ความหมายที่แท้ ของ internationalization


แท้จริงแล้ว internationalization เป็น means ส่วน end หรือเป้าหมายคือการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศหรือพื้นที่ และบัณฑิตมีความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน

ความหมายที่แท้ ของ internationalization

Jane Knight เขียนบทความเรื่อง Five Truths about Internationalization ลงในวารสาร International Higher Education, Number 69 : Fall 2012 (อ่านได้ ที่นี่)   และเรื่อง Five Myths about Internationalization  ลงในวารสารเดียวกัน Number 62 : Winter 2011 (อ่านได้ ที่นี่)

ผมจึงสรุปนำมาบันทึกไว้ ว่าความเป็นสากลที่ดีของอุดมศึกษา มีธรรมชาติที่แท้ดังต่อไปนี้

  • อยู่บนฐานของความเป็นจริงของพื้นที่หรือท้องถิ่น  และเคารพ เห็นคุณค่า ต่อความเป็นจริงนั้น
  • ไม่มีสูตรตายตัว  แต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น แต่ละสถาบัน ต้องหาองค์ประกอบที่เหมาะสมเอาเอง    องค์ประกอบดังกล่าวได้แก่ มิติระหว่างประเทศ มิติระหว่างวัฒนธรรม และมิติโลก   ที่นำมาผสมลงไปในการจัดการอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
  • internationalization มีผลเป็นได้ทั้งคุณประโยชน์ เป็นความเสี่ยง และทำให้เกิดผลต่อเนื่องที่ไม่คาดฝัน    อย่าคิดว่า internationalization จะให้ผลดีไปเสียทั้งหมด   เขายกตัวอย่างผลร้าย  (๑) brain drain จากประเทศที่อยู่ใน brain chain ต่ำกว่า ไปยังประเทศที่อยู่ใน brain chain สูงกว่า  (๒) การยกย่องปริญญาต่างประเทศแบบมืดบอด ทำให้มีการขายปริญญาจากมหาวิทยาลัยโรงงานปั๊มปริญญา  (๓) บางประเทศมีนโยบายหารายได้จาก นศ. ต่างชาติ จนไม่เคร่งครัดคุณภาพ   (๔) เกิดการจัดการศึกษาแบบ franchise ข้ามชาติ โดยไม่เอาใจใส่คุณภาพ
  • อย่าสับสน means กับ end   แท้จริงแล้ว internationalization เป็น means   ส่วน end หรือเป้าหมายคือการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศหรือพื้นที่    และบัณฑิตมีความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน  
  • อย่าสับสนระหว่าง globalization (โลกาภิวัตน์) กับ internationalization (ความเป็นนานาชาติ)  สองคำนี้ต่างกัน แต่เชื่อมโยงกัน    โลกาภิวัตน์ หมายถึงความเชื่อมโยงถึงกันหมดของ แนวความคิด ทรัพยากร คน เศรษฐกิจ คุณค่า วัฒนธรรม ความรู้ สินค้า บริการ และเทคโนโลยี    ส่วนความเป็นนานาชาติ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ผู้คน วัฒนธรรม สถาบัน และระบบ   กระแสโลกาภิวัตน์ นำไปสู่วัฒนธรรมแข่งขัน และร่วมมือธุรกิจการค้า มีผลส่งเสริมการจัดการศึกษาข้ามพรมแดนรัฐชาติ   เกิดการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าที่รวมเอาการจัดการศึกษาข้ามพรมแดน   ที่เมื่อมีการดำเนินการเข้มข้น ก็ยิ่งทำให้โลกาภิวัตน์เข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

ความเป็นนานาชาติเป็นคำกลางๆ ที่ใช้สนองเป้าหมายเชิงเอาเปรียบ แข่งขัน หวังสร้างชื่อเสียง (หลอกๆ) หรือแค่หวังผลทางการค้า ก็ได้   หรือจะใช้สนองเป้าหมายความร่วมมือ แลกเปลี่ยน ผลประโยชน์ร่วม หรือเป็นพันธมิตร ก็ได้

 

Jane Knight กล่าวถึงมายาคติ ๕ ประการของ internationalization ดังนี้

  1. คิดว่าการมีนักศึกษาต่างชาติ เป็นดัชนีของ internationalization
  2. การมีชื่อเสียงในต่างประเทศ สะท้อนคุณภาพ
  3. การมีข้อตกลงความร่วมมือกับต่างประเทศเป็นดัชนี
  4. การได้รับ accredit ในต่างประเทศ เป็นดัชนี
  5. เป้าหมายของ internationalization ก็เพื่อ global branding

อ่านเหตุผลของการระบุมายาคติทั้ง ๕ เอาเองจากลิ้งค์ที่ให้ไว้นะครับ    จะเห็นว่าวงการอุดมศึกษาไทย ติดบ่วงมายาคตินี้ไม่ใช่น้อย

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๕

550923, internationalization, globalization, higher education, HE

 

หมายเลขบันทึก: 503159เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2012 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 05:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท