คืนพลังให้ชุมชนกันเถอะ


เปลี่ยนหน้าที่จากผู้แสดง มาเป็นผู้สนับสนุน เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้าน

   เมื่อช่วงหัวค่ำวันนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกรรมการหมู่บ้าน ชุมชนนาพร้าว หมู่๕ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครั้งแรกคิดว่าจะมีเพียงคณะกรรมการหมุ่บ้านประชุมกัน เพีบงไม่กี่คน แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านมาร่วมประชุม ประมาณ ๓๐ คน  มีการทำพิธีเปิดประชุมด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ด้วยพิธีรีตองที่ครบถ้วน แต่ผู้เขียนก็ชื่นชมการประชุมแบบอบอุ่น มีพี่ ป้า น้า อา ลุง ที่สนทนากันอย่างชาวบ้าน ให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ และเห็นความร่วมใจ ที่แฝงอยู่ทุกถ้อยคำ  เมื่อเปิดประชุม เขาก็เห็นความสำคัญของราชการก่อนเสมอ จึงให้เกียรติผู้เขียนในวาระแรก

      ผู้เขียนได้เสนอโครงการธนาคารเลือด ที่ฝากเลือดไว้ในกายของคนในชุมชน  หมายความ ว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะเป็นจิตอาสาของชุมชนโดยทันที ถ้าวันใดมีเหตุให้คนในชุมชน หรือใกล้เคียงต้องการเลือด อาสาสมัครเหล่านี้ จะเป็นคนชุดแรก ที่จะไปบริจาคเลือดให้ เป็นการช่วยเหลือกันในชุมชน เป็นการสร้างความสามัคคี เป็นการสร้างจิตอาสาให้ประชาชน เพราะการช่วยเหลือกัน ในยามฉุกเฉินวิกฤตของชีวิตนั้น เป็นการสร้างพลังสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นประทับใจกันตลอดไป ไม่ว่าเลือดเราจะไปช่วยใครที่รู้จัก หรือไม่รู้จักก็ตาม หรืออาจเป็นการช่วยฝ่ายตรงข้าม ที่เคยอัคติกันก็ตาม เลือดที่ต่อชีวิตให้กัน ย่อมเป็นยาสมานที่วิเศษกว่าสิ่งใด ที่สำคัญคนไข้จะได้รับการช่วยเหลือจากการบริจาคเลือด ที่ตรงกรุ๊ป และทันท่วงที 

 เราจะให้กาชาดมารับบริจาคโลหิต ปีละ ๒ ครั้ง นอกนั้นทุกคนจะเตรียมพร้อมไว้คอยบริจาคเลือดช่วยเหลือ เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินในหมู่บ้าน

  คุณวันเพ็ญ  พงษ์ศิริ ประธานชุมชน ผู้หญิงเก่ง

  ที่จริงโครงการนี้ ผู้เขียนได้ริเริ่มทำที่สถานีอนามัยเดิม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และมีความยั่งยืนมาจนถึงวันที่ผู้เขียนย้ายมารับราชการที่นาพร้าว แต่วันนี้ผู้เขียนมีความคิดที่พัฒนาขึ้น และต้องการความยั่งยืนยิ่งขึ้น เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของราชการก็คือ เมื่อเปลี่ยนบุคคล โครงการที่เคยริเริ่มไว้ ก็มักจะไม่ได้รับการสานต่อจากคนใหม่ และถูกพับไปในที่สุด ดังนั้นผู้เขียนจึงขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดในวันนี้ เป็นเจ้าของโครงการ "ธนาคารเลือดชุมชนบ้านนาพร้าว เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง 85 พรรษา"  โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อ ที่หลายคนบอกว่ายาวดี แต่จำได้ และเมื่อต่างเข้าใจถึงผลประโยชน์ของโครงการนี้ ต่างก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมกัน ตกลงว่าจะใช้สถานที่คือวัดนาพร้าวเป็นที่ออกหน่วยของกาชาด (ผู้เขียนได้ติดต่อประสานงานกาชาด ได้วันที่ 4 มกราคม 2556) เมื่อผู้เขียนบอกว่า คนที่มาบริจาคโลิตวันนั้น ล้วนแต่เป็นคนที่กำลังมีจิตกุศล ถ้าเราอยากได้อนุโมทนาบุญกับเขา ก็ช่วยกันจัดอาหารมาเลี้ยงเขาก็คงจะดี ดังนี้ ผู้ใหญ่ มานิตย์ ขาวเจริญก็รับปากทันที ทำก๋วยเตียวเลี้ยงไปเลย  มาถึงการออกประชาสัมพันธ์ เราจะใช้กระบวนการง่ายๆ คือคนที่อยู่ ณ ที่ประชุมนี้ จะนำคนมาบริจาค อย่างน้อย 1 คน และจะทำหนังสือ ที่ออกจากชุมชน เพื่อเชิญชวน พนักงานบริษัทในพื้นที่ ,ข้าราชการ ลูกจ้าง สถานที่ราชการเช่น เทศบาล โรงเรียน ,วัดจีน และกลุ่ม อสม. ก็จะเป็นแกนนำสำคัญในการประชาสัมพันธ์โครงการนี้


   การสร้างความรู้สึกให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการต่างๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะมองเห็นความยั่งยืนในอนาคต และเรื่องที่หนักหนา ก็จะกลายเป็นเรื่องเบาๆ แค่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็จะสำเร็จโดยง่าย


  พลังของชุมชนนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าเราจะคาดถึง แต่ชีวิตข้าราชการที่ต้องทำงานในชั่วโมงกลางวัน จนอ่อนล้าแล้ว ก็อาจไม่พร้อมที่จะมาประชุมในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นเวลาชาวบ้านกำลังว่างจากการทำมาหากิน แต่ช่วงเวลาที่แสนดีเหล่านี้ เป็นนาทีทอง ที่ไม่ได้มีบ่อยนัก ผู้เขียนจึงเลือกที่จะมาเก็บและให้ความสำคัญ กับชาวบ้าน ในช่วงนาทีทองนั้น

  การคืนพลังให้กับชุมชน จึงเป็นงานที่น่าทำ และต้องตั้งใจทำให้สมบูรณ์ เปลี่ยนหน้าที่จากผู้แสดง มาเป็นผู้สนับสนุน เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้าน จะทำให้หัวใจเรายิ่งใหญ่และมีพลังมากเช่นกันค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 509823เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

โดยชุมชน....

ของชุมชน....

โดยฃุมฃน....

 

ดีนะคะ.... ทฤษฎี...การมีส่วนร่วมของ  "ชุมชน" นะคะ

ถ้าให้ชุมชนคิดเอง ทำเองและเห็นความสำคัญของชุมชน ชุมชนเป็นนักวิชาไปในตัวแก้ปัญหาได้ ทุกวันนี้ใครไม่รู้ออกแบบให้ชุมชน มีตัวชี้วัดอะไรมากมาย

พลังชุมชน เปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก จากประสบการณ์ที่สั่งสม

สวัสดีค่ะพี่ple งานชุมชนมีเสน่ห์ ทำแล้วมีความสุข ข้าราชการผ่านล่วงมาถึงจุดนี้ จะได้เข้าถึงอุดมการณ์ของตน และผลงานที่ออกมาสวยงามนะคะ

สวัสดีค่ะคุณหมออนามัย ใช่แล้วค่ะ ชุมชนมีแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เขาจะพูด จะทำ ในสิ่งที่เขาทำได้เท่านั้น ส่วนปัจจุบัน คนคิดตัวชี้วัดนั้น ขั้นแรกต้องไปค้นหาตัวตนของตัวเองให้เจอก่อนดีไหมคะ แล้วค่อยมาให้งานชาวบ้านทำกัน

สวัสดีค่ะคุณ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ถูกต้องที่สุดเลยค่ะ

ชุมชนจะทำในสิ่งที่ไม่ฝืนวิถีชีวิตของเขา การพัฒนาเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ไม่มีงานใดสำเร็จแล้วจบสิ้น มีแต่ต่อยอดไปเรื่อยๆนะคะ รักชุมชน

ขอขอบพระคุณเจ้าของดอกไม้ทุกท่าน คุณชยันต์ คุณปริม คุณโสภณ ดีใจเป็นอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท