Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทประเทศไทยกับการก่อตั้งประชาคมอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

          ในระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ และไทยก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้มีความก้าวหน้ามาโดยตลอด โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2510 สภาพแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความตึงเครียด อันเป็นผลมาจากสงครามเย็น ซึ่งมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ ระหว่างประเทศที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์

การก่อเกิดประชาคมอาเซียน เป็นผลจากความตระหนักร่วมกันของประเทศสมาชิกในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค  เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกนั้นสามารถมีความมั่นคงและดำรงสันติสุขอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน  การขับเคลื่อนแนวคิด วิสัยทัศน์ กฎบัตร กรอบกติกาและมติต่างๆ ของประชาคมอาเซียนจะบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกแต่ละประเทศที่จะแสดงบทบาทในการให้ข้อเสนอ ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมนี้ให้มีความเจริญมั่นคงสืบไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มต้น ประเทศไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ได้มีบทบาทสำคัญหลายประการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อตกลงต่างๆ และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประชาคมอาเซียน ในบทนี้จึงได้จำแนกบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน โดยการสรุปบทบาทจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาและแบ่งเป็นประเด็น ได้แก่ บทบาทประเทศไทยกับการก่อตั้งประชาคมอาเซียน  บทบาทประเทศไทยด้านการเมืองและความมั่นคง บทบาทประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ บทบาทประเทศไทยด้านสังคมและวัฒนธรรมและบทบาทประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน(พ.ศ.2551-2552) ดังนี้

 

บทบาทประเทศไทยกับการก่อตั้งประชาคมอาเซียน

 

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “บ้านเกิด” ของอาเซียน เพราะเป็นประเทศที่ริเริ่มเชิญชวนประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ คือ  มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี อันนำมาสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัจจัยสำคัญในช่วงระยะเวลานั้น (พ.ศ.2504-2510) คือ การที่สถานการณ์แวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีความตึงเครียดทางการเมือง อันเป็นผลมาจากสงครามเย็น ซึ่งมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างประเทศที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประกอบกับความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนซาบาห์ในเขตบอเนียวทางเหนือและซาราวัก ซึ่งมีผลถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันและการที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซีย รวมทั้งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างอินโดนีเซียโดยการนำของประธานาธิบดีซูการ์โนกับมาเลเซียซึ่งส่งผลให้มีการระงับความสัมพันธ์ทางการทูตเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาไม่นาน(ประมาณ พ.ศ.2508) ความขัดแย้งก็ได้คลี่คลายลงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้มีการพยายามฟื้นคืนความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันใหม่  แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหากรณีสงครามอินโดจีนและการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามอันสำคัญของภูมิภาค โดยมีการสนับสนุนจากประเทศสหภาพโซเวียตและจีน

 

 

พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์

อดีตรัฐมนตรีว่าการ

กระทรวงการต่างประเทศ

 

บทบาทของประเทศไทยในขณะนั้น คือ การที่พันเอก(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เดินทางไปเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่ อนบ้านและได้เชิญให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศดังกล่าวข้างต้นมาประชุมหารือ จนเกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคและมีการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ขึ้น ซึ่งมีการลงนามในเอกสารก่อตั้งอาเซียน ที่เรียกว่า ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ที่กรุงเทพฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่

 

          1.นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย

          2.ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย

          3.นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์

          4.นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์

          5.พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย

ต่อมาอาเซียนได้ขยายสมาชิกภาพขึ้นมาเป็นลำดับ โดยบรูไนได้เข้าเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่ 6 ในปี 2527 และภายหลังเมื่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลืออีก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ได้ทะยอยกันเข้าเป็นสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ เมื่อปี 2542

ทั้งนี้ การรับประเทศกัมพูชา ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกนั้น ประเทศไทยมีบทบาทนำในการผลักดันมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในระหว่างการประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียนครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2538 ให้เร่งดำเนินการขยายสมาชิกภาพอาเซียนให้ครอบคลุมทั้ง 10 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่มติของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยพิเศษ ณ กรุงจาร์กาตา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 ให้รับกัมพูชา ลาว และพม่า เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนพร้อมกัน แต่เนื่องจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศกัมพูชา ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้ระงับการเข้าเป็นสมาชิกของกัมพูชาไว้ชั่วคราวก่อน แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่ปัญหาดังกล่าวได้ยุติลงอาเซียนได้รับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 10 โดยจัดพิธีรับขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

จากเหตุการณ์ข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยได้มีบทบาทเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปและประเทศที่เป็นหมู่เกาะทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยมีประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางและประเทศไทยก็ยังคงมีบทบาทในอาเซียนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อสร้างสรรค์ให้ภูมิภาคนี้เป็นดินแดนที่มีความมั่นคง สงบสุข ก้าวหน้าและพัฒนาตลอดไป

 

 

ภาพ: พิธีลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ที่วังสราญรมย์ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510

 

 

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ

 

http://www.gotoknow.org/blogs/books/view/aseanstudies

 

เอกสารอ้างอิง :

 

แพรภัทร  ยอดแก้ว. 2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

 

หมายเลขบันทึก: 506075เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท