Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาบริษัททรานส์อาเซียน จำกัด : สัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ


ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ข้อเท็จจริง

บริษัททรานส์อาเซียน จำกัด ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับจัดการขนส่งผู้โดยสารทางถนน จดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยมีสำนักงานตามตราสารจัดตั้งที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย บริษัทนี้จะประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ลาว และเวียดนาม

ปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปว่า มีการจัดการบริหารบริษัททรานส์อาเซียน และมีสำนักงานที่แท้จริงตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ โดยทุนของบริษัท ร้อยละ ๙๐ มาจากบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายสิงคโปร์ และมีผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ โดยมีนางสาวสายพิรุณ คนสัญชาติไทย ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัททรานอาเซียน (ประเทศไทย) จำกัด ประสงค์ที่จะทำสัญญาเช่าที่ดินในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวของนายตะวัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างสถานีขนส่งบนที่ดินดังกล่าว สัญญาฉบับดังกล่าวจะลงนามกัน ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส ในประเทศสิงคโปร์

ข้อเท็จจริงมีต่อไปว่า นายตะวันเป็น คนสัญชาติลาวซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ นายตะวันยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ณ เขตทวีวัฒนา ประเทศไทย

------------

คำถามที่ ๑

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัททรานส์อาเซียน จำกัดและนายตะวันมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศใดบ้าง  ? เพราะเหตุใด ? [1]

--------------

แนวคำตอบ

--------------

โดยพิจารณาธรรมชาติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐ (Sovereinty of State) นิติสัมพันธ์อาจมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริง (Real Connecting Points) กับรัฐใดรัฐหนึ่งได้ภายใต้ ๕ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก ก็คือ หากบุคคลซึ่งเป็นประธานแห่งนิติสัมพันธ์มีสัญชาติของรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล

สถานการณ์ที่สอง ก็คือ หากบุคคลซึ่งเป็นประธานแห่งนิติสัมพันธ์มีภูมิลำเนาของรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล

สถานการณ์ที่สาม ก็คือ หากนิติสัมพันธ์เกิดบนดินแดนของรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของนิติสัมพันธ์

สถานการณ์สี่ ก็คือ หากนิติสัมพันธ์มีผลบนดินแดนของรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่นิติสัมพันธ์มีผล

สถานการณ์ห้า ก็คือ หากทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติสัมพันธ์ตั้งอยู่บนดินแดนของรัฐ รัฐนั้นก็มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่ทรัพย์สินตั้งอยู่

ดังนั้น หากนิติสัมพันธ์ใดมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายรัฐ นิติสัมพันธ์นั้นจะมีลักษณะระหว่างประเทศแบบแท้ แต่หากนิติสัมพันธ์ใดมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเดียว นิติสัมพันธ์นั้นก็มีลักษณะภายใน อันหมายความว่า นิติสัมพันธ์นั้นอาจมีองค์ประกอบไทย หรืออาจมีองค์ประกอบต่างด้าว ซึ่งจะทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีลักษณะภายในนี้มีลักษณะระหว่างประเทศแบบเทียม เมื่อต้องปรากฏตัวต่อการพิจารณาของรัฐต่างประเทศ

จากการพิจารณาข้อเท็จจริงของสัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัททรานส์อาเซียน จำกัดและนายตะวัน เราพบว่า สัญญาฉบับนี้มีจุดเกาะเกี่ยวกับสามประเทศดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

ในประการแรก สัญญานี้ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งในสัญญาเช่าตามข้อเท็จจริง บริษัทนีมีสัญชาติไทยเพราะจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายไทย (๒) ประเทศไทยยังมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาย่อยตามกฎหมายเอกชน ทั้งนี้ เพราะบริษัทนี้มีสำนักงานตามตราสารจัดตั้งอยู่ ณ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และ (๓) ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและตามกฎหมายมหาชนของนายตะวัน ทั้งนี้ เพราะว่า นายตะวันตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย จึงฟังได้ว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทย นอกจากนั้น นายตะวันยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ณ เขตทวีวัฒนา ประเทศไทย จึงฟังได้ว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทย

ในประการที่สอง สัญญานี้ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์ใน ๔ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ประเทศสิงคโปร์มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาหลักของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาในสัญญาเช่า ทั้งนี้ เพราะการจัดการบริหารบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัดทำในประเทศสิงคโปร์ อันทำให้สำนักงานที่แท้จริงตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ (๒) ประเทศสิงคโปร์มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของผู้ถือหุ้นข้างมากของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด ทั้งนี้ เพราะร้อยละ ๙๐ ทุนของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัดถือโดยบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์เพราะจดทะเบียนตามกฎหมายสิงคโปร์ และสำนักงานใหญ่ของบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ก็ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จึงทำให้บริษัทมีสิทธิในสัญชาติสิงคโปร์ทั้งในสถานการณ์ทั่วไป และในสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติในนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ และ (๓) ประเทศสิงคโปร์มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาหลักของบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของบริษัทคู่สัญญาในสัญญาเช่า ทั้งนี้ เพราะสำนักงานใหญ่ของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัดตั้งอยู่ ณ ประเทศสิงคโปร์ (๔) ประเทศสิงคโปร์มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเกี่ยวข้องกับทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่า นั่นก็คือ ประเทศนี้เป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดนิติสัมพันธ์ และยังเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่นิติสัมพันธ์มีผล

ในประการที่สาม สัญญานี้ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่ตั้งของทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของสัญญาเช่าตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพราะที่ดินเพื่อสร้างสถานีขนส่งตั้งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว (๒) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของสัญญาเช่าตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพราะนายตะวันมีสถานะเป็นคนสัญชาติลาว

โดยสรุป สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัททรานส์อาเซียน จำกัดและนายตะวันจึงมีจุดเกาะเกี่ยว “ที่แท้จริง” กับ ๓ ประเทศ กล่าวคือ (๑) ประเทศไทย (๒) ประเทศสิงคโปร์ และ (๓) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว ดังเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด

------------

คำถามที่ ๒

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า บริษัท ทรานอาเซียน จำกัดมีเสรีภาพที่จะลงทุนประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนในประเทศไทยโดยมีข้อจำกัดหรือไม่ ? อย่างใด ? เพราะเหตุใด ? [2]

-------------

แนวคำตอบ

------------

เรื่องของเสรีภาพที่จะลงทุนประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนในประเทศไทยเป็นประเด็นในการกำหนดสิทธิในการประกอบธุรกิจ และเมื่อปัญหาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยเป็นปัญหานิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงจะต้องพิจารณาตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีเว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

เมื่อการลงทุนตามข้อเท็จจริงจะเกิดขึ้นในประเทศไทย กฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ ก็คือ กฎหมายของรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่จะมีการลงทุน ในปัจจุบัน กฎหมายไทยที่ใช้กฎหมายสิทธิในการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศไทย ก็คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒

โดยหลักกฎหมายไทยดังปรากฏใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ คนต่างด้าวจะต้องขออนุญาตทำงาน และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการให้อนุญาตย่อมเป็นไปตามกฎหมายนี้ ในขณะที่คนสัญชาติไทยจะไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพที่จะลงทุนประกอบธุรกิจที่กำหนดในกฎหมายนี้แต่อย่างใด แต่อาจตกอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นที่กำหนดเงื่อนไขทางจริยธรรมหรือทางเทคนิคอื่น

ประเด็นจึงต้องมาพิจารณาว่า บริษัท ทรานอาเซียน จำกัดมีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” หรือ “คนสัญชาติไทย”

เราพบว่า มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ บัญญัติว่า

“คนต่างด้าว” หมายความว่า

(๑)

บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

(๒)

นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

(๓)

นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้

 

(ก)

นิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น

 

(ข)

ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลตาม (๑)

(๔)

นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น”

 

ดังนั้น จะเห็นว่า เมื่อบริษัท ทรานอาเซียน จำกัดมีทุนของบริษัท ร้อยละ ๙๐ มาจากบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายสิงคโปร์ และมีผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ บริษัทนี้จึงถูกถือเป็น “คนต่างด้าว” โดยมาตรา ๔ (๓) (ก) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ ดังกล่าวถึงข้างต้น เมื่อบริษัทนี้มีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” บริษัทนี้ก็จะถูกจำกัดเสรีภาพที่จะลงทุนประกอบธุรกิจโดย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจระหว่างบุคคลสัญชาติของประเทศสมาชิกกฎบัตรอาเซียน จึงเป็นธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากกรอบความตกลงที่กำลังพัฒนาขึ้นภายใต้กรอบอาเซียน เพื่อที่จะส่งเสริมการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของบริการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกอาเซียนประสงค์ที่จะลดอุปสรรคทางการค้า ความตกลงภายใต้กรอบของเสาหลัก AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งในสามของประชาคมอาเซียนจึงอาจมีบทบาทที่จะมีผลในธุรกิจของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด คู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งมาตรา ๑๐ วรรค ๒ ซึ่งบัญญัติว่า คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้ได้รับยกเว้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งมาตราต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น ซึ่งอาจรวมถึงการให้สิทธิคนไทยและวิสาหกิจของคนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศสัญชาติของคนต่างด้าวนั้นเป็นการต่างตอบแทนด้วย เป็นบทกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการลดข้อจำกัดของธุรกิจในลักษณะเดียวกับบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด

------------

คำถามที่ ๓

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดกำหนดความสามารถของคู่สัญญาในการทำสัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัททรานส์อาเซียน จำกัดและนายตะวัน ? เพราะเหตุใด ? [3]

--------------

แนวคำตอบ

--------------

เมื่อเรื่องความสามารถของบุคคลเป็นเรื่องตามกฎหมายเอกชน และเมื่อสัญญาตามข้อเท็จจริงดังมีองค์ประกอบระหว่างประเทศ การเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดปัญหาความสามารถในการทำสัญญาจึงย่อมตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

เราพบว่า ประเด็นการกำหนดความสามารถของบุคคลภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑ ปรากฏในมาตรา ๑๐ ซึ่งบัญญัติว่า

“ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่า บุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

ในกรณีที่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถของบุคคลที่จะทำนิติกรรม เช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่”

โดยพิจารณาข้อกฎหมายที่ปรากฏในมาตราดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า กฎหมายที่มีผลกำหนดนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น กฎหมายที่มีผลกำหนดความสามารถที่จะทำสัญญาเช่าที่ดินในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว จึงได้แก่กฎหมายลาว ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นที่ตั้งของทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่า มิใช่กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

กฎหมายลาวในที่นี้ ก็คือ กฎหมายลาวว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเป็นประการแรก และโดยหลักกฎหมายขัดกันลาว เราก็แน่ใจว่า หลักกฎหมายนี้ก็ย่อมชี้ให้ใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติลาว ทั้งนี้ ย่อทเป็นไปตามหลักกฎหมายขัดกันสากลที่ทุกประเทศในโลกต่างยอมรับให้กฎหมายแห่งรัฐเจ้าของถิ่นที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์เป็นกฎหมายที่มีผลกำหนดทุกประเด็นในนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็คือ ส่วนหนึ่งของดินแดนของรัฐ อันตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐ  ดังนั้น เพื่อเคารพมาตรา ๑๐ วรรค ๓ ข้างต้น อันเป็นกฎหมายขัดกันของรัฐเจ้าของศาล หากคดีขึ้นศาลไทย ศาลนี้ ก็จะต้องใช้กฎหมายขัดกันลาวในลำดับต่อไป และโดยกฎหมายขัดกันลาว ศาลไทยก็จะต้องใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติลาวว่าด้วยบุคคล เพื่อกำหนดความสามารถของบริษัท ทรานส์อาเซียน จำกัด ผู้เช่า และนายตะวัน ผู้ให้เช่า แต่อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างกฎหมายลาวทั้งสองลักษณะจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อฝ่ายที่กล่าวอ้างจะต้องพิสูจน์กฎหมายลาวให้ศาลไทยพอใจและต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กฎหมายลาวไม่ขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทย

แต่หากศาลลาวเป็นผู้พิจารณาประเด็นนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์กฎหมายลาวต่อศาลลาว แต่จะต้องหันมาพิสูจน์กฎหมายขัดกันไทยต่อศาลลาวแทน เพื่อศาลนี้พอใจและฟังว่า การใช้กฎหมายขัดกันไทยนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศลาว

ประเด็นสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายลาว ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมอยู่ด้วย อาจจะเป็นประเด็นที่ลึกลงไปที่อาจเป็นปัญหาในพิจารณาต่อไป

 


[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

[3] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 506395เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2012 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท