"3G" : การตีฝ่าผนังห้องเรียนสู่โลกกว้างแห่งตน


  เกริ่นนำ

  เมื่อห้องเรียนในฝันคือโลกกว้าง ปัญหาว่า มาตรฐาน 3G จะแปรสภาพห้องเรียนเดิมเป็นห้องเรียนคือโลกกว้างได้อย่างไร โดยที่ผ่านมา เรามีการจัดสัดส่วนของสถานศึกษาไว้แผนกหนึ่งของสังคม โดยเริ่มจากการจัดให้มี"โรง"เพื่อการ"เรียน"และเป็นการเรียนผ่านความรู้ของผู้สอนในสถานภาพของ"ครู"และ"อาจารย์" ในสังคมใหม่ สถานศึกษาอาจอยู่ในลักษณะของ"พิพิธภัณฑ์ความรู้"ซึ่งผู้คนทั้งหลายสามารถเข้าไป"ท่องเที่ยวเชิงความรู้" เพื่อการเรียนรู้เพิ่ม/เสริม/ทบทวน/โต้แย้ง...ซึ่งไม่แตกต่างจากพื้นที่ความรู้รอบตัวอื่นๆ คนเหล่านั้นปลอดพ้นจาก"สถานภาพของความเป็น..." ทางสังคม ครูอาจารย์แปรสภาพเป็นบุคคลและสรรพสิ่งรอบตัว เราอาจแบ่งโลกที่ว่านี้เป็น ๒ ส่วนที่ต้องเรียนรู้ควบคู่กัน ส่วนแรกคือ โลกคือตัวเราซึ่งดูเหมือนแคบแต่ลึกล้ำ และ ส่วนที่สองคือโลกคือสรรพสิ่งรอบตัว ซึ่ีงดูเหมือนมีสิ่งต่างๆให้เรียนรู้มากมายไม่รู้จบแต่เราไม่จำเป็นต้องเรียนให้จบ ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายคือการแปรสภาพความเป็นตัวเราคือความเป็นสรรพสิ่งและไม่มีเรา อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน 3G และมากกว่า 3G จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อเป้าหมายของห้องเรียนแบบไร้ห้อง

   สภาพไร้ห้อง

   การผ่านโรงเพื่อเรียนและห้องในโรง ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยจากความไม่รู้ แต่ปัญหาคือ ความรู้จำนวนหนึ่งที่ผ่านออกจากจากโรง เป็นความรู้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังนั้น เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ความรู้ที่เรารู้คือความแท้จริง  ซึ่งเป็นการเรียกร้องเพื่อการตรวจสอบจากความเป็นจริง เพื่อแสวงหาความรู้ที่แท้จริง"ความกลัว" คือพื้นฐานความคิดของมนุษยชาติที่น่ากลัว เพราะความกลัวคือกำแพงกั้นความรู้แท้ัจริงในด่านแรก เช่น เรากลัวว่าวิธีการแสวงหาความรู้ของเราจะมีผลกระทบต่อศรัทธาของคน ขอให้สังเกต ผู้ที่ตีฝ่าความรู้เดิมสู่ความรู้ใหม่ได้นั้นล้วนต้องต่อสู้กับความกลัวเป็นอันดับแรก ด่านที่สองคือ"อิสรภาพ" เราจะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยความรู้และบริบทแบบเดิม เป็นอิสรภาพในการแสวงหาความรู้ เราจะพบว่าทฤษฎีต่างๆแม้มันจะมีความเป็นจริงในระดับหนึ่งและอาจไม่มีความแท้จริงเลยเมื่ออยู่ต่างบริบท แต่ดูเหมือนทฤษฎีดังกล่าวมีความแตกต่างจากอื่นไม่มากก็น้อย และด่านที่สามคือ"ความแท้จริง" ของความรู้ หมายถึงความไม่คลาดเคลื่อนจากความจริงแท้ของธรรมชาติและความไม่เป็นธรรมชาติ อาจอยู่ในรูปของ"อิสรภาพของความรู้ที่แท้จริง" ซึ่งคือการปลดปล่อยตัวตนสู่ความไร้ตัวตน อันเป็นการมองเห็น"เนื้อหา"ที่เป็นศิลปะแห่งความสวยงามของความรู้แท้จริงมากกว่า"ผนังหุ้ม"ห่อรักษาความรู้ ที่กล่าวมาคือสภาพไร้ห้องของความเป็นตัวตนก่อนเดินออกเพื่อเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งนอกห้องเรียน

  ในการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งนอกโรงเพื่อเรียนและห้องในโรง คือการมีปฏิสัมพันธ์กับความรู้ที่มีความเป็นจริง ซึ่งน่าจะยอมรับกันได้ว่า ในสิ่งหนึ่งจะมีความรู้ต่างศาสตร์ที่เชื่อมโยงถึงเป็นอันเดียวกัน เช่น การศึกษามดตะนอยตัวหนึ่ง เราอาจศึกษาได้ด้วยความรู้แบบวิทยาศาสตร์ อย่างชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และการแพทย์  เป็นต้น ด้วยความรู้ทางสังคมศาสตร์ อย่าง สังคมมนุษย์เปรียบเทียบ ภาษา และจริยศาสตร์ เป็นต้น แต่ความรู้แบบนี้แม้จะเป็นความเป็นจริง แต่ก็จะไร้ความหมายหากไม่มุ่งไปสู่ประโยชน์เพื่อแกัปัญหาความทุกข์ให้กับผู้ศึกษา เราคงให้ความหมายการศึกษาเพียงเพื่อแก้ปัญหาของผู้ศึกษามากกว่าการเอาความรู้ที่ผ่านการศึกษาของเราไปครอบงำบุคคลอื่น เหตุผลคือ บุคคลอื่นก็ควรมีแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นการเฉพาะเหมือนกับเราที่ต้องมีลักษณะเฉพาะ แน่นอนว่า เราอาจใช้เป็นแนวทางได้เท่านั้นซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด 

 กรณีการเชื่อมโยงระหว่างคนกับคนหรือมนุษย์กับมนุษย์ เป็นการเชื่อมโยงเพื่อเรียนรู้ ตรวจสอบ และพัฒนาให้มีปัญหาชีวิตน้อยลงจนถึงไม่มีปัญหาเลย ในการเชื่อมโยงคนกับคนเราอาจเรียกในภาษาที่เข้าใจกันทั่วไปในปัจจุบันว่า"สังคมแห่งการเรียนรู้" เราจำเป็นต้องละทิ้งความรู้บางอย่างที่เราพบว่าไม่สอดคล้องกับความแท้จริงของธรรมชาติและความไม่เป็นธรรมชาติของความรู้ ขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อเป้าหมายที่วางไว้แล้วนั้นด้วย ดังนั้น จึงดูเหมือนว่า ความจำเป็นของความมีห้องอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นมากกว่าความไร้ห้อง เพราะโลกกว้างมีความรู้

  3 G : เครื่องมื่อสู่สภาพไร้ห้อง

  สังคมเก่าเปลี่ยนไปสู่สังคมแบบใหม่ แต่เราก็ยังมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนสภาพจากการเผชิญหน้าต่อหน้า ตาต่อตา มองหน้าและมองตาสื่อเห็นหัวใจ กลายเป็นการปฏิสัมพันธ์ผ่านเครื่องมือ ในการเรียนรู้ระหว่างกัน เป็นการเรียนรู้แบบไร้ขอบเขต นั่นคืออิสระของการเรียนรู้ การอำพรางความรู้จะอยู่ในรูปของข้อความ มากกว่าเล่ห์แห่งพฤติกรรมทางสังคมแบบเดิม การใช้วิจารณญาณตรวจสอบความแท้จริงของความรู้ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่เรายังสลายตัวตนไม่ได้ เราก็ยังคงต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัดไม่แตกต่างจากห้องเรียน ถึงกระนั้น ในการปีนขึ้นสู่ระดับของความรู้ต่างระดับ ก็ยังคงต้องการขั้นตอนก่อนไปสู่เป้าหมาย 3G จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของเส้นทางก่อนสลายตัว

    ก. 3 G กับการแสวงหาความรู้ หมายถึง เราจะใช้ความสามารถของระบบ 3G มาเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติสัมพันธ์กับบุคคลที่เราต้องการในพื้นที่แม้จะไกลครึ่งซีกโลก เป็นความรู้ปัจจุบัน เป็นการตีกรอบออกจากห้องเรียนความรู้ไปสู่โลกกว้าง ด้วยเครื่องมือชนิดหนึ่ง ซึ่งสิ่งดีที่ตามมาคือการลดภาระความไม่จำเป็นบางอย่างออกไป

    ข. 3 G กับการตรวจสอบความรู้ โดยเราอาจตรวจสอบข้อมูล ความรู้ และข่าวสารต่างๆได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่นั้น หากแต่ผ่านบุคคลอื่นๆและเครื่องมืออื่นๆที่เชื่อมโยงกับเครื่องมือของเราได้เช่นระบบดาวเทียมคุณภาพ  และ/หรือสังคมออนไลน์แบบเคลื่อนที่ แม้เราจะอยู่ในป่าในเขาหากสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ถึง เราสามารถปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อื่นได้ เมื่อได้ข้อมูลหลายๆส่วนรวมกัน จึงเป็นการตรวจสอบความรู้เชิงสังคมวิธีการหนึั่ง 

     ค. 3 G กับความแท้จริงของความรู้ ระบบนี้อาจเหมาะสมกับความรู้ในเชิงสังคมแต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ไม่ได้กับศาสตร์อื่น เช่น การตรวจสอบความรู้จากข้อมูลอื่นว่ามีความแท้จริงเพียงใด เราอาจโต้แย้งผ่านเครือข่ายเพื่อยืนยันความรู้ที่ผ่านการทดลองของเราว่าเป็นความรู้แท้จริงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ความแท้จริงของความรู้ในสังคมแบบนี้ดูเหมือนจะได้รับการพัฒนาที่รวดเร็วมากกว่าการปฏิสัมพันธ์ในแบบเดิม

   การประยุกต์แนวคิด"3G"สู่การผสานตนและโลกกว้างแห่งการเรียนรู้

      G1 = Goal คือ การตั้งเป้าหมายของการแสวงหาความรู้ เราจะพบว่า ประดิษฐกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นเพื่อสนุก สะดวก สบาย เมื่อต่างคนต่างแสวงหาความสนุก สะดวก และสบาย สิ่งที่ตามมาคือความไม่สงบ ทั้งในเชิงสังคมและตัวบุคคล โดยสังคมคือการแย่งชิง ชั้นเชิง บนฐานของความเป็นตัวตน ซึ่งเป็นสังคมแบบเก่า สังคมแบบ 3G  ควรจะข้ามผ่านวัยสนุกเพื่อตอบสนองอารมณ์แห่งความต้องการ ผ่านการหาความสะดวกโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นเช่นธรรมชาติ และผ่านการหาความสบายโดยลืมนึกถึงคนในอนาคต ก้าวสู่"ความสงบ" ทั้งในเชิงบุคคลและสังคม

      G2 = Good ได้แก่ ความดีคือความสงบหรือความสงบคือความดีที่แท้จริง เป็นการสงบจากการแสวงหาความสนุก การแสวงหาความสะดวก และการแสวงหาความสบายที่ยึดโลกของวัตถุเป็นที่ตั้ง เป็นความสงบแบบสนุกในนามของรื่นรม สงบแบบสะดวกในนามของอยู่อย่างไม่ทุกข์และสงบแบบสบายคือการผ่อนคลายจากการยึดครอง คือ ความดีที่แท้จริง

      G3 = God ได้แก่ ความแท้จริงสูงสุด ปลอดพ้นจากความเป็นตัวบุคคล เป็นเป้าหมายและความดีสูงสุด God คือ I และ I คีือ สรรพสิ่ง และสรรพสิ่งคือ "ไม่ไอ"

      3G= G-Goal + G-Good + G-God = โลกทั้งหลายสงบได้ในตนที่สงบ = "ไม่ไอ"

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 505898เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชม

ตนแลพร้อมรึยังที่จะพึ่งตน หรือยังต้องพึ่งคอมอยู่นะ กับโลกใหม่ที่ก้าวไป...นะครับ

เรียนท่านอาจารย์ยูมิ

  • ผมเคยอ่านงานของพระวิศาล เกี่ยวกับ มนุษย์ในยุคคอมพิวเตอร์ ประเด็นหนึ่งที่จำได้คือ"เราสร้างคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือเท่านั้น" แต่เมื่อความเป็นจริงปรากฎ บางคนขาดสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นหมายความว่า เรากลายเป็นทาสของสิ่งที่เราสร้างมาเอง
  • ในการเข้ามาจัดการตัวเอง เมื่อถึงคราวหนึ่ง เราคงต้องวางภาระลง ที่ผ่านมาอาจเป็นบันไดไต่สู่ขั้นต่อไป
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท