รถไฟบิน..แนวคิดขนส่งมวลชนแบบใหม่โดยคนไทย(และเพื่อคนไทย..แต่จะโดยคนไทยหรือไม่ก็อีกเรื่อง)


รถไฟบิน..แนวคิดขนส่งมวลชนแบบใหม่โดยคนไทย(และเพื่อคนไทย..แต่จะโดยคนไทยหรือไม่ก็อีกเรื่อง)

แนวคิดนี้เป็นการเอาเครื่องบินมาผสมกับรถไฟ  ทำให้ได้ข้อดีของทั้งสองอย่างคือ เร็วเหมือนเครื่องบิน (ทำความเร็วได้ ๔๐๐ กม. ต่อ ชม. ) และออกจอดสถานีได้บ่อยและง่ายเหมือนรถไฟ (ซึ่งเครื่องบินทำได้ยาก เพราะต้องการสนามบินราคาแพง และใช้เวลานานมาก)

รถไฟความเร็วสูงทุกวันนี้เน้นกันไปที่ระบบแม่เหล็กยกลอยตัว (magnetic levitation หรือ เรียกกันสั้นๆว่า mag lev ...แม็กเล็ฟ)  หลายประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ได้สร้างไปแล้ว  แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ราคาแพงมาก โดยเฉพาะตัวรางที่ต้องทำเป็นระบบแม่เหล็กไฟฟ้า

ข้อดีของการลอยตัวโดยล้อไม่สัมผัสรางคือ แรงต้านต่ำ ทำให้สามารถวิ่งได้เร็ว และยังช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย

วันนี้ผมขอเสนอแนวคิดใหม่ในการยกรถไฟด้วยแรงของอากาศ เหมือนกับเครื่องบินนี่แหละ  ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีปีกเหมือนเครื่องบิน  แต่ทำตัวถังให้เป็นปีกเครื่องบินเสียเอง  ขนาดกว้าง ๕ ม. ยาว ๑๐๐ ม.  สามารถบรรทุกคนได้  ๔๐๐ คน วิ่งด้วยความเร็ว ๔๐๐ กม. ต่อชม.  (วิ่งช้ากว่านี้ไม่ดี เพราะจะสร้างแรงยกไม่พอ)

ผมเชื่อว่านี่เป็นแนวคิดครั้งแรกของโลก แต่หากมีท่านใดคิดมาก่อนหน้านี้ก็ขอคารวะ และขอยืนยันว่าไม่ได้พบเห็นแนวคิดนี้มาก่อน (หรือแม้แต่ที่ใกล้เคียง)

สิ่งที่ยากที่สุดคือการออกแบบตัวถังดังกล่าวนี้ให้มีแรงยกรถไฟให้ลอยได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในสภาวะรูปทรงแบบนี้  โดยเฉพาะมันเป็นปีกที่มี  span สั้นกว่า chord 20 เท่า  (ตรงข้ามกับปีกเครื่องบินที่มี chord สั้นกว่า span 20 เท่า)  ซึ่งรูปทรงนี้จะทำให้แรงยกหดหายไปหมดจากปรากฎการณ์ wing tip vortex  แต่ผมเชื่อว่าสามารถออกแบบแก้อาการนี้ได้ แถมเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสอีกต่างหาก  (ขออุบไว้ก่อน เดี๋ยวคนเอาไปจดสิทธิบัตรกันหมด อิอิ) 

  จากการออกแบบใหม่นี้ ผมได้คำนวณตามหลักการอากาศพลศาสตร์พื้นฐานแล้วว่าทำได้ โดยในช่วงแรกตอนออกตัวจากสถานี ล้อยังสัมผัสราง แต่พอทำความเร็วได้สัก ๔๐๐ กม.ต.ชม. ภายในสัก ๒๐ วินาที  ก็จะสร้างแรงลอยตัวเต็มที่ ล้อไม่สัมผัสราง แต่จะแตะประคองตัวเพื่อบังคับทิศทางเท่านั้น ซึ่งทำให้นุ่มนวล และ ประหยัดเชื้อเพลิงพร้อมกันไป (รวดเร็วอีกต่างหาก)

ระบบการประคองการลอยตัว  การเข้าจอดที่สถานีเราสามารถบังคับด้วยกลไกระบบควบคุมอัตโนมัติได้หมด เพื่อความนุ่มนวลและปลอดภัย

ระบบนี้จะมีราคาถูกมาก เพราะรางรถไฟเป็นรางปกติธรรมดา ไม่ต้องติดตั้งระบบ mag lev อันแพงลิ่ว  (ทำให้ค่าโดยสารแพงกว่าเครื่องบินเสียอีก)

ระบบขับเคลื่อนจะใช้เครื่องยนต์ไอพ่น แบบ High by-pass Turbofan  (ที่ใช้ในเครื่องบินโดยสารข้ามทวีปส่วนใหญ่ในวันนี้) ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเสียงดัง ยิ่งพอเข้าสถานีเราเดินเบาก็ยิ่งไม่มีเสียงรบกวน  หากผ่านบริเวณปชช.หนาแน่น ก็สร้างกำแพงบังเสียงช่วย  ...เพียงแต่เราอาจต้องปรับเครื่องยนต์ให้เข้ากับความเร็วต่ำที่ ๔๐๐ กม/ชม.  ในขณะที่เครื่องนี้ออกแบบมาให้บินเร็วที่ประมาณ ๙๐๐ กม/ชม.

ฝากบอกบุญมายังหน่วยงานรัฐบาลทั้งหลาย หน่วยใดสนใจสนับสนุนทุนวิจัย โปรดแจ้ง (รอไปเถอะ..อิอิ)  แต่ถ้าเกิดสนใจจริงๆ  เราสามารถทดลองหุ่นต้นแบบขนาดเล็กกว้าง ๑ ม. ยาว ๑๐ ม. เพื่อทดสอบว่าทำได้จริง โดยใช้พื้นที่อันกว้างใหญ่ของบริเวณ ม. ของเราให้เป็นประโยชน์  (ขนาดเล็กกว่านี้ไม่น่าทำได้ เพราะมันจะเกิด scale effect ที่มากมหาศาลจนไม่อาจนำไปขยายผลสู่ขนาดใหญ่ได้อย่างน่าเชื่อถือ)

โครงการวิจัยพัฒนาระดับและขนาดนี้ถ้าให้ สรอ. ยุโรป หรือ ญี่ปุ่นทำ ไม่น่าต่ำกว่า ๕ หมื่นล้านบาท  แต่เราเชื่อว่าเราทำได้ในราคาแบบไทยๆ ที่ ๕๐๐  ล้านบาท  โดยได้ผลงานคุณภาพเทียบเท่า ๕ หมื่นล้าน

ถ้าเราทำได้ ประเทศไทยจะเปิดตัวในเวทีโลก อย่างมีศักดิ์ศรี  กำไรแบบทุนนิยมจะมาอีก ๑๐๐ เท่า และ สิ่งดีๆ ที่เหลือเชื่อ ที่ประเมินราคามิได้จะตามมาอย่างที่ไม่คาดฝันอีกมากหลาย  เชื่อไหม  (เช่น เด็กไทยจะหายแว้นไปได้มาก การย้อมผมสีทองจะน้อยลงหรือหมดไป เป็นอาทิ เมียเช่าริมหาดพัทยา ป่าตอง จะลดลงฮวบฮาบ) 

คนไทยเราตามก้นฝรั่ง และต่างชาติอื่นมานาน นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะนำฝรั่งได้  โปรดช่วยกันคิดและทำต่อไปด้วยนะ  มีอะไรอีเมล์ต่อกันได้  ...วิชานั้นไม่หวงสำหรับคนดี หวังดีต่อชาติ แต่ที่ยังอุบไว้เพราะเกรงใจเทวดา กลัวว่าจะมีคนเอาไปสวมสิทธิ์ เหมือนรับจำนำข้าวน่ะครับ 

...คนถางทาง (๑๓ ธค. ๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 511896เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ปัญหาคืองานใหญ่เช่นนี้ต้องทำเป็นทีมใช่ไหมครับ ชาวไทยเรามีชื่อเสียงว่าไม่ค่อยชอบทำงานเป็นทีมเสียด้วย

ว้าว เคยนั่งแต่รถไฟความเร็วสูง  แต่ถ้าได้แบบบินได้ด้วยนี่ -- สุดยอดเลยอ่ะ โคราช -เชียงใหม่ แป๊บเดียว เร็วมากๆ  เออ.. เหมือน การปรากฏตัว และ การหายตัวของแม่มดเลยอ่ะ  ฮู้.. เร็วเหมือนขี่ไม้กวาด ก็โอหน่ะ ท่านอาจารย์ แต่ใครจะเป็นคนลงทุนสร้างน๊า -- ไม่ใช่ไทยแน่นอน  คริคริคริ 

ดร. ธ.  ครับ   นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะเป็นผลพวงของโครงการนี้ ถ้าทำได้สำเร็จเราก็จะได้เลิกว่ากันเสียทีว่าคนไทยทำงานเป็นทีมไม่ได้ (ยกเว้นโกงเป็นทีม)   ๕๕๕  

อืมม.... จริงๆ ทำงานเป็นทีมก็ได้ครับ แต่พิธีกรรมในการทำงานเป็นทีมของเราเยอะมาก จะทำอะไรทั้งทีก็ต้องจัดสัมมนาในโรงแรมใหญ่ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาทั่วประเทศไทย ตอนเช้าผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดพูดเสียครึ่งวันให้นโยบายฝันกลางอากาศ ตอนบ่ายคนกำลังจะหลับ (และกลับไป shopping) ก็พยายามหาความคิดเห็น

ก่อนหน้านี้ผมกับ อ.จัน เจอแบบนี้บ่อยมาก เดี๋ยวนี้ไม่เคยไปกันอีกเลย เอาเวลามาปั่นจักรยานรู้สึกจะคุ้มค่ากว่าครับ

ใช่ ๆ ผมก็เบื่อ ผู้ทรงฯ ก็หน้าเดิมๆ เวียนกันมาไม่กี่คน ประเด็นเดิมๆ  สู่สากล   ตอนนี้ก็คง AEC ...อ้วก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท