ซาบซึ้งกับนวนิยายอิงหลักธรรม "กามนิต-วาสิฏฐี" อีกครั้งหลังเกษียณ


     ตอนเรียนมัธยมฯ ได้เรียนวรรณคดีไทยเรื่อง กามนิต-วาสิฏฐี(ภาคพื้นดิน) ของเสฐียรโกเสฏ และนาคะประทีป จำได้ว่าเป็นนวนิยายอิงหลักธรรมที่ผมซาบซึ้งประทับใจมากๆกว่าเรื่องใดใด  ยิ่งตอนกามนิตพบวาสิฏฐีบนลานอโศก ทำให้มองเห็นภาพอันหวานชื่น จนกระทั่งมีเพลงที่กล่าวถึงเรื่องนี้หลายเพลง  ผมก็ฝึกร้องจนร้องได้ทุกเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง อโศกนี้มีแดนแว่นแคว้นวิไล...เพลงกามนิต-วาสิฏฐี  จุฬาตรีคูณ   ปาริชาติ ฯลฯ 
     พอถึงตอนที่พลัดพรากจากกันผมถึงกับร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล  คุณครูให้อ่านแต่ภาคพื้นดิน  แต่ผมก็ไปหาอ่านภาคสวรรค์ต่อจนจบ  ซึ่งเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ผมมักนำมาเล่าถึงการสอนให้ซาบซึ้งในวรรณคดีไทยเสมอ และรู้สึกขัดใจที่หนังสือเรียนปัจจุบันตัดตอนวรรณคดีมาให้เรียนเรื่องละเล็กเรื่องละน้อย ผมคิดว่าโอกาสที่จะทำให้ผู้เรียนซาบซึ้งจึงมีน้อย
     แม้วันเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใด แต่ผมก็ยังจดจำความประทับใจในนวนิยายเรื่องนี้มิเหือดหาย  แต่นานวันเข้าความทรงจำในรายละเอียดเริ่มลดน้อยลง  แต่ก็ยังฝังใจอยากกลับไปอ่านอีกครั้ง ด้วยหน้าที่การงานหลายอย่างทำให้ไม่มีโอกาสไปอ่านได้อย่างที่คิดไว้
       จวบจนเกษียณ และเมื่อวานนี้เองผมได้โหลดบทบรรยายจากหนังสือเรื่องนี้ในอินเทอเน็ต(ไม่ต้องหาซื้อหนังสืออ่านเหมือนเก่า) มีทั้งหมด 5 ตอน รวมทั้งภาคพื้นดินและภาคสวรรค์  ผมนั่งฟังนอนฟังอย่างต่อเนื่อง(หยุดไม่ลง)จนจบทั้ง 5 ตอน เมื่อเปรียบเทียบความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจตอนวัยเด็ก และในวัยเกษียณดูช่างไม่แตกต่างกันเลย แต่ด้วยวุฒิภาวะที่มากขึ้น ทำให้สามารถเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต ของหลักธรรมได้ลึกซึ้งมากกว่า  โดยเฉพาะหลักอริยสัจ 4 ที่พระพุทธเจ้าท่านหยั่งรู้ที่จะสอนวาสิฏฐี ซึ่งเป็นบัวที่ยังลุ่มหลงในความรักอันเป็นสมุทัยของความทุกข์ ท่านก็สอนเพียง "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"  ส่วนกามนิตที่ยังลุ่มหลงในความรักเช่นกัน และมุ่งมั่นแต่จะเฝ้าพระพุทธเจ้า ยึดตัวบุคคลมากกว่าคำสอน แม้จะอยู่กับพระพุทธเจ้าที่บ้านช่างปั้นหม้อทั้งคืน พระพุทธเจ้าจะสอนอย่างไรก็ไม่อาจเป็นบัวพ้นน้ำได้   ได้เข้าใจในหลักความเป็นอนิจจัง  การเกิดขึ้น  ตั้งอยู้และดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน  แม้แต่แดนสุขาวดี รวมถึงพระพรหมก็มีวันดับสลายได้  
         มีอีกหลายๆอย่างที่ประทับใจ อยากจะเล่าแต่ก็จะยาวเกินไป  ไปอ่าน(ฟัง)เองก็แล้วกัน แล้วมาแลกเปลี่ยนกันนะ

หมายเลขบันทึก: 511817เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท