ความดี ความงามที่ “คอรุม”


ทั้งหมดนี้เป็นความดี ความงามที่เกิดขึ้นที่คอรุม ความงามที่มาจากความเรียบง่าย เอื้อเฟื้อและแบ่งปัน บรรยากาศเช่นนี้ บางทีมันก็เชื้อเชิญให้แขกอยู่กันแบบเอื้อเฟื้อด้วย ความจริงนี้สัมผัสได้จากประสบการณ์ของฉันเอง

 

ความดี ความงามที่ “คอรุม”

เกศินี จุฑาวิจิตร


         “คอรุม” เป็นตำบลเล็กๆ ที่ไม่ได้แตกต่างจากอีกหลายๆ ตำบลในจังหวัดอุตรดิตถ์    แต่ความพิเศษของคอรุม คือ การมีผู้บริหารท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำและมีความมุ่งมั่น

         นายพจญ พูลด้วง เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม เป็นอยู่อย่างนั้นมาสี่สมัยแล้ว ยิ่งในช่วงสองสมัยหลังเรียกได้ว่าไม่มีคู่แข่งเอาเสียเลย   ฉันนั่งฟังประสบการณ์จากการบอกเล่าของเขาอยู่เงียบๆ รับรู้ได้ว่า กว่าจะเป็นตำบลศูนย์เรียนรู้หรือตำบลสุขภาวะในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาผ่านความงุนงงและสับสนมาแล้วเหมือนกัน...เหมือนกับทุกคนที่กำลังนั่งฟังในที่นั้น

         อย่างไรก็ตาม การมีผู้บริหารท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำและมีความมุ่งมั่น ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวของความสำเร็จ จากการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราพบว่าความสามัคคีและการมีจิตอาสาของบรรดาแกนนำชุมชน ชาวบ้านและพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ส่วนภาควิชาการที่เข้ามาทำหน้าที่หนุนเสริมเรื่ององค์ความรู้  ก็เข้ามาสอดรับและประสานกันอย่างกลมกลืน

         ตัวอย่างชัดเจนประการหนึ่ง คือ เมื่อ อบต.คิดที่จะทำโฮมสเตย์เพื่อรับรองแขกทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานนั้น    บ้านทุกหลังที่สมัครเข้ามาจะต้องได้รับการคัดเลือกก่อนว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่  บ้านใดที่ยังไม่เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องปรับปรุงใหม่  จากนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงก็ได้จัดอาจารย์โปรแกรมวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมมาอบรมให้ความรู้เรื่องงานบริการแก่เจ้าของบ้าน และจัดส่งนักศึกษามาให้ทดลองเป็นแขกเข้าพักอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าของบ้านที่ดีทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ

         การมีแขกเข้ามาศึกษาดูงานในฐานะที่เป็นตำบลศูนย์เรียนรู้ของ สสส.นั้น  ชุมชนมีแต่ได้กับได้

         เจ้าของบ้านได้ค่าที่พัก เกษตรกรได้ขายพืชผักและผลผลิต ฐานการเรียนรู้ได้ค่าตอบแทนวิทยากร กลุ่มแม่บ้านและคนขับรถรับจ้างมีงานทำ ชาวบ้านได้ขายของที่ระลึก ฯลฯ   ทุกเม็ดเงินที่ไหลเข้า คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

         เมื่อเศรษฐกิจในชุมชนไหลเวียน ภายใต้ความสามารถในการจัดการตนเอง ชุมชนก็ยิ่งเข้มแข็ง เพราะมีความเชื่อมโยงงานกันของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งยังมีกฎ กติกาในการอยู่ร่วมกัน เป็นกฎกติกาที่ทุกฝ่ายตกลง เห็นพ้องและยอมรับ เช่น เกษตรกรผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตโดยโรงเรียนข้าว,   กลุ่มแม่บ้านใช้น้ำตาลมะพร้าวในการทำขนม,  อบต. ใช้บริการอาหารและของว่างจากกลุ่มแม่บ้าน, อาหารกลางวันของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำมาจากผักปลอดสารของกลุ่มเกษตรกรรมผสมผสาน เป็นต้น

         ทั้งหมดนี้เป็นความดี ความงามที่เกิดขึ้นที่คอรุม ความงามที่มาจากความเรียบง่าย เอื้อเฟื้อและแบ่งปัน  บรรยากาศเช่นนี้ บางทีมันก็เชื้อเชิญให้แขกอยู่กันแบบเอื้อเฟื้อด้วย  ความจริงนี้สัมผัสได้จากประสบการณ์ของฉันเอง

         ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ริมน้ำน่าน ในขณะที่ทุกคนกำลังฟังการบรรยายสรุปจากกลุ่มออมทรัพย์ ฉันทอดสายตาเถลไถลออกนอกหน้าต่าง   ระดับน้ำลดลงแบบเดียวกับที่เห็นในข่าวยามเช้า   ปลาฝูงหนึ่งโดดดิ้นอยู่แด่วๆ ในปลักเลนที่กำลังแห้งขอด ถ้าน้ำจากแม่น้ำไม่ขึ้นและไม่พามันไปจากปลักนี้หรือถ้าฝนไม่ตก มันจะตายไหม ฉันคิดอยู่เงียบๆ แล้วกระซิบบอกใครบางคน    เพียงไม่ช้าก็เห็นอาจารย์เก่ง ครูสอนศิลปะ และอาจารย์ตู่ พยาบาลสาว พร้อมกับไกด์พื้นที่และนักศึกษาโปรแกรมวิชาสาธารณสุขชุมชน ถือถังน้ำ ปีนไต่ลงไปตามหินระเกะระกะและช่วยกันตักและจับลูกกุ้ง ลูกปลาน้อยๆ ตัวเป็นๆ โยนใส่แม่น้ำ... คล้ายกับเด็กกำลังเล่นซนกับโคลนเลน แต่พวกเขากำลัง “เอื้อเฟื้อ” เพื่อนร่วมโลก  และเมื่อเสร็จภารกิจการกู้ชีพ พวกเขาก็ปีนป่ายกลับขึ้นมาด้วยใบหน้าที่เปื้อนความสุข…ต่างกับมือและเสื้อผ้าที่เปื้อนโคลนมอมแมม... ฉันอดที่จะอมยิ้มไม่ได้

         อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่บ้านพัก   บ้านนี้เป็นโฮมสเตย์ของ “จ่าเหนกกับครูแมว” ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน 5 หลัง  มีแขกพักอยู่ประมาณหลังละ 3-5 คน เกือบทุกหลังมีเครื่องปรับอากาศ แต่จะเปิดเครื่องพร้อมกันทั้งหมดไม่ได้เพราะกำลังไฟไม่เพียงพอ    ในคืนแรกบ้านที่อยู่ท้ายๆ ปลายสายจึงต้องใช้พัดลมแทน    และแม้ว่าจะเปิดหน้าต่างทุกบานแล้ว ลมร้อนก็ยังวนเวียนอยู่อย่างนั้น

         คืนต่อมา ใครคนหนึ่งของบ้านปลายสายร้องขอ...ทีเล่นทีจริง  อีกบ้านหนึ่งที่อยู่ต้นสายก็พร้อมใจขานรับ ไม่ยอมเปิดแอร์เพื่อการแบ่งปัน !!  ไม่ว่าจะเป็นเพราะเห็นแก่เพื่อนหรือเห็นแก่ธรรมชาติก็ตามที  แต่ความงดงามก็เกิดขึ้นแล้ว

         ทุกเช้าฉันมักจะมานั่งอยู่บนระเบียงที่ยื่นออกไปในบ่อใหญ่ พร้อมกับหนังสือเล่มโปรดและละเลียดกระไอกรุ่นกาแฟร้อน... เห็นความสุขอยู่บางๆ ในยามเช้าที่คอรุม

          

หมายเลขบันทึก: 506822เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท