โรงเรือนเห็ดที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?


การก่อสร้างโรงเรือนในการเพาะเห็ดถุงนั้น มีเกษตรกรมือใหม่หลายรายที่ยังไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่รู้จะออกแบบจัดการโรงเรือนอย่างไรให้มีความเหมาะสม จึงมักจะสอบถามผู้รู้ผู้ชำนาญและดูงานตามที่ต่างๆ มากมาย จนแล้วจนรอดบางท่านก็ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี จะใช้พื้นซีเมนต์ พื้นทราย อิฐบล็อก หรือ พื้นดินธรรมดา จะใช้โรงเรือนประเภท อีแว๊ป (EVAP = Evaporative Cooling System) หรือจะใช้แค่แผ่นพลาสติกกับแสลนธรรมดาในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น บ้างก็สรรหาเครื่องมือเครื่องจักรนานาชนิดมาต่อสู้กับความชื้นและอุณหภูมิ  ชื้นมากก็ระบายออก แห้งมากก็สร้างความชื้นเพิ่ม จนกำรี่กำไรตกไปอยู่ในมือการไฟฟ้าและพ่อค้าเครื่องจักรหมด

โรงเรือนเพาะเห็ดควรมีขนาดที่พอเหมาะพอดีต่อการเก็บเกี่ยว พอเหมาะพอดีต่อบุคลากรที่บริหารจัดการ ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป มิฉะนั้นก็ไม่พอขายและดูแลบำรุงรักษาไม่ทันการณ์  ที่สำคัญไม่ควรกว้างใหญ่จนอยู่ในโรงเรือนเดียวกันเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นก้อน เพราะเมื่อมีโรคหรือไรศัตรูเห็ดระบาดจะทำให้เกิดการสูญเสียได้ง่าย เสียหายกันไปในคราวเดียวทั้งโรงเรือน  ผู้เพาะเห็ดจึงมักนิยมที่จะแบ่งช่วงแบ่งล็อคให้พอเหมาะพอดี ทำเป็นหลายๆ ห้องในโรงเรือนหรือหลังคาเดียวกัน หรือทำเป็นโรงเรือนขนาดพอเหมาะจำนวนหลายๆโรงเรือน เมื่อความต้องการของตลาดน้อยก็ลดจำนวนโรงเรือนที่จะใช้เปิดดอก เมื่อมีความต้องการของตลาดมากก็เปิดโรงเรือนทีเดียวทั้งหมด ทำแบบนี้สลับสับเปลี่ยนกันไป

อาจจะมีผู้ที่อยากทราบว่าแล้วจริงๆ นั้นจะต้องกว้าง คูณยาวเท่าไรกันแน่ อันนี้ก็ต้องขอบอกว่าตอบยากครับ ต้องคำนวณปริมาณก้อน และผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า (ต้องดูวันหนึ่งมีผู้เข้ามารับซื้อเห็ดหรือนำผลผลิตเห็ดออกไปขายได้วันละกี่กิโลกรัม)  โรงเรือนเห็ดที่ทำเป็นอาชีพแบบครบวงจร มักจะทำเป็นโรงเรือนหลังเดียวกันไปเลย (อันนี้ผู้เขียนไม่แนะนำนะครับ) ถึงจะใหญ่ทุนหนาแค่ไหนก็เจ๊งไม่เป็นท่ามีให้เห็นเยอะแยะมากมาย เพราะไม่ว่าไร หรือ รา ลองได้เข้ามาแล้วถ้าปล่อยจนระบาดเกินระดับเศรษฐกิจก็ยากที่จะเอาให้อยู่ได้เหมือนกัน เกษตรกรมือใหม่ ทุนน้อยจึงต้องตระหนักไว้ให้มาก

ส่วนเคล็ดลับของการสร้างโรงเรือนคือทำอย่างไรก็ได้  ให้สามารถควบคุมบริหารจัดการโรงเรือนได้ง่ายและรวดเร็วเมื่ออากาศหนาวก็ทำให้อุ่นได้โดยเร็ว เมื่ออากาศร้อนก็สามารถที่จะทำให้เย็นหรือคงที่ตามเห็ดแต่ละชนิดต้องการโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหาภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยทั้งเช้า กลางวัน เย็น และกลางคืนมีหลากหลายอุณหภูมิหลากหลายอากาศ ทำให้ผู้เพาะเห็ดในยุคนี้มีปัญหามากเรื่องเห็ดไม่ออกดอก แต่ข้อสำคัญจะต้องเน้นการประหยัดไม่ใช้เทคโนโลยีเกินตัวมากเกินไป ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าปู่ย่าตายายเราก็เพาะเห็ดกันมาหลายสิบปีโดยที่ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ก้าวล้ำนำสมัย ก็ยังมีความสามารถเพาะเห็ดกันมาได้ให้ผู้คนได้กินใช้หลายสิบปี

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 507283เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท