Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานายม่อเซ : การเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิทางการศึกษาของคนไร้สัญชาติ


ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และ อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ข้อเท็จจริง

นายม่อเซเกิดในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ จากนางนอเมี๊ยะและนายจอเมี๊ยะ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ได้เข้ามาในประเทศไทยทางด้านอำเภอสบเมย

ต่อมาได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางพอมู ซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศพม่าเช่นเดียวกัน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางพอมูเกิดเมื่อ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ จากนางจีคึ๊พอและนายมอกร่อ

ม่อเซและพอมูมีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ (๑) นายสมพงษ์ ซึ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ (๒) นายคือเซ ซึ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ (๓) นายเซดาเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ (๔) เด็กชายเจตน์ ซึ่งเกิดโรงพยาบาลแม่สะเรียงเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ และ (๕) เด็กชายบุญชัย ซึ่งเกิดที่โรงพยาบาลแม่สะเรียงเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ม่อเซ่และพอมู ตลอดจนบุตรชาย ๓ คนแรกไม่ได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยบนโลก บุคคลทั้งห้าคนเพียงได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ ทั้งนี้ สำนักทะเบียนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้บันทึกบุคคลทั้งห้าในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยประเภท "ทะเบียนประวัติผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า” เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๗ และต่อมา ก็ได้บันทึกบุคคลทั้งหมดในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓)

ส่วนบุตรคนที่ ๔ และ ๕ ของม่อเซ่และพอมูนั้น เกิด ณ โรงพยาบาลแม่สะเรียง และได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่เกิด

บุคคลในครอบครัวนี้ทำงานแล้ว ยกเว้น เด็กชายเจตน์ และเด็กชายบุญชัย ยังเรียนหนังสืออยู่

เอกสารทางทะเบียนราษฎรไทยที่ออกโดยรัฐบาลไทยก่อน พ.ศ.๒๕๔๗ บันทึกว่า นางพอมูและนายม่อเซ ตลอดจนบุตรว่า เป็นคนมีสัญชาติกะเหรี่ยง แต่เอกสารทะเบียนราษฎรไทยที่ออกโดยรัฐบาลไทยในสมัยปัจจุบันเรียกพวกเขาว่า “บุคคลไม่มีสัญชาติไทย” แต่ไม่ได้ระบุสัญชาติของพวกเขา ดังจะเห็นว่า พวกเขาถือบัตรประจำตัวที่กรมการปกครองออกให้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ซึ่งบัตรนี้ถูกเรียกว่า “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยประเภทผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (มีถิ่นที่อยู่ถาวร)” 

คำถาม

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดกำหนดสิทธิทางการศึกษาของเด็กชายเจตน์ และเด็กชายบุญชัย ? โดยกฎหมายดังกล่าว เด็กทั้งสองมีสิทธิทางการศึกษาหรือไม่ ? เพียงใด ? 

แนวคำตอบ

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน แม้จะมีลักษณะระหว่างประเทศ ก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอื่น เรื่องของสิทธิการศึกษาเป็นเรื่องที่กฎหมายมหาชนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะให้การศึกษาแก่มนุษย์ที่ปรากฏตัวบนดินแดนของตน

กฎหมายไทยในกรณีนี้ ย่อมได้แก่  มาตรา ๘๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งโดยกฎหมายดังกล่าว รับรองสิทธิทางการศึกษาของมนุษย์ทุกคน โดยที่ผู้ที่ประสงค์จะศึกษานั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ก็ได้ จะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกหรือผิด ก็ได้

ขอให้สังเกตว่า ในเรื่องสิทธิทางการศึกษานั้น ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่จะมาตัดสิทธิทางการศึกษาของมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญหลายฉบับที่รับรองสิทธิทางการศึกษาว่า เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างเด็ดขาด ซึ่งในปัจจุบันมักเรียกหลักสิทธิมนุษยชนทางการศึกษาว่าเป็น “Education for All” จะเห็นว่า สิทธิทางการศึกษาจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกกำหนดในเอกสารสำคัญที่ผูกพันประเทศไทย กล่าวคือ (๑) ข้อ ๒๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights or UDHR) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑  ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑) (๒) ข้อ ๒๘ และ ๒๙ แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (International Convention on Rights of Child or ICRC) ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๙๒/พ.ศ.๒๕๓๕ (๓) ข้อ ๑๓ และ ๑๔ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on  economic, social and cultural rights or ICESCR) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙  ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๙๙/พ.ศ.๒๕๔๒ อันหมายความ การให้การศึกษาแก่มนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น “หน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” สำหรับประเทศไทย

แม้เจตน์และบุญชัยตามข้อเท็จจริงจะยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวก็ตาม และแม้จะถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องของการใช้สิทธิทางการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายมหาชนประเภทสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กรณีก็ย่อมจะเป็นไปตามกฎหมายไทยข้างต้น สิทธิทางการศึกษานี้ย่อมหมายถึง (๑) สิทธิที่จะเข้าสู่ความเป็นนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษา (๒) สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในสถาบันการศึกษา อาทิ สิทธิในหลักประกันการศึกษา (๓) สิทธิที่จะได้รับวุฒิการศึกษา และ (๔) สิทธิในการทำงานตามวุฒิการศึกษา

ดังนั้น เจตน์และบุญชัยจึงไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิดังกล่าว หรือแม้ไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุที่เป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติได้เลย การปฏิเสธสิทธิทางศึกษาย่อมย่อมเป็นการละเมิดทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ และหากมีการละเมิด ก็อาจร้องเรียนต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหากยังมีการละเมิดต่อไป ก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไทยได้ และในท้ายที่สุด อาจมีการร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนที่รักษาการตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น

หมายเลขบันทึก: 506401เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2012 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท