Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาเด็กชายซอเฮ : ปัญหาการให้สถานะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาแก่บุตรนอกสมรสของคนต่างด้าวในประเทศไทย


คำนำ

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๓๕ น คุณชาติชาย เลิศ อมรวัฒนา ได้อีเมลล์มาหารือผู้บันทึกเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งผู้บันทึกเห็นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขออนุญาตให้ความเห็นแก่คุณชาติชายเป็นบันทึกที่เผยแพร่สาธารณะดังที่จะปรากฏต่อไป

อนึ่งคุณชาติชายทำหน้าที่เป็นทนายความประจำคลินิกกฎหมายเพื่อสิทธิและสถานะบุคคล (Legal Clinic on Rights & Personnel Status)  ประจำ Diocesan Social Action Center (Social Pastoral) of Suratthani ของมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง นอกจากนั้น คุณชาติชายยังมีตำแหน่งเป็นอนุกรรมการของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ  ผู้ไร้สัญชาติ  แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

ข้อเท็จจริง

นายเต๋นทุด หรือเต้ย และนางเอ็นตีเว่น หรือเครวย ซึ่งมีสัญชาติพม่า ที่อยู่กินฉันสามีภริยาในประเทศไทย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ข้อเท็จจริงฟังได้อีกว่า บุคคลทั้งสองเป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมือง แต่ต่อมา เข้ารับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในสถานะ “แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า” ภายใต้นโยบายของรัฐไทยเพื่อจัดระบบแรงงานต่างด้าวระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๕๕ อันทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “MOU แรงงานไทย-พม่า” และบุคคลทั้งสองก็ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจึงทำให้รัฐบาลพม่าออก “หนังสือเดินทางชั่วคราว” ให้แก่ทั้งสองคนแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๐๐๙ และ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ตามลำดับ เพื่อแสดงตนว่า เป็นแรงงานสัญชาติพม่าซึ่งทรงสิทธิตาม “MOU แรงงานไทย-พม่า” อันทำให้สถานะความเป็นคนเสมือนไร้สัญชาติสิ้นสุดลงเพราะรัฐพม่ายอมออกเอกสารเพื่อรับรองสถานะคนสัญชาติพม่าแล้ว และทำให้สถานะความเป็นบุคคลเข้าเมืองไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมืองสิ้นสุด เพราะรัฐบาลไทยได้ยอมรับให้สถานะแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวให้แก่แรงงานภายใต้ MOU แรงงานไทย-พม่า

นายเต๋นทุด หรือเต้ย ได้เข้าประกันตนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการประกันสังคมตั้งแต่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ และได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด ส่วนนางเครวยภริยาไม่ได้สมัครเข้าประกันตนตามกฎหมายดังกล่าว

ต่อมาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เต้ยและเครวยได้ให้กำเนิดเด็กชายซอเฮที่โรงพยาบาลระนอง และเทศบาลเมืองระนองได้รับแจ้งการเกิดของซอเฮและออกสูติบัตรเพื่อรับรองการเกิดให้แก่ซอเฮเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สภาพปัญหาที่หารือ

เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิในสุขภาพดีของซอเฮ เต้ยจึงอยากจะร้องขอใช้สิทธิสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายประกันสังคมให้แก่ซอเฮ

ในการใช้สิทธิสงเคราะห์บุตรโดยบิดานั้น ตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยว่าด้วยการประกันสังคมนั้น นายเต้ยจะต้องจ่ายเงินสมทบมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี ซึ่งนายเต้ยก็ผ่านเงื่อนไขนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเงื่อนไขที่สองว่า การขอใช้สิทธิสงเคราะห์บุตรได้นั้น บุตรจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งทางปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคม บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยครอบครัว กล่าวคือ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นย่อมมีลักษณะ ๓ ประการดังต่อไปนี้ (๑) บุตรซึ่งมีบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดหรือหลังจากการเกิดของบุตร (๒) บุตรซึ่งมีบิดาจดทะเบียนรับรองความเป็นบุตรตามกฎหมายครอบครัว และ (๓) บุตรซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

เมื่อเด็กชายซอเฮเกิดจากการอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่มีการสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาและมารดา ซอเฮจึงจะมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ยผู้เป็นบิดา และเมื่อไม่ปรากฏว่า นายเต้ยได้ร้องขอให้อำเภอจดทะเบียนรับรองซอเฮเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเมื่อไม่ปรากฏมีคำพิพากษาของศาลยืนยันว่า ซอเฮเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ย โดยทางปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคม นายเต้ยจึงไม่อาจใช้สิทธิเพื่อขอการสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายไทยว่าด้วยการประกันสังคม

ประเด็นคำถามที่ผู้บันทึกมองเห็น

ประเด็นแห่งปัญหาที่จะต้องพิจารณาน่าจะมีอยู่ ๓ ประเด็น กล่าวคือ

ประเด็นแรก ก็คือ การแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ยแก่ซอเฮ ย่อมได้แก่ การผลักดันการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างนายเต้ยบิดาและนางเครวยมารดาของซอเฮใช่หรือไม่ ? การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวควรทำตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายพม่า ? หากเป็นการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายพม่า การกระทำดังกล่าวอาจทำในสถานกงสุลพม่าประจำประเทศไทยได้หรือไม่ ? หรือจะต้องกลับไปทำในประเทศพม่า ?

ประเด็นสอง ก็คือ การแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ยแก่ซอเฮ ย่อมได้แก่ การผลักดันการจดทะเบียนรับรองบุตรระหว่างนายเต้ยบิดาและเด็กชายซอเฮใช่หรือไม่ ? การจดทะเบียนรับรองบุตรดังกล่าวควรทำตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายพม่า ? หากเป็นการจดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายพม่า การกระทำดังกล่าวอาจทำในสถานกงสุลพม่าประจำประเทศไทยได้หรือไม่ ? หรือจะต้องกลับไปทำในประเทศพม่า ?

ประเด็นที่สาม ก็คือ หากซอเฮได้รับสถานะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ยบิดา ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการประกันสังคมมาครบ ๑ ปีแล้ว นายเต้ยก็อาจขอรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้จริงหรือไม่ ? เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจะรับฟังว่า เด็กชายซอเฮมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเต้ยแล้ว นายเต้ยจะต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง ? หากเป็นทะเบียนสมรสหรือทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายพม่า มีความจำเป็นที่จะมีการแปลและรับรองเอกสารโดยสถานกงสุลพม่าประจำประเทศไทยและกรมการกงสุลไทยหรือไม่ ?

ประเด็นคำถามของคุณชาติชาย

นอกจากนั้น คุณชาติชายยังตั้งประเด็นคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้กฎหมายไทยเอาไว้อีก ๔ ประเด็น กล่าวคือ

ในประการแรก นายเต้ยจะยื่นคำร้องขอต่อศาลไทยเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่า "เด็กชายซอเฮ" เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ ? หากจะอ้างว่า เนื่องจากเด็กมีอายุ ๓ เดือนไม่อาจให้ความยินยอมกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจดทะเบียนครอบครัวได้ตามมาตรา ๑๕๔๘ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่เด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังนั้น เต้ยจึงยื่นคำร้องขอต่อศาลไทยเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่า "เด็กชายซอเฮ" เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเต้ย

ในประการที่สอง หากศาลไทยรับคำร้องขอของเต้ยไว้พิจารณาแล้ว กฎหมายที่ศาลไทยจะต้องใช้ในกรณีนี้ ก็น่าจะเป็น “กฎหมายไทยหรือกฎหมายพม่า” ? ดังจะเห็นว่า เนื่องจากมาตรา ๓๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ กำหนดให้ปัญหาการรับบุคคลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบิดาในขณะที่รับเป็นบุตร จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า การใช้กฎหมายของศาลไทยในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ?  ศาลไทยจะใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความไทย แต่จะใช้กฎหมายสาระบัญญัติพม่าเพื่อการตัดสินคดีหรืออย่างไร ?

ในประการที่สาม หากจะพิจารณาตามมาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ปัญหาการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิดใช่หรือไม่ ? ในกรณีนี้ หากนายเต้ยสามารถพิสูจน์ได้ถึงความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายพม่า ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของนายเต้ยผู้เป็นบิดาแล้ว กรณีก็ไม่ต้องอ้างกฎหมายไทยว่าด้วยความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายทั้ง ๓ กรณีข้างต้นใช่หรือไม่ ?

ในประการที่สี่ ในประเด็นสัมพันธภาพระหว่างนางเครวยและเด็กชายซอเฮนั้น ซอเฮย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเครวยใช้หรือไม่ ? ทั้งนี้ เป็นไปโดยผลของมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ในกรณีนี้ไม่ต้องใช้มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ แล้วถูกต้องหรือไม่ ? ดังนั้น หากนางเครวยเข้าประกันตนต่อกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายไทย และจ่ายเงินสมทบครบ ๑ ปี แล้ว การขอใช้สิทธิของนางเครวยนั้นย่อมเป็นไปตามมาตรา ๓ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมไม่อาจวินิจฉัยไปว่า กรณีนี้ไม่ต้องมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ และต้องใช้มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ บังคับ

การแลกเปลี่ยนของผู้บันทึก

ผู้บันทึกขอแลกเปลี่ยนกับคุณชาติชายดังต่อไปนี้ แต่การแลกเปลี่ยนจะขอตั้งประเด็นตามตรรกวิทยาของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในการจัดการการขัดกันแห่งกฎหมาย โดยมิได้เป็นไปตามลำดับคำถามที่คุณชาติชายตั้งคำถามมา แต่ก็จะพยายามแลกเปลี่ยนกับคุณชาติชายในทุกประเด็นที่คุณชาติชายตั้งคำถามมา

รอการแลกเปลี่ยนประเด็นในรายละเอียดในบันทึกต่อไปนะคะ

หมายเลขบันทึก: 504856เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 04:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท