เปิดประตูใจให้ออกและให้เข้า...สบายไปหลายอย่าง


ธรรมชาติสั่งสอนให้เราเคลื่อนไหวในบางเรื่อง  และก็สอนให้เราหยุดนิ่งไม่ไหวติงในบางเรื่อง  หากเราได้ใช้  ความรู้ผสมผสานไปกับประสบการณ์แล้ว   การงานต่างๆจะพบกับความสำเร็จไปได้ดี

หลายๆคนทำงานอยู่คนเดียว  มองเห็นงานของตนในด้านเดียว  อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขา  ไม่ยอมรับคำกล่าวติเตียน  เพราะเขามองในมุมเดียวนั้น   หากยอมรับกัน  ฟังคำเสนอแนะจากคนอื่นสักนิด  งานนั้นของเขาจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การจะเป็นผู้รู้  ที่จะอ่านงานของคนอื่น  ต้องใช้รู้หลายศาสตร์เหลือเกิน  อย่างหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ก็คือ  ต้องพกหินตลอดเวลา  ในขณะเดียวกัน  ก็ต้องพกทรายเพราะมันเข้าอยู่ในระหว่างหินสองก้อนได้ดี  ในขณะเดียวกัน  ก็ต้องพยายามเป็นน้ำ  น้ำที่แทรกซึมเข้าไปได้ทั้งก้อนหิน และทรายเป็นอย่างลึกซึ้ง

เราเลือกเป็นอะไรไปได้ตลอดเวลา  แต่อย่าลืมที่มาว่า  เราเป็นใคร  ตระหนักให้ดีว่า  เรากำลังทำอะไรอยู่  ให้มองถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนที่จะมองมาถึงตนเอง   คนอื่นอาจจะไม่มองว่าเราเป็นคนดีในสายตาของเขา  แต่เราก็ยังเป็นเรา ไม่ช้าไม่นาน  หากเรายังยืนหยัดอยู่บนความดี  ในบริบทของสังคม  สักวันหนึ่งแน่นอน  เราก็ต้องเป็นคนดีในสายตาของพวกเขาจนได้

ครูอ้อยเป็นหัวหน้าของคนกลุ่มหนึ่ง  มีกันอยู่ไม่กี่คน  แต่ไม่รู้ใจกันไปได้เลย  เพราะต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ของตน  ไม่รู้เขา  ไม่รู้เรา  หมายถึง  เขาก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่  และเราเองก็ยังไม่เข้าใจเขา  และไม่รู้ความต้องการของเขาไปได้  เพราะเรายังไม่เคยนั่งคุยกันเลย  แม้แต่ครั้งเดียว  เอาอารมณ์ของตนเองคิดไปต่างๆนานา

การนิเทศการสอน  เป็นหนทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ครูอ้อยกล่าวมา  ฝ่ายบริหารให้คิดแนวทางการนิเทศการสอนของครูในกลุ่ม  ซึ่งครูอ้อยพบกับความสำเร็จไปหนึ่งขั้นตอนแล้ว  กล่าวคือ  ครูอ้อย  นิเทศครูในกลุ่มด้วยตนเอง  ตามหลักการนิเทศ  และ  อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ  ครูทุกคนสลับสับเปลี่ยนนิเทสการสอนกันและกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ครูอ้อยสอนทั้งสัปดาห์  ไม่ได้พักเลยสักชั่วโมงเดียว  เพราะเวลาที่พักวันละ 1 ชั่วโมงนั้น  ครูอ้อยเดินไปนิเทศการสอนของครู   ครูอ้อยพบการสอนของเพื่อนครูที่น่าชื่นชม  พบปัญหาที่มีอยู่  และพบว่า  ครูแต่ละท่านต้องมีอะไรบ้างมาช่วยเสริมการสอน

ตัวครูอ้อยเอง  ก็มีครูมานิเทศ  มาเยี่ยมชมการสอน  ครูได้เห็นวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เห็นความพยายามของนักเรียนที่จะเรียนรู้คล้อยตามความพยายามของครูที่จัดการให้เขาได้เรียนรู้  

การเปิดประตูใจ  ที่เดินออกไป  และเปิดประตูใจ  ให้คนเดินเข้ามา...ช่างมีความสุขเหลือเกิน


หมายเลขบันทึก: 508349เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การนิเทศ  ได้ให้ครูได้ประเมินตนเองเสมอว่า  ความรู้ที่ตนมีอยู่นั้น  อยู่ในระดับใด  เสถียรหรือไม่   และควรพัฒนาอย่างไร  แก้ปัญหาอย่างไร   การนิเทศ  เป็นการให้น้ำใหม่ได้ซึมเข้าไปยังน้ำเก่าบ้าง

พี่ไม่ได้จับผิดน้องเลย

  • เคยทำอย่างที่ครูทำเหมือนกัน
  • ทำให้เพื่อนครูได้รู้ใจกัน
  • เมื่อมีข้อพกบร่องเราก็ช่วยเหลือกัน
  • ไม่ใช่เป็นการจับผิดค่ะ
  • งานก็จะไปได้สวยค่ะ

ค่ะครูทิพย์  ครูอ้อยทำแบบนี้มาหลายปี  ทุกภาคเรียนเราจะวนเวียน  ดูการสอนของกันและกัน  ที่ผ่านมา  เหมือนทำให้ ผ่านวาระไป  แต่สองสามปีที่ผ่านมา  ครูอ้อยจริงจังในการพัฒนามากขึ้น  ใช้เรื่อง KM มาร่วมด้วย  รู้สึกว่า ดีขึ้น  มีความหมายขึ้น  เปิดใจรับ  เปิดใจให้  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท