การบริหารการวิจัยวิทยาศาสตร์อาเซียน


การลงทุนวิจัยระหว่างประเทศ ใช้ความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาว มีคุณค่าสูง แต่เข้าใจยากสำหรับคนที่เห็นแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น


          ที่จริงผมไม่มีความรู้เรื่อง การบริหารการวิจัยวิทยาศาสตร์อาเซียนเลย  แต่สะกิดใจเรื่องนี้ เมื่อได้อ่านบทความเรื่อง Toward Variable Funding for International Scienceในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๑๙ ต.ค. ๕๕


          ผู้เขียนบทความนี้ชื่อ Jakob Edler สังกัด Manchester Institute of Innovation Research, Manchester Business School, University of Manchester และประเด็นสำคัญในบทความคือ ความร่วมมือทำงานวิจัยระหว่างประเทศ  ด้วยหลักฐานว่า หากมีการจัดการที่ดี  เป็นกลไกสำคัญของความวัฒนาถาวรของประชาชน ของประเทศ ของภูมิภาคในโลก  และของมนุษยชาติ 


          ที่น่าเสียดายคือ สังคมไทยไม่เชื่อในคุณค่าของการวิจัยผู้บริหารประเทศไทยไม่ว่ายุคไหน ดีแต่ปากพูดว่าเห็นคุณค่าของการวิจัย  แต่ไม่สนับสนุนจริงจัง  งบลงทุนด้านการวิจัยคงที่อยู่ที่ราวๆ ร้อยละ ๐.๒ ของจีดีพีมา ๒๐ ปีแล้ว   เราอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ไม่คิดสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมในระยะยาว


          การลงทุนวิจัยระหว่างประเทศ  ใช้ความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาว มีคุณค่าสูง  แต่เข้าใจยากสำหรับคนที่เห็นแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น 


          ระบบสนับสนุนความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศ ของประชาคมยุโรป มีความเอาจริงเอาจังแค่ไหนเป็นที่รู้กัน  แต่บทความนี้ยังขึ้นต้นว่า “We need to rethink how we organize funding for scientific cooperation in regional and global contexts.”   นี่คือหัวใจสำคัญของระบบวิจัย .... การลงทุนมากยังไม่เพียงพอ  ยังต้องมีวิธีจัดการงานวิจัยอย่างถูกต้องอีกด้วย  เพราะงานวิจัยเป็นงานที่ความเสี่ยง (ที่จะไม่ได้ผล) สูง  ยิ่งงานวิจัยเพื่อนวัตกรรมยิ่งเสี่ยงสูงมาก 


          ทำให้ผมหวนมาคิดว่า แล้วอาเซียนของเราเล่า  มีความเอาจริงเอาจังเรื่องการใช้ความร่วมมือวิจัย เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในภูมิภาคแค่ไหน


          ปัญหาของอาเซียนในเรื่องการวิจัย ตามความเห็นของผม  มีพื้นฐานอยู่ที่ความคิดของผู้คนในสังคม  ที่ยังเน้นพัฒนาประเทศด้วยทรัพยากร  หรืออย่างเก่งก็ที่ประสิทธิภาพของการผลิต  ในขณะที่โลกเขาก้าวสู่ยุคขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมกันแล้ว 


          ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรเน้นการวิจัยแบบ translational research หรือวิจัยใช้ความรู้ในบริบทของประเทศหรือพื้นที่/ชุมชน เป็นหลัก  ประเทศอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) เป็นประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ  ไม่มีเงินมากพอที่จะเอามาวิจัยสร้างความรู้ที่ขอบฟ้าใหม่  แค่วิจัยเพื่อประยุกต์ใช้ความรู้เป็นหลักเราก็ยังไม่ค่อยได้รับจัดสรรเงินสนับสนุน 


         ประเทศไทยไม่ได้เพิ่มงบประมาณวิจัยของประเทศขึ้นเลยในช่วง ๒๐ ปี  คือสัดส่วนเงินวิจัยต่อ จีดีพี คงที่อยู่ที่ร้อยละ ๐.๒ กว่าๆ  และร้ายกว่านั้นคือ ในปีนี้ตัวเลขจะยิ่งตกลงไป  เพราะเงินวิจัยจำนวนหนึ่งถูกผันไปซื้อแท็บเล็ต 


          เป็นสัญญาณว่า รัฐบาลปัจจุบัน กำลังเอาทรัพยากรเพื่อความเข้มแข็งระยะยาวของประเทศมาใช้เพื่อผลระยะสั้นทางการเมือง  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความอ่อนแอของระบบปัญญาของประเทศในระยะยาว




วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ย.​๕๕


หมายเลขบันทึก: 509386เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท