HITAP ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนวิชาการ HITA ในสังคมไทย



          ผมพิศวงมาก ต่อการ “คิดใหญ่” ของหน่วยงานเล็กๆ อย่าง HITAPที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้าน HITA (Health Intervention and Technology Assessment) ให้แก่สังคมไทย 

          นี่คือกลไกอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยยืนอยู่บนฐานของ “ข้อมูลหลักฐาน” (evidence-based)  ไม่อยู่บนฐานของการคาดเดา หรือการกล่าวอ้าง 

          การกล่าวอ้างแสดงเหตุผล (โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน) มักใช้โดยกลุ่มผลประโยชน์  ที่เล็งประโยชน์ส่วนกลุ่ม หรือคนส่วนน้อย  แต่อ้างผลประโยชน์ของประเทศ  การทำงานวิชาการ HITA จึงช่วยลดมายาคติเหล่านี้  และช่วยรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง 

          นี่คือชนิดหนึ่งของการวิจัย ที่พุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยี หรือวิธีบำบัดรักษา (หรือป้องกัน) โรคใดโรคหนึ่ง  ว่าจะได้ผลต่อสังคมคุ้มกับทุนที่ลงไปหรือไม่  เป็นการวิจัยเพื่อหาหลักฐานความคุ้มทุน มองที่ภาพใหญ่ของประเทศ  ไม่ใช่มองที่กรณีพิเศษเป็นรายคน 

          ผลการวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานประกอบการตัดสินใจเชิงระบบ  ว่าจะลงทุนให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีนั้นหรือไม่  ในลักษณะที่รัฐเป็นผู้จ่าย  ซึ่งหมายความว่า ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ใช้เทคโนโลยีที่จ่ายเอง เพราะตนกระเป๋าหนัก   และตนใช้วิธีคิดคนละชุด

          ที่จริงบันทึกนี้ต้องการบอกความพิศวงในใจของผม ต่อท่าทีของ HITAP ในการพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Building) ด้าน Health and Technology Assessment ในสังคมไทย  ว่าต้องการพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้ให้แก่หน่วยงานวิชาการ คือโรงเรียนแพทย์   ถึงกับดำเนินการขอเงินทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ให้แก่โรงเรียนแพทย์  ผลคือ พบว่าโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของการดำเนินการเรื่อง  HITA

          ในปัจจุบัน การดำเนินการสร้างขีดความสามารถด้าน HITA ให้แก่โรงเรียนแพทย์ จึงได้ผลในระดับปัจเจก  คือเฉพาะอาจารย์แพทย์เฉพาะราย  ไม่เกิดความเอาจริงเอาจังระดับสถาบัน 

          หน่วยงานที่เห็นคุณค่าของ HITA คือหน่วยงานดูแลระบบสุขภาพ  ที่ต้องการข้อมูลการตรวจสอบความคุ้มค่าของเทคโนโลยี และวิธีการบำบัดรัก ไษาแบบต่างๆ  ว่าในบริบทไทยเรา มีความคุ้มค่าแค่ไหน  หน่วยงานนี้คือ สปสช., กระทรวงสาธารณสุข  และ สสส. 

          ที่จริงงานแบบนี้สร้างมูลค่า แก่สังคมไทยมากมาย  คือช่วยลดการดำเนินการแบบสูญเปล่าหรือไม่คุ้มค่าต่อสังคม  ลดการดำเนินการที่ใช้เงินมาก ได้ผลน้อย ที่มีอยู่ดาดดื่นในสังคม 

          นอกจากนั้น การทำงาน HTIA ช่วยให้เราคิดบริการเชิงรุกได้อย่างรอบคอบ  ช่วยให้ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย เป็นระบบที่ก้าวหน้า  ให้สิทธิประโยชน์แก่คนไทยได้มากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเรามั่นใจว่าเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าเมื่อมองจากภาพใหญ่ของสังคมจริงๆ   ถ้าไม่มีกิจกรรม HTIA ช่วยเหลือ  ระบบชุดสิทธิประโยชน์ของบริการสุขภาพก็จะถูกผลักดันโดยกลุ่มผลประโยชน์ หรือระบบผลประโยชน์  ซึ่งเมื่อมองจากภาพใหญ่แล้ว กลายเป็นระบบที่เราทุกคนขาดทุน  แต่เมื่อมองจากบางมุม ดูเหมือนเป็นกติกาที่ดี 

          งาน HITA จึงเป็นงานวิจัยลดมายาคติ  เป็นวิชาการเพื่อลดความสูญเปล่าของสังคม ในด้านระบบสุขภาพ   หน่วยงานในระบบสุขภาพทุกหน่วยงานจึงควรมีขีดความสามารถด้านนี้ 

          หน่วยงานในระบบสุขภาพ ที่ได้รับความนับถือ และมีอิทธิพลมากที่สุดต่อสังคมหน่วยงานหนึ่งคือโรงเรียน แพทย์  ดังนั้น โรงเรียนแพทย์จึงควรมีขีดความสามารถด้าน HITA  เพื่อตรวจสอบอย่างเป็นวิชาการว่า เทคโนโลยีและบริการสุขภาพที่มีให้บริการในโรงเรียนแพทย์นั้น ควรจัดให้บริการแก่คนทั่วไปหรือไม่  มิฉนั้น ผู้คนจะทึกทักเอาเอง ว่าเมื่อมีบริการที่โรงเรียนแพทย์ ก็ควรมีให้บริการในระบบประกันสุขภาพโดยทั่วไปด้วย  เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพ


วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 509228เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2012 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท