ว่าด้วยเรื่อง ซิลิคอน H4Sio4


เมื่อ พ.ศ. 2362 เซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี (Sir Humphry Davy) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ ความรู้เบื้องต้นด้านเคมีการเกษตรว่า  เนื้อเยื่อชั้นผิวของพืชมีซิลิคอน (silicon, Si) เป็นสิ่งปกป้องพืชให้ปลอดภัยจากการทำลายของแมลง และปกคลุมเนื้อเยื่ออ่อนๆ ของผักเช่นเดียวกับหอยซึ่งมีเปลือกหอยช่วยป้องกันภัย ประมาณ 20 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2383 ลิบิก (Justus von Liebig) ทดลองเรื่องผลของการใช้ปุ๋ย โซเดียมซิลิเกต (sodium silicate) ต่อการเจริญเติบโตของซูการ์บีต พ.ศ. 2399 มีรายงานการศึกษาภาคสนามที่สถานีวิจัย Rothamsted ในประเทศอังกฤษว่า ปุ๋ย โซเดียมซิลิเกตช่วยเพิ่มผลผลิตหญ้าเลี้ยงสัตว์อย่างมาก ปุ๋ยซิลิคอนชนิดแรกที่ได้รับการจดสิทธิบัตร เมื่อพ.ศ. 2424 คือกากถลุงซิลิคอน (silicon slag) อีก 13 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2437 ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ซิลิคอนที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในดินของมลรัฐฮาวาย นับจาก พ.ศ. 2483 เป็นต้นมามีผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ในเรือนปลุกพืชทดลองและภาคสนามเป็นอันมากที่แสดงว่าปุ๋ยซิลิคอนให้ผลดีสำหรับข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และอ้อย การวิจัยด้านปุ๋ยซิลิคอนมีความก้าวหน้ามากในประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือการวิจัยในช่วงเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2493 – 2503 นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ เรื่องการใช้ปุ๋ยซิลิคอนในนาข้าว จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงว่าปุ๋ยซิลิคอนให้ผลดีต่อพืชและดิน 2 ประการ คือ 1) ด้านพืช ปุ๋ยซิลิคอนช่วยปกป้องพืชจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และจากการทำลายของศัตรูพืช และ 2 ) การใช้ปุ๋ยซิลิคอนในรูปของสารที่แอกทีฟเชิงชีว-ธรณี-เคมี (biogeochemically active silicon substances) ในดินที่ขาดแคลน ช่วยให้ดินมีธาตุนี้เพียงพอและเสริมประโยชน์แก่พืชที่ดุไปใช้ (Synder et al., 2007)

แม้ว่าผลด้านเสริมประโยชน์ของซิลิคอนต่อพืชมีหลายประการ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป แต่ซิลิคอนก็มิได้จัดเป็นธาตุอาหารของพืช ตามบรรทัดฐานที่ได้บัญญัติไว้ ในด้านการทดสอบนั้น แม้จะมีการกำจัดซิลิคอนออกจากสิ่งทดลองอย่างดีแล้ว ต้นมะเขือเทศที่ปลูกก็ยังมีซิลิคอนในส่วนหนือดิน 0.0006%  (6 มก./กก.) โดยน้ำหนักแห้ง และมะเขือเทศนี้เจริญเติบเป็นปรกติเหมือนต้นที่ให้ซิลิคอน Epstein (1999) จึงเรียกซิลิคอนว่าเป็นธาตุกึ่งจำเป็น (quasi-essential) และเชื่อกันว่าหากสามารถกำจัดซิลิคอนที่เจือปนในน้ำอากาศและวัสดุทดลองได้ดีกว่านี้ มุมมองต่อซิลิคอนอาจเปลี่ยนไป (Epstein and Bloom, 2005) (แหล่งที่มา ยงยุทธ โอสถสภา. ธาตุอาหารพืช /ยงยุทธ  โสถสภา. –พิมพ์ครั้งที่ 3. – กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2552)

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 507286เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท