Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษา ลืนหอม สายฟ้า คนไร้สัญชาติถือบัตรสีฟ้าแห่งเวียงแหง : เธอมีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตเพื่อออกมาศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรหรือไม่ ?


ปัจจุบัน นางสาวลื่นหอม สายฟ้า จบการศึกษาแล้ว แต่ก่อนที่จะจบการศึกษา เธอก็ได้รับอนุญาตให้มีสัญชาติไทยโดยคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ในวันนี้ เธอทำงานเพื่อ IRC และยังดูแลคนไร้รัฐไร้สัญชาติต่อไป

กรณีศึกษา ลืนหอม สายฟ้า คนไร้สัญชาติถือบัตรสีฟ้าแห่งเวียงแหง[1]

: เธอมีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตเพื่อออกมาศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรหรือไม่ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[2]

เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

--------------------------------------------------------------------------------------

นางสาวลืนหอม สายฟ้า เกิดที่เวียงแหงเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ จากนายจ๋ามใหญ่และนางยิ่งหนุ่มซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติเชื้อชาติไทยใหญ่จากแสนหวีที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนลืนหอมเกิด รัฐบาลไทยในสมัยที่บิดามารดาของลืนหอมเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเข้าใจดีว่า การส่งพวกเขาทั้งสองกลับไปในประเทศพม่า ก็คือ การส่งเขาทั้งสองไปสู่ความตาย และการกระทำเช่นนั้นก็จะนำประเทศไทยตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้พวกเขาจะเดินทางเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมาย แต่เพราะพวกเขาก็เสี่ยงภัยความตายที่จะอยู่ในพม่า เขามีสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อรัฐบาลไทยในสมัยนั้นเคารพในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่มีการส่งพวกเขากลับไปในพม่า และยังมีนโยบายให้สิทธิอาศัยชั่วคราวที่เวียงแหง

ครอบครัวของลืนหอมในวันนี้จึงมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยประเภทอยู่ชั่วคราว (ทร.๑๓) และแต่ละคนนั้นจึงถือบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยที่ออกโดยกรมการปกครองซึ่งมีสีฟ้าและมีชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง”

นอกจากนั้น โดยพิจารณาเห็นว่า บุคคลบนพื้นที่สูงที่เข้ามาในไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ มีธรรมชาติเป็นคนไร้สัญชาติและมีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ จึงมีมติกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ให้สถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิอาศัยถาวรแก่บุคคลในสถานการณ์เดียวกับบิดามารดาของลืนหอม และให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุคคลในสถานการณ์เดียวกับลืนหอม

ลืนหอมได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ลืนหอมเรียนอยู่ชั้น ม.๔ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ แต่ในวันนี้ ลืนหอมมีสถานะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เธอก็ยังคงไม่มีสัญชาติไทยและเธอก็ยังมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น “คนต่างด้าวที่เกิดในไทยแต่ถูกถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย[3]

โดยที่นโยบายเกี่ยวกับการอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยออกนอกพื้นที่เพื่อศึกษายังไม่ชัดเจนนักในยุคก่อนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เธอจึงต้องหลบหนีออกมาศึกษาต่อที่พิษณุโลก เพราะเธอไม่อาจขอรับอนุญาตออกมาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ตามหลักสูตรซึ่งใช้เวลา ๕ ปี ตั้งแต่ ปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๒

ในวันนี้ คงมีความชัดเจนเสียทีในเรื่องสิทธิของลืนหอมที่จะออกนอกพื้นที่ที่อาศัยอยู่เพื่อมาศึกษาต่อ ทั้งนี้ เพราะคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ได้เห็นชอบที่จะให้มีการอนุญาตและอำนวยความสะดวกให้เด็กและเยาวชนที่มีข้อกำหนดเฉพาะระเบียบปฏิบัติหรือมีกฎหมายควบคุมเฉพาะให้จำกัดพื้นที่อยู่อาศัยสามารถเดินทางไปศึกษาได้เป็นระยะเวลาตามหลักสูตรระดับนั้น ๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว ยกเว้นผู้หนีภัยจากการสู้รบและบุคคลในความห่วงใย (POC)  

ดังนั้น อาจารย์แหววจึงแนะนำให้ลืนหอมกลับไปร้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่มาศึกษาที่พิษณุโลกหลังจากสอบไล่ปลายภาคเสร็จสิ้น โดยขอให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรออกหนังสือรับรองสถานภาพความเป็นนักศึกษาของลืนหอม โดยหลักการ ลืนหอมจะต้องได้รับอนุญาตจากอำเภอเวียงแหงให้ออกมาศึกษานอกเวียงแหงจนจบการศึกษาใช่ไหมคะ เรามาดูกันนะคะว่า กรณีศึกษานี้จะเป็นผลอย่างไร ?

--------

โปรดดู

--------

มติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เรื่อง  ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา  พ.ศ. ….. (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย)

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=166&d_id=166

 

 


[1] ปัจจุบัน นางสาวลื่นหอม สายฟ้า จบการศึกษาแล้ว แต่ก่อนที่จะจบการศึกษา เธอก็ได้รับอนุญาตให้มีสัญชาติไทยโดยคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ในวันนี้ เธอทำงานเพื่อ IRC และยังดูแลคนไร้รัฐไร้สัญชาติต่อไป

[2] รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะที่เกิดปัญหา ทำหน้าที่ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติตามคำสั่งคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

[3] โดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

 

หมายเลขบันทึก: 506610เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 03:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท