ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 16. เคล็ดลับสร้างชุมชนการเรียนรู้ (๒)


การเรียนเป็นทีมนี้ นศ. ได้ประโยชน์สองชั้น คือได้เรียนรู้สาระวิชาหรือทักษะเกี่ยวกับวิชา และยังเป็นการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม นศ. จะได้เรียนรู้วิธีแบ่งงานกันทำ ผลัดกันเป็นหัวหน้าทีม เพื่อเรียนทักษะการเป็นหัวหน้าทีม และทักษะการเป็นลูกทีม ทักษะการจัดการความขัดแย้งในทีม เป็นต้น

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 16. เคล็ดลับสร้างชุมชนการเรียนรู้ (๒)  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๖ นี้ ได้จากบทที่ ๙ ชื่อ Tips and Strategies for Building Community   

เนื่องจากบทที่ ๙ มีทั้งหมด ๑๒ เคล็ดลับ    จึงแบ่งออกเป็น ๒ บันทึก    ในบันทึกที่ ๑๕ ได้ลง คล. ๒๖ - ๓๑ ไปแล้ว    ในบันทึกที่ ๑๖ นี้ เป็น คล. ๓๒ - ๓๗

 

คล. ๓๒  จงตั้งใจทำให้ทุกคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมชน

จุดสำคัญคือ อย่าให้มีอคติใดๆ เช่นอคติระหว่างเพศ  เชื้อชาติ  เรียนเก่งไม่เก่ง  ชอบหรือไม่ชอบวิชานั้น    ครูพึงระมัดระวังพฤติกรรมของตนเอง

หนังสือมีข้อแนะนำ ๘ ข้อ   ซึ่งเราพึงตระหนักว่าเขาแนะนำในบริบทวัฒนธรรมอเมริกัน   หากจะเอามาใช้กับ นศ. ไทย ควรปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของเรา

  1. ในวันแรกของชั้นเรียน (และทุกวัน) เมื่อเดินเข้าไปในห้อง ให้กล่าวคำทักทาย นศ. ทั้งห้อง    หรือทักทาย นศ. เป็นรายคน
  2. ในชั่วโมงแรก บอก นศ. ว่าครูชอบให้เรียกชื่อตนเองว่าอย่างไร   ถาม นศ. แต่ละคนว่าชอบให้เรียกว่าอย่างไร และจดไว้ในกระดาษรายชื่อ นศ.
  3. จะเรียก นศ. ด้วยชื่อตัวหรือนามสกุล ก็ให้ทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
  4. เรียกชื่อ นศ. ในทุกชั่วโมงเรียน   เพื่อให้ นศ. ตระหนักว่า ครูให้คุณค่าต่อการที่ นศ. มาเรียน   และช่วยให้ครูและเพื่อน นศ. จำชื่อเพื่อนได้
  5. เอ่ยชื่อ นศ. ด้วยความชื่นชมในคำถาม ข้อคิดเห็น หรือผลงาน   เพื่อช่วยส่งเสริม self-esteem ของ นศ.
  6. จงคุยกับ นศ. ก่อนและหลังชั้นเรียน   เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจ  ความมานะพยายาม  และความสำเร็จ ในการเรียน
  7. ทำตัวให้ นศ. เข้าพบง่าย  ให้เกียรติแก่ นศ.  แสดงความสนใจต่อการเรียนของ นศ.   จงให้ความสนิทสนม
  8. สร้างบรรยากาศไม่เป็นทางการ เช่นใช้อารมณ์ขัน

 

คล. ๓๓  แบ่งย่อยชั้นเรียนที่ใหญ่ ออกเป็นกลุ่มย่อย

การแบ่งกลุ่มย่อยนี้ทำได้หลายแบบ   ทั้งหมดเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือกันด้านการเรียนในหมู่ นศ.  

อาจแบ่งตามผลการประเมินพื้นความรู้ และความสามารถในการเรียนวิชานั้น    และเชื้อเชิญ นศ. ที่เรียนเก่ง ช่วยเป็นติวเต้อร์อาสาแก่เพื่อนๆ ที่เรียนอ่อนวิชานั้น   (โดยไม่ลืมย้ำว่า การเรียนที่ดีที่สุดทำโดยสอนคนอื่น)

อาจแบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่มย่อย หรือชุมชนเรียนรู้ ๘ - ๑๒ คน คอยช่วยเหลือ และ ลปรร. กันตลอดภาคการศึกษา    การแบ่งกลุ่มนี้อาจจัดอย่างเป็นทางการ หรือให้จับกลุ่มกันเอง  

 

คล. ๓๔  หาวิธีให้ นศ. ทุกคนร่วมอภิปราย

ในชุมชนเรียนรู้ที่แท้ สมาชิกทุกคนต้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนสารสนเทศ แนวคิด และความเห็น    วิธีการง่ายๆ คือใช้ “โอ่งของโซเครตีส”   คือภาชนะอะไรก็ได้ใส่ฉลากที่มีชื่อ นศ. ทุกคน    เอาไว้จับเพื่อให้แสดงข้อคิดเห็น   

ครูต้องมีวิธีสร้างบรรยากาศที่ นศ. ไม่กังวลใจที่จะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างอิสระ   หนังสือแนะนำวิธีการไว้ ๑๒ข้อ ดังนี้

  1. ฝึกตั้งประเด็นเปิดที่นำสู่การแสดงข้อคิดเห็น   ไม่ใช่นำไปสู่การบอกข้อเท็จจริง    และต้องไม่ให้ นศ. รู้สึกว่าเป็นการทดสอบทางอ้อม
  2. ตั้งประเด็นที่ยากหรือท้าทายเพิ่มขึ้น    เริ่มด้วยประเด็นที่ นศ. ทุกคนตอบได้   เพื่อดึง นศ. ทุกคนเข้าร่วม   แล้วเพิ่มความยากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น
  3. ใช้กิจกรรมช่วย เช่น “Think-Pair-Share” 
  4. สอนให้ นศ. เห็นคุณค่าของ การ ลปรร. (Learning Pyramid)    ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการมีทักษะในการเปิดรับความคิดที่แตกต่าง    และการแสดงความเคารพต่อข้อคิดเห็นที่แตกต่าง
  5. ครูพูดซ้ำคำตอบหรือคำพูดสำคัญของ นศ.  เพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดี   และเกิดการเรียนรู้
  6. ถามคำถามเพื่อตรวจสอบความหมายและความเข้าใจของครู และของ นศ. ในชั้น    รวมทั้งเพื่อให้ นศ. ได้ฝึกอธิบายในหลากหลายรูปแบบ
  7. ทำหน้าที่ดำเนินการอภิปราย หรือการโต้เถียงระหว่าง นศ.   และหากความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ครูต้องมีวิธีไม่ให้เกิดเป็นคู่ขัดแย้งถาวร   และลดความรู้สึกเอาชนะกัน   ด้วยคำพูดเช่น “เป็นความเห็นที่ดีทั้งสองแนว”  “จะเห็นว่าเรื่องนี้มองได้หลายมุม”  “จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ขาวกับดำ”    
  8. เชื่อมโยงเรื่องราวกับสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว   หรือกับข่าวในสื่อมวลชน
  9. แสดงความชื่นชมความเห็นที่น่าสนใจ
  10. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกโดยขยายความสิ่งที่ นศ. แสดงข้อคิดเห็น    หรือแนะนำให้แสดงความเห็นในมุมมองอื่นๆ
  11. ให้มีเวลาเงียบได้   เพราะ นศ. ต้องการเวลาคิด
  12. คอยสรุปประเด็นสำคัญของประเด็นที่ถกเถียง    และสรุป/สังเคราะห์การเรียนรู้เมื่อจบการอภิปราย

 

คล. ๓๕  ให้มีการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง

เพื่อส่งเสริมความเป็นชุมชน ต้องให้ นศ. ได้เรียนโดยทำงานเป็นทีม หรือเป็นกลุ่ม    และเพื่อให้เกิดทีมทำงานและเรียนรู้อย่างได้ผล    ต้องมีวิธีแบ่งกลุ่ม โดยคำนึงถึงจำนวนสมาชิกกลุ่ม   เป็นกลุ่มคละ  หรือกลุ่มเหมือน  หรือกลุ่มสมัครใจ  

นศ. พึงได้รับการย้ำว่า การเรียนเป็นทีมนี้ นศ. ได้ประโยชน์สองชั้น   คือได้เรียนรู้สาระวิชาหรือทักษะเกี่ยวกับวิชา    และยังเป็นการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม    นศ. จะได้เรียนรู้วิธีแบ่งงานกันทำ    ผลัดกันเป็นหัวหน้าทีม เพื่อเรียนทักษะการเป็นหัวหน้าทีม และทักษะการเป็นลูกทีม   ทักษะการจัดการความขัดแย้งในทีม   เป็นต้น

วิธีการสร้างการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็งอย่างหนึ่งทำโดยการสอบเก็บคะแนน  ที่มีทั้งส่วนที่สอบเป็นรายคน   และสอบเป็นทีม  คือหลังจากตอบข้อสอบรายคน   ก็ให้จับกลุ่มและตอบข้อสอบเป็นกลุ่ม   การให้น้ำหนักคะแนนอาจให้เท่ากันระหว่างคะแนนสอบรายคน กับคะแนนกลุ่ม    หรือจะให้น้ำหนักส่วนไหนมากกว่าก็ได้ ตามที่ครูเห็นว่าเหมาะสม  

ศ. เอลิซาเบธ แนะนำหนังสือ Cooperative Learning for Higher Education Faculty  และ Collaborative Learning Techniques : A Handbook for College Faculty   สำหรับศึกษารายละเอียด  

 

คล. ๓๖  จัดกิจกรรมละลายน้ำแข็งซ้ำ ในช่วงกลางภาคการศึกษา

เป้าหมายคือ เพื่อสร้างความเป็นชุมชน หรือความสนิทสนมให้แน่นแฟ้นขึ้น   โดยใช้เครื่องมือหรือเกมที่ยากขึ้น  เช่นการสัมภาษณ์ ด้วยประเด็นสัมภาษณ์ที่อาจเชื่อมโยงไปสู่บทเรียนที่จะตามมาในช่วงท้ายของภาคการศึกษา 

 

คล. ๓๗  เฉลิมฉลองการเรียนรู้จากความเป็นชุมชน

สิ่งที่พึงระวังในบริบทไทยคือ การพุ่งความสนใจไปที่ความเป็นชุมชนในหมู่ นศ. โดยไม่สนใจสาระการเรียนรู้   นศ. และครู พึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า   ความเป็นชุมชนเป็น means มากกว่าเป็น end   จึงต้องหาวิธีเชื่อมโยงไปสู่สาระการเรียนรู้    

หนังสือแนะนำวิธีการ ๓ วิธี ได้แก่

v Gallery of Achievement   ทำโดยให้ นศ. แต่ละคน (หรือเป็นกลุ่ม) เขียนสิ่งสำคัญที่ตนได้เรียนรู้ลงบนกระดาษ Post it   แล้วนำไป post บนผนังห้อง หรือใน online discussion forum  ให้ นศ. คนอื่นๆ เดินวน (หรือเข้าไปอ่าน กรณี online)   แล้วเขียนประเด็นเรียนรู้ที่ตนไม่คิดมาก่อน หรือเป็นสุดยอดการเรียนรู้   นำมารวบรวมเป็นประเด็นเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุด หรือแปลกใหม่ที่สุด   สำหรับนำมายกย่องหรือให้รางวัล

v ภาพถ่ายของชั้นเรียน หรือของกลุ่ม   เมื่อใกล้จบเทอม เชิญ นศ. มาชุมนุม   ครูกล่าวคำขอบคุณและความชื่นชมในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นชุมชนเรียนรู้ของ นศ.   แล้วถ่ายรูปกลุ่ม    สำหรับมอบให้ นศ. แต่ละคนในวันปิดเทอม   และนำไป โพสต์ในเว็บเพจ ของวิชา    สำหรับกระตุ้น นศ. กลุ่มต่อไป   และสำหรับเป็นความทรงจำที่ดีของ นศ. กลุ่มนั้น 

v เชิญศิษย์เก่า   โดยเลือกเชื้อเชิญศิษย์เก่าในเทอมที่แล้ว ที่ผลการเรียนดี หรือเป็นนักเรียนรู้เป็นทีม มาเป็น TA หรือติวเต้อร์ ในเทอมต่อไป 

การสร้างชุมชนเรียนรู้ในชั้นเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย    แต่ผลที่ นศ. ได้รับ ทั้งด้านการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง    และการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม   จะติดตัว นศ. ไปตลอดชีวิต     

วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๕

  

หมายเลขบันทึก: 504348เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 05:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 05:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท