ถ่านหินกับความสามารถด้านพลังงาน


มองถ่านหินผ่านการคำนวณค่าพลังงานเพียงเล็กน้อย

 

 

รูปที่ 1 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ที่มา: http://www.9engineer.com/post_files_editor/image/Article/EP/PP/maemoh_02.jpg

            มีการรายงานข้อมูลจากหลายแหล่งปรากฏในสื่อต่างๆมากมายว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นหมอกพิษ (Poison Clouds) มลพิษทางเสียง น้ำ อากาศ (Greenpeace Thailand, 2552; บริษัท กู๊ดเฮลท์ ประเทศไทย จำกัด, ม.ป.ป.; องค์กรเยาวชนชาวปะโอ, 2554) แต่ไฉนเราถึงยังใช้มันอยู่ ซึ่งในประเทศไทยได้ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะตั้งแต่ปี 2503 และยังคงเดินเครื่องจนถึงปัจจุบันนี้ (สุพัตร์ พิมพ์กลาง, ม.ป.ป.)

 

รูปที่ 2 ถ่านหินที่พบในประเทศไทย
ที่มา: http://njscuba.net/zzz_artifacts/rock_coal_types.jpg

            สิ่งที่ทำให้ถ่านหินเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในสมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบันก็เนื่องมามาจากราคาที่ต่ำกว่าแหล่งพลังงานที่สำคัญ เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่สามารถให้พลังงานได้รวดเร็วกว่าพลังงานน้ำจากเขื่อน ใช้ได้ตลอดเวลาซึ่งต่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และที่สำคัญคือ มีแหล่งถ่านหินสำรองในปริมาณมากนั่นเอง (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ม.ป.ป.) ถ่านหินส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นถ่านหินลิกไนต์ (Lignite) ซึ่งมีคุณภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับถ่านหินชนิดอื่น โดยแหล่งถ่านหินชนิดนี้ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งยังพบถ่านหินคุณภาพสูงคือ ซับบิทูมินัส (Sub bituminous) และแอนทราไซต์ (Anthracite) อยู่เล็กน้อย ที่จังหวัดเลย (อชิตพล ศศิธรานุวัฒน์, 2548; วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ม.ป.ป.)

            เมื่อพิจารณาความหนาแน่นพลังงาน (Energy density) เป็นปริมาณพลังงานที่เก็บสะสมไว้ในระบบที่กำหนดหรือปริภูมิต่อหน่วยมวล (Wikipedia, ม.ป.ป.) โดยมีการรายงานว่า ถ่านหิน 1 กิโลกรัมสามารถให้ความหนาแน่นพลังงาน 24 เมกะจูล ในขณะที่ไม้แห้ง 1 กิโลกรัมให้ความหนาแน่นพลังงาน 16 เมกะจูล ก๊าซธรรมชาติ 1 ลูกบาศก์เมตรให้ความหนาแน่นพลังงาน 39 เมกะจูล (Glenn Elert, ม.ป.ป.) ในกรณีนี้พิจารณาการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งในความเป็นจริงโรงไฟฟ้าถ่านหินมีประสิทธิภาพเพียง 40% ซึ่งเทียบเท่าประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าน้ำมัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพถึง 50% (กระทรวงพลังงาน, ม.ป.ป.) ดังนั้นการนำพลังงานถ่านหินมาใช้ประโยชน์จะได้พลังงานเพียง 9.6 เมกะจูลเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาพลังงาน 3.6 เมกะจูล เทียบเท่ากำลังไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์.ชั่วโมง นั่นคือ ถ่านหิน(1 กิโลกรัม) ให้พลังงาน 9.6 เมกะจูล จะเทียบเท่ากำลังไฟฟ้า 2.67 กิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น

            หากเราใช้หลอดไฟขนาด 100 วัตต์เปิดวันละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน เท่ากับเราใช้กำลังไฟฟ้าคิดเป็น 100 (วัตต์) x10x30 (ชั่วโมง) = 30000 วัตต์.ชั่วโมง = 30 กิโลวัตต์.ชั่วโมง ซึ่งถ่านหิน 1 กิโลกรัมก็อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว

            แล้วถ้าบ้านเราเปิดหลอดไฟ (รั้ว) 1 ดวง ขนาด 40 วัตต์ วันละ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี (365 วัน) เราจะใช้กำลังไฟฟ้าคิดเป็น 40 x 12 x 365 = 175,200 วัตต์.ชั่วโมง ดังนั้นเราต้องใช้ถ่านหิน 65617.98 กิโลกรัม หรือประมาณ 65 ตัน แล้วจริงๆบ้านแต่ละหลังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ากันเท่าใดเล่า

            เราทราบว่าถ่านหินลิกไนต์มีคาร์บอนร้อยละ 60-75 (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ม.ป.ป.) ถ้าพิจารณาสัดส่วนคาร์บอนที่ร้อยละ 60 สำหรับถ่านหิน 1 ตัน จะมีคาร์บอนประมาณ 600 กิโลกรัมที่จะทำปฏิกิริยาเผาไหม้และปลดปล่อยสู่บรรยากาศ ดังนั้นหากเปิดหลอดไฟ (รั้ว) 1 ดวง ขนาด 40 วัตต์ วันละ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี (365 วัน) จะมีปริมาณคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้นได้สูงถึง 39 ตัน ต่อปีสำหรับหลอดไฟเพียงหนึ่งดวงเท่านั้น

 

 

รูปที่ 3 แนวทางการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
ที่มา: http://www.bu.ac.th/NewsandInform/bunews/2545/Feb22/images/env1.gif

            สิ่งที่เราทำได้และทำได้ดีที่สุดคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือใช้ให้คุ้มค่า ไม่เหลือทิ้ง ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่ออนาคตของพวกเราและอนาคตอันใกล้ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน

 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Glenn Elert. (ม.ป.ป.). Energy Density of Coal. http://hypertextbook.com/facts/2003/JuliyaFisher.shtml. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[2] Greenpeace Thailand. (2552). ความจริงเกี่ยวกับถ่านหิน. http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/coal/facts/. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[3] Wikipedia. (ม.ป.ป.). Energy Density. en.wikipedia.org/wiki/Energy_density. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[4] กระทรวงพลังงาน. (ม.ป.ป.). ก๊าซธรรมชาติ. http://www.energy.go.th/index.php?q=node/386. เข้าถึงเมื่อ 25 กันยายน 2555.

[5] บริษัท กู๊ดเฮลท์ ประเทศไทย จำกัด. (ม.ป.ป.). อากาศพิษ. http://www.goodhealth.co.th/new_page_101.htm. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[6] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (ม.ป.ป.). ถ่านหิน. http://th.wikipedia.org/wiki/ถ่านหิน. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[7] สุพัตร์ พิมพ์กลาง. (ม.ป.ป.).  ประวัติเหมืองแม่เมาะ. http://maemohmine.egat.co.th/. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

[8] อชิตพล ศศิธรานุวัฒน์. (2548). วิทยาศาสตร์พลังงาน. http://science.uru.ac.th/pro_doc/doc/10.doc. เข้าถึงเมื่อ 25 กันยายน 2555.

[9] องค์กรเยาวชนชาวปะโอ. (2554). หมอกพิษ บทเรียนจากโครงการถ่านหินตีจิตซึ่งใหญ่ที่สุดในพม่า. http://www.pyo-org.blogspot.com. เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555.

 


หมายเลขบันทึก: 504518เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านผู้มีความรู้ทุกท่านช่วยตรวจสอบบันทึกนี้ด้วยครับ ผมอยากได้ความเห็นครับว่าถูกต้องเหมาะสมอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท