อาหาร “เด็กบ้านนอก”


แต่ละคนในชุมชนก็จะรับรู้และช่วยกันรักษา เก็บแบบเผื่อไว้เก็บวันหน้า เก็บแต่พอกินพอใช้ ที่เป็นระบบคิดเพื่อความยั่งยืนของแหล่งอาหารและทรัพยากรของชุมชน

สมัยที่ผมเป็นเด็กนั้น
การไปตลาดยังเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” พอๆกับการไป “โรงพยาบาล” ที่เป็นสัญลักษณ์ของความลำบาก
และทุกข์ยาก แต่บางครั้งเราก็ไปเที่ยวให้พอเห็นๆอะไรบ้าง
ให้เห็นคนที่หน้าตาไม่เหมือนชาวบ้าน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจ๊ก”
ที่เก่งในเรื่องค้าขายที่ไม่ค่อยตรงไปตรงมา
ชอบเอาเปรียบชาวบ้านทั้งการซื้อและการขาย ที่แตกต่างจากวิถีที่ชาวบ้านคิดอย่างมาก
ที่จะเน้นให้กัน แจก แลกกันแบบไม่คิดเรื่องกำไร ถือว่าช่วยเหลือกัน
พึ่งพาอาศัยกันมากกว่า และของที่แลกกันส่วนใหญ่ก็เป็นของที่มีเหลือ
แม้ให้เปล่าๆแบบทำทานก็ไม่เดือดร้อน



ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไป
ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แค่ไปหาที่ใดก็ได้ ก็จะได้กลับมาเลี้ยงครอบครัวแน่นอน
ดังนั้น คิดจะรับประทานอะไร ก็มักจะได้อาหารประเภทนั้นค่อนข้างแน่นอน
และในวิถีที่ไม่เน้นค้าขายนั้น แต่ละคนจะเก็บไม่มาก แค่พอกินพอใช้ ไม่มากเกินไป
ไม่สะสม และใช้แบบหวังว่าวันหลังจะกลับมาใช้อีก เช่นการจับปลาแม่ลูกอ่อนนั้น
คนจะพยายามเลี่ยง หรือการจับลูกปลามาบริโภคก็จะไม่ทำกัน
ที่บางคนก็คิดเรื่องการทำบาป พรากแม่พรากลูก ที่ใครก็ไม่อยากเจอกับตัวเอง
เลยพยายามที่จะไม่ทำกรรมนี้



แนวคิดนี้ได้มีการพร่ำสอนในระบบสังคม
ที่อาจจะเป็นการพัฒนาความเข้าใจที่ตรงกันในการอยู่ร่วมกัน
และช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เพราะทุกคนต้องพึ่งทรัพยากรแหล่งเดียวกัน
ใครที่ทำให้ระบบเสียหายก็จะมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้



ดังนั้นเด็กๆในชุมชนก็จะรับแนวคิดนี้มาเป็นหลักในการพัฒนาชีวิต
ว่าการทำอะไร หรือใช้อะไร ให้เผื่อว่าวันหลังเราจะต้องกลับมาใช้อีก ทั้งเรื่อง
อาหาร บ่อน้ำกิน แหล่งน้ำใช้
แหล่งน้ำให้สัตว์ ที่จะต้องแยกกันไป ต้นไม้ ร่มไม้ ที่พักอาศัยตามธรรมชาติ



ในเรื่องแหล่งอาหารนั้น
ทุกคนจะปรับตัวให้อยู่รอดได้ ที่ปกติแล้วจะยังไม่ค่อยมีใครทำสวนมากนัก ถ้าใครจะทำสวน
ก็มักเป็นที่ริมน้ำ และรอบบ้าน ปลูกจำพวกผลไม้พื้นบ้าน ที่ไม่ใช่ไม้ป่า เช่น
มะม่วง มะปราง มะพร้าว หมาก พลู กล้วย อ้อย ส้มโอ ลำไย ที่มักจะทนสภาพน้ำท่วมได้
และสวนในป่าโคกที่น้ำไม่ท่วม ก็อาจมี น้อยหน่า สับปะรด ฝรั่ง แต่จะไม่มีใครปลูกผัก
เพราะหาเก็บได้ทั่วไปที่ไหนก็มี อย่างพวกมะเขือ พริก แมงลัก นี่ถ้าแค่ใช้ไปวันๆ
จำนวนไม่มาก มีทั่วไปรอบหมู่บ้าน ที่จะงอกขึ้นโดยธรรมชาติตาม “ป่าขี้” ที่คนไปถ่ายไว้
(สมัยก่อนยังไม่มีระบบส้วม) แต่ถ้าจะเก็บไว้ใช้จำนวนมากก็อาจจะปลูกบ้าง
เป็นแปลงเล็กๆ ตามหัวนา หรือแปลงนาข้างบ้าน ไม้ใช้สอยก็จะมีไผ่จักสาน ต้นนุ่น
และหวาย ส่วนผลไม้ที่เป็นไม้ป่าธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องปลูก เช่น มะขาม มะตูม
มะขามป้อมพุทรา ตะโก ตะขบ ฯลฯ



แนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางอ้อมที่ทำกันก็คือความเชื่อที่ว่า
สัตว์ที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน (ที่มีสิ่งขับถ่ายมาก) เป็นสัตว์ที่สกปรก
ไม่เหมาะแก่การบริโภค ถ้าจะจับก็ให้ไปจับไกลๆหมู่บ้าน และสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งนก
หนุ ปลา ที่อยู่ในเขตที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และบริเวณใกล้เคียง เช่น เขตวัด
ศาลตาปู่ ป่าปู่ตา ป่าช้า เป็นสัตว์ที่มี “เจ้า” ดูแล ไม่ควรไปรบกวน
ที่เป็นแนวคิดที่มีมาแต่เดิม ที่ถ่ายทอดมาแบบรุ่นต่อรุ่น



ดังนั้น
เด็กที่ได้รับความคิดและความเชื่อมาแบบนี้ก็จะเคารพกติกาของสังคมแบบไม่มีข้อโต้แย้งสงสัย
การจับปลา ล่าสัตว์เก็บผัก หาอาหาร แม้แต่เก็บผลไม้ธรรมชาติ
ก็ไม่เว้น ถ้าจำเป็นจะต้องเก็บจริงๆ ก็จะออกปาก “ขอ” ก่อนการเก็บ
ที่สะท้อนการยอมรับการมี “เจ้าของ” ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น



ดังนั้น ในระดับเด็กๆ
ที่กำลังเรียนรู้ในการใช้และพัฒนาชีวิตในชนบท แหล่งอาหารที่เป็นโปรตีนหลักในครัวเรือนเลย
มีทานทุกวัน ก็คือ ปลาที่ถ้าไม่มีปลาสด ปิ้ง ย่าง
ต้ม แกง ลาบ ก็จะเป็น ปลาร้าสับดิบๆ ปลาร้านึ่งใส่ไข่  หรืออย่างน้อยก็น้ำต้มปลาร้าราดข้าว
บางช่วงก็อาจจะมีปลาแห้ง



ในช่วงฤดูแล้ง
หรือฝนตกใหม่ๆ อาจจะไปขุดปู หรือจับปูนาได้มาก ที่มักเป็นปูที่มีความมันมาก
จะนำมาทำ “น้ำพริกปู” โดยการตำเอาน้ำปูมาเคี่ยวใส่เครื่องปรุง
ที่ถือว่าเป็นอาหารทำจากปูชั้นยอด กินกับผักสารพัดชนิดได้อย่างดี



วันไหนโชคดีหน่อยได้กบมาก็จะต้ม
ซดน้ำแกง เพราะถ้าผัดเผ็ดจะได้น้อย ไม่พอกินกันหลายคน การผัดเผ็ด หรือลาบ
จะทำเฉพาะช่วงที่มีอาหารมากๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องการพอ หรือไม่พอ เช่นช่วงที่ได้อาหารมามากๆ
และงานเลี้ยง งานบุญเท่านั้น



ช่วงหลังเกี่ยวข้าวใหม่ๆ
พวกเด็กโตจะพาไปหาขุดหนูนา ที่มักอยู่ตามคันนา หรือจอมปลวก
หนูนาหลังเกี่ยวข้าวใหม่ๆจะกำลังอ้วนเนื้อมาก การขุดหนูต้องอาศัยความสามารถพิเศษในการหา
“ปล่องหนี” ให้ได้ครบทุกปล่อง อุดให้หมดด้วยฟาง และปล่อยบางรูที่มีคนนั่งเฝ้า
โดยใช้ผ้าขาวม้าปิดปากรูไว้ ถ้าหนูโผล่มาเมื่อไหร่ให้ตะครุบทันที
คนขุดก็จะค่อยๆขุดตามปากรูใหญ่ ขุดกลบๆๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ กันหนูวิ่งสวนทางออกมา
จนถึงโพรง และทางแยก ที่ส่วนใหญ่จะได้หนูหลายตัว
ก็แบ่งกันไปตามการมีส่วนร่วมและความต้องการ
ที่มักได้จนพอแบ่งกันจึงหยุดกิจกรรมในวันนั้นหนูนาที่ได้มามักเอามาย่าง หรือปิ้ง ทานกับข้าว ไม่เคยเห็นว่าทำอะไรมากกว่านั้น



ในช่วงฤดูแล้งที่เริ่มหาปลายาก
แม่ของผมมักจะออกไป “ดายหอย” ตามข้างคันนา โดยใช้เสียมเล็กๆ ถากดินข้างคันนาไปเรื่อยๆ
ก็จะได้พวก หอยขม และ หอยนา หรืออาจจะไปงมหอยขม หอยกาบ ตามวังที่เหลือ
ก็จะเป็นการหาอาหารขั้นพื้นฐานที่สุดของชุมชน ที่มักจะเป็นกิจกรรมของผู้หญิง
ที่ต่างจากการยิงนก ล่าสัตว์ตามโคก ตามป่า จับเขียด จับอึ่งในช่วงฝนแรกๆ นั้นจะเป็นกิจกรรมของผู้ชาย



ดังนั้นการจับแมลง
สอยไข่มดแดงขุดหาหรือเก็บด้วง ขุดกุดจี่
ก็มักจะเป็นกิจกรรมของผู้หญิง แต่การจับตั๊กแตนขุดแย้ นั้นมักจะเป็นงานของผู้ชาย



สำหรับเด็กๆ ผู้ชาย จะมีเครื่องมือประจำกายก็คือ
หนังสติ๊กพร้อมลูกยาง (ดินเหนียวปั้นกลมๆ ขนาดประมาณ 1 ซม.) ไม้กระบอง
(ทำด้วยไม้รวกขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ ยาวประมาณ 70 ซม.) และไม้ตีตั๊กแตน
(ไม้ไผ่ด้ามยาวประมาณ 1 เมตร ปลายด้านหนึ่งแผ่ออก สานด้วยตอกให้แบนคล้ายมือ)
ที่มักออกล่าหาอาหารแบบเด็กๆ ไล่ตีตั๊กแตนเล็กๆ ตามป่าหญ้า ถ้าตัวใหญ่แบบปาทังก้า
ต้องใช้ตาข่ายคลุมเพราะมันบินเร็วและไกล เด็กๆจะวิ่งตามไม่ทัน ใช้ไม้ตีไม่ทัน
หนังสติ๊ก ก็มักใช้ยิงนก ที่ไม่ค่อยได้ เพราะต้องแม่นมากๆ ถ้าพลาดมันจะบินไปไกล
ตามยาก ดังนั้นส่วนใหญ่มักยิงพวกกิ้งก่าจิ้งเหลนตุ๊กแกมากกว่า



แต่ถ้าเป็นจำพวกงู
โดยเฉพาะงูสิงที่นิยมบริโภคกัน มักใช้ไม้กระบองประจำตัวไล่ตี ต้อนขึ้นต้นไม้
แล้วใช้ไม้ปาจนตกลงมา เวลาไปล่างูแบบนี้จะทำได้ง่ายมากถ้ามีหมาไปด้วย
เพราะหมาจะคล่องตัวกว่าเรา และจับได้เร็วมาก สำหรับงูใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นงูเหลือม
งูหลามนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องวิ่งกลับบ้านมาบอกผู้ใหญ่ให้ไปจัดการ แต่ต้องหาคนเฝ้าไว้จำนวนหนึ่งกันหาย



ในช่วงที่ไปเลี้ยงวัวควายนั้น
สิ่งแรกๆที่จะทำหลังจากวัวควายเดินกินหญ้าแบบไม่ไปไกลแล้ว เด็กเลี้ยงควายทั้งหลายก็จะหาของกิน
ของเล่น โดยการไปเดินหาดูผลไม้ตามป่า ยอดไม้ที่พอกินได้มากินกับ “พริกเกลือ”
(เกลือ ผสมพริก ที่ห่อไว้กินกับยอดไม้) ที่อาจพกติดตัว หรือเอาไปห่อเหน็บไว้ตามพุ่มไม้
จะกินเมื่อไหร่ก็เอาออกมา พอแล้วก็เก็บที่เหลือไว้ตามเดิม
หมดแล้วก็ไปเอามาจากบ้านใหม่ นอกจากนั้นก็จะไปมองๆหาตามกอไผ่ที่อาจจะมี ไข่เป็ด
ที่มีคนมาเลี้ยงแถวนั้นแล้วเป็ดแอบขึ้นไปไข่ไว้ในกอไผ่ข้างคลอง
บางทีก็ได้ปลามาด้วย



การทำไข่เป็ดให้สุกนั้น
เป็นเรื่องต้องเรียนกันพอสมควร โดยการหาดินเหนียวมาหุ้มให้หนาพอประมาณ
แล้วเผาในกองไฟ  สุกแล้วแกะออกมาทานได้เลย ถ้าเอาไข่ใส่กองไฟเลยจะแตก
แทบไม่เหลือให้ทานได้ วิธีเดียวกันนี้ทำกับปลาที่ตัวขนาดใหญ่หน่อย และมีเกล็ด เช่น
ปลาช่อน ฯ พอสุก แกะดินเหนียวออก ดินจะติดหนัง
ดึงออกไปเหลือแต่เนื้อทานได้พอดีเลย



ถ้าไม่มีอะไร
ก็ไปหาขุดแห้ว ที่ต้องอาศัยทักษะในการแยกว่า ต้นไหนเป็นแห้วหัวใหญ่กินได้
ต้นไหนเป็นแค่ต้นผือ ไม่มีหัว พอไม่มีอะไรจะทำ ก็ปั้นควายดินเหนียวชนกัน แข่งกันว่าใครจะชนะ
ใครปั้นเก่งและชนะบ่อยๆ ก็จะถือว่าเป็นศักดิ์ศรีของกลุ่ม



ในทุ่งนาที่พอหากินได้ก็คือ
จาวตาล จากลูกตาลที่เมล็ดกำลังงอก และลูกตาลอ่อนที่ต้องพึ่งคนที่ปีนต้นตาลเก่งๆ
ไม่งั้นก็อด ส่วนลูกตาลสุกหล่นใหม่ๆนั้น ผมจะเก็บไปให้แม่ทำขนมตาล
ทุกครั้งที่ผมเก็บไป แม่จะทำขนมตาลให้ผมทานทุกครั้ง
ผมจึงเก็บไปให้เฉพาะช่วงที่ผมอยากทานขนมตาลเท่านั้น



ตามกอไผ่บนคูริมน้ำ
มักจะมีหัวมันนก ที่เป็นมันพื้นบ้าน ที่ขุดไปเผากินได้
ถ้าได้มากก็จะเอากลับบ้านไปให้แม่แกงทานกับข้าว



ในช่วงฤดูฝน
กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์จะต้องย้ายไปเลี้ยงบนป่าโคก กิจกรรมประจำวันของเด็กของเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็จะเปลี่ยนไป
ต้องเตรียมห่อข้าวไปกิน เพราะต้องไปไกลบ้าน กลับมาทานข้าวกลางวันไม่ได้
การห่อข้าวสมัยโน้นใช้ใบกล้วยตานีลนไฟ ให้นุ่มเหนียวไม่แตก และฆ่าเชื้อ
ทำให้ข้าวไม่บูด ฉะนั้นแทบทุกบ้านจะปลูกกล้วยตานีไว้ใช้ใบ แต่เมล็ดเยอะมาก ทานยากกว่ากล้วยน้ำหว้า
ทุกบ้านก็จะมีกล้วยทั้งสองแบบ



อาหารที่หางายในป่าโคกก็เป็นของป่า
เช่น แกนดอกป่านศรนารายณ์ที่มีความหวานคล้ายมันแกว
กินแก้หิวน้ำได้ดี ในช่วงหน้าฝนนั้น ไม่ต้องนำน้ำไป เพราะมีน้ำตามหนอง
และขังตามใบศรนารายณ์ ที่ภาษาบ้านผมเรียก “สับปะรัด” ที่อาจแผลงมาจาก “สับปะรด”
หรือเปล่า ไม่แน่ใจ เพราะภาษาถิ่นที่บ้าน ชอบแผลงคำพูดแปลกๆ เสมอ เช่น
ปลาเนื้ออ่อน ก็เรียกว่าปลาหลำพอง หรือ ปลาลำพอง ตะแกรง ก็เรียก กะแตง ตะกร้า
ก็เรียก กะต้า กระชอน ก็เรียก ตะกรอง คลอง ก็เรียก ตะคลอง หรือ ตะคอง จนเป็นชื่อ ลำตะคอง
ในปัจจุบัน



ผลไม้ในป่าก็ยังมี
ตะขบ นมแมวมะขามป้อมเม็ดมะค่าและ ยอดไม้สารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น
ผักหวาน เม็ก ติ้ว (หรือ แต้ว) ผักกระทง (ตูบหมูบ)ผักตำลึง ผักอีนูน
จำพวกผลไม้ก็มี พุทรา มะตูม เล็บแมวมะเกลือ ตะโก ฯลฯ



เวลาเย็น
ก็อาจเก็บยอดผักมาดอง เช่น ยอดกุ่ม ยอดแจงมะตูมสะเดาเห็ดกระด้าง เห็ดป่า ที่รู้จัก และเห็ดโคนยอดนิยม
ในช่วงฝนตก ก็ยังจะมี เห็ดหิน (สาหร่ายสีเขียวเหมือนวุ้น)ผักสะลิด ฯลฯ



บริเวณหนองน้ำ
หรือที่น้ำท่วม ก็จะมีผักสะอึก ผักปัง



ที่เป็นทั้งชดความรู้
ความเข้าใจ และความเคยชิน



แต่ละคนในชุมชนก็จะรับรู้
และช่วยกันรักษา เก็บแบบเผื่อไว้เก็บวันหน้า เก็บแต่พอกินพอใช้ ที่เป็นระบบคิดเพื่อความยั่งยืนของแหล่งอาหารและทรัพยากรของชุมชน
ที่ผมเห็นมาและจำได้ประมาณนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 511403เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2012 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตอนนี้ "ป่าขี้" ของอาจารย์น่าจะกลายเป็นแปลงปลูกยูคาลิปตัสหรือบ้านจัดสรรไปแล้วนะครับ

เป็นบ้านหมดแล้วครับ อิอิอิ เพราะทุกบ้านมีส้วม ไม่จำเป็นแล้วครับ

Nostalgia is a sign of "really being old" (so someone said) ;-)
(The same person said "experience is what we get when we expect something else ;-)

P.S. Funny that people like to "keep" everything even their own wastes that the bodies discard.
(What is a toilet? --Not just a private place to relief our burden but also to keep our wastes.)

มองเห็นภาพตอนผมเด็กๆเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท