ความคาดหวังต่อกรรมการสภามหาวิทยาลัย ๑๔ประการ



          ในการประชุม 2nd UGP Forum จัดโดยสถาบันคลังสมองฯ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย. ๕๕  เรื่อง Governing Board Leadership in UK Higher Education องค์ปาฐก คือ Dr. David J. Lock, Director of International Projects, Leadership Foundation for Higher Education บรรยายได้อย่างครอบคลุมกระจ่างแจ้ง น่าชื่นชมมาก


          ท่านให้ รายการความคาดหวังต่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยไว้ ๑๔ ประการ ดังนี้


๑.  ทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาลที่ดี  มีภาวะผู้นำ  มีการตัดสินใจที่ดี


๒.  ดูแลว่ามีการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่ดี


๓.  ดูแลทรัพย์สมบัติสาธารณะอย่างดี  ให้สาธารณชนมั่นใจว่า ทั้งสภาฯ และมหาวิทยาลัย ทั้งซื่อสัตย์ และทำงานได้ผล


๔.  หลีกเลี่ยง ป้องกัน ความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อมหาวิทยาลัย


๕.  แสดงให้เห็นความมั่นคงในคุณธรรม(integrity)และมีเป้าหมายที่ชัดเจน (objectivity)


๖.  ตระหนักใน “หลักการแห่งชีวิตสาธารณะ” ๗ ประการ (ไม่เห็นแก่ตัว, มั่นคงในคุณธรรม, มีเป้าหมายชัดเจน, รับผิดรับชอบ, เปิดเผย, ซื่อสัตย์, และ ภาวะผู้นำ)


๗.  ทำหน้าที่ผู้ปกป้องประโยชน์สาธารณะ


๘.  ทำหน้าที่กรรมการกำกับดูแลที่ดี


๙.  เอาใจใส่ เข้าใจประเด็น และคน


๑๐.  ตั้งคำถามต่อข้อเสนอ และต่อสมมติฐาน


๑๑.  ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ขยัน และและด้วยความเชื่อมั่นในความดี


๑๒.  ทำหน้าที่อย่างเป็นตัวของตัวเอง และอย่างไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว (ไม่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ)


๑๓.  มั่นใจว่าสิ่งที่อนุมัติให้ดำเนินการเป็นไปตามข้อบังคับ กฎระเบียบ และแผนยุทธศาสตร์ ขององค์กร


๑๔.  ไม่สร้างความผูกพันองค์กรต่อภารกิจที่องค์กรไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้


          วิทยากร ได้ให้แหล่งอ้างอิงคือ CUC Guide for members of Governing Bodies ซึ่งอ่านหรือ ดาวโหลดได้ ที่นี่

          ในช่วงถามตอบ  มีผู้ถามว่าในบริบทไทย มีกรรมการสภาฯ ที่มาจากอาจารย์  เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะมีข้อขัดแย้งกับฝ่ายบริหารมาก่อน  หรือมาปกป้องผลประโยชน์ของอาจารย์  ที่อังกฤษพบปัญหานี้ไหม  และมีข้อแนะนำวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไร

          วิทยากรหัวเราะ และตอบว่า เราอยู่ในโลกเดียวกัน   ที่อังกฤษก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน  และมีวิธีจัดการหรือป้องกันคือ  (๑)​ จัดปฐมนิเทศ (induction) แก่กรรมการสภาฯ ให้เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ  (๒) ในกรณีที่สภาฯ จะพิจารณาประเด็นที่คาดว่าจะมีความขัดแย้ง  จัดการประชุมล่วงหน้านอกรอบ เพื่อฟังข้อคิดเห็นของคนเหล่านี้  คือใช้ยุทธศาสตร์รับฟัง  (๓) ผมเคยฟังจากสหรัฐอเมริกา ในการประชุม AGB ว่าในกรณีที่กรรมการสภาฯ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายกสภาฯ อาจชวนมาคุยเพื่อเตือนสติ หรือขอให้กรรมการสภาฯ อาวุโส ที่กรรมการท่านนั้นเกรงใจ ช่วยพูดทำความเข้าใจ



วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 512304เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท