ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 2. จิตผูกพัน และแรงบันดาลใจ


การทำหน้าที่ครูคือการเรียนรู้ ศิษย์ที่ไม่มีแรงบันดาลใจต่อการเรียน และศิษย์ที่มีแรงบันดาลใจ มีคุณค่าเท่ากันต่อความเป็นครู คือมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของครู ในการค้นคว้าหาวิธีการสร้างแรงบันดาลใจของศิษย์ให้จงได้

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 2. จิตผูกพัน และแรงบันดาลใจ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒ นี้ ได้จากบทที่ ๒ ชื่อ Engagement and Motivation

ผมตีความว่า แรงบันดาลใจเป็น “โรคติดต่อ” ชนิดหนึ่ง   ในภาษาอังกฤษว่า infectious คือติดต่อหรือระบาดได้   ครูที่ดีจะมีแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่า (ต่อชีวิตของศิษย์) ในสิ่งที่ตนสอนล้นเปี่ยม   และส่งประกายออกมา “ติดต่อ” ไปสู่ศิษย์    

ผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี “สัมผัสที่หก”   ที่จะสื่อสารและรับสาร “จากใจถึงใจ”  โดยไม่ต้องผ่านสัมผัสทั้ง ๕   แรงบันดาลใจอยู่ในประเภทนั้น  

แต่แม้ครูจะมีแรงบันดาลใจไม่รุนแรงต่อบางวิชา บางสาระ   แต่นักเรียนบางคนสัมผัสวิชานั้นแล้วเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า    ทำอย่างไรครูจะช่วยประคองแรงบันดาลใจนั้นให้ลุกโชนอยู่นานและก่อคุณค่าแก่ชีวิตของศิษย์คนนั้น

การตีความข้างบนนั้น เกิดจากสภาพความคิดพาไปของผม   เมื่ออ่านบทที่ ๒ นี้   เป็นความคิดของผมเองล้วนๆ ไม่ได้ถอดความจากหนังสือ

หนังสือกล่าวถึง Cognitive models of motivation  และ Behaviorist model   ซึ่งบอกเราว่าเรื่องแรงบันดาลใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นเรื่องซับซ้อน   และน่าจะมีความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย    รวมทั้งผมสังเกตจากชีวิตของตนเองว่า มีปัจจัยด้านสังคมรอบตัว เช่นครอบครัว เพื่อน มาเกี่ยวข้องด้วย    

หนังสือกล่าวถึงความซับซ้อนของ Cognitive models of motivation   และยกตัวอย่าง Maslow’s Hierarchy of Need ว่าเป็น model หนึ่งของ Cognitive models   นักเรียนย่อมสนองความต้องการเพื่อการมีชีวิตรอด ก่อนสนองความอยากรู้อยากเห็นเชิงปัญญา    เรื่องนี้ผมคิดต่อว่า เกี่ยวข้องกับครูในประเทศไทยในขณะนี้ ที่ศิษย์ประมาณหนึ่งในสามเป็นเด็กที่มีปัญหาชีวิต ขากความอบอุ่นหรือแรงกระตุ้นในครอบครัว  

หนังสือกล่าวถึง Goal Theory of Motivation ที่น่าสนใจมาก    และผมเชื่อว่าตรงกับธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย   หนังสือยังเอ่ยถึง Intrinsic motivation  และ Extrinsic motivation 

 

ความคาดหวัง (Expectancy)

การมีความหวัง ความเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถทำสิ่งที่ยากหรือไม่เคยทำให้สำเร็จได้ จะเป็นแรงบันดาลใจ   มีคนคิดและเสนอ self-efficacy theories, attribution theory, self-worth model  ไว้ น่าอ่านมาก

อ่านหนังสือ และลิ้งค์เหล่านี้แล้วผมฟันธงว่า    สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นมุมานะ ของตนเอง    คือของตัวศิษย์   โดยที่ครูสามารถมีส่วนจุดไฟหรือจุดประกายขึ้นได้ตามโอกาสที่เปิดช่องให้    ครูที่เอาใจใส่ศิษย์จะเห็นโอกาสนี้   ดังตัวอย่าง บันทึกนี้    ผมเดาว่าเด็กจำนวนไม่น้อยถูกสถานการณ์ทำให้ขาดแรงบันดาลใจในชีวิต   ครูที่ดีจะช่วยให้ศิษย์ฟื้นจากความท้อใจ สู่ความมีแรงบันดาลใจได้

 

คุณค่า (Value)

ครูมักจะจูงใจให้เด็กเรียนโดยล่อด้วยเกรด รางวัล คำชม เป็นต้น   หนังสือ Punish by Rewards (1993) บอกว่าวิธีติดสินบนนักเรียนเหล่านี้   เป็นการดึงเด็กออกจากการเรียนรู้เชิงคุณค่าในชีวิต   ทำให้เด็กขาดโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้คุณค่าของการทำสิ่งนั้น ที่ยิ่งใหญ่กว่าผลจากการทำสิ่งนั้น   ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  สอนไม่ได้   และนี่คือการพัฒนา intrinsic motivation 

เขาเอ่ยถึงการบรรลุสภาวะ flow ที่เป็นแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ ในหนังสือ Enhancing Adult Motivation to Learn โดย Raymond J. Wlodkowski   โดยระบุปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) เป้าหมายชัด และมีคุณค่า  (๒) มี feedback ให้ทันที ต่อเนื่อง และเหมาะสม  ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตนกำลังเดินไปทางไหน  (๓) มีความท้าทายที่พอดีระหว่างศักยภาพและเป้าหมายที่กำหนด    

มีข้อเสนอว่า engagement = expectancy x value   โดยทำตารางพฤติกรรมของนักเรียนตามปัจจัยทั้งสองของแรงบันดาลใจ ดังนี้

 

 

คาดว่าจะสำเร็จ

คาดว่าจะไม่สำเร็จ

ให้คุณค่าต่อบทเรียนชิ้นนั้น

ตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง มีความสุข  ค้นหาความหมาย และข้อเรียนรู้ใหม่ๆ

หลีกเลี่ยง  อู้งาน  หาข้อแก้ตัว

ไม่เห็นคุณค่า

เรียนแบบขอไปที   เพียงให้ได้ผลสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

ต่อต้าน  ไม่ยอมเรียน

ผมมีข้อสรุปว่า การทำหน้าที่ครูคือการเรียนรู้    ศิษย์ที่ไม่มีแรงบันดาลใจต่อการเรียน และศิษย์ที่มีแรงบันดาลใจ มีคุณค่าเท่ากันต่อความเป็นครู   คือมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของครู   ในการค้นคว้าหาวิธีการสร้างแรงบันดาลใจของศิษย์ให้จงได้

ต้นทุนในการทำงานนี้คือ ความรักและความหวังดีต่อศิษย์  หรือการเป็น ครูเพื่อศิษย์ นั่นเอง

หมายเหตุ  ผู้เขียนหนังสือใช้คำ motivation ซึ่งน่าจะแปลว่า แรงจูงใจ   แต่ผมใช้คำว่า แรงบันดาลใจ ซึ่งแปลตรงตัวว่า inspiration   ดังนั้น บันทึกของผมจึงเพี้ยนไปจากข้อความในหนังสือ   หมายเหตุเพื่อให้ท่านผู้อ่านพึงอ่ายอย่างมีวิจารณญาณ 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ย. ๕๕  เพิ่มเติม ๒๓ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502747เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 04:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้กับการปรับพฤติกรรมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท