ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 63. มีสติอยู่กับการเรียน (3) สู่เป้าหมาย


ผลการวิจัยด้าน Goal Theory บอกว่า ควรกำหนด “เป้าหมายการเรียน” (learning goals) มากกว่า “เป้าหมายขีดความสามารถ” (performance goals) นศ. ที่มุ่งเรียนเพื่อบรรลุขีดความสามารถ จะมองกิจกรรมการเรียน เป็นการทดสอบความสามารถของตน เป้าหมายแรกคือเพื่อยกระดับตัวตน และชื่อเสียงของตนในท่ามกลางเพื่อนๆ และครู ว่าเป็นคนเก่ง ต้องการความเป็นคนเก่งเป็นเป้าหมายหลัก จึงหลีกเลี่ยงบทเรียนยากๆ ละทิ้งบทเรียนที่จะทำให้ตนเสียฐานะคนเก่ง เข้าไปเน้นการเรียนแบบผิวเผิน ที่จะทำให้ได้ผลเรียนดีโดยง่าย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 63. มีสติอยู่กับการเรียน  (3) สู่เป้าหมาย

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๓นี้ ได้จาก Chapter 18  ชื่อ Self-Awareness as Learners  และเป็นเรื่องของ SET 43 : Go for the Goal

บทที่ ๑๘ ว่าด้วยเรื่องการมีสติอยู่กับการเรียน   เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. ไตร่ตรองทบทวนการเรียนของตน  เกิดความเข้าใจตนเองในเรื่องการเรียน  ว่ามีสไตล์การเรียนอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร  เข้าใจพัฒนาการในทักษะการเรียนรู้ของตน  ผมคิดว่า บทนี้เน้นที่ Learning How To Learn หรือการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) นั่นเอง 

บทที่ ๑๘ นี้ ประกอบด้วย ๕ เทคนิค  คือ SET 41 – 44  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 43  :  Go for the Goal

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  : คาบเดียว หรือ หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

การมีเป้าหมายที่แจ่มชัด ช่วยให้ตั้งใจและพยายามเรียน  เทคนิคนี้กำหนดให้ นศ. กำหนดรายการเป้าหมายการเรียนของตน ในช่วงต้นเทอม  เพื่อช่วยให้ นศ. ตั้งเป้าหมายของตนเอง  ซึ่งจะช่วยให้ นศ. มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียน  ใช้เวลา ความพยายาม และอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น 

และช่วยให้ นศ. มีบันทึกไว้ตรวจสอบตนเอง ว่าการเรียนรู้ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  จะบรรลุเป้าที่กำหนดไว้หรือไม่  หาก นศ. ถูกดึงดูดความสนใจไปที่เรื่องอื่น  จะได้มีสติดึงตนเองกลับมาทำงานเพื่อเป้าหมายการเรียนที่ตนเองกำหนดไว้  

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูใช้เวลาไตร่ตรองและเขียนเป้าหมายการเรียนรู้ที่ตนต้องการให้ นศ. บรรลุ ในรายวิชาที่ตนสอน  เอาไว้เปรียบเทียบกับเป้าหมายของ นศ.  เพื่อจะได้พิจารณาตัดสินใจว่า ครูจะปรับเป้าหมายของตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ นศ. หรือไม่ เพียงไร

2.  ครูตัดสินใจว่า จะใช้เทคนิคนี้ในระดับรายวิชา หรือรายกิจกรรม  หรือจะใช้หลายๆ ครั้งในเทอม  รวมทั้งตัดสินใจวิธีติดตามความก้าวหน้าโดยครู และโดย นศ. เป็นผู้ติดตาม

3.  เขียนคำแนะนำแนวทางการเขียนเป้าหมายการเรียนรู้ สำหรับแจก นศ. (ดูที่หัวข้อ คำแนะนำเพิ่มเติม)   

ตัวอย่าง

วิชาสถิติเบื้องต้น

ครูสังเกตว่า นศ. กลัววิชานี้ และมักตั้งเป้าเรียนเพียงผิวเผินพอให้สอบได้  มีผลให้ นศ. ไม่ได้เรียนรู้หลักการที่แท้จริงของวิชาสถิติ ที่จะติดตัวไปทำประโยชน์แก่ชีวิตในภายหน้า  

ครูจึงดำเนินการเพื่อให้ นศ. มีทัศนคติเชิงบวกต่อวิชานี้  และพัฒนาเป้าหมายของการเรียนเพื่อการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง  โดยในชั่วโมงแรกของวิชา ครูให้ นศ. จับกลุ่มอภิปรายกันว่า นศ. จะร่วมมือช่วยเหลือกัน ให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้วิชานี้ได้อย่างไร  แล้วให้อภิปรายทั้งชั้น  โดยครูตั้งใจฟังและเสนอแนะเป็นช่วงๆ ว่าครูจะปรับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง   

การประยุกต์ใช้ online

 ใช้ online ได้ง่าย โดยตอนต้นเทอม ให้ นศ. แต่ละคนคิดเป้าหมายของตน และเรียงลำดับความสำคัญไว้  แล้วลงเป้าหมายตัวแรก (หรือตัวที่ ๒) บน online discussion forum ของวิชา  โดยกำหนดให้ลงเฉพาะที่ไม่ซ้ำกับของเพื่อน  และครูก็ตอบสนองรายการเป้าหมายของ นศ. โดยลงรายการของครู เพื่อให้ นศ. ได้เปรียบเทียบ  วิธีนี้จะช่วยให้ นศ. ได้เข้าใจเป้าหมายของวิชา และของตนเอง ได้ชัดขึ้น

ครูอาจใช้เทคนิคนี้ช่วยให้ นศ. ติดตามความก้าวหน้าในการเรียนของตนเอง  ครูอาจกำหนดให้ นศ. แต่ละคนเขียนรายการเป้าหมายไว้  แล้วเขียนบันทึกจากการทำ AAR/reflection การบรรลุเป้าหมาย เป็นระยะๆ 

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  ใช้เทคนิคนี้เพื่อช่วยให้ นศ. ตรวจสอบการบรรลุ “เป้าหมายรายทาง” ในการเรียนของตนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้  ว่าตนได้เรียนมาถูกทาง  หรือเพื่อให้ครูได้ feedback ช่วยให้ นศ. ที่เฉไฉ กลับมาเดินตรงทาง

·  ให้ นศ. จัดเรียงลำดับเป้าหมายตามความสำคัญ  แล้วให้เรียงใหม่ตามเกณฑ์อื่น เช่นตามความยาก  ตามเวลาที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย  เป็นต้น

·  ให้ นศ. เขียนอธิบายแต่ละเป้าหมาย เพื่อตอบคำถามที่กำหนด เช่น “ทำไมฉันจึงต้องการบรรลุเป้าหมายนี้”  “ฉันต้องการการสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ (เช่น คน สิ่งของ สถานที่)”

·  ให้ นศ. แตกเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายย่อยๆ (เป้าหมายรายทาง) ที่ นศ. สามารถบรรลุได้ทีละขั้น

·  ใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น เช่น “กระดานตัวเลือก” (Choice Boards) เพื่อหนุนให้ นศ. เป็นตัวของตัวเอง   “กระดานตัวเลือก” อาจมีลักษณะเป็นตาราง 3x3  ที่มีตัวเลือกเป้าหมาย  และตัวเลือกระดับความลึกซึ้งของการบรรลุเป้าหมาย เช่น การบรรลุความรู้และทักษะ, สังเคราะห์ความเข้าใจ, ไปจนถึง สามารถสะท้อนความคิดประเด็นสำคัญ  นศ. คนหนึ่งอาจเลือก (๑) มีหัวข้อวิจัย ในพื้นที่ของท้องถิ่น (เลือก ๑ ใน ๓ พื้นที่)  (๒) ทำงานวิจัยนี้ คนเดียว, ร่วมกับเพื่อน ๑ คน, หรือ เป็นทีม ๓ - ๕ คน  (๓) สื่อสารความรู้ที่ได้ โดยเขียนบทความวิจัยตามปกติ, สร้างเว็บเพจ, หรือนำเสนอเป็น presentation ในห้องเรียน

·  จัดให้มีกิจกรรมในตอนท้ายของเทอม เพื่อให้ นศ. ทำความเข้าใจความสำเร็จของตน  และเฉลิมฉลองความสำเร็จ   

คำแนะนำเพิ่มเติม

นศ. ส่วนใหญ่ต้องการตัวช่วยในการกำหนดเป้าหมายการเรียน  ครูอาจช่วยโดยจัดรายการของเป้าหมาย สำหรับเป็นแนวทาง ในการยกร่างเป้าหมายการเรียนวิชานั้น ของตนเอง   โดยครูอาจศึกษาจาก TGI (Teaching Goals Inventory)  ซึ่งมีเป้าหมายตัวอย่าง ๕๒ ตัวอย่าง   จัดกลุ่มเป็น ๖ กลุ่ม คือ (๑) ทักษะการคิดระดับสูง  (๒) ทักษะในการบรรลุเป้าหมายทางวิชาการเบื้องต้น  (๓) ความรู้และทักษะที่จำเพาะต่อสาขาวิชา  (๔) วิชาศิลปะวิทยาศาสตร์กับคุณค่าทางวิชาการ  (๕) การเตรียมตัวสู่ทำงานและอาชีพ  (๖) การพัฒนาตนเอง 

แต่หลักการที่แนะนำไว้ใน TGI เป็นแนวทางกว้างๆ  ต้องเอามาปรับให้เหมาะสมต่อแต่ละรายวิชา (และแต่ละบริบทสังคมของผู้เรียน เช่นประเทศไทย - ผมเสนอแนะเอง)

ผลการวิจัยด้าน Goal Theory บอกว่า ควรกำหนด “เป้าหมายการเรียน” (learning goals) มากกว่า  “เป้าหมายขีดความสามารถ” (performance goals)  นศ. ที่มุ่งเรียนเพื่อบรรลุขีดความสามารถ จะมองกิจกรรมการเรียน เป็นการทดสอบความสามารถของตน  เป้าหมายแรกคือเพื่อยกระดับตัวตน และชื่อเสียงของตนในท่ามกลางเพื่อนๆ และครู  ว่าเป็นคนเก่ง  ต้องการความเป็นคนเก่งเป็นเป้าหมายหลัก  จึงหลีกเลี่ยงบทเรียนยากๆ  ละทิ้งบทเรียนที่จะทำให้ตนเสียฐานะคนเก่ง  เข้าไปเน้นการเรียนแบบผิวเผิน  ที่จะทำให้ได้ผลเรียนดีโดยง่าย 

แต่ นศ. ที่เน้นที่ผลการเรียนรู้  จะเน้นที่ผล ความรู้ ทักษะ และ ความเข้าใจ ตามเป้าหมายของวิชา  นศ. ที่มีเป้าหมายแบบนี้ จะเผชิญอุปสรรคหรือความยากลำบากในการเรียนด้วยความเข้าใจว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  นศ. กลุ่มนี้จะใช้เทคนิคการเรียนที่ช่วยให้เข้าใจลึก  เช่น การเขียนหรือกล่าวใหม่ตามความเข้าใจของตนเอง (paraphrasing) ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม

แนวทางแนะแนว นศ. ให้กำหนดเป้าหมายการเรียนที่ถูกต้อง มีอยู่ในเอกสารเกี่ยวกับ learning outcome  โดยมีลักษณะของเป้าหมายที่ดี ที่ถูกต้องดังต่อไปนี้

·  พุ่งเป้าผลการเรียนจากการทำกิจกรรม  มากกว่าที่ตัวกิจกรรม

·  พุ่งเป้าที่ผลการเรียนที่สำคัญ  ไม่ใช่ผลเล็กๆ น้อยๆ

·  พุ่งเป้าที่ทักษะหรือความสามารถหลักของวิชา

·  มีความกว้างพอที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่สำคัญ  และจำเพาะเพียงพอที่จะให้วัดผลได้

·  พุ่งเป้าที่การเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาและถาวร

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroom assessment techniques. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 290-294.

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 510175เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในวันดีๆวันนี้หนูขออนุญาตกราบอาจารย์ค่ะ หนูและทุกคนในครอบครัวปรารถนาให้อาจารย์มีแต่ความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

และหนูมีความภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสใกล้ ทำให้ได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการทำงานของอาจารย์ ซึ่งคนอื่นคงหาโอกาสที่ดีเช่นนี้ได้ยากค่ะ

เคารพรักอย่างสูง ลูกหว้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท