ทรงกรอบกู้เศรษฐกิจชาติ


ไทยใช้เวลาถึง ๕๐ ปี สำหรับการฟื้นเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเสียพระนครศรีอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐

ไทยใช้เวลาถึง ๕๐ ปี สำหรับการฟื้นเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้เข้าสู่ภาวะปรกติ หลังจากเสียพระนครศรีอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ เพราะผลของสงครามคือการเสียเกียรติภูมิ บ้านเมืองพินาศย่อยยับ ผู้คนถูกกวาดต้อนเป็นเชลย ทรัพย์สินไร่นาถูกทำลาย

การฟื้นตัวจากการล่มสลายเพื่อนำประเทศเข้าสู่ภาวะ "บ้านเมืองยังดี" มิใช่ทำได้ง่ายๆ และมิใช่ทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะบ้านเมืองที่ว่างเปล่า ฝืดเคือง อดยาก  คอยตื่นผวาภัยข้าศึกที่มักจะเข้ามาจู่โจมมิให้ตั้งตัว แม้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พุทธศักราช ๒๓๑๐-๒๓๒๕) จะทรงกอบกู้เอกราชได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียง ๗ เดือนเศษก็ตาม แต่เวลาในรัชสมัยของพระองค์ ณ.กรุงธรบุรี ตลอด ๑๕ ปีนั้น กรำอยู่แต่การศึกสงคราม เพื่อฟื้นความเป็นชาติไทยให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทรงปกป้องอริราชศัตรู และสร้างประเทศให้แข็งแกร่ง

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ๒๗ ปี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินท์เป็นราชธานีแห่งใหม่จากส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรี เหตุการณ์บ้านเมืองมีทั้งการสร้างบ้านแบ่งเมือง การรับศึกใหญ่ที่เรียกว่าสงคราม ๙ ทัพ ซึ่งพม่ายกเข้ามาหลายทาง ด้วยมุ่งหวังจะล้างชาติไทยให้สูญสิ้น เมื่อยามสงบทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักของแผ่นดิน บูรณปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม พื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ชำระกฎหมาย ปรับปรุงระเบียบที่จำเป็นของบ้านเมือง แม้บ้านเมืองเริ่มเป็นปึกแผ่น แต่ความยากจนข้นแค้น ความขัดสนฝืดเคืองที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชยังคงมีอยู่ตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีผลต่อเนื่องไปถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พุทธศักราช ๒๓๕๓-๒๓๖๗) รัชกาลที่ ๒ ดังปรากฎว่า ข้าราชการได้รับเบี้ยหวัดตอบแทนไม่เต็มจำนวน หลวงต้องเติมผ้าลายแทนบ่อยครั้ง เพราะรายได้ของประเทศไม่พอกับรายจ่าย

ในภาพรวมของสมัยกรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ จึงมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความขัดสนอดยากที่สะสมต่อเนื่องกันมาไม่อาจฟื้นตัวได้ง่ายเลย

ต้นรัชกาลที่ ๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ พระนามว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์" ทรงกำกับราชการ กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจ ว่าความฎีกา ทรง "ค้าสำเภา" ทั้ง สำเภาหลวง และสำเภาของพระองค์เอง นอกจากนั้น ได้ชักชวนเจ้านายและขุนนางต่างๆค้าสำเภาด้วย เงินกำไรที่ได้จากการค้า ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบิดา เพื่อทรงใช้สอยในราชการแผ่นดิน

"เงินกำไรจากการค้า" เป็นการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีนเป็นส่วนใหญ่ ปีหนึ่งจะเดินเรื่องได้ ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับครั้งเดียว เฉพาะฤดูที่กระแสลมพัดผ่านจากอ่าวไทยไปทะเลจีน และฤดูที่กระแสลมจากทะเลจีนพัดผ่านกลับ อันเป็นกระแสลมมรสุมที่ชาวเรือเรียกว่า "ลมสินค้า" เป็นเวลาทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับประมาณ ๕-๖ เดือน การค้าที่ต้องการกำไรมากๆ เมื่อถูกจำกัดด้วยเวลาว่าปีหนึ่งออกเรือได้เพียงครั้งเดียว จึงน่าจะสร้างเรือสำเภาขึ้นเป็นจำนวนมาก คงต้องค้าหลายเที่ยว หมายถึงหลายปี กว่าจะได้เงินมาปลดเปลื้องและค่อยๆช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดสนในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมชนกนาถได้หมดสิ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่อับเฉาอย่างต่อเนื่องมานามถึง ๕๐ ปี นับจากเสียพระนครศรีอยุธยาเริ่มฟื้นตัวในรัชการลที่ ๒ นี้

(ข้อมูลเบื้อตันคัดลอกมาจากหนังสือ "พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และเหตุการณ์ในรัชสมัย" จัดพิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในโอกาสมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับมูลนิธิคลังสมอง วปอ เพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนาเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า : พระบิดาแห่งการค้าไทย" ณ.หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ )



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท