ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๘๔. ประวัติศาสตร์บอกเล่าชาวชุมพร ภาค ๒



          ค่ำวันที่ ๑๓ ต.ค. ๕๕ คณะลูกหลานนายดำริ - นางง้อ พานิช ก็มาพร้อมหน้ากันที่บ้านที่นายดำริสร้างเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว  และเวลานี้ยังมีสภาพดีจนคนเข้าใจว่าเพิ่งสร้างใหม่  นายดำริเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ ๑ พ.ย. ๔๗ อายุ ๘๘ ปี  ลูกหลานนัดกันมาทำบุญประจำปีให้แก่นายดำริ และบรรพบุรุษ  ทั้งฝ่ายนายดำริ และฝ่ายนางง้อ

          หลังอาหารเย็นที่กินกันหลายรอบ  เพราะคนมากประมาณ ๔๐ คน  อาหารอร่อยแบบพื้นเมือง  ตัวชูโรงมีหลายจาน ได้แก่ปลาจาระเม็ดทอด ปูทะเลอบวุ้นเส้น  แกงสับนกปลาเค็ม เป็นต้น

          หลังอาหาร คุณวิเชียร พานิช ถามว่า จะประทับตราจากตราโบราณอายุกว่าร้อยปีที่เก็บไว้ (ที่ผมเคยลงรูปไว้ในภาค ๑ แล้ว) หรือยัง  เรานัดกันว่า เมื่อมีเวลาว่าง จะประทับตราเหล่านี้ส่งไปให้คุณไพศาล เลาห์เรณู ญาติที่นครเวียนนา  เพราะท่านสนใจอยากเห็นตราประทับยี่ห้อธุรกิจของต้นตระกูลของท่าน  ที่อ่านว่า “เล้าเรืองกี่”


          ประวัติศาสตร์บอกเล่าชาวชุมพร ภาค ๑ อยู่ที่นี่


          ต่อไปนี้ เป็นคำเล่าจากความจำล้วนๆ ของคุณวิเชียร พานิช  ที่ส่วนใหญ่ได้จากคำบอกเล่าของ นางละไม (พานิช) พยัคฆพันธ์  และ นส. ประยงค์ บุษราทิจ เมื่อหลายปีมาแล้ว  ที่เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๙๓ ปี แต่เป็นโรคสมองเสื่อม จำอะไรไม่ได้เสียแล้ว  ในบันทึกนี้ ผมพยายาม ปล่อยให้ถ้อยคำเป็นไปตามคำบอกเล่า  ไม่ปรับปรุงภาษา  เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่จริงๆ  ให้สอดคลเองกับความตั้งใจให้เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนธรรมดาสามัญ  แต่ต้องขออภัยที่เรื่องราวดูจะเน้นที่ต้นตระกูลของพวกผมมากไปหน่อย 


เรื่อง ทวดเลี่ยน (หญิง ต้นตระกูลบุษราทิจ) กับทวดเพี้ยน (ชาย ต้นตระกูลเลาห์เรณู)

          พ่อของทวดเพี้ยนเป็นพี่ พ่อของทวดเลี่ยนเป็นน้อง พ่อของทวดทั้งสองนี้ ไม่รู้ชื่อ พ่อทวดเพี้ยนอยู่ท่ายาง (ต. ท่ายาง  อ. เมือง  จ. ชุมพร)  บ้านของพ่อแม่ของทวดเพี้ยนอยู่ตรงข้ามบ้านแม่มาก แม่มากเป็นแม่ของทวดกีหยง (ต้นตระกูลบุษราทิจ)

          เตี่ยของทวดเลี่ยนอยู่หลังสวน ผูกอากรของหลวงแล้วขาดทุน ค้างค่าภาษีอากรมากมาย  เลยหนีมาอยู่กับพี่ชายที่ท่ายาง เอาลูกสาว (ทวดเลี่ยน)มาด้วย แล้วตาย

          ทวดเลี่ยนจึงอยู่กับเตี่ยและแม่ของทวดเพี้ยน เรียกแม่ของทวดเพี้ยนว่าแม่ป้า

          แม่ของทวดเลี่ยนที่หลังสวนได้สามีใหม่ มีลูกอีกหลายคน คนหนึ่งเป็นต้นตระกูลศิลปสุวรรณ

          ทวดเลี่ยนแต่งงานกับทวดกีหยงเพราะบ้านอยู่ตรงข้ามกัน

          ทวดเพี้ยนมีเมียชื่อทวดงิ้ว ทวดงิ้วเป็นคนบางสะพาน  ทวดเพี้ยนจึงอพยพไปอยู่บางสะพาน แล้วยกบ้านยกให้       ทวดกีหยง แต่ที่นาเกือบร้อยไร่ยังเก็บไว้ เวลานี้ส่วนหนึ่งเป็นของคุณนุกูล ประจวบเหมาะ

          ทวดเพี้ยนมีลูกหลายคน คนหนึ่งชื่อนายมิ่ง เลาห์เรณู ไปอยู่เพชรบุรี ทำโรงสี  นายมิ่งคือพ่อคุณไพศาลเลาห์เรณู

          ทวดกีหยงส่งหลานคนโตสุดคือนายขุ้น รจนาไปฝึกทำโรงสีกับนายมิ่งกลับมาทำโรงสีไฟโรงแรกของชุมพรที่ท่ายางที่ตั้งโรงสีคือบ้านของทวดเพี้ยน หน้าบ้านป้าหมวย

          ตาเวช (ตาเวชมีสมบัติมาก พวกเครื่องลายคราม เครื่องกังไส ทำนกบิน) ถัดบ้านตาเวชเป็นบ้านแม่มากถัดไปบ้านก๋งกิ่ง  หลังสุดตอนเกษียณเป็นปลัดเมืองกำเนิดนพคุณ นายกิ่ง น่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้องแม่มาก เพราะแม่มากเป็นลูกแม่ร่ม  นายกิ่งน่าจะเป็นลูกแม่รื่น พระยากำเนิดนพคุณเป็นสามีคุณหญิงร่อน (เดิมเป็นพระกำเนิดนพคุณ ได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าเมืองตั้งใหม่) ต่อมาเมืองไชยาเจ้าเมือง(ที่เป็นลูกของเจ้าเมืองเชียงใหม่) ตาย เมื่อตายไม่มีลูกสืบทอด  เลยให้พระยากำเนิดนพคุณไปเป็นเจ้าเมืองไชยา  (ตั้งเมืองกำเนิดนพคุณเพื่อทำทอง ตั้งเมืองระนองเพื่อทำแร่)  นายกิ่งเป็นผู้ช่วยปลัดเมืองนานมาก ตอนหลังเป็นปลัดเมืองกำเนิดนพคุณ (บางสะพาน)  ถึงเกษียณแล้วชาวบ้านก็เรียกท่านช่วย โดยชาวบ้านไม่รู้ชื่อจริง 

          ก๋งกิ่งมีเมียคนสุดท้ายชื่อแม่ใหญ่จีน อามัยบอกว่าก๋งกิ่งเคยมีเมียมาก่อน มีลูกชายสองคน ตายหมด

          แม่ใหญ่จีนเป็นคนบางจะเกร็ง (สมุทรสงคราม) มีความรู้ ทำขนม ทำเครื่องจักสานเก่ง แม่ใหญ่จีนมีคนมาอยู่บ้านด้วยเยอะ ไม่มีลูก  จึงเลี้ยงทวดทรัพย์ (ลูกสาวคนเล็กของทวดหยง) คล้ายเป็นลูก


คำนำหน้านามของคนโบราณ

          คนโบราณยกย่องผู้หญิงที่เป็นคนจิตใจกว้างขวางมีบริวารมากและร่ำรวยว่า “แม่ใหญ่”  ที่ท่ายางมีแม่ใหญ่ ๒ คน  คือแม่ใหญ่จีน กับแม่ใหญ่เลี่ยน  ผู้ชายไม่เรียกพ่อใหญ่ แต่เรียกพ่อนาย  ชาวบ้านเรียกพ่อของพวกเราว่า “นายดำริ” เป็นคำย่อจาก “พ่อนายดำริ”   เราจึงรื้อฟื้นความจำว่า สมัยเด็กๆ คนแถวบ้านเรียกผมว่า “นายอ๊อด”  และเรียกน้องชายว่า “นายเล็ก”  เป็นคำที่ยกย่องว่าเราเป็น “พ่อนาย”   ผมเพิ่งรู้วันนี้เอง ว่าชาวบ้านที่ท่ายางเขายกย่องครอบครัวผมถึงขนาดนี้  เคยนึกแต่ว่าครอบครัวเราเป็นลูกหลานเศรษฐีตกยาก   เห็นแต่บ้านอื่นเป็นเศรษฐี หรือ “ผู้ดี”  มารู้วันนี้ว่าผมมีกำเนิดเป็น “ผู้ดีบ้านนอก” (และตกยาก) 


เรื่องของคุณนายทรัพย์ เจริญพานิช (ย่าทรัพย์)

          ที่ปากน้ำชุมพรมีนายสุน แซ่เล็ก มาจากสมุทรสงคราม  มาจับปลาได้มาก ร่ำรวย  จึงชักชวนคนแซ่เดียวกันย้ายจากสมุทรสงครามมาอยู่ปากน้ำชุมพร  เถ้าแก่สุนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนประชุมชลมุข  มีลูกคนเดียวเป็นชาย ชื่อคุณอู๊ด ซึ่งเป็นคนเก่งมาก  ต่อมาได้เป็นขุนพิพัฒน์พานิช ต้นตระกูลเจริญพานิช เถ้าแก่สุนรวยแล้วก็จน เอาที่หัวถนน (ปากน้ำชุมพร) มาขายฝากทวดหยงไว้ 

          คุณอู๊ดมาขอย่าทรัพย์ แต่ทวดหยงไม่ยกให้  เพราะทวดหยงเป็นจีนฮกเกี้ยน  ส่วนเถ้าแก่สุนเป็นแต้จิ๋วซึ่งถือว่าศักดิ์ต่ำกว่า  ย่าทรัพย์จึงหนีไปอยู่กับคุณอู๊ด  ทำให้ทวดกีหยงโกรธมาก  ทวดทรัพย์จึงได้รับมรดกที่ดินเพียงที่หัวถนนที่เดียว เพราะเดิมเป็นที่ของเถ้าแก่สุน (เป็นเตี่ยของคุณอู๊ด)


ทรัพย์สมบัติที่ดิน

          กลับมาเรื่องก๋งกิ่ง ที่ท่ายาง ที่นาของแม่แก้วแบ่งเป็นสองส่วน ของก๋งกิ่งส่วนหนึ่ง ก๋งหยงส่วนหนึ่ง ที่หลังบ้านเรา ที่ชายทะเล ก๋งกิ่งให้ลูกของบ่าว (หลังก๋งกิ่งตายแม่ใหญ่จีนยกให้) แม่ใหญ่จีนมีบารมี ชาวบ้านเรียกแม่ใหญ่ มีสมบัติ บริวาร บ่าวไพร่ 

          ที่ท่ายางมีแม่ใหญ่สองคน  แม่ใหญ่เลี่ยน กับแม่ใหญ่จีน แม่ใหญ่จีนไม่มีลูก ไปเอาหลานจากบางจะเกร็งมาเลี้ยง คือ แม่ซิ่วฮ่อง จับให้แต่งงานกับปู่อ๋อง (ลูกแม่ใหญ่เลี่ยน)  มีลูกเป็นนายบุญตรงกับนายบุญส่ง นายบุญส่งไปอยู่แม่กลอง

          ปู่อ๋อง (โปรดสังเกตว่าพี่น้องผมเรียกปู่อ๋องว่าปู่  ไม่เรียกก๋ง  ในขณะที่เราเรียกปู่ของตัวเองว่าก๋ง คือก๋งเสี้ยง  ทำไมเรียกอย่างนี้ก็ไม่รู้  ผู้ใหญ่สอนให้เรียกเราก็เรียกตาม เพิ่งมาสะดุดตอนนี้) ขี้เมาแม่ซิ่วฮ่องพาลูกสองคนกลับบางจะเกร็ง ใช้นามสกุล พิณฑรัตน์ นายบุญตรงกับนายบุญส่งก็ใช้นามสกุลนี้ ภายหลังสองคนนี้กลับมาขายที่ ให้ย่ากัน ที่ชายทะเลขายให้ย่ากัน นาแปดสิบกว่าไร่จะขายให้เตี่ย (พวกเราเรียกพ่อว่าเตี่ย) พันห้าร้อยบาท  แต่เตี่ยมีเงินไม่พอบอกว่าจะไปยืมเงินมาซื้อ  แต่ตกกลางคืนนายบุญส่งไปกินเหล้ากับตาเคลือบ เมาขายที่ให้ไปเลย  เตี่ยเสียดายมาก เพราะเป็นที่มรดกของตระกูล ไม่อยากให้ตกไปเป็นของคนอื่น 

           นายบุญส่งขายที่แล้วก็ไม่เคยมาอีกเลย

          เรื่องทรัพย์สมบัติที่ดินของตระกูลนี้ พ่อของผมมีความรู้สึกรุนแรงมาก  ภายหลังได้สร้างฐานะฟื้นขึ้นมาและค่อยๆ ได้ซื้อคืนมาจนที่ส่วนหนึ่ง ที่เป็นผืนเดียวกันจากถนนไปจรดชายทะเล ตกมาเป็นของพ่อผม  ทำให้พ่อภูมิใจมากและเล่าให้ลูกชาย คือคุณวิเชียรฟัง  แต่ผมไม่เคยได้ฟัง เพราะพ่อรู้ว่าผมไม่สนใจเรื่องทรัพย์สมบัติ  เรื่องนี้มีต่อ 

          โปรดอ่านบันทึกนี้ด้วยความระมัดระวัง ว่าเป็นเรื่องเล่าจากความจำ  ชื่อหรือนามสกุลอาจคลาดเคลื่อนได้



วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๕๕





                                                        วงเล่าเรื่อง และบันทึก



                  ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง มีการบันทึกเสียงไว้ด้วย   โปรดสังเกตตราประทับ โบราณ



                                                       วงรุ่นหลานจับกลุ่มคุยกัน


หมายเลขบันทึก: 508156เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โปรดเล่าต่อครับอาจารย์...รออ่านอยู่ครับ 

ประวัติศาสตร์บอกเล่าชาวชุมพร ภาค.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท