เศรษฐศาสตร์การเมือง


 

เศรษฐศาสตร์การเมือง

          ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ส่งบทความที่ท่านปาฐกถาพิเศษ ที่ ม. บูรพามาให้    อ่านแล้วประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง    และผมอยากให้คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวงวิชาการได้อ่าน   เนื่องจากบทความนี้ค้นใน cyber space ไม่พบ    ผมจึงขอไฟล์จากท่าน นำมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย

 

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองจากอดีตสู่อนาคต*

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

 

                ท่านคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ ท่านอาจารย์อาวุโส สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง  อาจารย์ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์  รศ.ดร.กนกศักดิ์ แก้วเทพ ท่านอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

                ผมขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้เปิดโปรแกรมปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการประสบผลสำเร็จ  มาได้ 10 ปีแล้ว และเมื่อปีที่แล้ว ได้เปิดโปรแกรมนี้ ณ ระดับปริญญาเอกและเริ่มรับนักศึกษาปริญญาเอกในปีนี้  ผมดีใจเป็นพิเศษที่คณะอาจารย์อาวุโสสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้มีส่วนร่วมสร้างและร่วมเป็นผู้สอนหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารมหาวิทยาลัยบูรพา  ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีข้อตกลงทางการระหว่างศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ กับโปรแกรมบัณฑิตศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยบูรพา  ผมเองเคยมาสอนมหาวิทยาลัยนี้หลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง  เป็นประธานการสอบวิทยานิพนธ์หลักสูตรไทยศึกษาปริญญาเอก  และเคยมาบรรยายพิเศษ  ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน “หนึ่งทศวรรษเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการจากวันนั้นถึงวันนี้  สู่ย่างก้าวในอนาคต”  และได้รับเชิญให้บรรยายปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์การเมืองจากอดีตสู่อนาคต”

                วันนี้ผมจะขอกล่าวบรรยายถึงประวัติของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในเมืองไทย  และอนาคตของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง

                ตั้งแต่ พ.ศ.2517 เป็นต้น  คือตั้งแต่เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว  อาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง  ได้ริเริ่มกิจกรรมการสอน การวิจัย  การควบคุมวิทยานิพนธ์  การจัดสัมมนาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง  ได้ปรากฏผลงานเป็นวิทยานิพนธ์  ซึ่งต่อมาหลายฉบับพิมพ์เป็นเล่ม  นอกจากนั้นยังได้เสนอเอกสารสัมมนาทางวิชาการและตำราจำนวนหนึ่ง  ออกวารสารเศรษฐศาสตร์

          การเมือง  และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์  งานวิชาการทั้งหมดนี้มีผลต่อการขยายการศึกษาทฤษฎีและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย มีชื่อเรียกว่า  “สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง” 

          คณะอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มนี้ มีจำนวนรวมกันประมาณ 10 คน หลายท่านก็ได้มาร่วมการประชุมในวันนี้  ท่านสำคัญที่สุดท่านหนึ่งผู้ล่วงลับไปแล้ว รศ.ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ (2480-2550)

          แนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสืบทอดมาตั้งแต่พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค 2405-2479) ผู้เขียนหนังสือตำราเศรษฐศาสตร์เป็นภาษาไทยเล่มแรก ชื่อ “ทรัพยศาสตร์” ในพ.ศ.2454 คือ 100 ปีกว่ามาแล้ว  ท่านอาจารย์ดร.ปรีดี  พนมยงค์ (2443-2526)  ผู้นำทางความคิดของคณะราษฎร ศิษย์ของท่านอาจารย์ปรีดี เช่นคุณสุภา ศิริมานนท์ (2457-2529) และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญคุณจิตร ภูมิศักดิ์  (2473-2509) ได้สืบทอดแนวคิดนี้

          วันนี้เป็นวันที่ 23 มิถุนายน พรุ่งนี้ก็จะครบรอบ 80 ปี ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง  ซึ่งเป็นวิชาต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2470 ถูกยกเลิก ได้รับอนุญาตให้สอนได้  ปรากฏเป็นวิชาลัทธิเศรษฐกิจ  ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2477

          ตั้งแต่ พ.ศ.2500-2516 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร  วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยโน้มเอียงเป็นแบบเทคนิคสุดโต่ง  แยกตัวออกจากวิชาด้านการเมืองและสังคมและไม่เกี่ยวโดยตรงกับการทำมาหากินและชีวิตของผู้คนสามัญจนหลังการเปลี่ยนแปลงสำคัญ  เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ระบอบประชาธิปไตยฟื้นกลับมาใหม่  มีผลต่อการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์

           หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คณะอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และต่อมารวมถึงอาจารย์นักพัฒนาเอกชน และปัญญาชน ณ คณะและมหาวิทยาลัยอื่น สถาบันอื่น  และปัญญาชนในท้องถิ่น มีความตื่นตัวและมีความกระตือรือร้น  อยากจะศึกษาเรื่องของประเทศชาติและประชาชน  มีบทบาททั้งด้านการสอน การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณะ

          ในทางวิชาการ  สำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองมีผลงานเป็นหนังสือรวมกันหลายร้อยเล่ม  มีผลงานวิจัยเป็นชุดหลายชุด  เช่นชุดทฤษฎีและวิธีศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบสังคมนิยม (อาจารย์ปรีชา อาจารย์กนกศักดิ์  อาจารย์กาญจนา)  ชุดขบวนการทางสังคม ชุดเศรษฐกิจนอกกฎหมาย ชุดทุนนิยมไทย (อาจารย์ผาสุก  อาจารย์นวลน้อย  อาจารย์สังศิต) ชุดเศรษฐกิจจีน (อาจารย์สมภพ) ชุดแรงงานและสวัสดิการสังคม (อาจารย์ณรงค์ อาจารย์วรวิทย์ อาจารย์แล)  ชุดเศรษฐกิจชุมชน (อาจารย์กนกศักดิ์ อาจารย์ฉัตรทิพย์) ชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ(อาจารย์สุธี อาจารย์ฉัตรทิพย์) มีศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง  และมีห้องหนังสือสุภา ศิริมานนท์  มีหนังสือเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง 4,000 เล่ม มีวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งออกฉบับแรก พ.ศ.2524 และออกต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน มากกว่า 50 ฉบับ มีสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ซึ่งตั้งเมื่อพ.ศ.2526 พิมพ์หนังสือวิชาการมาแล้วประมาณ 60 ชื่อเรื่อง มีโปรแกรมปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมืองที่คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นโปรแกรมที่ริเริ่มและผลักดันจนเป็นผลสำเร็จโดย รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ  มีนิสิตใหม่และเก่ารวมกันกว่า 300 คน  ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็นชมรม มีกิจกรรมต่อเนื่อง นอกจากที่จุฬาฯ มีการจัดสอนเป็นโปรแกรมระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและที่นี่มหาวิทยาลัยบูรพา  มีโปรแกรมปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบูรพา  เรามาจัดงานในวันนี้ฉลองครบรอบ 10 ปี โปรแกรมปริญญาโท และเริ่มเปิดปริญญาเอก   โปรแกรมปริญญาเอกสาขาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์  และเป็นวิชาระดับปริญญาเอก  สำนักเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

          แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองมีส่วนช่วยทำให้สังคมไทยตระหนักว่า  มีการเอารัดเอาเปรียบ  และความแตกต่างอย่างมากในรายได้และทรัพย์สิน ในประเทศของเรา  และประเทศเราทั้งประเทศก็ถูกเอาเปรียบโดยประเทศมหาอำนาจ  สำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนมองปรากฎการณ์ในสังคมเป็นระบบ  เป็นโครงสร้าง ทั้งทรัพยากร เทคโนโลยี  และระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม คือชนชั้นและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น  รัฐและวัฒนธรรม  ประกอบรวมกันเป็นระบบสังคมเศรษฐกิจ ไม่แยกเรื่องเศรษฐกิจออกมาจากสังคม การเมือง และวัฒนธรรม และศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์  สังคมเศรษฐกิจที่เป็นมา  ที่จะเป็นไปและควรจะให้เป็นไป  อีกประการหนึ่ง  ให้ความสำคัญกับผู้คนธรรมดาสามัญ  มีจินตนาการถึงและเชื่อมั่นว่า จะมีสังคมไทยอนาคตที่ผู้คนทั่วไปจะมีชีวิตที่ดีสมบูรณ์ได้  แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นกระแสความคิดที่มีอิทธิพลและเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ของขบวนการทางสังคมในประเทศไทย  โดยเฉพาะขบวนการภาคประชาชนองค์กรพัฒนาเอกชน  และองค์กรในท้องถิ่นและภูมิภาค

          ผมได้บรรยายประวัติที่ผ่านมาของแนวคิดและผลงานของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในเมืองไทย  ณ จุดนี้ไปสู่อนาคต  เส้นทางของแนวคิดของสำนักนี้หรือสาขาวิชานี้ที่น่าจะเกิดขึ้นและสมาชิกของแนวคิดอาจช่วยพลักดันให้เกิดขึ้น  ผมคิดว่า  มีอย่างน้อย 4 ประการ คือ:

 

 1).เน้นสนใจวัฒนธรรมให้มากขึ้น  วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองปัจจุบันเน้นที่เศรษฐกิจ ชนชั้น และรัฐ ควรสนใจเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งความเชื่อศาสนาและศิลปะ บทบาทของวัฒนธรรมต่อระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่  เมื่อคนเราเจริญขึ้นพ้นจากเพียงเรื่องทำมาหากิน  เราจะสนใจมากขึ้น  เรื่องคุณค่าความหมาย ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์  จากเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องวัตถุอยู่มาก ไปสู่เรื่องนามธรรม  อีกทั้งวัฒนธรรมเป็นวงเขตที่ไม่ต้องใช้อำนาจ  เป็นเรื่องการจูงใจ สมัครใจ และประทับใจ

               การศึกษาวัฒนธรรมของเศรษฐศาสตร์การเมืองจะต่างจากการศึกษาวัฒนธรรมแบบเดิม คือเราจะศึกษาวัฒนธรรมโดยสัมพันธ์กับการเมืองและการผลิต  ไม่ใช่วัฒนธรรมที่เป็นแต่เรื่องสวยงาม  ลอยออกจากสังคม  แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมที่เราศึกษาและเน้น  มีโลกอุดมคติเป็นศักยภาพเป็นหน่ออยู่ภายใน เป็นยูโทเปียของสังคม  ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจต่อผู้คน  โดยเฉพาะเยาวชน

               โลกนี้มีสังคมมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมต่างกันสังคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง  ควรเน้นความสำคัญของวัฒนธรรม ไม่ใช่มีกฎเศรษฐศาสตร์อันเดียว เศรษฐศาสตร์การเมืองเพิ่มเติมจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับเรื่องอำนาจ  ขณะเดียวกันก็ควรให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าหรือวัฒนธรรมด้วย จะเข้าใจสังคมเศรษฐกิจแต่ละแห่งได้ดี  ก็ควรต้องเข้าใจสังคมนั้นในมิติวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย  ข้อนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจสำคัญเพิ่มเติมด้วยว่าการเป็นสมัยใหม่มีได้หลายเส้นทาง  เพราะความแตกต่างของวัฒนธรรม  ไม่ใช่มีแต่เส้นทางแบบตะวันตกเท่านั้น ไทยเราคงจะและควรจะให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัวและชุมชน จิตวิญญาณนี้เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมของเรา ขณะที่ทางตะวันตกให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชน

          ณ เวลาปัจจุบันที่จีนและเอเชียมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ  เราควรรับรู้วัฒนธรรมตะวันออกให้เต็มที่  และตระหนักถึงผลของวัฒนธรรมตะวันออกที่จะมีต่อวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออก  มีจุดตั้งอยู่ ณ วงขอบของจีนและอยู่ ณ จุดกลางระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้  ทั้งมีปฎิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมายาวนาน  ผลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมเศรษฐกิจไทยจะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อไป  ในเรื่องนี้เราควรกำหนดบทบาทตัวเราให้ดี  ทั้งรับและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันออกและทั้งทำบทบาทส่วนนำของวัฒนธรรมนี้  ไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ วัฒนธรรมมีความเข้มแข็ง  วัฒนธรรมความรักในครอบครัวและชุมชนน่าจะยกขึ้นมาชี้นำแนวทางของสังคม  ในแง่นี้ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาและความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของโลกตะวันออก   รวมถึงการเรียนรู้ภาษาของประเทศในภูมิภาคนี้

 

 

 

 

2) ให้ความสนใจโครงสร้างส่วนล่างสุดของรูปสังคมเศรษฐกิจ (socio-economic formation) คือธรรมชาติแวดล้อม นิเวศวิทยา (ecology) สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากร  หลังยุคอุตสาหกรรมมนุษย์คิดแต่จะกระทำต่อธรรมชาติ  แต่ธรรมชาติรวมถึงพืชและสัตว์ที่อยู่แวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงสำคัญมาก  เกิดปัญหาโลกร้อน  ป่าถูกทำลาย  เรื่องอย่างนี้เศรษฐศาสตร์การเมืองต้องสนใจมีพื้นที่ให้เรื่องธรรมชาติแวดล้อมทั้งที่เป็นวัตถุและชีวิตถึงที่สุดแล้ว  มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  แนวคิดสีเขียว Green น่าจะได้รับการพิจารณามากขึ้นในเศรษฐศาสตร์การเมือง  สังคมเศรษฐกิจนอกจากจะถูกกำกับโดยวัฒนธรรมแล้ว ยังดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง  คือภูมิศาสตร์และทรัพยากรด้วย   วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองในเมืองไทยจะต้องคิดถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติและภูมิศาสตร์ของไทย

 

 

 

 

3).ให้ความสนใจระบบแบบเครือข่าย.(network).สังคมสมัยใหม่หลังการปฎิวัติอุตสาหกรรม

          องค์กรจะมีแนวโน้มเป็นระบบสำนักงาน (bureaucracy) คือแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ  แล้วประสานงานเหล่านั้นภายใต้ลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชาส่วนกลาง  พยายามจัดตามเหตุตามผล  และเป็นกลไก  เปรียบองค์กรคล้ายเป็นเครื่องจักรลำดับขั้นการบังคับบัญชาทำให้ระบบสำนักงานโน้มเอียงสู่ระบบเผด็จการ  ผู้คนอึดอัดและหาทางออกโดยการสร้างเครือข่ายโดยสมัครใจ  และในระยะหลังสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สนับสนุนให้ทำเช่นนั้นได้ โลกสมัยปัจจุบันจึงเป็นโลกของเครือข่าย (network) คู่ขนานไปกับโลกของระบบสำนักงาน (bureaucracy) อีกทั้งเครือข่ายมีหลายมิติซ้อนกันได้ด้วย จึงมีพลังมากขึ้นเป็นลำดับแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองสนใจองค์กรแนวราบอยู่แล้ว  เพราะองค์กรชนิดนี้เกิดขึ้นโดยสมัครใจ เป็นของผู้คนสามัญและเป็นประชาธิปไตย วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองวิจารณ์องค์กรแนวตั้งมาตลอดไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งตามระเบียบประเพณีคือระบบศักดินา หรือแนวตั้งโดยการกระจุกตัวของทุน คือระบบทุนนิยม  ทั้งระบบศักดินาและระบบทุนนิยมเป็นแนวตั้งทั้งนั้น  ทั้งในแง่วัตถุและอำนาจเศรษฐศาสตร์การเมืองควรสนใจองค์กรแนวนอนให้มากขึ้นเช่นการจัดองค์การตามแนวคิดอนาธิปัตย์นิยม (anarchism) ชุมชน สมาคมของหัตถกร สหกรณ์ ฯลฯ การบริหารแบบเครือข่าย หรือที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เรียกว่า “เคออร์ดิก”  เน้นอุดมการณ์ ขวัญ และความมุ่งมั่นร่วมกันแต่การจัดองค์การยืดหยุ่น  กระจายอำนาจ  ใช้ความสมัครใจ  แต่ละบุคคลหรือแต่ละส่วนที่มาร่วมยังคงมีความเป็นอิสระ  และบางกิจกรรมก็มีลักษณะเป็นการรวมการจัดการเฉพาะกิจ  เมื่องานลุล่วงองค์กรกลางจะสลายตัวด้วยตัวเอง

 

 

 

4)..มโนภาพ (concept) สำคัญบางมโนภาพของเศรษฐศาสตร์การเมืองอาจต้องปรับปรุง มโนภาพรัฐ (state) มโนภาพชนชั้น (class) อาจต้องลดความสำคัญลง คณะกรรมการ Gulbenkian Commission ประกอบด้วยนักวิชาการสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์นานาชาติ 10 คน ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ Immanuel Wallerstein ได้มีข้อเสนอนี้ในหนังสือ Open the Social Sciences(1996)

 

          ในความเห็นของคณะกรรมการฯ วิชาสังคมศาสตร์ที่ผ่านมารวมศูนย์ที่รัฐ  ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง  แต่เดี๋ยวนี้หน่วยต่างๆของสังคมมีชีวิตและมีจิตสำนึกมากขึ้นแล้ว  นับวันหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ท้องถิ่น เขตเศรษฐกิจวัฒนธรรม ภูมิภาค ฯลฯ น่าจะมีความสำคัญมากขึ้นคณะกรรมการฯ บอกว่า ไม่ควรเชื่อไปเลยง่ายๆว่า รัฐเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และอาจไม่ควรคิดว่า รัฐเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในสังคม  คำกล่าวที่แพร่หลายในปัจจุบัน “think globally, act locally”  ก็เห็นได้แล้วว่า  ก้าวข้ามรัฐไปแล้วตัดเอารัฐออกไปแล้ว  การคิดจะปฎิรูปต่างๆ ควรพึ่งตัวเองและพึ่งพากันเอง  มากกว่าพึ่งรัฐ  ยกตัวอย่างเมืองไทยเรื่องเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรม  ก็เช่น เขตลุ่มแม่น้ำโขงโยงภาคอีสานและลาว  หรือทางเหนือ  เชียงใหม่-เชียงตุง-เชียงรุ้ง  ก็อยู่เขตวัฒนธรรมเดียวกัน  เรื่องภูมิภาคการเปิดอาเซียนจะทำให้การคิดข้ามรัฐสำคัญมากขึ้นผมคิดว่าวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองในอนาคตคงจะต้องให้ความสำคัญกับรัฐหรือการรวมกันทางการเมืองการปกครองลดลง  และให้ความสำคัญกับหน่วยที่เกิดจากการรวมกันในมิติอื่น  คือมิติสังคมวัฒนธรรม คือชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนในลักษณะอื่น ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ให้มากขึ้น

 

          อีกมโนภาพหนึ่งคือชนชั้น (class) แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองในอดีต  มองการครอบงำและการขูดรีดเฉพาะทางชนชั้น  เป็นการมองในแง่เศรษฐกิจมากเกินไป ควรมองการกดขี่ขูดรีดในมิติอื่นด้วย  เช่น เพศ อายุ อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษาและบ้านเกิดเมืองนอน ฯลฯ

 

          หลังจากที่คณะของเราได้ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่แนวคิดซึ่งสนับสนุนด้วยผลงานวิจัย ต่อเนื่องมาประมาณ 40 ปี และสืบทอดแนวคิดมาจากบรรพชนนักคิดชาวไทยมากว่า 100 ปี แนวคิดของคณะของเราขณะนี้มีที่ยืนมั่นคงในวงวิชาการไทย  มีพื้นที่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

 

          ในวงการปัญญาชนและกระแสความคิดในสังคมแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นแนวคิดที่โต้แย้งแนวคิดศักดินา  และดำรงอยู่คู่ขนานทัดทาน และโต้แย้งแนวคิดทุนนิยมสุดโต่ง  แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองพยายามให้ความสำคัญเต็มที่กับการทำมาหากินของผู้คนธรรมดาสามัญ กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ วัฒนธรรม และแกนเวลาพื้นเมือง ณ จุดยืนที่อยู่ในบริบทของภูมิภาคและของโลก

 

          ในอนาคตสำนักของเราควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับวัฒนธรรมและความเชื่อ  ธรรมชาตินิเวศแวดล้อมระบบเครือข่าย  มโนภาพชุมชน ท้องถิ่น  ภูมิภาค ฯลฯ

 

          สำนักของเรา โดยเฉพาะคณะอาจารย์อาวุโสที่ระบุมาได้สร้างแนวคิดซึ่งสนับสนุนด้วยผลงานการค้นคว้า  มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว  ขณะนี้ก็อายุเกือบ 60 ปี หรือกว่า 60 ปีแล้ว  อนาคตของแนวคิดและของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง  ขอส่งมอบต่อให้ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะคือท่านอาจารย์และศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง  ขอให้ศึกษาค้นคว้า  สืบสานและยกระดับทางทฤษฎีมากยิ่งขึ้นกว่าช่วงรุ่นอายุผม  เพื่อทำความเข้าใจชีวิตและความใฝ่ฝันของชาวไทย  และช่วยกันผลักดันให้ความใฝ่ฝันนั้น  ปรากฎเป็นจริง

…………….

 

  *บทปาฐกถาพิเศษ การเสวนาวิชาการ “หนึ่งทศวรรษเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการ: จากวันนั้นถึงวันนี้ สู่ย่างก้าวในอนาคต” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2555 ณ หอประชุมหอศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพาตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดหวัดชลบุรี 20131บทปาฐกถานี้ปรับปรุงและเพิ่มจาก บทบรรยายต้อนรับนักศึกษาใหม่ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีต่างๆ

 

 

 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 507076เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท