หลังประกันแห่งความเชื่อถือ


สถานีความคิด :

 

หลักประกันแห่งความเชื่อถือ

  

 

 

                เมื่อหลายปีก่อน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้ล่วงลับ ได้กล่าวประโยคอมตะเอาไว้ว่า ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด แต่เมื่อพูดออกไปแล้ว คำพูดจะเป็นนายของเรา เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของคำพูดและมีความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเองมากยิ่งขึ้น

            “คำพูด” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นตรงตามเจตนารมณ์ที่แต่ละคนต้องการจะสื่อสารออกไป ซึ่งถ้าหากปราศจากคำพูดเสียแล้ว บางทีการสื่อสารหรือทำความเข้าใจกับคนอื่น ก็มิอาจจะบรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการได้

            “คำพูดนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกันแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมอีกด้วย  ซึ่งจะทำหน้าที่คอยควบคุมพฤติกรรมการพูดจาของมนุษย์ให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าใครใช้คำพูดถูกต้อง ก็จะได้รับการยอมรับนับถือหรือเป็นที่น่าศรัทธาเชื่อถือ  ในขณะเดียวกัน ถ้าหากใครใช้คำพูดไปในทางที่ไม่ชอบ  ก็อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นกับตนเองได้เช่นกัน  ซึ่งจะส่งผลทำให้ขาดการยอมรับหรือเชื่อถือจากคนอื่นได้

            สำหรับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ แล้ว ดูเหมือนว่าโลกธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็ปรารถนาอยากจะได้และอยากจะมี  และไม่ใช่จะมีเพียงแค่นี้เท่านั้น หากแต่ยังอยากให้ใครต่อใครรัก ยอมรับ นับถือ ศรัทธา เชื่อถือ และไว้วางใจในตนเองอีกด้วย ซึ่งก็มีบางคนเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่อีกหลายๆ คน  กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นแต่อย่างใด

            สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราไม่ได้รับการยอมรับหรือไว้วางใจจากคนอื่นนั้น ก็คือ “คำพูดนี่เอง ซึ่งบางครั้งอาจชอบโกหก ชอบพูดเท็จ ขาดความจริงใจ หรือหลอกลวงคนอื่น หรือบางครั้งอาจจะเกิดจากการที่คนเราชอบพูดคำหยาบ ชอบการพูดส่อเสียด และพูดด่าคนอื่นเจ็บๆ อยู่บ่อยๆ เลยเป็นสาเหตุทำให้คนอื่นไม่ค่อยให้ความเคารพนับถือ เชื่อถือหรือไว้วางใจเท่าที่ควร รวมทั้งสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วย

            การสร้างหลักประกันทางด้านความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นสิ่งที่คนเราควรจะศึกษาเรียนรู้และนำมาใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด ซึ่งมิใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย ถ้าหากว่าแต่ละคนมีความยินยอมและยินดีที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะสร้างหลักประกันทางความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับตนเอง

            หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เรื่อง “สัจจะ” ดูเหมือนจะเป็นคำสอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีการดำรงตนอยู่ในสังคมของมวลมนุษย์ และเป็นหลักธรรมที่จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติมีหลักประกันทางความเชื่อถือ ช่วยสร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้เกิดกับผู้ปฏิบัติอยู่เสมอ

            “สัจจะ” ในที่นี่ แปลว่า  ความจริง,ความซื่อสัตย์,ความซื่อตรง และความจริงใจ  ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากคนเราอยากจะให้คนอื่นมีความเชื่อใจ นับถือ ศรัทธา และไว้วางใจในตัวเรา เราก็ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ มีความซื่อตรง พูดจริงทำจริง ไม่พูดเท็จ และมีความจริงใจต่อคนอื่นอยู่เสมอ แล้วจะสามารถทำให้คนอื่นมีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวเราได้ เพราะความจริงใจนั้น ได้ชื่อว่าเป็นสายใยแห่งมิตรภาพและความเชื่อถือ

            สังคมใดก็ตามที่สมาชิกในสังคม พากันประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่องสัจจะอยู่เสมอ สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีแต่ความร่มรื่น มีความเบิกบาน ไร้ความหวาดระแวง มีความรักสามัคคี มีความจริงใจ  และอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติและมีสันติภาพตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างก็ปรารถนาและวาดหวังอยากจะให้มีมากที่สุด

            อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในยุคปัจจุบันนี้เราจะหาสังคมแห่งอุดมคติอย่างนั้นไม่ได้เลยสักแห่ง  เพราะหาคนที่จะประพฤติตามหลักการแห่งสัจจะได้น้อย  ถึงแม้ว่ายุคนี้วิทยาการหรือเทคโนโลยีจะเจริญขึ้นก็ตามที หากแต่จิตใจของมนุษย์นั้นกลับมีแต่ความเสื่อมทรุด และมิได้พัฒนาหรือเจริญขึ้นเหมือนกับเทคโนโลยีแต่อย่างใด

            บ่อยครั้งที่เราจะมักได้พบกับนักการเมืองขี้โกงหรือกลิ้งกลอกปลิ้นปล้อน ข้าราชการจอมทุจริต  พ่อค้าที่เห็นเอาเปรียบ และเพื่อนทรยศผู้ปราศจากความจริงใจ ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ ล้วนเกิดมาจากการที่คนเราขาดความจริงใจต่อกัน มุ่งแต่จะเอาเปรียบกันเพียงอย่างเดียว จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการพูดเท็จหรือการโกหกกันขึ้นมา

            การพูดเท็จหรือการโกหก มิใช่จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเฉพาะแก่ตนเองเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม หรือประเทศชาติอีกด้วย ถ้าหากว่าแต่ละคนต่างก็ขาดความจริงใจและคอยแต่จะหลอกลวงกันอยู่ตลอดเวลา     โดยมิเคยเลยที่จะพูดความจริงหรือพูดสิ่งที่ดีๆต่อกัน

            ฉะนั้น คำพูดที่ประกอบด้วยสัจจะจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะสร้างหลักประกันแห่งความเชื่อถือให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองได้ ซึ่งไม่ใช่จะเพียงมีเพียงแค่นี้ หากแต่ยังจะเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นและความเจริญให้เกิดแก่สังคมอีกด้วย

            คุณครับ…..วันนี้คุณพูดความจริงกับคนรอบข้างบ้างหรือยังเอ่ย?

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506821เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รักษาสัจจะใกล้กับรักษาใจมากที่สุดกว่าศีลข้ออื่นๆ จึงเป็นเรื่องยาก

สวัสดีครับ คุณ ฤทธิไกร มหาสารคาม

 

หากรักษาใจได้แล้ว ทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปนะครับ

หากเรามีสัจจะต่อตนเอง ก็จะทำให้เรามีสัจจะต่อผู้อื่นด้วยเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท