โครงการ PLC ครูสอนดี จังหวัดมหาสารคาม _12: เวทีที่ 4 ตีความ PBL ใน PLC มหาสารคาม


วันที่ 1-2 กันยายน  2555 เราจัดเวที PLC ครูสอนดี ครูเพื่อศิษย์ จังหวัดมหาสารคาม มีผู้ร่วมโครงการที่สมัครใจ มาด้วยใจ จากที่สัญญากันไว้จากเวทีที่ 1 -3  ตามบันทึกที่ผ่านมา ที่นี่  

ตอนเช้าวันแรก ผมต้องไปเป็นวิทยากรพูดเรื่องประกันคุณภาพการศึกษาให้กับเพื่อนอาจารย์ในคณะฟัง ทำให้ไม่ได้มาร่วมงานในครึ่งวันแรก จากการสอบถามผมทราบว่า กิจกรรมที่กระบวนกร (อ.เอ็ม คุณอ้อ) นำสู่ครูในช่วงดังกล่าว คือ การร่วมกันตีความจากการดูคลิปวีดีโอในโทรทัศน์ครูเรื่อง เพศศึกษา 360 องศา : สอนเพศศึกษาด้วยเทคนิค "บูรณาการ" จากโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ผมตามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตและดูซ้ำได้ง่ายมาก คลิกที่นี่สำหรับใครยังไม่ได้ดูครับ

เรื่องโดยย่อคือ มีนักวิชาการเห็นปัญหาสังคมเรื่องการตั้งท้องก่อนวัยอันควร จึงหาทางแก้ปัญหาโดย มีสมมติฐานที่อ้างอิงงานวิจัยว่า หากนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาจะสามารถแก้ปัญหาหรือบรรเทาให้เบาจางลงได้ และนักเรียนจะรู้จะเข้าใจและนำไปใช้ได้จริงก็ต่อเมื่อต้องผ่านการเรียนรู้อย่างน้อย 16 ชั่วโมงต่อเทอม

ทีมคุณครูช่วยกันระดมความคิดจนลงตัวที่การสอนด้วยเทคนิค "บูรณาการ" โดยแยกแต่ละชั่วโมงของเพศศึกษาไปไว้ในการเรียนการสอนของรายวิชาต่างๆ โดยบูรณาการกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ

หลังจากดูวีดีโอคลิป ผมไม่ทราบว่า PLC ครูมหาสารคาม ตีความอย่างไรบ้าง แต่สำหรับผมตีความอย่างนี้ครับ

  1. การสอนด้วยเทคนิค "บูรณาการ" ในคลิปวีดีโอ เป็นการบูรณาการแบบ "สหวิทยาการ" คือการ "จับ" "เนื้อหา" ของหลายรายวิชาหรือหลายๆ หัวเรื่องมาบูรณาการสอนรวมกัน...... เป็นการพยายามนำสิ่งที่ถูก "แยกส่วน" (แยกเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับเพศศึกษา) ไปรวมไว้กับรายวิชาต่างๆ ที่ครูกำลังสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับรู้หรือเรียนรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาในขณะที่เรียนในรายวิชานั้นๆ
  2. การสอนบูรณาการแบบ "สหวิทยาการ" ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้อยู่บนฐานของการสร้างความสนใจให้นักเรียนได้ตระหนักถึงปัญหา ไม่ได้เน้นการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมเรื่องเพศด้วยวิธีการของนักเรียน หรือกล่าวอีกนัยก็คือ การสอนสอนดังกล่าวไม่ได้อยู่บนฐานชีวิตจริงหรือปัญหา ทำให้ยากที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ที่พวกเรากำลังกล่าวถึง

ผมไม่นับรวมถึง สมมติฐานที่ผิดว่า นักรเรียนรู้และเข้าใจแล้วจะไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว  ความจริงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนปลอดภัยจากเรื่องดังกล่าวคือ ความยับยั้งชั่งใจ ความอดกลั้น ความอบอุ่น ชุมชนโรงเรียน ผู้ปกครอง ..... ขอเสนอให้ผู้ใหญ่หัมมาทุ่มเทกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษาสู่สถานศึกษา ที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้ (ติดตามได้ที่นี่ครับ)  นั่นคือทางรอดเดียวของอนาคตประเทศและสังคมโลก

หมายเลขบันทึก: 502597เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2012 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

* เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องที่มีความสำคัญต่อตนเองและสังคม..

* ขอให้กำลังใจค่ะ

ขอให้ทุกพื้นที่มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างท่าน ดร. ฤทธิไกร ที่มุ่งมั่นในการจัดการศึกษาขยายตัวเต็มพื้นที่ประเทศไทยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท