การสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นคนไทย (ตอนที่ 2)


ครูไทยที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง ไม่ใช่ครูที่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยเก่ง เพราะเด็กไทยเป็นผู้เรียนภาษาอังกฤษในฐานะ “ภาษาต่างประเทศ” ไม่ใช่ในฐานะ “ภาษาแม่” ถ้าทำอย่างนั้นคนเก่งคือ “ครู” ไม่ใช่ “นักเรียน”

      วันที่ 16 กันยายน 2549 เป็นการพบกันในครั้งที่ 3 ของการเรียนภาษาอังกฤษกับ ดร.วีร์ ระวัง อาจารย์ให้เราเริ่มต้นชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ด้วย Public Speech ซึ่งเป็นการบ้านที่อาจารย์มอบหมายให้ไปคิดเรื่องภาษาไทยมาครึ่งหน้า และแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกครึ่งหน้า มอบหมายให้ไว้ 3 คน แต่ครั้งนี้จะมีคนนำเสนอถึง 4 คน เนื่องจากท่าน ผอ.เขตฯ ท่านก็เตรียมมาด้วย       โดยเริ่มจาก อรไท ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เธอมาเล่าโดยสรุปให้พวกเราฟังถึงความรู้ที่ได้จากการไปอ่านผลงานวิจัยของ ดร.วีร์ ระวัง ดิฉันชื่นชมว่าเธอพูดได้โดยไม่ต้องดูโพยเลย สำเนียงออกเสียงก็ชัดเจน อาจารย์ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ให้เธอระวังเรื่องการควบคุมอารมณ์เพราะดูเธอตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด

      นักเรียนคนต่อมาคือ
เพ็ญรุ่ง ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เธอนำเสนอเรื่องเล่าสรุปการพาคณะศึกษานิเทศก์ ครู และนักเรียนไปร่วมงานมหกรรมรักการอ่านภาคกลาง ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี การพูดของเธอยังมีสำเนียงแปร่ง ๆ แต่เธอทำได้ดีน่าชื่นชมแม้ยังต้องเหลือบดูโพยบ้าง อาจารย์แนะนำว่าให้เธอไปฝึกฝนเรื่องการออกเสียงทั้งประโยคและชมว่าเธอควบคุมอารมณ์ได้ดี
       คราวนี้ถึงคิวของดิฉันเอง รู้สึกตื่นเต้น มือไม้เย็น ถ้าเป็นการถ่ายทอดด้วยภาษาไทยดิฉันไม่เคยหวั่น ถึงไหนถึงกัน แต่นี่ไม่ใช่ แต่ก็ยังดีที่อาจารย์ให้แต่ละคนออกไปเล่าสรุปเป็นภาษาไทยก่อนสักเล็กน้อย จึงค่อยนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้สติของตัวเองดีขึ้นอีกนิด แต่รู้ตัวว่าอารมณ์แกว่งบ้างนิดหน่อยในช่วงต่อของการ กระโจน (ขอยืมสำนวนของ ดร.วีร์ มาใช้) จากภาษาไทยไปสู่ภาษาอังกฤษ

      ดิฉันนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือกันของเพื่อนในรูปแบบของนิทานที่ดิฉันแต่งขึ้นเป็นโครงเรื่องง่าย ๆ ซึ่งได้ขออนุญาตอาจารย์ไว้ตั้งแต่คราวที่แล้วว่า อย่างไรขอเป็นการนำเสนอแบบสบาย ๆ ในเรื่องง่าย ๆ ที่ยังไม่เป็นวิชาการเสียก่อนในครั้งแรกที่คาดว่าจะตื่นเต้น และก็ตื่นเต้นจริง ๆ ดังคาด เพราะดิฉันแทบไม่ละสายตาออกจากโพยเลย เป็นการอ่านเสียมากกว่าการพูด ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนก็สัก
80:20
       พอกล่าวคำว่า Thank you very much. เพื่อน ๆ ปรบมือให้และออกปากชมว่าดิฉันมีสำเนียงดีเหมือนฝรั่ง ลีลาของการเล่าสัมพันธ์กับเรื่องซึ่งเป็นนิทาน ดิฉันนึกขอบคุณอาจารย์ฝรั่งท่านหนึ่งซึ่งดิฉันเคยไปเรียนด้วยที่ BBC อยู่แถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นการไปเรียนเสริมช่วงอยู่ว่าง ๆ เมื่อหลาย ๆ ปีมาแล้ว เป็นคอร์สที่เราเรียนรู้การออกเสียงที่ถูกต้อง (Phonetic) เลยทำให้สำเนียงการอ่าน (ในครั้งนี้อย่าเรียกว่าการพูดเลย) ของดิฉันพอจะดูดีอยู่บ้าง แต่ก็ไช่ว่าจะออกเสียงถูกหมดทุกคำ เพียงแต่ฟังรวม ๆ แล้วก็พอฟังได้ อาจาย์แนะนำว่าให้ดิฉันกลับไปดูบทภาษาอังกฤษที่ยังตกหล่นเรื่องการเติม s อยู่ ส่วนเรื่องรูปประโยคใช้ได้ และให้ไปฝึกเรื่องการใช้คำภาษาอังกฤษที่สละสลวยกว่านี้ ซึ่งดิฉันประเมินตัวเองแล้วก็น่าจะเป็นเพราะ ออมสินคำศัพท์ ของดิฉันยังมีอยู่น้อยนั่นเองและน่าจะรวมไปถึง English Accuracy ของดิฉันยังไม่แข็งแรงอีกด้วย จึงทำให้ไม่กล้าใช้คำสละสลวย

      ท่านสุดท้าย คือ ผอ.เขตฯ ท่านออกตัวว่าเข้าใจผิดคิดว่าอาจารย์ให้การบ้านทุกคนเป็นแบบนี้ แต่ที่จริงให้สร้างประโยคภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ
20 ประโยค แต่ให้การบ้านพิเศษแก่ 3 คนที่ออกมาแล้ว ท่านจึงตกบันไดพลอยโจน เป็นคนที่ 4 (คำหลังนี้ดิฉันพูดเอง) เรื่องราวที่ท่านพูดเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมาเรียนกับ ดร.วีร์ ระวัง ซึ่งท่านต้องอ่านโพยเหมือนกับดิฉันเช่นกันเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาพูด ภายหลังการพูดอาจารย์ชมว่าท่านทำได้ดีกว่าที่อาจารย์คิด ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าผ่านฉลุย อยู่แค่เพียงไม่ต้องถือโพยในคราวต่อ ๆ ไปเท่านั้น และพัฒนาความชำนาญที่นำไปสู่ความพร้อมให้สามารถไปขึ้นเวทีนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษที่ไหนก็ได้ ซึ่งพวกเราทุกคนก็เห็นด้วยกับอาจารย์และยอมรับว่า ผอ.เขตฯ ท่านมีความสามารถจริง ๆ

      หลังจากนั้นอาจารย์ได้กล่าวถึง
Model การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย ซึ่งทำให้พวกเราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีเรียนและวิธีทำการบ้านของแต่ละคนจากที่ผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง จึงเรียกว่า KM กันโดยบางคนไม่รู้ตัว ต้องขอบคุณ พี่นิวัฒิ พี่ศึกษานิเทศก์ท่านหนึ่ง ที่เริ่มเปิดประเด็นขึ้นมา ดิฉันเลยได้ฉวยโอกาสพาเพื่อนร่วมชั้นเรียน KM กันเล็ก ๆ โดยมีอาจารย์ ดร.วีร์ ระวัง ช่วยเติมเต็มและให้ข้อเสนอแนะ เป็นอันว่าเช้าวันนั้น เราต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สำหรับดิฉันเองก็แอบเก็บเกี่ยวเทคนิคการเรียนรู้และการสร้างประโยคจากหลาย ๆ คนกลับมาพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกัน

      และอาจารย์ก็ยังช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้ดิฉันได้เห็นตัวเองว่า แท้ที่จริงดิฉันมีพื้นความรู้เรื่อง
Tenses อยู่พอสมควร ทั้งที่ผ่านมาดิฉันว่าตัวเองไม่ได้เรื่องสมัยเรียนมัธยมฯ อย่างดีก็ได้อยู่เกรด 2 แต่ลืมนึกไปว่าหลังจากนั้นในระดับปริญญาตรีเรื่อยมา ตัวเองพยายามจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของของตัวเราอยู่บ้าง ดังนั้นในการเรียนกับอาจารย์และการทำการบ้านผ่านมาเป็นครั้งที่ 3 นี้ดิฉันยังใช้พื้นความรู้เดิมอยู่ เรียกว่าใช้บันไดเดินสู่ยอดดอยด้วย "Tenses" ยังไม่ยอมมาใช้บันได “17 สูตร (เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ผ่านการวิจัยและเห็นผลมาแล้วของอาจารย์) อาจารย์บอกว่าวันหนึ่ง ดิฉันจะยอมลงจากบันได “Tenses” มาใช้บันได “17 สูตร และบอกว่าไม่ต้องกังวล เพราะบันไดทั้งสองข้างนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน สุดท้ายเราจะมีความสามารถใช้บันไดขึ้นสู่ยอดดอยได้ดีทั้งสองข้าง แต่เท่าที่ดิฉันฟัง เข้าใจว่าอาจารย์กำลังจะบอกพวกเราว่า บันได “17 สูตร จะเป็นบันไดที่ใช้ได้ดีและเหมาะสำหรับคนไทย ส่วนบันได “Tenses” เหมาะกับฝรั่งเป็นอย่างดี

      อาจารย์ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่ครูภาษาอังกฤษซึ่งเป็นครูไทยในโรงเรียนทั่วไปจะต้องพูดภาษาอังกฤษกับนักเรียนตลอดเวลาในห้องเรียน ครูไทยที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง ไม่ใช่ครูที่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยเก่ง เพราะเด็กไทยเป็นผู้เรียนภาษาอังกฤษในฐานะ
ภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่ในฐานะ ภาษาแม่ ถ้าทำอย่างนั้นคนเก่งคือ ครู ไม่ใช่ นักเรียน ครูจึงต้องสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงความหมาย หลักการ และเหตุผลที่ต้องใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ให้รู้ความเป็นมาเป็นไปหรือสิ่งที่ทำให้มันเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยอธิบายด้วยภาษาไทยจะทำให้นักเรียนเข้าใจมากกว่าอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ เพียงเพื่อให้นักเรียนคุ้นสำเนียงและเรียนรู้ทักษะการฟัง การจับใจความสำคัญจากการอธิบายนั้น ซึ่งสุดท้ายเด็กจะไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่องก็ไม่ดีเท่ากับอธิบายด้วยภาษาไทยซึ่งเป็น ภาษาแม่ สรุปแล้วอาจารย์บอกเราว่า วิธีเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยกับฝรั่งนั้นไม่เหมือนกัน เพราะเราเรียนในฐานะ ภาษาต่างประเทศ แต่ฝรั่งเขาเรียนในฐานะ ภาษาแม่

      ช่วงบ่ายอาจารย์ให้พวกเราเลือกนำเสนอประโยค คนละ
3 ประโยคจาก 20 ประโยค จากนั้นอาจารย์จะช่วยให้ข้อคิดเห็นและพาพวกเราช่วยกันปรับประโยคของเพื่อนให้ดูดีขึ้น ช่วงนี้ทำให้พวกเรามีโอกาสได้เรียนรู้ไวยากรณ์ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่ดิฉันชอบมาก
       เราจะพบกันอีกในวันที่ 29 กันยายน 2549 ดิฉันเข้าใจว่ามีการบ้านครั้งต่อไปมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการได้รับมอบหมายให้ 4 คนในวันนี้ Public Speech ซ้ำอีก และมีเพื่อนมาเพิ่มเติมอีก 5 คน รวมเป็น 9 คนในครั้งหน้า อีกข้อหนึ่งให้ไปหาข้อมูลภาษาไทยหรือเขียนขึ้นมาเองไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ดึงคำศัพท์ภาษาไทยในเรื่องมาหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 20 คำ นำคำศัพท์นั้นมาสร้างประโยคแบบ 1 Word 1 Sentence แล้วนำประโยคที่ได้มาสร้างเป็น English Paragraph 1 ย่อหน้า โดยมีความหมายสรุปอยู่ในต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาไทยในขั้นตอนแรกหรือมีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องเดิมนั้นก็ได้ ซึ่งตอนหลังอาจารย์เฉลยว่าคือการบ้านข้อเดียวกันหมายถึงนำ English Paragraph นั้นมาทำ  Public Speech นั่นเอง       

      คราวหน้าจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ...ว่าผลเป็นอย่างไร...
 

หมายเลขบันทึก: 50453เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2006 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบจังเลยค่ะ ต่อยอดไม่ถูกแต่ว่าช้อบ ชอบบันทึกลักษณะนี้ เหมือนนั่งฟังคุณปวีณาเล่าอยู่ตรงหน้าเลยค่ะ

ไม่ทราบว่าคุณปวีณาเคยเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับบันได "17 สูตร" ไหมคะ ฟังดูน่าสนใจมากเลยค่ะ ถ้าจะกรุณานำมาขยายความในสไตล์ของคุณปวีณาเอง ในGotoKnow น่าจะมีประโยชน์มากนะคะ

  • ขอบคุณคุณโอ๋ค่ะ...ที่ช่วยจุดประกายความคิดให้ตัวเองคิดจะต่อยอดเรื่อง "บันได 17 สูตร"
  • จะลองเล่าเรื่องในสไตล์ของตัวเองดูค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการจุดประกายทางปัญญาค่ะ

ดีค่ะ ได้ความรู้จากเรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับนำความรู้ที่คุณเล่าไปฝึกใช้กับตัวเองบ้าง

ศน.ปวีณาแจ่มแจ๋วกว่าเดิม....อิอิ.อิ  ชื่นชม

Ppp

ไม่แจ่มแจ๋วได้ไง ก็รูปนี้ได้มาจากไฟล์อัลบั้มของ ผอ.ประจักษ์ น่ะซิ...อิอิ.อิ (มั่ง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท