ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 62. มีสติอยู่กับการเรียน (2) แบบสอบถามเหตุการณ์สำคัญ


CIQ จะช่วยสร้างความใส่ใจ และความเข้าใจตนเองในบริบทของการเรียนรู้ และให้ นศ. พยายามร่วมสร้างบรรยากาศของชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ยิ่งขึ้น และช่วย feedback แก่ครู ให้เข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ และหาทางสร้างบรรยากาศที่ดี

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 62. มีสติอยู่กับการเรียน  (2) แบบสอบถามเหตุการณ์สำคัญ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๒นี้ ได้จาก Chapter 18  ชื่อ Self-Awareness as Learners  และเป็นเรื่องของ SET 42 : Critical Incident Questionnaire (CIQ)

บทที่ ๑๘ ว่าด้วยเรื่องการมีสติอยู่กับการเรียน   เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. ไตร่ตรองทบทวนการเรียนของตน  เกิดความเข้าใจตนเองในเรื่องการเรียน  ว่ามีสไตล์การเรียนอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร  เข้าใจพัฒนาการในทักษะการเรียนรู้ของตน  ผมคิดว่า บทนี้เน้นที่ Learning How To Learn หรือการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) นั่นเอง 

บทที่ ๑๘ นี้ ประกอบด้วย ๕ เทคนิค  คือ SET 41 – 44  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 42  :  Critical Incident Questionnaire (CIQ)  

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  : คาบเดียว หรือ หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

ครูจัดทำแบบสอบถาม ๕ ข้อ  เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งเสริมหรือขัดขวางการเรียนรู้ของ นศ.  ให้ นศ. กรอกเป็นระยะๆ  โดยแบบสอบถามเป็นกระดาษ ๒ แผ่นซ้อนกัน  เมื่อเขียนแผ่นหน้า ก็จะมีสำเนาติดที่แผ่นหลังด้วย  นศ. ส่งแผ่นหน้าให้ครู  ตนเองเก็บแผ่นหลังไว้  เอาไว้เปรียบเทียบความก้าวหน้าของตนเอง  และเอาไว้ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมใดของเพื่อนร่วมชั้น หรือของตนเอง มีผลดี/ผลเสีย ต่อการเรียนของตน 

CIQ จะช่วยสร้างความใส่ใจ และความเข้าใจตนเองในบริบทของการเรียนรู้  และให้ นศ. พยายามร่วมสร้างบรรยากาศของชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ยิ่งขึ้น  และช่วย feedback แก่ครู  ให้เข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้  และหาทางสร้างบรรยากาศที่ดี

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูจัดทำแบบฟอร์ม ที่มีคำถามจำนวนหนึ่ง  และมีที่ว่างให้ นศ. กรอกคำตอบ   เช่น

·  ช่วงเวลาใดในสัปดาห์นี้ ในชั้นเรียน หรือตอนทำการบ้าน ที่ นศ. รู้สึกมีสมาธิอยู่กับการเรียนมากที่สุด

·  ช่วงเวลาใด ที่ นศ. รู้สึกห่างเหินการเรียนมากที่สุด

·  พฤติกรรมใดของคนในชั้น ในสัปดาห์นี้ ที่ช่วยการเรียนของ นศ. มากที่สุด

·  พฤติกรรมใด ที่ก่อความสับสนในการเรียนมากที่สุด

·  สิ่งที่ก่อความแปลกใจแก่ นศ. มากที่สุดในสัปดาห์นี้คืออะไร

2.  กำหนดว่าจะแจกแบบสอบถามบ่อยแค่ไหน  และเตรียมจัดพิมพ์แบบสอบถามให้เพียงพอ

3.  กำหนดรายละเอียดอื่นๆ  เช่นจะให้ นศ. ส่งแบบสอบถามที่ไหน เมื่อไร  จะให้ นศ. ลงชื่อหรือไม่  เป็นต้น

4.  ตอนต้นเทอม อธิบายเป้าหมายของ CIQ แก่ นศ.  ย้ำว่า CIQ จะช่วยการเรียนของ นศ. และช่วยให้ครูจัดการชั้นเรียนให้เหมาะต่อการเรียนของ นศ. มากที่สุด  รวมทั้งแจ้งรายละเอียดอื่นๆ

5.  ในวันที่กำหนด แจกแบบสอบถาม  ให้เวลา นศ. กรอก  เมื่อเสร็จแล้ว นศ. แยกกระดาษชิ้นบนเอาไปวางบนโต๊ะครู คว่ำหน้าลง

6.  แจ้งผลของสัปดาห์ที่แล้วตอนต้นของสัปดาห์ถัดไป  เน้นที่ความก้าวหน้าของ นศ. ในความเข้าใจทักษะการเรียนรู้/ความสามารถในการเรียนรู้/นิสัยด้านการเรียนรู้ ของตน  และเน้นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น นศ. ที่พูดมากเกินไป  ความไม่เอื้อเฟื้อระหว่างกัน เป็นต้น 

ตัวอย่าง

วิชาจิตวิทยาทั่วไป

เป็นวิชาการศึกษาทั่วไป ที่ชั้นเรียนใหญ่มาก  และครูพบว่าในปีก่อนๆ มีปัญหาในชั้นเรียนมาก  ได้แก่ การพูดคุยทำเสียงดังระหว่างเวลาเรียน  ไปจนถึงทะเลาะวิวาทหรือมีข้อโต้แย้งกันรุนแรงระหว่างการอภิปรายในชั้น  ครูจึงเพิ่มคำถามลงในแบบสอบถาม นศ.  ที่ให้ นศ. กรอกในวันแรกของชั้นเรียน  ว่า “ในทัศนะของ นศ. บรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง”  ได้คำตอบต่อไปนี้ “ตั้งใจฟังการบรรยาย”  “อภิปรายกันอย่างเข้มข้น”  “นศ. เตรียมตัวก่อนเข้าชั้นเรียน”  “เคารพความเห็นที่ต่าง”  “ร่วมกิจกรรม” “ความไว้วางใจระหว่าง นศ. และระหว่าง นศ. กับครู”  เป็นต้น

ในวันต่อมา ครูแจ้งผลของการกรอกแบบสอบถาม  และบอกว่า ครูเห็นด้วยกับความเห็นของ นศ.  และยินดีร่วมกับ นศ. ในการสร้างสภาพห้องเรียนที่ นศ. ต้องการ  แล้วจึงอธิบายว่าครูจะใช้เครื่องมือ CIQ ช่วยการติดตามตรวจสอบผลการสร้างบรรยากาศที่ นศ. ต้องการ   

วิชาจุลชีววิทยา

ครูต้องการช่วยให้ นศ. ประเมินพฤติกรรมของตนเองระหว่างฟังการบรรยาย  ว่าช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีเพียงใด  จึงใช้ CIQ ที่มีคำถามต่อไปนี้   

1.  นศ. มีสมาธิอยู่กับการบรรยายแค่ไหนระหว่างการบรรยาย ๒๐ นาที  ใจวอกแวกบ้างไหม  ดึงความสนใจกลับมาอย่างไร

2.  นศ. จดบันทึกอย่างไร  จดได้ดีไหม

3.  นศ. เชื่อมโยงความรู้ใหม่ กับความรู้เก่าอย่างไร

4.  นศ. คาดหวังอะไร ในการบรรยายครั้งต่อไป  ทำไม

5.  นศ. จะเพิ่มผลการเรียนจากวิชานี้ได้อย่างไร  มีคำแนะนำครูให้ปรับปรุงการบรรยายอย่างไร 

ในช่วงต้นๆ ของรายวิชา ระหว่างการบรรยาย ครูหยุดบรรยาย  และขอให้ นศ. แต่ละคนไตร่ตรองพฤติกรรมของตนเองระหว่างที่ครูบรรยาย  ให้เวลาคิด ๒ นาที แล้วครูแจกแบบสอบถาม CIQ  เมื่อ นศ. กรอกเสร็จ ก็ให้ นศ. จับคู่กับเพื่อนที่นั่งข้างๆ  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการฟังและจดการบรรยาย และการมีสมาธิเพื่อให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น  ครูจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก ๒ ครั้ง คือช่วงกลางเทอม กับช่วงปลายเทอม  ในช่วงปลายเทอม ครูถาม นศ. ว่า พฤติกรรมการฟังการบรรยายเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยน เปลี่ยนไปอย่างไร

การประยุกต์ใช้ online

 ถ้า software ของรายวิชามีเครื่องมือสอบถามแบบไม่เปิดเผยชื่อ  ครูควรใช้ให้ นศ. ตอบแบบสอบถาม  แล้วนำผลมาแจกแจงเป็นการกระจายทางสถิติ  และแจ้งให้ นศ. ทราบ  และร่วมกันอภิปรายผล

คำแนะนำเพิ่มเติม

การจัดเวลาให้กรอกแบบสอบถามที่เหมาะสม  ที่จะให้ นศ. ตั้งใจตอบ มีความสำคัญ

การให้ นศ. กรอกโดยไม่ระบุชื่อ มีความสำคัญต่อการได้คำตอบที่จริงใจ ไม่เกรงใจ  แต่การรู้ชื่อ นศ. ที่กรอก ก็จะช่วยให้ครูประเมินความก้าวหน้าของ นศ. ได้  ครูต้องการเน้นประโยชน์ส่วนไหนเป็นหลัก ต้องพิจารณาเอาเอง 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield SD, Preskill S. (1999). Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic classrooms. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 48-50.

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 509827เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 05:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท