ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

จากการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การศึกษาเพื่อสันติภาพ



          วันนี้ (๒๐ พฤศจิกายน ๕๕) รับนิมนต์จากห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ นำโดยพระราชกิตติรังสี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และพระราชธรรมสารสุธี รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ไปบรรยายพิเศษ เรื่อง "การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Education for Change) แก่คณาจารย์ ผู้บริหาร และนิสิตทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต จำนวนกว่า ๓๐๐ รูป/คน ณ ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นห้องเรียนภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และปัจจุบันนี้ กำลังยืนขอมหาวิทยาลัยเพื่อยกสถานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ให้มีสถานะเทียบเท่าคณะ


          "การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง" มีนัยสำคัญที่มุ่งเน้นที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง "ตาใน" ตามนัยของบาลีที่ว่า "ส+อิกขะ" ให้ผู้เรียนรู้ได้พัฒนาตั้งแต่กาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาของตัวเอง ตามแนวทางนี้ การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ (Tool) ในการพัฒนาขันธ์ ๕ กล่าวคือพัฒนาทั้งรูปและนามให้สามารถปรับตัว และรู้เท่าทันสิ่งต่างที่เข้ามากระทบ อีกทั้งอยู่ร่วมกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างสอดรับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น กล่าวโดยกระชับ เป็นการพัฒนารูปเพื่อให้รูปสามารถอยู่รอดในโลกของความเป็นจริง และให้รูปเป็นอุปกรณ์สำคัญให้นามคือจิตได้อาศัย เพื่อที่จะพัฒนาจิต และยกระดับจิตเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดของศาสนา คือ ความสุข สงบ ร่มเย็น และเป็นสันติสุขมากยิ่งขึ้น

          จากแนวทางดังกล่าว การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งภายใน และภายนอกใน ๓ มิติใหญ่ คือ (๑) เปลี่ยนแปลงอัตตา การศึกษาจะทำให้อัตตาของผู้เรียนเล็กลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้เรียนเกิดการยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวกูของกู (อัตตวาทุปาทาน) ไม่ยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวเองว่าถูกต้อง ดี หรือวิเสสกว่าคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม (ทิฏฐุปาทาน) (๒) เปลี่ยนแปลงชีวา การศึกษาจะนำไปสู่การเปลี่ยนชีวา หรือชีวิตของตนเอง เพราะชีวิตคือขันธ์ ๕ การศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาขันธ์ ๕ ในเชิงคุณภาพให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนากาย พฤติกรรม จิต และปัญญา (๓) เปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชา การศึกษามิได้หยิบยื่นรางวัลให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดในเชิงปัจเจกเท่านั้น หากแต่จะทำให้ผู้ศึกษาได้สร้างคุณประโยชน์แก่มนุษย์และสังคมอย่างหาประมาณมิได้ ดังจะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำเตือนให้ให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เพื่อคนอื่นๆ ว่า "ดูด่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูน เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก" จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ให้ผู้เจนจบการศึกษาได้หยุดนิ่ง แต่ต้องการให้นำผลที่ได้จากการศึกษาไป "ลดทุกข์ และเพิ่มสุข" ให้แก่เพื่อนร่วมโลกที่เกิดแก่ เจ็บ และตาย

          โดยสรุปแล้ว การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Education for Change) ดังที่กล่าวแล้วนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เป้าหมายสำคัญสูงสุดในศึกษา คือ การสร้าง และรักษาสันติภาพทั้งภายใน และสันติภาพภายนอกให้มั่นคง และยั่งยืนตามแนวทางของการศึกษาเพื่อสันติภาพ (Education for Peace) จะเห็นว่า การศึกษาที่ถูกต้อง หรือการศึกษาแบบสัมมา (Right Education) ทุกชนิดในโลกนี้ จะตัองเป็นการศึกษาที่เป็นไปเพื่อการเสริมสร้าง และพัฒนาสันติภาพทั้งภายใน และภายนอก เพื่อให้มนุษยชาติมีชีวิตอุดมไปด้วยความสุข และสามารถอยู่กับบุคคลอื่นๆ อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลาย หากนอกเหนือจากนี้แล้ว ย่อมถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง (Wrong Education) โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นไปเพียงเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพราะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การศึกษาที่ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัวและเอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 509532เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2012 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท