ความรุนแรงภายในโรงเรียน


ที่มาและการแก้ไขปัญหา

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน

        ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุอย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันเกิดความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจ การขัดแย้งที่เกิดข้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเจริญของชาติ ตลอดจนความสุขของคนภายในสังคมด้วย
        ภาพของความขัดแย้งการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ที่นับวันยิ่งขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้นำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงต่อกัน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมไทยได้รับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปเสียแล้ว
        ความรุนแรงในปัจจุบันนี้ มิใช่เพียงที่เกิดขึ้นภายในสังคม ครอบครัวเท่านั้น หากแต่เป็นความรุนแรงที่ขยายไปสู่โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่อบรม สั่งสอนเยาวชนของชาติ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นับวันยิ่งทวีคูณมากขึ้น และเป็นที่จับตามองของทุกคนในสังคม
         ความรุนแรงในสมัยนี้มิได้หมายความว่า เด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพียงเท่านั้น หากแต่เกิดกับครูและบุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในโรงเรียน ผู้เขียนได้แบ่งความรุนแรงออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรกความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียน และประเด็นที่สองคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนกันเอง
         ประเด็นแรก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียนนั้น สาเหตุเกิดมาจากการไม่เข้าใจกันและกัน อาจเป็นเพราะว่าช่องว่างของวัยระหว่างเด็กกับครูนั้นมีมาก ครูไม่เข้าใจนักเรียน เพราะว่าเด็กเวลานี้ต้องการเหตุผล และต้องการแสดงศักยภาพที่ตนอยากแสดงออกมา ผลที่ตามมาทำให้เกิดความขัดแย้งกัน จนเลยไปถึงขั้นลงไม้ลงมือกันก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ระบบการศึกษาของไทยได้ยกเลิกการตีหรือใช้ไม้เรียวกับนักเรียนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอยู่บ้างในบางโรงเรียนที่ลงโทษเด็กด้วยการใช้ไม้เรียว เมื่อมองในแง่ของความถูกต้องแล้วอาจจะไม่สมควร เด็กอาจะคิดว่า ขนาดพ่อและแม่ของพวกเขา ยังไม่ลงโทษแบบนี้เลย แต่การตีเด็กก็นับเป็นวิธีที่สามารถช่วยควบคุมเด็ก ให้เชื่อฟังครูได้ในเวลานั้น แต่ในทางกลับกันการลงโทษเด็กนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
       ตัวอย่างเช่น การที่ครูลงโทษเด็กที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่า การที่ครูนั้นทำร้ายจิตใจของเด็กมากจนเกินไป การลงโทษเด็กต่อหน้าเพื่อนหรือหน้าเสาธง การประกาศชื่อของนักเรียนให้คนอื่นทราบ หรือแม้แต่การล้างห้องน้ำก็ตาม ซึ่งเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงทางด้านจิตใจของเด็กมากกว่าร่างกายด้วยซ้ำ นำมาซึ่งความมีอคติของนักเรียนที่มีต่อครู สังคมหรือตัวผู้ปกครองอาจมองว่าเป็นการลงโทษที่ไม่เหมาะสม นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่างๆ
       แต่เป็นประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนมองว่าไม่ควรเกิดขึ้นในโรงเรียนคือ ครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ร้ายในคราบของพ่อแม่พิมพ์ของชาติ ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ชื่อเสียงและอนาคต อีกด้วย
      นอกจากนี้ ความรุนแรงมิได้เกิดขึ้นกับนักเรียนเท่านั้น มันลุกล่ามมาถึงผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “แม่พิมพ์”และ“พ่อพิมพ์” ของชาติ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นกับครูผู้หญิงมากกว่าครูผู้ชาย เช่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของคมชัดลึกที่ว่า เด็กนักเรียนหญิง ปวช.2 โรงเรียนพาณิชย์ชื่อดังเมืองคอน สุดแสบ ยกพวกเกือบ 20 คน บุกโรงเรียนทำลายทรัพย์สินและพยายามทำร้ายครูฝ่ายปกครอง แถมยังข่มขู่ "เอาชีวิตครูทั้งโรงเรียน" หลังครูจับได้ว่าทะเลาะกับเพื่อนเรื่องการตัดราคาค่าตัวขาย เป็นต้น จากการสังเกตพบว่า โรงเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีครูผู้หญิง ส่วนมากจะเป็นครูผู้ชาย เพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครู
         ประเด็นที่สอง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเอง ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นประเด็นหลักที่ก่อให้เกิดความรุนแรงภายในโรงเรียนและขยายออกไปภายนอกโรงเรียน ร่วมทั้งต่างสถาบัน สาเหตุหลักของการเกิดความรุนแรงซึ่งได้แก่ ความหมั่นไส้ ไม่ชอบหน้ากัน การแย่งแฟนกัน รวมไปถึงการกระทบกระทั่งทั้งวาจาและร่างกาย เช่น การดูถูกสถาบัน ปมด้อย เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กเกเร เด็กดื้อเป็นส่วนมาก
        ผลกระทบของการใช้ความรุนแรงน่าจะเกิดมาจากครอบครัว เมื่อครอบครัวเกิดการใช้ความรุนแรงขึ้น เด็กก็จะซึมซับหรือลอกเลียนแบบนั้นออกมา ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองปรารถนา เช่น การที่เด็กนักเรียนทะเลาะกันเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก ไม่เพียงแต่ผู้ชายเท่านั้น รวมไปถึงเด็กนักเรียนหญิง ที่ทะเลาะกันเพื่อแย่งผู้ชายกัน ทำให้สังคมมองว่า การศึกษาในระบบโรงเรียนมิได้สอนเด็กให้มีคุณธรรม จริยธรรมเลย โรงเรียนเป็นสถานที่ที่สร้างอำนาจและการแย่งชิงกัน ทำให้บทบาทของโรงเรียนถูกลดทอนความสำคัญไปมากเมื่อเทียบกับอดีต จึงเป็นที่มาของโรงเรียน Home school ในปัจจุบันก็เป็นไปได้ เมื่อโรงเรียนไม่สามารถที่จะอบรมเด็กให้ดีได้
      ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหา ผู้เขียนมองว่าควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ครอบครัวไม่ควรปัดความรับผิดชอบให้กับทางโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ควรจะหาวิธีในการแก้ไขที่สมเหตุและสมผล คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก งดการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว สื่อสารด้วยความรัก และให้เหตุกับเด็กว่า สิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ ไม่เพียงแต่ครอบครัวเท่านั้น ครูยังต้องเป็นผู้มีเหตุผล เข้าใจในตัวเด็ก รักเด็กให้มากกว่าเดิม และพยายามเอาใจใส่เด็กในทั่วถึง โดยไม่มีอคติต่อเด็กที่มีปัญหา และให้ความสำคัญแก่เด็กเรียนเก่ง เพราะว่าครูเปรียบเสมือนต้นแบบทางจิตวิทยาของเด็ก นอกจากพ่อและแม่ เห็นได้จากความผูกพันที่เด็กมีให้แก่ครูและครูมีให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นความรักที่ไม่สามารถอธิบายได้
     สุดท้ายนี้ สถานศึกษาควรเคร่งครัดครู เมื่อจะลงโทษเด็กควรคำนึงถึงร่างกายและจิตของเด็กให้มาก หากต้องการลงโทษควรใช้วิธีอย่างละมุนละม่อมกับเด็ก หากหลีกเลี่ยงจากการตีก็น่าจะดี เช่น ลงโทษด้วยการทำเวรห้อง เก็บขยะ บำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น แค่นี้ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนอย่างแน่นอน
คำสำคัญ (Tags): #รุนแรง
หมายเลขบันทึก: 502151เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความรุนแรง....ในวัยรุ่น...วัยมันส์...จะทำอย่างไรดี  นะคะ .... ช่วยกันคิด....ช่วยกันแก้ไข.... คนในสังคมไทย 

ขอบคุณบทความดีดี นี้ค่ะ

ผมคิดว่า การแก้ปัญหานี้ทุฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน พ่อแม่เป็นตัวอย่างให้ดีกับลูก รวมทั้งครู ตลอดจนสื่อต่างๆ อีกด้วย สร้างค่านิยม จริยธรรมแก่ทุกคนในสังคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท