา ไม่เป็นอัตตา หรือว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่านิพพานเป็นอัตตาเห็นควรยุติเพียงนี้ก่อนฯ

หนังสือประกอบการเรียบเรียง

พระธรรมปิฏก  (ประยุทธ  ปยุตฺโต) นิพพาน  - อนัตตา มูลนิธิพุทธธรรม กรุงเทพฯ  ๒๕๓๗

พุทธทาสภิกขุ  พุทธธรรม, ตัวกู  ของกู  สุวิชานนท์  กรุงเทพฯ  ๒๕๑๖

ผ.ศ อมร  เพชรนิล  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๑๙

แผนกวิชาการ  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  พระพุทธเจ้าสอนอะไร  กรุงสยามการพิมพ์  ๒๕๑๙,

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท