สวภาวะของอาตมันที่ปรากฏในมาณฑูกยะอุปนิษัท


สวภาวะที่ทุกคนสามารถทำได้ครับ และใครทำได้ก็คือนิพพนานในปัจจุบันนั้นเอง (ทำจิตให้เหมือนเด็กอญู่ตลอดเวลา)

สวภาวะของอาตมันที่ปรากฏในมาณฑูกยะอุปนิษัท

            การอธิบายถึงสวภาวะของอาตมันที่ปรากฏในมาณฑูกยะอุปนิษัท   ในที่นี้    ผมจะอธิบายเป็น  ๓  สวภาวะ  คือ  

           ๑.  สวภาวะของอาตมันที่เกี่ยวข้องกับคำว่า  “โอม” 

            ๒.  สวภาวะของอาตมัน (แก่นแท้ของสรรพสิ่ง)  ที่เกี่ยวข้องกับสวภาวะ (แก่นแท้ของมนุษย์) ทั้ง  ๔   และ

            ๓.  สวภาวะที่กล่าวถึงอาตมัน     

  

         ๑.       สวภาวะของอาตมันที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “โอม”

              ในมาณฑูกยะอุปนิษัทได้อธิบายถึงอาตมัน  โดยใช้คำว่า  “โอม”  และส่วนของการประกอบกันเข้าของ  “โอม”   คือ  เสียงอะ  เสียงอุ   และเสียงมะ   ในการมาช่วยอธิบายถึงสิ่งสูงสุด  ว่า “โอม”  คำนี้   คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง  และทุกสิ่งทุกอย่างก็คืออาตมันและพรหมัน  และคำว่า “โอม”  สามารถที่จะแบ่งออกได้  ๔  ส่วน  ดังข้อความที่กล่าวไว้ในมาณฑูกยะอุปนิษัทว่า

                “โอม”  อักษรนี้  คือ  สิ่งที่เห็นทั้งหมดนี้  โอมนั้น  ก็คือ  สิ่งที่มีมาแล้ว  สิ่งที่มีในปัจจุบัน  สิ่งที่จะมีในอนาคต  ก็คือ  “โอม” นี้แหละ

                   เพราะว่า  ทุกสิ่งทุกอย่าง  ก็คือ  พรหมันนั่นแหละ    อาตมันนั้น  นั่นแหละมี  ๔  เท้า

                     จากข้อความดังกล่าว   แสดงว่าตอนนี้อาตมันถูกแบ่งออกเป็น  ๔  ส่วน  ซึ่งก็ตรงกับคำว่า  “โอม”  ก็ถูกแบ่งออกเป็น ๔  ส่วนเหมือนกัน   และที่ต้องแบ่ง “โอม”  ออกเป็น  ๔  ส่วน    ก็เพื่อให้ง่ายแก่การทำสมาธิ   คือ  การบริกรรมคำแต่ละคำ  เช่น  คำว่า “โอม”  ประกอบด้วยคำว่า  อะ  อุ  มะ  เราก็จะทำการบริกรรมคำเหล่านี้ไปตามลำดับ    เริ่มแรกจะบริกรรมคำว่า  อะ  อุ  มะ  และ “โอม”  ตามลำดับ   ดังข้อความที่กล่าวถึงส่วนทั้ง  ๔  ของคำว่า “โอม” ในมาณฑูกยะอุปนิษัท  ว่า           

            สวภาวะตื่น  หรือไวศวานระ   ก็คือ เสียง  อะ  อันเป็นส่วนแรกของ “โอม”   เพราะว่าเป็นสิ่งกระจายไปทั่ว    บุคคลผู้รู้อย่างนี้   ย่อมได้สิ่งที่ประสงค์ทุกอย่าง และเป็นคนแรก                                

               สวภาวะหลับฝัน หรือ ไตชสะ  คือ  เสียง  อุ  อันเป็นส่วนที่  ๒   ของ  “โอม”   เพราะว่าอยู่ระหว่างกลาง    บุคคลผู้รู้อย่างนี้   ย่อมเป็นผู้รู้ยิ่ง  และเข้าถึงความเป็นผู้เสมอกับสิ่ง   ทั้งปวง    คนที่ไม่รู้จักพรหมจะไม่มาเกิดอยู่ในครอบครัวของเขาเลย                   

                 สวภาวะหลับสนิท  หรือสวภาวะปราชญะ  คือ  เสียง  มะ   อันเป็นส่วนที่  ๓  ของ  “โอม”  เพราะว่ามันเหมือนกับเครื่องตวง  เป็นปลายทางที่รวมของสิ่งอื่น  บุคคลผู้รู้อย่างนี้    ย่อมตวงหรือวัดสิ่งทั้งปวงด้วยความรู้ของเขา  และเข้าใจทุกสิ่งที่รวมอยู่ภายใน ตัวเรา

               เสียง “โอม”   เมื่อไม่มีส่วน หรือไม่มีเสียงนับ  อันเป็นส่วนที่  ๔  ซึ่งอยู่เหนือการเกี่ยวข้องใด ๆ ว่างจากปรากฏการณ์ทั้งปวง  มีความสงบเย็น  หนึ่งไม่มีสอง   ดังนั้น  โดยแท้จริงแล้ว  เสียง “โอม”   ก็คืออาตมัน  บุคคลผู้รู้อย่างนี้  ย่อมพาตนเข้าไปสู่อาตมัน

              จะเห็นได้ว่า   จากการแยกส่วนของคำว่า “โอม”  ออกเป็นส่วนต่าง ๆ   คือเสียงอะ  เสียงอุ   เสียงมะ  และคำว่า “โอม”  เป็นคำบริกรรมนั้นทำให้จิตจดจ่อเป็นสมาธิมากขึ้น          

              เพราะเมื่อต้องการให้สมาธิละเอียดประณีต   เราก็ต้องเพ่งส่วนของ  “โอม”  ที่ละเอียดขึ้น  กล่าวคือ  เริ่มแรกเราก็บริกรรมคำว่า  อะ  ไป  แต่เมื่อต้องการความละเอียดมากกว่าคำว่า  อะ      เราก็บริกรรมคำว่า  อุ  และเมื่อต้องการความละเอียดมากกว่าคำว่า  อุ  เราก็บริกรรมคำว่า  มะ     ทำแบบนี้ไป   เรื่อย ๆ  จนถึงคำว่า  “โอม”  เพราะคำว่า  “โอม”  เป็นทั้งคำที่ไร้เสียงและมีเสียงต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด   ความเป็นหนึ่งเดียวกันของ”โอม” นี้เอง   ทำให้สวภาวะความเป็นคู่หมดสิ้นลง    นำไปสู่สิ่งสูงสุดที่เรียกว่าตุรียะ  (สวภาวะที่หลุดพ้น)  ไม่ถูกพันธนาการด้วยเหตุและผลหรืออะไรเลย   (ไม่มีผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต)  เป็นสวภาวะแห่งการรู้แจ้ง  

               และการบริกรรมสิ่งเหล่านี้   ก็เพื่อทำให้จิตของเราเป็นหนึ่งเดียวกับอาตมัน เพราะอาตมันได้แฝงอยู่ในคำทั้ง ๔ อยู่แล้ว   แต่ความละเอียดที่จะทำให้เราเห็นแจ้งประจักษ์ในอาตมัน   ก็ต้องอยู่ที่ว่าเราทำได้ในระดับไหน  สิ่งเหล่าเปรียบได้กับโกศะที่ห่ออาตมันไว้ไม่ให้เราเห็น  เราจึงต้องเปิดมันออกให้หมดจนเกิดเป็นความรู้แจ้งในอาตมัน   เมื่อรู้แจ้งตนแล้วก็สามารถแยกอาตมันออกจากส่วนรูป   ออกจากคุณสมบัติทั้งปวง    เช่น   สุข   ทุกข์   เป็นต้น    แม้อาตมันจะเกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลง   แต่อาตมันก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง   เพราะฉะนั้น  อาตมันจึงไม่ตาย  เป็นอมตะ      และอาตมันก็กลับสู่สวภาวะเดิม   คือสวภาวะที่ว่างจากคุณสมบัติใด ๆ บริสุทธิ์  ไม่ต้องอาศัยร่างกายนี้    สิ่งสุดท้ายและเป็นจุด  มุงหมายสูงสุดของชีวิตทุกชีวิตนี้ก็คือ  การหลุดพ้นจากทุกข์   ทั้งปวง    อันหมายถึง   “โมกษะ” 

             และในคัมภีร์อุปนิษัทอื่น ๆ  ก็ได้มีการกล่าวถึงคำว่า  “โอม”  ไว้ว่า  “โอม”  คำนี้เป็นคำที่มีความหมายเร้นลับ   เปรียบได้กับธนู  อาตมันเปรียบได้กับลูกศร  และพรหมันเปรียบได้กับเป้า  ฉะนั้นบุคคลพึงยิงเป้านั้นให้ถูกด้วยจิตให้ได้   และคำนั้น  จริงแท้  ก็คือพรหมัน  คำนั้นแท้เทียว   คือปรมธรรม  อันเป็นคำที่พระเวทได้กล่าวถึงคำนี้  เพราะมุ่งหมายให้มนุษย์จะได้มัน     ดังข้อความที่กล่าวไว้ในกฐะอุปนิษัทว่า

 

           คำซึ่งพระเวททั้งปวงพูดถึง  คำซึ่งตบะทั้งปวงสำแดงให้แจ้ง  เพราะมุ่งหมายจะได้มัน    บุรุษทั้งหลายจึงดำเนินชีวิตแห่งพรหมจรรย์  คำนั้นแล  ข้าจะบอกแก่เจ้า         โดยย่นย่อ  คำนั้นแล  คือ “โอม” 

          คำนั้นแท้เทียว  คือ พรหมัน  คำนั้น  คือ ปรมธรรม  ผู้ใดรู้คำนี้  ผู้นั้นย่อมได้สิ่งใด  ๆ  ที่ตนปรารถนา

               จากอุปนิษัทอื่น ๆ  ที่ได้ยกมากล่าวนี้  จะเห็นได้ว่าคำว่า  “โอม”  ในที่นี้  จะเป็นการรวมคำว่า “โอม”  ไว้เป็นคำเดียวทั้งหมด  ไม่ได้แยกคำว่า “โอม”  ออกเป็นเสียงอะ  เสียงอุ  และเสียงมะ  เหมือนกับมาณฑูกยะอุปนิษัท  อย่างชัดเจน  อาจเป็นเพราะว่ามาณฑูกยะอุปนิษัทเกิดขึ้นภายหลังอุปนิษัทเหล่านั้น  จึงได้รวบรวมเอาสิ่งที่ไม่มีในอุปนิษัทเหล่านั้นมารวม  แล้วแสดงให้เห็นถึงสวภาวะของคำว่า “โอม”  ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าอุปนิษัทอื่น ๆ ก็เป็นไปได้  และสิ่งนี้เองจึงเป็นลักษณะเฉพาะของมาณฑูกยะอุปนิษัท  เมื่อจะกล่าวถึงสวภาวะของอาตมัน และใน             เศวตาศวตระอุปนิษัท  อัธยายที่  ๒ โศลกที่  ๘ - ๑๒  ได้กล่าวถึงท่านั่งบริกรรมคำว่า “โอม” ไว้ว่า  นั่งในท่าตรง  ยืดอก  ลำคอและศรีษะให้ตั้งตรง  กำหนดให้นำอินทรีย์ทั้งหลาย  และมนัส          เข้าสู่หฤหัย     ผู้รู้พึงข้ามกระแสเชี่ยวที่เต็มไปด้วยภยันตรายนั้นด้วยเรือ  (เรือหมายถึงคำบริกรรมว่า “โอม”) ว่า

                  เมื่อกลั้นลมหายใจไว้ที่ปอดนี้แล้ว  ผู้ควบคุมกิริยาท่าทางให้สงบสำรวมดีแล้ว  ควรหายใจออกด้วยรูจมูกเพียงข้างเดียว  เมื่อลมหายใจเข้าขาดหายไปแล้ว  ผู้รู้ควรประคับประคองในไว้  ไม่ประมาท  ราวกับว่านี่เป็นรถที่ถูกเทียมด้วยม้าเลว

                   บุคคลควรฝึกปฏบัติในสถานที่สะอาด  ราบเรียบ  ปราศจากกรวด  ไฟ  และทราย  เกื้อกูลจิตใจด้วย (สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิ)  แหล่งน้ำที่ก่อให้เกิดเสียง (น้ำไหล)  แต่มิใช่เป็นที่ซึ่งทำให้เกิดอาการเคืองตา   และเป็นที่รโหฐานและกำบังลมแรง

                   รูปนิมิตทั้งหลายเหล่านี้จะไหลเข้ามาก่อนที่จะเกิดมีปรากฏพระพรหมันในการฝึกปฏิบัติ  คือ  หมอก  ควัน  ไฟ  ลม  ไฟพะเนียง  ดวงอาทิตย์  สายฟ้าแลบ  แก้วผลึก  และดวงจันทร์

                   เมื่อดิน  น้ำ  ไฟ    ลม  และอากาศก่อตัวขึ้นพร้อมกัน  นั่นคือองค์ประกอบทั้ง  ๕  อันเป็นคุณสมบัติของการฝึกปฏิบัติบริกรรมเริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว  จากนั้น  โรคภัยไข้เจ็บ  ความแก่ และความตายล้วนไม่มีแก่เขาผู้ได้รับร่างกายซึ่งประกอบด้วยไฟ  (คือพลังอำนาจ)  ของโยคะแล้ว

             จะเห็นได้ว่าการบริกรรมคำว่า  “โอม”  เป็นวิธีการที่นำเราไปสู่ความหลุดพ้น  และเป็นวิธีที่มีวิธีการส่วนหนึ่งที่มาโยคะ   จึงทำให้มีท่าฝึกสมาธิในการที่เราจะเข้าถึงคำว่า “โอม” และอาตมันได้

 

บรรรณานุกรม

S. Gambhīrānanda, Māndūkya  Upanisạd,

S. Śaravānanda, Kathopanisad  (10th ed. Madras : Bharati Vijayam Press, 1960)

 วรลักษณ์  พับบรรจง,   คัมภีร์กำเนิดจักรวาลศาสตร์แห่งชีวิต

หมายเลขบันทึก: 504523เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณ

คุณทิมดาบ

คุณชยพร แอคะรัจน์

คุณธ.วั ช ชั ย

และท่านผู้เฒ่า  ที่ไม่เฒ่าเลยนะครับ  วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ที่แวะมาให้ดอกไม้

ขอบคุณครับ

แวะเข้ามาทักทายครับ และขอเสนอแนะ คำว่า " กษณ" และ " กษิณ " ที่ท่านให้ความรู้ไว้ ใน "กษิณานุสรณ์ รำลึก " ของ แว่นธรรมทอง ในฐานะผมเป็นลูกศิษย์ท่านคนหนึ่ง จากที่คุณลูกสายลมกล่าวว่า.... " คำว่า กษิณ น่าจะผิดนะครับ ต้องเป็น กษณ จึงจะถูกนะครับ ถ้าน้ำนมใช้ กษิร แต่ถ้าเกษียณอายุต้อง กษณะ นะครับ " ผมขออนุญาตเสนอแนะว่า.... คำที่คุณลูกสายลม แนะนำมา กษณ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ครู่ คราว บาลีใช้ ขณ •กษิร ที่ คุณลูกสายลมให้ควาหมาย ว่า น้ำนม ถูกต้อง •คำที่ แว่นธรรมทอง นำมาสร้างขึ้น "กษิณานุสรณ"(อนุสรณ์การเกษียณ) โดยนำคำว่า "กษิณ" (สันสกฤต บาลีใช้ ขีณ) สมาสแบบสนธิกับคำว่า "อนุสรณ์" •คำที่มีเสียงพ้องกัน ๓ คำ แต่ความหมายต่างกัน ที่ทำให้คนเข้าใจผิด มีดังนี้ •เกษียณ แปลว่า สิ้นไป เช่น เกษียณราชการ •เกษียร แปลว่า น้ำนม เช่น เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม)
•เกษียน แปลว่า ข้อความที่เขียนไว้หัวกระดาษคำสั่ง (เกษียนหนังสือ)...สวัสดีครับ ( จำคำครูมาเล่าต่อเพื่อเป็นวิทยาทาน) และ หลายท่านที่ใช้คำว่า " กษิณา" ( ที่มีความหมายว่าสิ้นสุด สิ้นไป นี้) ไปสมาสกับคำอื่นเพื่อสร้างคำใหม่ ใช้ในโอกาสต่างๆ มากมาย เช่น
- กษิณาลัย ( กษิณ+อาลัย) ในงานเกษียณอายุราชท่าน คุณครูวาลินา สังวรินทะ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม - กษิณาศรพ ( กฺษิณา+อาศฺรว) แปลว่า พระผู้สิ้นอาสวะ ( ในมหาชาติคำหลวง นครกัณฑ์ ) - กษิณาลิขิตานุสรณ์ ฯลฯ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คำว่า " กษิณ" หรือ "กษิณา" ที่มีความหมายว่า สิ้นไป สิ้นสุดไป ก็สามารถใช้สมาสกับคำอื่นสื่อความหมายว่าสิ่งนั้นกำลังจะสิ้นสุดไปได้,ผู้สิ้นสุด หรือ อนุสรณ์แห่งการสิ้นสุด ( กษิณานุสรณ์) ก็ได้ หรือ อนุสรณ์การเกษียณ ก็ได้ตรงตามความหมายที่ อ.แว่นธรรมทอง ใช้ " กษิณานุสรณ์ รำลึก " หรือ ถ้าใช้ "กษณนุสรณ์ ที่แปลว่า อนุสรณ์ครั้งคราวหนึ่ง ,ครั้งหนึ่ง ตามที่คุณลูกสายลมแนะนำไว้ก็อาจใช้ได้ แต่ผมเห็นว่า การใช้คำว่า " กษิณา" มาสมาสกับ "อนุสรณ์" นั้น ไม่ผิดครับ ขอบคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท