ฟังเขาเล่าเรื่องการเมืองแบบอเมริกัน


ผมกำลังอ่านหนังสือที่ซื้อมาสักสองปีแล้ว เรื่อง อภิทุนนิยมสุดขั้ว แปลจาก Supercapitalism เขียนโดย Robert B. Reich แปลโดย สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน

หนังสือเล่มนี้ก็ดีนะ ทำให้เห็นภาพรวมของประวัติความเป็นมาของระบอบทุนนิยมและประชาธิปไตยในอเมริกา 

แต่ขณะที่ยังอ่านไม่จบนี้เอง ผมก็เกิดอยากรู้ว่า นายคนเขียนนี่เป็นใคร ก็เลยไปค้น youtube ดูเขาพูดอยู่สองตอน ตอนละชั่วโมง เลยได้รู้จักภูมิหลังของคนเขียนมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ไรช์ ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวคนนี้ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ทางบริหารรัฐกิจอยู่ที่ UC Berkeley ก่อนหน้านี้สอนที่ Brandeis (ถ้าผมจำไม่ผิด) เขาจบปริญญาเอกจาก Oxford (ผมว่านักวิชาการอเมริกันที่จบอังกฤษ น่าจะมีโลกทัศน์ที่เป็นนานาชาติหน่อย) เขาเคยสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ Massachusette กับ Mit Romney มาแล้ว แต่แพ้ ต่อมาเป็นรัฐมนตรีแรงงาน ในสมัยประธานาธิบดี Clinton หลายสมัย เคยได้รับการเลือกโดยวารสารไทม์ (ถ้าจำไม่ผิดเช่นกัน) ให้เป็น ๑ ใน ๑๐ รัฐมนตรียอดเยี่ยมของสหรัฐในรอบศตวรรษ เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเตรียมการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบาม่า มาแล้ว

ผมนั่งฟังเขาพูดอยู่นาน เขาพูดตลกดี จากวีดิโอแรก Politics and Principles  ที่เขาพูดในเรื่อง (นัก)การเมืองและหลักการ ไว้ตั้งแต่ปี ๒๐๐๓ หรือราว ๙ ปีมาแล้ว พอได้ข้อประเด็นหลักที่เขาเล่าเรื่องเขาพูดโต้แย้งกับนักสำรวจโพลว่าในทางปฏิบัติแล้ว นักการเมืองมักโดนสถานการณ์บังคับให้จำต้องให้สัญญากับประชาชนในสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินจากปากนักการเมือง แม้ว่าจะขัดกับหลักการกับที่นักการเมืองเชื่อถือ และเป็นผลเสีย(กับสังคม)ก็ตาม แต่สำหรับตัวศาสตราจารย์เองแล้ว เขาจะบอกตรงๆ ว่าเขาจะทำอะไร แม้ว่าจะมีคนส่วนหนึ่งไม่ลงคะแนนเลือกก็ตาม  (คงจะส่วนใหญ่แหละ) แต่ก็จะมีคนบางส่วนเลือก เพราะรู้ว่าเขาจะทำตามหลักการที่เชื่อถือว่าถูกต้อง

อีกตอนน่าสนใจเหมือนกัน เขาเล่าถึง ประธานาธิบดี รูสเวลธ์ ไปหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ที่เมืองๆ หนึ่ง ก็มีหญิงคนหนึ่งมาพูดกับ ประธานาธิบดีขอให้ทำอะไรต่างๆ ออกมาตราการณ์ต่างๆ มากมาย ประธานาธิบดีตอบว่า "คุณนายครับ ผมยินดีทำตามทุกอย่าง แต่ว่า(หลังเลือกตั้งเสร็จ)ท่านต้อง(สร้างสภาพการณ์)บีบให้ผมทำ" (เพราะหากไม่มีเสียงส่วนมากเรียกร้องมาจากประชาชน ประธานาธิบดีก็ไม่อาจทำได้)

ข้อคิดประการหลังนี้ผมว่า คนไทยเรายังขาดการออกมาตราการกดดันนักการเมืองของเรา ให้ทำอะไรที่ถูกที่ควร เมื่อพวกเขาไม่มีอะไรจะเสีย เขาก็ไม่ทำงาน ก็ดูเป็นเรื่องแนวคิดทางกลไกเศรษฐกิจง่ายๆ นั่นเอง

(วันนี้ทำเว็บลิงก์ไม่ได้ ไม่รู้เป็นไง)

คำสำคัญ (Tags): #การเมือง
หมายเลขบันทึก: 505272เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

ต้องบอกที่   "คุณนาย" ใช่ไหมค่ะ...ถึงจะO

ล้อเล่นใช่ไหมครับ :-)

น่าจะหมายถึงว่า ประชาชนต้องแสดงพลังให้เห็นความต้องการออกมา เพื่อว่าผู้นำรัฐบาลจะได้ดำเนินมาตราการได้น่ะครับ ถ้าไม่เรียกร้อง เขาก็จะโดนกดดันจากมวลชนด้านอื่น จนไม่อาจทำอะไรได้นะครับ

บ้านเรากดดันโดยม็อบหรือเปล่าค่ะ มีอะไรก็ให้ม็อบออกมา และแก้กันทีหนึ่ง แต่เอ๊ะ แต่ละม็อบใครจัดมาเอ่ย

ผมว่า ถ้าถึงออกมาเป็นม็อบก็ถือว่าค่อนข้างแรงแล้ว ความหมายของเขาน่าจะอยู่ในระดับ ออกมาให้ข่าว ออกสื่อแบบต่อเนื่อง และมีการรณรงค์ มีการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมืองของนักการเมืองที่เราต้องการจะล็อบบี้ อะไรทำนองนั้น สุดท้ายก็อาจจะทำโพล ของฝรั่ง ถ้าโพลออกมาชัดเจน เขาก็มักทำตาม เว้นแต่ว่า จะไปขัดผลประโยชน์บริษัทยักษ์ที่อุดหนุนทางการเงินให้นักการเมืองนั้นอยู่ ก็อาจจะลำบากหน่อย

แต่หากเมื่อถึงขั้นเป็นม็อบมาประท้วง อเมริกันเขาก็มีกฎหมายควบคุม เช่น ต้องไปขอใบอนุญาตก่อน และจะประท้วงที่ไหน ต้องมีขอบเขตกำหนดให้ และในเวลาที่กำหนด จากนั้นก็ต้องเลิกไป ไม่งั้นก็ผิดกฎหมาย แต่ของเรา คำว่าม็อบ มักเล่นปิดถนน ซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ยอมไม่ได้ ผมก็เห็นว่า ทำคนอื่นเดือดร้อนไม่ถูก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเสียทั้งทรัพย์เสียทั้งเวลา อาจจะขู่จะทำร้ายผู้อื่นอีก ถือว่าผิดศีล ก็ยังได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท