ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 66. ทักษะการเรียน (2) ตามล่าหาแหล่งความรู้


เป็นการฝึกให้ นศ. คิดถึงสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่เรียน มีทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง รู้แหล่งต่างๆ ของความรู้ที่ต้องการ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 66. ทักษะการเรียน  (2) ตามล่าหาแหล่งความรู้

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๖นี้ ได้จาก Chapter 19  ชื่อ Learning and Study Skills  และเป็นเรื่องของ SET 46 : Resource Scavenger Hunt

บทที่ ๑๙ ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียน  ได้แก่ การวางแผนการเรียน  การจดเล็กเชอร์  การค้นความรู้เพิ่มเติม  การเตรียมตัวสอบ  การร่วมอภิปรายในชั้น  การร่วมทำงานในกลุ่มย่อย เป็นต้น

บทที่ ๑๙ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายนี้ ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 45– 50  จะนำมาเสนอในบันทึกชุดนี้ตอนละ ๑ เทคนิค

SET 46  :  Resource Scavenger Hunt  

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การอ่าน  การเขียน

ระยะเวลา  : คาบเดียว

โอกาสเรียน online  :  สูง

นศ. ทำแบบฝึกหัดค้นหาความรู้ นำมาประมวล  ตามแหล่งที่ครูระบุ และค้นเองจาก อินเทอร์เน็ต 

เป็นการฝึกให้ นศ. คิดถึงสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่เรียน  มีทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  รู้แหล่งต่างๆ ของความรู้ที่ต้องการ 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูจัดทำรายการสารานุกรม, พจนานุกรม, วารสาร, และเว็บไซต์ (ทั้งที่เป็นของสาขาวิชา, สมาคมวิชาชีพ, เว็บเพจตามประเด็น ฯลฯ) ที่ นศ. ควรรู้จัก สำหรับค้นคว้าความรู้นำมาทำการบ้านตามที่กำหนดในการเรียนรายวิชา

2.  หาข้อความรู้หนึ่งประเด็นในแต่ละแหล่ง ที่จะมีประโยชน์ต่อการเรียนของ นศ.  นำมาจัดทำเป็นคำถาม

3.  เขียนคำถามต่อเนื่องที่กำหนดให้ นศ. ประมวลความรู้

4.  กำหนดคำถามสุดท้าย ที่ให้ นศ. ประเมินว่าจะใช้ความรู้จากแหล่งใดมาใช้งานที่จำเพาะนั้นๆ

5.  กำหนดใบงานให้ นศ. ทำ  และแจก นศ.  

ตัวอย่าง

วิชาประวัติศาสตร์ดนตรี 

เป็นวิชาที่เรียน online  ครูจัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อช่วยให้ นศ. รู้จักค้นความรู้เพิ่มเติมจากความรู้ที่ครูให้  โดยครูกำหนดคำถามให้ นศ. ตอบ ๒ คำถามต่อแหล่ง  เช่น  ใน Music History Laboratory ของ The Internet Public Library (http://www.ipl.org/div/mushist/  ให้ค้น บทสรุป ภาพ และไฟล์เสียง ของตัวอย่างดนตรีตะวันตกยุคต่างๆ  และในเว็บไซต์เดียวกัน ในส่วนดนตรียุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา ให้ค้นหาดนตีที่เป็นตัวอย่างของ English madrigal

และคำถามที่สอง ให้ นศ. ประมวลสารสนเทศจากแหล่งนั้น เช่น “ผู้ประพันธ์ดนตรีของตัวอย่าง madrigal ใช้ tempo และ texture เพื่อเน้นสาระในคำกลอนอย่างไร” (ผมไม่เข้าใจศัพท์ดนตรี จึงใช้วิธีทับศัพท์)

หลังจากนั้น ครูจึงให้ นศ. ใช้ความรู้ทั้งหมดบอกว่า เว็บไซต์ ใดเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างมากที่สุดอย่างไร เช่น “หากต้องการดูดนตรี English madrigal เทียบกับการฟัง  แหล่งค้นคว้าแหล่งใดใน ๑๐ แหล่ง ที่จะให้สารสนเทศนั้นได้ดีที่สุด” 

สุดท้าย ครูให้ นศ. ค้นหาและระบุ แหล่งสารสนเทศบนเว็บอีก๓ แหล่ง  นำมา โพสต์ บน discussion board  

การประยุกต์ใช้ online

ใช้เหมือนในกรณี face to face

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  ให้ นศ. ค้นหาแหล่งความรู้ตามโจทย์ที่เพื่อน นศ. กำหนด  โดยอาจทำงานคนเดียวหรือทำเป็นทีมก็ได้  แล้วนำไปโพสต์ ตอบคำถามของเพื่อน นศ.

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Watkins R. (2005). 75 eLearning activities : Making online learning interactive. San Francisco : Pfeiffer, pp. 147-149.

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 510486เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 03:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท