สุข สาระ และรอยยิ้ม จากอ.สุรวงศ์ วัฒนกูล


การบรรยายสไตล์ทอล์ค เรื่อง สวมใจผู้ให้ ได้ใจผู้รับบริการ โดยอาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกูล

สวมใจผู้ให้ ได้ใจผู้รับบริการ

เมื่อวานได้มีโอกาสไปฟังประชุมวิชาการสาธารณสุข เขต 6 หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ และได้รับความรู้ดี ดี คือการบรรยายสไตล์ทอล์ค เรื่อง สวมใจผู้ให้ ได้ใจผู้รับบริการ โดยอาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกูลซึ่งคิดว่าหลายคนคงรู้จักอาจารย์ดี อาจารย์เป็นนักพูด ฝีปากกล้า และเนื้อหาที่ได้รับ ก็น่าสนใจมาก อยากนำมาเล่าสู่กันให้ฟัง

 

เคล็ดลับที่อาจารย์ให้

  1. เสน่ห์ของผู้หญิง : ผู้หญิงเราต้องไร้เดียงสาเล็กน้อย อ.ย้ำว่าต้องเล็กน้อยเท่านั้นนะ อย่าฉลาดมาก เพราะผู้หญิงที่ฉลาดมาก ๆ ผู้ชายจะ “กลัว” และพูดจาให้ประณีตหน่อย

 

  1. “ หากิน อย่าหาเรื่อง ” แล้วอ.ยกตัวอย่างของตัวเองที่เคยปากไว ย้อนไปกับผู้เข้าอบรม

อ.บอกว่าไปสอนเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว แล้วผู้เข้าอบรม ยกมือถามว่า อ.ไม่มีครอบครัวมาพูดเรื่องนี้ได้อย่างไร อ.ก็ตอบกลับไปว่า คุณเป็นหมอรักษามะเร็ง แต่ไม่เคยเป็นมะเร็งรักษาได้ยังงัย

แต่คนที่อ.ถามวันนั้น เป็นคนใหญ่คนโต เรื่องที่เกิดขึ้นเลยทำให้ อ.เสียสิทธิ์ในการเป็นวิทยากรในครั้งต่อไป

 

อ. ก็เลยให้หลักว่า ให้ทุกคนตระหนักในหน้าที่การงานของตน ท่องไว้ในใจเสมอ ว่า เรามาทำงาน ไม่ได้มาหาเรื่อง ให้ทำงานของเราไป คิดถึงข้อนี้ไว้เยอะ ๆ แล้วชีวิตนี้จะมีสุข

 

  1. “ เขาเกิดก่อน พวกเยอะกว่า ” ข้อคิดนี้ อ. ได้มาจากลุง เวลาเจอคนแก่ เวลาพูดกับคนแก่ หรือเวลาผิด ก็ยอมรับผิดก่อนบ้าง เพราะ คนแก่เขาเกิดก่อน พวกเขาเยอะกว่า ลองไปคิดดูนะ ว่าจริงหรือเปล่า แต่ก็มีส่วนเหมือนกันนะ ( ยอม ๆ เสียบ้างเหอะ )

 

  1.  เวลาเครียด ไม่สบายใจ “ ให้ย้ายจิตไปทำอย่างอื่น ” อ.ยกตัวอย่างว่า เวลาเราไม่สบายใจอะไร เรามักจะคิดแต่เรื่องนั้น ๆ มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จิตเราก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องนั้น ให้เราไปทำอย่างอื่น เช่นไปอาบน้ำ สระผม ทำอะไรก็ได้ แล้วจิตเราจะได้ออกจากเรื่องที่ไม่สบายนั้น  จะได้หายเครียด

 

 

อันนี้ตรงกับวิธีผ่อนคลายความเครียด ตามหลักวิชาการเลยนะ เพราะเวลาคนเราเครียด ยิ่งคิดเรื่องนั้น ก็ไม่ช่วยอะไร เหมือนกบอยู่ในกะลาครอบ มองไม่เห็นอะไรเลย แม้แต่ความสามารถของตัวเราที่ก็เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วก็ผ่านมันมาได้แล้ว เพราะฉะนั้นต้องหยุดการคิดเรื่องนั้น โดยพาตัวเราไปทำอะไรก็ได้ที่เราชอบ ให้ใจเราสบายก่อน แล้วค่อยกลับมาคิดพิจารณาเรื่องที่ปัญหานั้นอีกครั้ง ด้วยใจที่สงบ แล้วใช้หลักการแก้ปัญหา ( คิดทางเลือก พิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น แล้วสุดท้ายก็ตัดสินเลือก และปฏิบัติตามทางที่เลือกไว้ จบ )

 

  1. จิตเราเหมือนห้อง ๆ หนึ่ง เราเอาอะไรใส่ไป เราก็จะกลายเป็นห้องนั้น

 

  1. หลักในการทำกิจกรรมทุกประเภท ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ
  1. เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ( อ.ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมัยก่อนบิ๊กจิ๋ว ( ตอนยังไม่เป็นนายก) เคยไปไหว้ หลวงพ่อคูณ ซึ่งท่านก็เคาะศีรษะ แล้วพูดว่า กูให้มึงเป็นนายก พอกลับมาจากวัด เวลาผ่านไป บิ๊กจิ๋วก็ไม่ได้เป็นนายกเสียที ท่านก็กลับไปหาหลวงพ่อคูณอีกครั้ง แล้วถามว่า ทำไมตนยังไม่เห็นได้เป็นนายกเสียที หลวงพ่อคูณก็บอกว่า “ กูให้มึงเป็น แต่คนอื่นเขาไม่ให้นี่ ” อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความเข้าใจว่า เรา 2 ฝ่ายเข้าใจตรงกันหรือเปล่า ในการทำงาน ร่วมกัน หัวหน้ากับลูกน้อง พูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เรากับสามี ลูก พูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า หรือเราเข้าใจไปคนเดียว แล้วคิดว่าเขาเข้าใจตรงกับเราไปด้วย ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ ก็เลยเป็นปัญหา

 เราว่าเรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่มากนะในสังคม โดยเฉพาะที่ทำงาน เพราะการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ไม่พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หรือคิดไปเองว่าอีกฝ่ายเข้าใจเหมือนเรา โดยไม่คุย ( คิดไปเองคนเดียว ) เนี่ยเป็นปัญหาสำคัญมาก ๆ และเป็นสาเหตุให้คนเราเป็นทุกข์ได้มากเลย

  1. พอใจ เราต้องสร้างความพอใจให้กับผู้อื่นด้วย อ.มองว่าเรื่องนี้สำคัญเหมือนกัน เพราะความพอใจของผู้อื่น ไม่เหมือนกัน อ.ยกตัวอย่าง เช่นเรื่องการทักคน มีหลักที่สำคัญ คือ

                                                              i.      อย่าทักจุดด้อย หรือจุดอ่อนของผู้อื่น ให้เฉย ๆ หรือมองข้ามไปเลย

                                                            ii.      อย่าทักคำว่า “จำหนูได้มั้ยคะ” ให้ใช้วิธีชงเรื่อง เช่น บอกว่าเราชื่ออะไร เมื่อวันนั้นเราเป็นอย่างไร เราทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้มีเรื่องพูดต่อกันได้

เพราะเมื่อเราเข้าใจตรงกันแล้ว ต้องมีความพอใจต่อกันด้วย เช่นเวลาหัวหน้ากำลังโม้อะไร ให้ฟัง อาจจะพูดว่า “ขออนุญาตนะครับ/คะ ..เป็นมืออาชีพเลย.. ( เป็นการยกย่องเชิดชู ) ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจ

  1. มั่นใจ หลังจาก  สื่อสารกันอย่างเข้าใจ สร้างความพึงพอใจแล้ว สุดท้าย ต้องทำให้เกิดความมั่นใจ

ถ้าเป็นการบริการ ผู้ที่มีทั้ง 3 อย่างนี้จะเหนื่อย เพราะคนจะชอบ และจะเข้ามาหาเรามาก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ

และ 3 องค์ประกอบนี้ เป็นหลักสำคัญของครอบครัวที่สำคัญเลยทีเดียว

 

  1. อ. แถมเคล็ดลับ การเป็นวิทยากรว่า เมื่ออยู่หน้าห้องบรรยาย สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การถามรายบุคคล เพราะจะก่อให้เกิดความเครียดเป็นอย่างมากกับผู้ฟังบรรยาย และไม่ควรยุ่งกับคนนั่งแถวหน้า เพราะเขาทุกข์มากอยู่แล้ว บางคนก็ถูกเกณฑ์มานั่ง หรือมาทีหลัง เพื่อนไม่จองที่ให้

 

  1. ให้หัดคิดและทำแบบ outside In ก็คือ มองจาก "ข้างนอก" เข้ามา "ข้างใน” คิดแทนคนอื่น มองจากมุมของคนอื่นบ้าง ซึ่งต่างจากวิธีคิดแบบ  "Indside Out" หรือการคิดแบบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

 

 

  1. อ.บอกว่าตอนนี้ผู้รับบริการของเรา หัวหมอมากขึ้น ดังนั้น เราต้องคิดแบบ Utility คือคิดถึงประโยชน์ ที่คิดถึงทั้งปริมาณ คุณภาพ รวมถึงความพึงพอใจด้วย

 

  1.  การทำงาน เราต้อง
  1. พัฒนาตัวเองให้เก่งกว่าตำแหน่ง จะได้เป็นบุคคลเอนกประสงค์ ที่มีความสามารถหลากหลาย
  2. มีน้ำใจให้กับผู้คนให้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป

เรื่องนี้อ.ยกตัวอย่างของตัวเอง ว่าอ.เป็นผู้ให้ มีน้ำใจกับผู้อื่น ทั้งการเป็นวิทยากรให้ฟรีถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ วัด หรือ อ.จะให้เบอร์โทรศัพท์ตัวเอง เพื่อให้ผู้อื่นโทรศัพท์มาปรึกษาได้ตลอด และผลที่เกิดขึ้นก็คือตอนนี้อ.ได้มุขดี ดี จากเด็ก ๆ ที่โทรมาปรึกษาบ่อย ๆ เช่น

“รักเดียว ใจเดียว คนเดียว เดี๋ยวเดียว” และอื่น ๆ อีกมากมายกลับมา

ยังมีเรื่องราว และตัวอย่างมากมายระหว่างที่อ.บรรยาย สรุปได้ว่า ได้ทั้งสาระ และรอยยิ้มตลอดเกือบ 3 ชั่วโมง ( เพราะอ.เลิกตอนใกล้ 5 โมงเย็นแล้ว )

ลองนำไปพิจารณา ปรับใช้กันนะ จะได้มีความสุขเยอะ ๆ 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 502952เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท