Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (International Convention on the Rights of Persons with Disabilities or ICRPD) : ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ


๑.เป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับอะไร ?

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นส่วนหนึ่งของ “เอกสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติ[1] (international human rights instruments of the United Nations) ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการ (protect the rights and dignity of persons with disabilities) ดังนั้น รัฐภาคีของอนุสัญญานี้จึงถูกเรียกร้องให้ส่งเสริม (promote) คุ้มครอง (protect) ตลอดจนผลักดันการใช้สิทธิมนุษยชนที่เต็มส่วนให้แก่คนพิการ (ensure the full enjoyment of human rights by persons with disabilities)  และผลักดันการเข้าถึงสิทธิในความเท่าเทียมกันทางกฎหมายแก่คนพิการ[2]

๒.สถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศของอนุสัญญา

ตัวบทของอนุสัญญานี้ได้รับการยอมรับโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๖/พ.ศ.๒๕๔๙ และเปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐

เมื่ออนุสัญญานี้ได้รับสัตยาบันสารครบ ๒๐ ฉบับจากรัฐผู้ลงนาม อนุสัญญานี้จึงมีผลในวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๘/พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕ มีรัฐผู้ลงนาม ๑๕๔ รัฐ และมีรัฐภาคี ๑๒๔ รัฐ รวมถึงประชาคมยุโรป (European Union or EU) ซึ่งรัฐภาคีให้สัตยาบันอนุสัญญานี้โดยกำหนดให้ความรับผิดชอบของรัฐภาคีทั้งหมดเป็นของประชาคม (ratified it to the extent responsibilities of the member states were transferred to the European Union)  เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๐/พ.ศ.๒๕๕๓[3]

๓.ผู้รักษาการตามอนุสัญญา

ผู้รักษาการตามอนุสัญญานี้ ก็คือ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (The Convention is monitored by the Committee on the Rights of Persons with Disabilities)[4]

๔.สัมพันธภาพระหว่างอนุสัญญาและประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ยื่นสัตยาบันสารของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities- CRPD) ต่อสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษา โดยอนุสัญญาฉบับนี้ถือเป็นอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ ๗ ที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีและจะมีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นไป[5]

๕.เอกสารอ้างอิงเพื่อศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับอนุสัญญา

  • Convention on the Rights of Persons with Disabilities

http://www.un.org/disabilities/convention/conventionfull.shtml

http://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_the_Rights_of_Persons_with_Disabilities

  • Final report of the Ad Hoc Committee on a Comprehensive and Integral International Convention on the Protection and Promotion of the Rights and Dignity of Persons with Disabilities, Note by the Secretary-General, Distr.: General, 6 December 2006, Original: English, A/61/611

http://daccess-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/LTD/N06/645/30/PDF/N0664530.pdf?OpenElement

---------------------------------------------------------

[1] เอกสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติประกอบด้วยอนุสัญญา ๙ ฉบับกล่าวคือ (๑) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ/Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women-CEDAW ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘ (๒) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก/Convention on the Rights of the Child-CRC ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕ (๓) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง/International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ (๔) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม/International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ (๕) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ/Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ (๖) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ (๗) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ/Convention on the Rights of Persons with Disabilities ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ.๒๐๐๘/พ.ศ.๒๕๕๑ (๘) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ/International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance = ICPED ซึ่งประเทศไทยลงนามเมื่อเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังไม่มีสถานะเป็นภาคี จนกว่าจะมีการให้สัตยาบัน และ (๙) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลัก ๓ ฉบับ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีทั้งหมด กล่าวคือ (๑) พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ/Optional Protocol to the Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women ซึ่งมีสาระสำคัญในการยอมรับอำนาจของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ในการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนในกรณีที่มีการละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ โดยผู้ร้องเรียนอาจเป็นบุคคล กลุ่มบุคคลในนามผู้ถูกละเมิดสิทธิก็ได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ (๒) พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่าด้วยการขายเด็ก โสเภณีเด็กและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก/Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ และ (๓) พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่าด้วยสภาวะความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ/Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

[2]http://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_the_Rights_of_Persons_with_Disabilities

[3]http://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_the_Rights_of_Persons_with_Disabilities

[4]http://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_the_Rights_of_Persons_with_Disabilities

[5] ข่าวราชการ กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันอังคารที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลา ๑๒.๐๙ น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ (กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : [email protected])

คำสำคัญ (Tags): #icrpd
หมายเลขบันทึก: 504716เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท