คณะเกษตรฯ มข.ดันงานวิจัยพริกสู่จังหวัดแพร่ แก้ปัญหาผลผลิตและราคาตกต่ำ


การจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย เน้นให้เกษตรกรตระหนักถึงระบบป้องกัน การจัดการและการดูแล การรวมกลุ่มเกษตรกร การรักษาคุณภาพและมาตรฐานพริกปลอดภัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีการบันทึกข้อมูล

 

          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย และอาจารย์ ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ให้ทำวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดประชุมเรื่อง “แพร่: รู้เท่าทันศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสของเกษตรกร” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายมนัส โสกันธิกา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งได้ให้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นแนวทางต่อการพัฒนาจังหวัดแพร่ โดย รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม และ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. สรุปผลการประชุมและกล่าวปิดการประชุม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
           การจัดประชุม แพร่: รู้เท่าทันศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสของเกษตรกร” ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากบุคคลหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ นายการัณย์ เกื้อวันชัย นายอำเภอหนองม่วงไข่ นายประภาส สานอูป เกษตรอำเภอหนองม่วงไข่  นายประเสริฐ สุกิน นายกเทศมนตรีตำบลหนองม่วงไข่ ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน โดยแยกเป็นเกษตรกรผู้สนใจจากอำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง ประมาณ 150 คน นักเรียน ประมาณ 50 คน คุณครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.ถาวร อ่อนประไพ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ประมาณ 50 คน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและคณะสำนักวิจัยประมาณ 50 คน ซึ่งในส่วนหนึ่งของการประชุม ได้มีการเสวนา เรื่อง “จากพริกสู่...โจทย์จังหวัดแพร่”โดยมี รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นต้น
           อาจารย์วีระ ภาคอุทัย เผยว่า “การจัดประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก การทำงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาระบบการตัดสินใจการผลิตสินค้าเกษตรกร และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกจังหวัดแพร่” ซึ่งโครงการวิจัยฯได้ทำการศึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำ และพริกมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมาก รวมไปถึงปัญหาเรื่องราคาพริกที่เกษตรกรขายได้มีราคาตกต่ำ โดยโครงการวิจัยได้จัดฝึกอบรมเกษตรกร ให้ความรู้เรื่อง การจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย โดยเน้นให้เกษตรกรตระหนักถึงระบบป้องกัน การจัดการและการดูแล การรวมกลุ่มเกษตรกร การรักษาคุณภาพและมาตรฐานพริกปลอดภัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการบันทึกข้อมูล การปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติของเกษตรกรที่มีผลต่อผลผลิตตกต่ำ เช่น กรณีไม่เก็บผลพริกที่เป็นโรคกุ้งแห้ง แล้วปล่อยให้ผลพริกแห้งกลายเป็นแหล่งแพร่ขยายเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกุ้งแห้งระบาดได้รวดเร็ว ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพื่อแก้ไขปัญหามากขึ้น เป็นต้น"
           อาจารย์วีระ กล่าวต่ออีกว่า “สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพริกตกต่ำนั้นโครงการวิจัยได้เสนอระบบการตัดสินใจเพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกช่วงการปลูกพริก ที่จะทำให้สามารถขายพริกได้ราคาสูงขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขของสภาพพื้นที่ พันธุ์พริก ความรู้ความสามารถของเกษตรกร และความต้องการของตลาดหรือสภาพการแข่งขันทางการตลาด เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนตก ดัชนีราคาขายส่งพริกเป็นรายเดือน ระบบตลาดพริกชี้ฟ้าที่ออกสู่ตลาดในแต่ละแหล่งผลิต จังหวัดแพร่มีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งผลิตอื่น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน และจังหวัดหนองคาย เพราะสามารถปลูกพริกชี้ฟ้าให้ออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่พริกชี้ฟ้ามีราคาสูง โดยเกษตรกรควรปลูกพริกปลายเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน แต่เกษตรกรที่จะปลูกพริกในช่วงนี้ซึ่งมีฝนตกมากปัญหาเรื่องโรคพริกมีมาก ต้องปลูกพริกในสภาพพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมไม่ขัง มีระบบการระบายน้ำออกจากสวนพริกได้อย่างรวดเร็ว เกษตรกรต้องทำแปลงพริกสูงขึ้นและคลุมแปลงด้วยพลาสติกสีดำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในแปลงพริก เพราะพริกไม่ชอบฝนตกบ่อยและน้ำท่วมขัง หากเกษตรกรปลูกพริกให้สามารถเก็บเกี่ยวก่อนสิ้นปีได้ก็จะขายได้ราคาสูงเพราะเข้าสู่ตลาดพริกสดทั้งพริกหนุ่มเขียวและพริกก้ามปู”
          “เกษตรกรควรมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปลูกพริกพื้นที่มากขึ้นได้หรือไม่ เพราะถ้าพื้นที่ปลูกพริกมีมากราคาพริกที่เกษตรกรขายได้จะมีราคาตกต่ำ แต่ถ้าเกษตรกรปลูกพริกชี้ฟ้าเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกน้อย การปลูกพริกจะทำได้ง่าย มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย แต่พริกจะเก็บเกี่ยวหลังปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่พริกจากแหล่งผลิตอื่นๆออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ราคาพริกที่เกษตรกรขายได้จะไม่สูงมากนัก ประจวบกับเป็นช่วงที่โรงงานซอสพริกซื้อพริกแดงเด็ดก้านเพื่อแปรรูปเป็นซอสพริกจำนวนมาก หากเกษตรกรขายพริกแดงเด็ดก้านส่งโรงงานซอสได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 13-14 บาท เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด


                  อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
                  กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 508848เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์..

-ผ่านมาศึกษาข้อมูลเรื่องพริกครับ.

- “เกษตรกรควรมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปลูกพริกพื้นที่มากขึ้นได้หรือไม่ เพราะถ้าพื้นที่ปลูกพริกมีมากราคาพริกที่เกษตรกรขายได้จะมีราคาตกต่ำ แต่ถ้าเกษตรกรปลูกพริกชี้ฟ้าเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกน้อย การปลูกพริกจะทำได้ง่าย มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย แต่พริกจะเก็บเกี่ยวหลังปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่พริกจากแหล่งผลิตอื่นๆออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ราคาพริกที่เกษตรกรขายได้จะไม่สูงมากนัก ประจวบกับเป็นช่วงที่โรงงานซอสพริกซื้อพริกแดงเด็ดก้านเพื่อแปรรูปเป็นซอสพริกจำนวนมาก หากเกษตรกรขายพริกแดงเด็ดก้านส่งโรงงานซอสได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 13-14 บาท เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้”

-ขอบคุณครับ.

 

 

...... หมอเปิ้น .... ชอบจริงๆๆ  นะคะ ....

.... การใส่เสื้อผ้าอ้อม .... กับ ....การทำการเกษตร .......ดูไปได้ดี .... เข้ากันได้ค่ะ ขอชื่นชมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท